MAIN POINT
- การกู้ซื้อบ้านหลังแรกมีหลายขั้นตอนที่เราต้องเตรียมตัวด้วยกัน ตั้งแต่ตรวจเช็กสถานะทางการเงิน ความสามารถในการผ่อน รวมถึงค้นหาบ้านที่มีดีไซน์ และฟังก์ชันตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ทั้งการเดินทาง การอยู่อาศัย เพื่อให้ได้บ้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่อยู่อาศัย
- เริ่มต้นบ้านหลังแรกที่โครงการบ้านจากเอพี เพราะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และการอยู่อาศัย ผ่านการออกแบบพื้นที่ที่ปรับเปลี่ยนได้หลากหลาย ไปจนถึงพื้นที่ส่วนกลางที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้อยู่สบาย พักผ่อนกับคนที่รักได้เต็มที่กว่าเดิม
เทคนิคการซื้อบ้านหลังแรกยังไงให้ถูกใจ
- เทคนิคที่ 1: วางแผนการเงินให้ดีก่อนซื้อบ้านหลังแรก
- เทคนิคที่ 2: เลือกราคาบ้านที่เหมาะสมกับตัวเอง
- เทคนิคที่ 3: เลือกกู้ซื้อบ้านหลังแรกกับธนาคารที่คุ้มที่สุด
- เทคนิคที่ 4: เตรียมพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านหลังแรก
- เทคนิคที่ 5: เลือกซื้อบ้านหลังแรกที่ตอบโจทย์มากที่สุด
- เทคนิคที่ 6: เลือกทำเลบ้านหลังแรกให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์
- เทคนิคที่ 7: ตรวจเช็กสภาพบ้านก่อนโอนบ้าน
- เทคนิคที่ 8: ข้อควรระวังในการเลือกซื้อบ้านหลังแรก
การเลือกซื้อบ้านเป็นอีกสเต็ปใหญ่ของชีวิตที่หลาย ๆ คนตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งการซื้อบ้านสักหนึ่งหลังต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ การพิจารณาอย่างละเอียด ตั้งแต่การเลือกโครงการที่ตอบโจทย์ ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งเรื่องทำเล ดีไซน์ของบ้าน ความสามารถในการผ่อน ไปจนถึงขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ พร้อมทั้งการเตรียมตัวในด้านอื่น ๆ ในบทความนี้ AP Thai จะมาพร้อมเทคนิคที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกู้ซื้อบ้านหลังแรก เพื่อให้การซื้อบ้านในฝันเป็นเรื่องง่ายกว่าเดิม
8 เทคนิคการซื้อบ้านหลังแรกยังไงให้ถูกใจ
เทคนิคที่ 1: วางแผนการเงินให้ดีก่อนซื้อบ้านหลังแรก
เทคนิคข้อแรกของการซื้อบ้านหลังแรก คือ การประเมินสถานะทางการเงินของเราอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าเรามีความพร้อมทางการเงินอย่างเพียงพอ เพราะระยะเวลาการผ่อนบ้านมักจะอยู่ 30 ปี ความมั่นคงในหน้าที่การงานและรายได้ที่สม่ำเสมอจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้การซื้อบ้านเป็นไปอย่างราบรื่นและไร้ความกังวลในระยะยาว
1. เช็กสภาพการเงินก่อนซื้อบ้าน
