LIVING SERIES
  • Witty Living

โซลาร์เซลล์คืออะไร เลือกแผงแบบไหนดี พร้อมเจาะลึกสิ่งควรรู้ก่อนติดตั้ง

อยากเปิดแอร์ทั้งวันแบบสบายใจ ต้องติดโซลาร์เซลล์ที่บ้าน แต่การจะติดแผงโซลาร์เซลล์ครั้งนึง เต็มไปด้วยดีเทลต่าง ๆ มากมายที่ต้องรู้ ว่าแต่จะมีอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลย!

AP THAILAND

AP THAILAND

โซลาร์เซลล์คืออะไร

MAIN POINT

 

  • โซลาร์เซลล์ คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้รับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในบ้าน ซึ่งมีข้อดีต่าง ๆ มากมาย ทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, ใช้งานได้อย่างไม่จำกัด, ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และอายุการใช้งานยาวนาน
  • สิ่งที่ควรทำก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้าน ประกอบไปด้วย ต้องสำรวจความพร้อมของตัวบ้าน, ต้องเลือกผู้ให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ดี, ต้องทำเรื่องขอติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และต้องรู้วิธีการดูแลแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ได้แผงโซลาร์เซลล์ที่มีมาตราฐานและความปลอดภัย

 

 

ยุคนี้สมัยนี้หลายบ้านล้วนอยากติดโซลาร์เซลล์ที่บ้านกันทั้งนั้น ด้วยค่าไฟที่สูงขึ้นทุกปี แถมสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นตลอดเวลา ทำให้แต่ละบ้านต้องเผชิญกับปัญหาค่าไฟพุ่งแบบฉุดไม่อยู่ วันนี้ AP Thai เลยรวบรวมข้อมูลการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทั้งประเภทแผงโซลาร์เซลล์ ระบบการทำงานของโซลาร์เซลล์ และสิ่งที่ควรรู้ก่อนติดโซลาร์เซลล์ที่บ้าน เพื่อให้ทุกบ้านติดตั้งได้อย่างถูกต้องและคุ้มค่าที่สุด

 

โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) คืออะไร?

โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับรับพลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า โดยมีสารกึ่งตัวนำ หรือ เซมิคอนดักเตอร์ ที่ช่วยในการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้า เพื่อนำไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านต่อไป

 

หลักการทำงานของระบบโซลาร์เซลล์

โซล่าเซลล์

 

แผงโซลาร์เซลล์ที่ดูธรรมดา ๆ แต่ภายในเต็มไปด้วยระบบการทำงานที่ซับซ้อนกว่าที่คิด โดยหลังจากที่แสงอาทิตย์กระทบมายังแผงโซลาร์เซลล์ในช่วงเวลากลางวัน เส้นตารางโลหะด้านบนจะคอยกักเก็บพลังงานส่วนนั้นเอาไว้ เพื่อส่งไปยังชั้นแปลงพลังงานด้านล่าง ก่อนส่งต่อไปยัง เซมิคอนดักเตอร์ หรือ สารตัวกึ่งนำ ซึ่งมีหน้าที่แปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นกระแสไฟฟ้า เพื่อนำไปใช้งานในจุดต่าง ๆ ของบ้านต่อไป

 

ข้อดีของการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ที่บ้าน

ห้องนั่งเล่น

 

  • เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นการใช้พลังงานธรรมชาติที่เป็นพลังงานสะอาด ไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ต่างจากพลังงานไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงถ่านหินที่เกิดจากการเผาไหม้ ซึ่งส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศโลกโดยตรง

 

  • ใช้ได้ไม่จำกัด เนื่องจากกระแสไฟฟ้าจากระบบโซลาร์เซลล์มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีให้ใช้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในประเทศไทย จึงสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ

 

  • ประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นจุดเด่นหลัก ๆ ที่ทำให้หลายคนอยากติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้าน เพราะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะบ้านที่ใช้ไฟในช่วงกลางวันเยอะ อย่างการเปิดแอร์ตอนกลางวัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟแพง

 

  • อายุการใช้งานยาวนาน ประมาณ 20-25 ปี ตามการดูแลรักษา ถึงแม้การติดโซลาร์เซลล์จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับข้อดีและอายุการใช้งาน ถือว่าคุ้มค่ามาก ๆ คล้ายกับเป็นการลงทุนในระยะยาว

 

เลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์แบบไหนดี?

1. แผงโมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells)

แผงโมโนคริสตัลไลน์

 

แผงโซลาร์เซลล์แบบโมโนคริสตัลไลน์ ผลิตมาจากผลึกซิลิคอนที่มีความบริสุทธิ์สูง มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมมุมตัดทั้ง 4 มุม มาพร้อมแผงเซลล์สีดำ

 

  • ข้อดี มีประสิทธิภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย 15-20%  จึงให้กำลังไฟสูงกว่าแผงโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบาง เกือบ 4 เท่า สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีแม้อยู่ในสภาวะแสงน้อย และอายุการใช้งานยาวนาน 25-40 ปี
  • ข้อจำกัด ราคาสูง และหากมีคราบสกปรกอยู่บนแผงเป็นเวลานาน สามารถส่งผลให้วงจรหรือระบบอินเวอร์เตอร์เสียหายได้