เริ่มต้นด้วยการประเมินรายรับและรายจ่ายในแต่ละเดือนอย่างละเอียด โดยบันทึกข้อมูลทั้งหมด เช่น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หนี้บัตรเครดิต หนี้สินอื่น ๆ จากนั้นจัดทำตารางสรุปเพื่อดูจำนวนเงินที่เหลือว่ามีเพียงพอสำหรับการผ่อนบ้านหรือคอนโดหรือไม่ ซึ่งการคำนวณจะช่วยให้เราเห็นขอบเขตวงเงินกู้ที่เหมาะสมและประเมินได้ว่าค่างวดรายเดือนสำหรับผ่อนบ้านควรอยู่ในระดับที่ไม่สร้างภาระทางการเงินมากจนเกินไป
ตารางเปรียบเทียบเงินเดือน วงเงินกู้ซื้อบ้าน และค่างวดในการผ่อนต่อเดือน
เงินเดือน (บาท) |
วงเงินกู้สูงสุด (บาท) |
ความสามารถในการผ่อนต่อเดือน (บาท) |
20,000 |
1,140,000 |
8,000 |
25,000 |
1,420,000 |
10,000 |
30,000 |
1,710,000 |
12,000 |
35,000 |
2,000,000 |
14,000 |
40,000 |
2,280,000 |
16,000 |
45,000 |
2,570,000 |
18,000 |
50,000 |
2,850,000 |
20,000 |
55,000 |
3,140,000 |
22,000 |
60,000 |
3,420,000 |
24,000 |
65,000 |
3,710,000 |
26,000 |
70,000 |
4,000,000 |
28,000 |
75,000 |
4,280,000 |
30,000 |
80,000 |
4,570,000 |
32,000 |
85,000 |
4,850,000 |
34,000 |
90,000 |
5,140,000 |
36,000 |
95,000 |
5,420,000 |
38,000 |
100,000 |
5,710,000 |
40,000 |
2. คำนวณสถานะทางการเงิน
หลังจากเช็กสภาพทางการเงินเพื่อดูว่าที่ผ่านมาเรามีรายรับ - รายจ่ายเหลือเท่าไรในแต่ละเดือน เพียงพอสำหรับการผ่อนบ้านเท่าไร สิ่งถัดมาที่ต้องทำ คือ การคำนวณการผ่อนบ้านให้รายละเอียดมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเราสามารถรับมือกับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้จริง
สูตรคำนวณความสามารถในการผ่อนบ้าน
โดยปกติแล้วธนาคารจะกำหนดอัตราผ่อนรายเดือนไว้อยู่ที่ประมาณ 40% ของรายรับในแต่ละเดือน
( เงินเดือน - ภาระหนี้สินต่อเดือน ) * 40% = ความสามารถในการผ่อนบ้านต่อเดือน
ตัวอย่างเช่น
กรณีที่ 1: นาย A มีรายได้ต่อเดือนที่ 40,000 บาท ไม่มีภาระหนี้สินใด ความสามารถในการผ่อนของ A จะอยู่ที่ 16,000 บาท / เดือน
- เงินเดือน = 40,000 บาท, หนี้สินต่อเดือน = 0 บาท
( 40,000 - 0.00 ) x 40% = 16,000 บาท / เดือน
กรณีที่ 2: นาย B มีรายได้ต่อเดือนที่ 40,000 บาท มีภาระหนี้สินรถยนต์อยู่ที่ 10,000 บาท ความสามารถในการผ่อนของ B จะอยู่ที่ 12,000 บาท / เดือน
- เงินเดือน = 40,000 บาท, หนี้สินต่อเดือน = 10,000 บาท
( 40,000 - 10,000 ) x 40% = 12,000 บาท / เดือน
สำหรับใครที่คำนวณไม่เก่งหรืออยากลองคำนวณเงินเดือนในหลาย ๆ รูปแบบ เพื่อเอามาเปรียบเทียบกัน สามารถใช้ โปรแกรมคำนวณผ่อนบ้านและสินเชื่อเบื้องต้น จากเอพี ที่ใช้งานง่ายแถมยังช่วยแนะนำโครงการที่เหมาะกับเราอีกด้วย
3. เช็กโปรโมชันและสิทธิพิเศษของโครงการ
โครงการบ้านส่วนใหญ่มักจะมีสิทธิพิเศษต่าง ๆ แนะนำให้ติดต่อโครงการ หรือสอบถามเซลล์ที่ดูแลโครงการ เพื่อขอรับข้อเสนอโปรโมชันพิเศษ อาทิ ดอกเบี้ย 0% ในปีแรก ฟรีค่าธรรมเนียมการโอน ฟรีเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า สำรวจข้อมูลโปรโมชันต่าง ๆ จากงานมหกรรมบ้านและคอนโด หรือเว็บไซต์ของโครงการเพื่อให้ได้ข้อเสนอที่คุ้มค่าที่สุด ที่ช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายในการเลือกซื้อบ้านได้มากขึ้น
4. เตรียมเงินดาวน์บ้าน
การวางเงินดาวน์บ้านเป็นขั้นตอนที่ช่วยลดภาระการผ่อนบ้านในอนาคต โดยปกติการวางเงินดาวน์จะอยู่ที่ 10-20% ของราคาบ้าน หากสามารถวางเงินดาวน์มากกว่านี้ได้ก็จะช่วยลดจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยในระยะยาว ซึ่งบางโครงการอาจมีโปรโมชันให้ผ่อนเงินดาวน์บ้านเป็นงวด ๆ ได้เพื่อช่วยกระจายภาระให้เบาบางลง สูตรสำหรับการคำนวณเงินดาวน์ คือ
สูตรคำนวณเงินดาวน์บ้าน ราคาบ้าน × อัตราเงินดาวน์ (%) = จำนวนเงินดาวน์
- ตัวอย่าง: หากราคาบ้าน 3,000,000 บาท และอัตราเงินดาวน์ 15%
- เงินดาวน์บ้าน: 3,000,000 × 15% = 450,000 บาท
5. เตรียมเอกสารในการขอสินเชื่อ
หลังจากผ่านการพิจารณาด้านการเงินมาเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะซื้อบ้านหลังแรกให้เป็นพื้นที่แห่งความสุขในทุกวัน ขั้นตอนต่อไป คือ การเตรียมเอกสารในการขอสินเชื่อเพื่อยื่นกู้บ้าน โดยเอกสารที่ต้องเตรียม
เอกสารสำหรับการขอสินเชื่อสำหรับพนักงานประจำ
- สำเนาบัตรประชาชน
- ทะเบียนบ้าน
- หนังสือรับรองเงินเดือน
- สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 3-6 เดือน
- รายการเดินบัญชีธนาคาร
เอกสารสำหรับการขอสินเชื่อสำหรับเจ้าของกิจการจดทะเบียน
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนการค้าหรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท
- รายการเดินบัญชีเงินฝากของบริษัทย้อนหลัง 12 เดือน
- รายชื่อผู้ถือหุ้น
- หลักฐานการเสียภาษี เช่น ภ.พ. 30
- รูปถ่ายกิจการ 3 - 5 ภาพ พร้อมแผนที่ตั้งกิจการ
เอกสารสำหรับการขอสินเชื่อสำหรับเจ้าของกิจการไม่จดทะเบียน
- สำเนาบัตรประชาชน
- รายการเดินบัญชีธนาคาร ย้อนหลัง 12 เดือน
- บัญชีรายรับ-รายจ่าย ย้อนหลัง 12 เดือน
- บิลซื้อ-บิลขาย ย้อนหลัง 6 เดือน
- เอกสารยื่นภาษีประจำปี ภงด.90
- รูปถ่ายกิจการ 3 - 5 ภาพ พร้อมแผนที่ตั้งกิจการ
เอกสารสำหรับการขอสินเชื่อสำหรับอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ ค้าขาย ขายของออนไลน์
- สำเนาบัตรประชาชน
- รายการเดินบัญชีธนาคาร ย้อนหลัง 6 เดือน
- สัญญาการว่าจ้างงาน
- ใบ 50 ทวิ ที่เป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ ภ.ง.ด.
- รูปภาพหน้าเว็บ หรือเพจเฟซบุ๊ก ที่เป็นหน้าร้านออนไลน์
การเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนช่วยลดขั้นตอนและเวลาในการอนุมัติสินเชื่อ เพื่อให้ซื้อบ้านหลังแรกได้รวดเร็ว
เทคนิคที่ 2: เลือกราคาบ้านที่เหมาะสมกับตัวเอง
ควรเลือกราคาบ้านที่เหมาะสมและสอดคล้องกับรายได้ ความสามารถในการผ่อนชำระของเรา โดยทั่วไปควรเลือกบ้านที่มีราคาผ่อนต่อเดือนไม่เกิน 40% ของรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้ว นอกจากนี้แล้ว ยังควรเผื่อไว้สำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่าง ค่าโอนกรรมสิทธิ์ ค่าตกแต่ง เพื่อไม่ให้การเงินตึงเกินไป อีกทั้งยังควรเหลือเงินเก็บไว้สำหรับใช้ยามฉุกเฉินหรือการพักผ่อน เพื่อให้ชีวิตมีความสมดุล และไม่ให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเกินตัวในระยะยาว
เทคนิคที่ 3: เลือกกู้ซื้อบ้านหลังแรกกับธนาคารที่คุ้มที่สุด
การซื้อบ้านหลังแรกเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ จึงต้องวางแผนอย่างรอบคอบ การศึกษาดอกเบี้ยและเงื่อนไขจากหลายธนาคารเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเปรียบเทียบและเลือกสินเชื่อที่เหมาะสมที่สุด โดย AP Thai ได้รวบรวมอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารไว้ ซึ่งสามารถตามอ่านต่อได้ที่ อัตราดอกเบี้ยบ้าน สินเชื่อบ้าน-คอนโด ทุกธนาคาร ล่าสุด
เทคนิคที่ 4: เตรียมพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านหลังแรก
การวางแผนที่ดีต้องมองให้ครบทุกด้าน เพราะการซื้อบ้านหลังแรกไม่ได้หมายถึงการเตรียมเงินสำหรับราคาบ้านเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอื่น ๆ ทั้งค่าใช้จ่ายก่อนซื้อบ้านและค่าใช้จ่ายหลังซื้อบ้าน
1. ค่าใช้จ่ายก่อนโอนกรรมสิทธิ์บ้าน
- ค่าจอง ค่าทำสัญญา (ค่ามัดจำ) เป็นเงินสำหรับจองบ้านที่ต้องการ โดยปกติค่าทำสัญญาจะอยู่ที่ประมาณ 5-20% ของราคาบ้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโปรโมชันของแต่ละโครงการ
- เงินดาวน์บ้าน เป็นเงินที่ผู้ซื้อต้องชำระบางส่วนก่อนกู้สินเชื่อบ้าน โดยทั่วไปอยู่ที่ 10-20% ของราคาบ้าน หากชำระเงินดาวน์มากขึ้น จะช่วยลดภาระการผ่อนชำระรายเดือนในอนาคต
- ค่าประเมินราคาเมื่อขอสินเชื่อ ธนาคารเรียกเก็บค่าใช้จ่ายนี้เพื่อประเมินราคาบ้านที่ต้องการกู้ซื้อ โดยปกติอยู่ที่ประมาณ 1,000-5,000 บาท
- ค่าจดจำนอง ค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ธนาคารเพื่อดำเนินการจดจำนองบ้าน โดยทั่วไปคิดเป็น 1% ของราคาบ้าน
- ค่าโอนกรรมสิทธิ์ เป็นค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กรมที่ดินเพื่อโอนกรรมสิทธิ์บ้าน โดยปกติจะอยู่ที่ 2% ของราคาบ้าน ซึ่งบางโครงการอาจมีโปรโมชันฟรีค่าโอนบ้านอีกด้วย แต่ถ้าหากใครอยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม AP Thai ได้รวบรวมรายละเอียดและค่าโอนกรรมสิทธิ์อัปเดตล่าสุด มาให้แล้ว สามารถตามอ่านต่อได้ที่ ค่าธรรมเนียมโอนที่ดินล่าสุด คำนวณยังไง มีค่าอะไรบ้าง?
2. ค่าใช้จ่ายหลังโอนกรรมสิทธิ์
- ค่ามิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้า เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การประปาและการไฟฟ้า เพื่อขอติดตั้งมิเตอร์น้ำและไฟฟ้าสำหรับบ้านใหม่
- งบเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นงบประมาณสำหรับซื้อเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นในบ้าน
- งบตกแต่งบ้าน ค่าใช้จ่ายสำหรับตกแต่งบ้านให้ตรงกับความต้องการ เช่น การตกแต่งภายใน หรือการปรับปรุงพื้นที่ให้สวยงาม
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าประกันอัคคีภัย ค่าประกันชีวิต หรือค่าตกแต่งสวน เป็นต้น
เทคนิคที่ 5: เลือกซื้อบ้านหลังแรกที่ตอบโจทย์มากที่สุด
การจะเลือกซื้อบ้านหลังแรกให้ตอบโจทย์ และตรงใจประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะการสำรวจความต้องการของตนเอง ฟังก์ชันและดีไซน์ของบ้านที่ต้องการ เพื่อให้บ้านหลังแรกเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย แต่เป็นพื้นที่ที่สะท้อนตัวตนและเติมเต็มความสุขในทุกวัน
1. เลือกโครงการบ้านที่น่าเชื่อถือและได้มาตฐาน
การศึกษาข้อมูลโครงการบ้านอย่างละเอียดถี่ถ้วนถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการเลือกบ้านหลังแรกที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่ของความต้องการและความคุ้มค่า เพราะบ้านไม่ใช่เพียงที่อยู่อาศัย แต่ยังเป็นการลงทุนในอนาคตที่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้ในระยะยาว โดยเริ่มจากการตรวจสอบข้อมูลผู้พัฒนาโครงการว่ามีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือ ตลอดจนมาตรฐานการก่อสร้างที่ชัดเจน รวมถึงแบบบ้าน แปลนบ้าน ขนาดพื้นที่ ฟังก์ชันการใช้งาน ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในโครงการให้ถี่ถ้วน
2. ตอบโจทย์ความต้องการในการใช้ชีวิต
บ้านแต่ละประเภทเหมาะกับการใช้งานที่ต่างกัน บ้านเดี่ยวเหมาะสำหรับครอบครัวใหญ่ ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด หรือคอนโด เหมาะสำหรับครอบครัวขนาดเล็กหรือคนโสด สำรวจความต้องการและเลือกบ้านที่ตอบโจทย์ได้ชีวิตประจำวัน ทั้งจำนวนห้องนอน ห้องน้ำ และขนาดพื้นที่ใช้สอยว่าเพียงพอไหม เพื่อให้ได้บ้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่อยู่อาศัย แต่ลงตัวทุกการใช้ชีวิต
โดยโครงการบ้านจากเอพีมาพร้อมกับพื้นที่ภายในบ้านกว้างขวาง สามารถปรับเปลี่ยน ออกแบบฟังก์ชันได้ตรงใจ เหมาะสำหรับทุกครอบครัวไม่ว่าจะเป็นครอบครัวขนาดเล็ก และครอบครัวขนาดใหญ่ ก็ตอบโจทย์ทุกความต้องการ
3. สไตล์การตกแต่งบ้านที่ถูกใจ
นอกจากเลือกซื้อบ้านที่ตรงกับความต้องการใช้งานแล้ว ความสวยงามก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ สไตล์แต่งบ้านที่ถูกใจคือหัวใจที่ช่วยเติมเต็มความสุข ให้บ้านเป็นพื้นที่ที่รู้สึกผ่อนคลายและสะท้อนตัวตนได้อย่างชัดเจน โดยสไตล์บ้านมีให้เลือกหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นบ้านสไตล์มินิมอล บ้านสไตล์โมเดิร์น ที่พร้อมให้เลือกได้แบบตรงใจอีกด้วย
4. เลือกตามความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ย
การตัดสินใจซื้อบ้านหลังแรก นอกจากเรื่องของดีไซน์ ฟังก์ชันการใช้งานแล้ว หลักฮวงจุ้ยบ้านก็มีผลที่สำคัญเช่นกัน เพราะเชื่อกันว่าจะช่วยส่งเสริมพลังงานที่ดีเข้าสู่ตัวบ้านเพื่อให้คุณและสมาชิกในบ้านได้รับแต่สิ่งดี ๆ ช่วยเสริมในด้านการเงิน การงาน สุขภาพ อย่างการเลือกบ้านที่หันหน้าทิศตะวันออก ห้องครัวที่ไม่ตรงกับประตูบ้าน หรือบันไดที่ไม่ตรงกับประตูหน้าบ้าน ที่จะช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลและความสงบสุข เพื่อให้เราอยู่อาศัยได้สบายใจมากที่สุด
เทคนิคที่ 6: เลือกทำเลบ้านหลังแรกให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์
บ้านที่ดีคือบ้านที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของเรา ไม่ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมากนัก เช่น ถ้าต้องทำงานในเมือง ก็เลือกบ้านในทำเลในเมืองหรือใกล้รถไฟฟ้า ถ้าชอบความสงบเป็นส่วนตัว หรืออยากได้พื้นที่บ้านใหญ่ ๆ ก็อาจจะเลือกบ้านที่ขยับออกจากเมืองมาสักหน่อย แต่ก็ยังสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก ถ้าเป็นครอบครัวใหม่ ก็ควรเลือกบ้านที่รองรับการขยายของครอบครัว รวมถึงทำเลที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตในอนาคต
1. เลือกทำเลที่เดินทางสะดวก
การเดินทางเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเลือกซื้อบ้าน โดยอาจจะเริ่มจากชีวิตประจำของเราก็ได้ว่าเราไปที่ไหนบ้าง สถานที่ทำงาน โรงเรียนลูก ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาลประจำ จากนั้นสำรวจดูว่าถนน ทางด่วน หรือเส้นทางรถไฟฟ้าใกล้ ๆ ว่าผ่านบริเวณไหนได้บ้าง เพื่อให้เราสโคปพื้นที่ที่น่าสนใจได้ง่ายขึ้น เพราะการมีบ้านที่อยู่ใกล้ทางด่วนหรือสถานีรถไฟฟ้า ช่วยลดเวลาเดินทางไปทำงานหรือสถานที่สำคัญ ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีการจราจรติดขัด
2. เลือกทำเลที่ใกล้กับสถานที่สำคัญต่าง ๆ
หลังจากที่เราได้ทำเลบ้านที่น่าสนใจแล้ว อาจจะลองสำรวจเพิ่มเติมว่าบริเวณใกล้เคียงมีอะไรที่ทำให้ชีวิตเราสบายขึ้นและครบวงจรมากขึ้น ตามหลักการของ ‘15-minute city’ หรือเมือง 15 นาที คือเมืองที่เราสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคทั้งหมดได้ภายใน 15 นาที ดังนั้นแล้วหากเราจะเลือกซื้อบ้านสักหลัง อาจจะต้องดูบริเวณโดยรอบด้วยว่าภายใน 15 นาทีนี้เรามีสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร ครบแล้วหรือยัง ถ้าครบแล้วบ้านหลังนี้อาจเป็นบ้านที่ใช่ของเราจริง ๆ ก็ได้
เทคนิคที่ 7: ตรวจเช็กสภาพบ้านก่อนโอนบ้าน
หลังจากตัดสินใจพร้อมแล้วที่จะเลือกซื้อบ้านหลังนี้มาเป็นบ้านหลังแรกของเรา แต่จะเซ็นต์สัญญาโอนบ้านเลยก็คงจะไวเกินไป เพราะขั้นตอนที่เราควรจะทำมากที่สุดและข้ามไม่ได้ คือ การตรวจเช็กสภาพบ้านของเราก่อนโอน หากพบว่ามีอะไรผิดพลาด หรือมีจุดที่ต้องซ่อมแซมจะได้ให้โครงการแก้ไขก่อนที่จะโอนบ้าน ซึ่งตรวจรับบ้านก่อนโอน หากไม่จ้างผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองได้ไม่ยาก โดยมีวิธีการดังนี้
1. เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจบ้าน
ควรเตรียมอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น ไฟฉาย สายวัด และกล้องถ่ายรูป พร้อมเช็กลิสต์สำหรับการตรวจบ้าน เพื่อบันทึกจุดที่มีปัญหาและประสานงานกับโครงการหรือผู้ขายบ้านให้แก้ไขบ้านให้เรียบร้อยก่อนการโอน
- ไฟฉาย ใช้สำหรับตรวจบริเวณที่มืดหรือพื้นที่ที่แสงสว่างเข้าถึงไม่เพียงพอ เช่น ใต้บันไดหรือมุมเพดาน
- กล้องถ่ายรูป สำหรับเก็บภาพจุดที่มีปัญหา หรือบันทึกส่วนที่ต้องแก้ไขไว้เป็นหลักฐานเพื่อแจ้งกับโครงการ
- สายวัด ใช้ตรวจสอบขนาดของห้องหรือพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าสอดคล้องกับแผนผังที่ระบุไว้
- ไขควง ใช้สำหรับตรวจเช็กอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ตรวจความแน่นของสกรู หรือเปิด-ปิดปลั๊กไฟและสวิตช์
- เทปกาว ใช้ติดเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายบริเวณที่มีปัญหา เช่น รอยร้าว หรือพื้นผิวที่ไม่เรียบ
- ผังแปลนบ้าน เป็นเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบว่ารายละเอียดการก่อสร้างตรงตามที่ระบุไว้หรือไม่
- สมุดโน้ต จดบันทึกข้อสังเกตเกี่ยวกับพื้นที่หรือส่วนต่าง ๆ ที่พบปัญหา และสรุปผลการตรวจสอบ
- ไม้ ใช้สำหรับเคาะผนังหรือพื้นเพื่อตรวจสอบความแน่นหรือจุดที่อาจมีโพรงอากาศ
- อุปกรณ์สำหรับระบบน้ำและไฟฟ้า เครื่องวัดแรงดันไฟหรือเครื่องทดสอบการไหลของน้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้งานได้อย่างปกติ
2. เช็กจุดต่าง ๆ ภายในบ้าน
ตรวจสอบโครงสร้างบ้าน เช่น รอยแตกร้าว พื้นที่เอียง ระบบประปาและไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์ที่ติดตั้ง เช่น ลูกบิดประตู และก๊อกน้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าบ้านพร้อมเข้าอยู่อย่างสมบูรณ์ นอกนั้นยังมีอีกหลายจุดที่ควรตรวจสอบ อาทิ
- โครงสร้างบ้าน ตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง เช่น รอยร้าวในผนัง พื้นที่เอียง หรือบริเวณที่มีการทรุดตัว
- ระบบประปาและไฟฟ้า ทดสอบว่าก๊อกน้ำ สายไฟ สวิตช์ไฟ และปลั๊กไฟใช้งานได้ตามปกติหรือไม่
- อุปกรณ์ติดตั้งในบ้าน เช่น เช็กความเรียบร้อยของลูกบิดประตู บานพับหน้าต่าง หรือตะแกรงระบายน้ำ
- พื้นที่ภายนอกบ้าน ตรวจสอบประตูรั้ว ท่อระบายน้ำ บริเวณสวน และพื้นที่รอบบ้านว่ามีปัญหาหรือชำรุดหรือไม่
- พื้นที่ภายในบ้าน รวมถึงเสา คาน ผนัง ประตูห้อง ฝ้าเพดาน บันได หลังคา ระเบียง และระบบท่อน้ำและไฟฟ้าภายในบ้าน
เทคนิคที่ 8: ข้อควรระวังในการเลือกซื้อบ้านหลังแรก
อย่างไรก็ตาม หากเจอบ้านที่มีดีไซน์สวยตรงใจ พื้นที่ส่วนกลางตอบโจทย์แล้วจะซื้อได้เลย ก่อนการตัดสินใจซื้อบ้าน จะต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดโครงการให้รอบคอบทั้งเรื่องใบอนุญาตก่อสร้าง พื้นที่ใกล้เคียงโครงการอยู่ในสถานที่อันตรายตามโรงงานต่าง ๆ หรือไม่ ควรตรวจสอบสัญญาการซื้อขายอย่างละเอียด ดูความเรียบร้อยของตัวบ้านในทุกจุด และไม่ควรซื้อบ้านที่มีราคาสูงกว่างบที่ตั้งไว้ เพื่อให้ได้บ้านที่ดีและถูกใจมากที่สุด
เลือกซื้อบ้านหลังแรกกับ AP Thai พื้นที่แห่งความสุขที่ตอบโจทย์ทุกการใช้ชีวิต
‘บ้าน’ คือ พื้นที่ที่อบอวลไปด้วยความรักและความสุข บ้านที่ดีอาจไม่ใช่บ้านหลังใหญ่ แค่เป็นบ้านที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของทุกคนในครอบครัว มีพื้นที่ให้แชร์ความสุขร่วมกันในทุก ๆ วัน ก็นับว่าเป็นบ้านในฝันแล้ว โครงการบ้านจาก AP Thai ตอบโจทย์ทุกความต้องการสำหรับคนที่กำลังมองหาบ้านหลักแรก พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของการอยู่อาศัย เพิ่มความสบายเหนือระดับไปอีกขั้น พร้อมทั้งทำเลที่หลากหลายทั้งในและนอกเมือง เดินทางสะดวก เชื่อมต่อได้ทุกมุมเมือง
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