 

2. แผงโพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells)

แผงโพลีคริสตัลไลน์

 

แผงโซลาร์เซลล์แบบโพลีคริสตัลไลน์ ทำมาจากผลึกซิลิคอน ด้วยกระบวนการหลอมแล้วนำไปเทใส่แบบพิมพ์ จึงมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมที่ไม่มีการตัดมุม มาพร้อมแผงเซลล์สีน้ำเงินอมฟ้าหรือม่วง

 

  • ข้อดี ราคาไม่สูง มีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีในที่ที่มีอุณหภูมิสูง
  • ข้อจำกัด มีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 13-16% ซึ่งต่ำกว่าแผงโมโนคริสตัลไลน์ และมีอายุการใช้งานเพียง 20-25 ปี

 

3. แผงโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells)

แผงโซล่าเซลล์ชนิดฟิล์มบาง

 

แผงโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบาง ผลิตมาจากสารที่สามารถแปลงพลังงานแสงเป็นกระแสไฟฟ้าได้ โดยนำมาฉาบไว้หลาย ๆ ชั้นบนฟิล์ม จะมีลักษณะเป็นฟิล์มสีดำบาง ๆ สามารถเอาไปประยุกต์ใช้เป็น กระเบื้องโซลาร์เซลล์หรือแผงโซลาร์เซลล์แบบพกพาได้

 

  • ข้อดี ราคาถูกที่สุด น้ำหนักเบา สามารถโค้งงอได้ ทนต่ออากาศร้อนได้ดี เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่กว้าง
  • ข้อจำกัด มีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าน้อยที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ 7-13% ค่าใช้จ่ายในอุปกรณ์การติดตั้งสูง และอายุการใช้งานสั้น

 

ระบบโซลาร์เซลล์ มีทั้งหมดกี่ประเภท?

การติดตั้งโซล่าเซลล์

 

1. ระบบ Off Grid

ระบบโซลาร์เซลล์แบบ Off Grid คือ ระบบที่ไม่มีการเชื่อมต่อกับการไฟฟ้าส่วนกลาง อย่าง PEA หรือ MEA แต่จะมีการติดตั้งแบตเตอรี่เพื่อสำรองไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ และเมื่อต้องการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า พลังงานที่สำรองอยู่ในแบตเตอรี่ก็จะถูกนำออกมาใช้

 

จุดเด่น

 

  • ผลิตไฟฟ้าใช้ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากส่วนกลาง
  • สามารถใช้ไฟฟ้าในยามฉุกเฉินได้ เช่น เหตุการณ์ไฟดับ เป็นต้น

 

ข้อจำกัด

 

  • มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและค่าดูแลรักษาสูง
  • ปริมาณไฟฟ้าอาจจะไม่พอใช้ หากสภาพอากาศช่วงนั้นฝนตกหรือไม่มีแดดเป็นเวลานาน

 

เหมาะกับใคร?

 

  • เหมาะกับบ้านที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือจุดที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เพราะสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ทั้งวัน โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากการไฟฟ้า

 

2. ระบบ On Grid

ระบบโซลาร์เซลล์แบบ On Grid คือ ระบบที่มีการเชื่อมต่อกับการไฟฟ้าส่วนกลาง โดยไม่มีการติดตั้งแบตเตอรี่เพิ่มเติม ทำให้กระแสไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์จะถูกส่งไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านโดยตรง และถ้าในช่วงไหนที่โซลาร์เซลล์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าก็จะดึงไฟฟ้าจากส่วนกลางมาใช้แทน

 

จุดเด่น

 

  • มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและค่าดูแลรักษาน้อยกว่าแบบ Off Grid
  • เครื่องใช้ไฟฟ้ายังสามารถทำงานได้ แม้ในช่วงเวลาที่ไม่มีแสงแดด

 

ข้อจำกัด

 

  • หากเกิดเหตุการณ์ไฟตกหรือไฟดับ แผงโซลาร์เซลล์จะหยุดทำงานไปด้วย
  • หากมีการปรับปรุงระบบจากการไฟฟ้า อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

 

เหมาะกับใคร?

 

  • เหมาะกับบ้านที่ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันเยอะเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงที่จะได้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์โดยตรง

 

3. ระบบ Hybrid Grid

ระบบโซลาร์เซลล์แบบ Hybrid Grid คือ การนำข้อดีของ Off grid และ On grid มารวมกัน จึงทำให้สามารถใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ตลอดเวลา โดยในช่วงกลางวันจะใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์เป็นหลัก ส่วนในช่วงเวลากลางคืนจะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่สำรองกระแสไฟส่วนเกินจากโซลาร์เซลล์เอาไว้ แต่ถ้าช่วงไหนไฟไม่พอก็จะดึงพลังงานจากไฟฟ้าส่วนกลางมาใช้แทน

 

จุดเด่น

 

  • มีความเสถียรในการจ่ายไฟมากที่สุด
  • หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน อย่างไฟตกหรือไฟดับ ก็สามารถใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าต่อได้

 

ข้อจำกัด

 

  • มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและค่าดูแลรักษาสูง
  • ระบบการทำงานมีความซับซ้อนเป็นพิเศษ

 

เหมาะกับใคร?

 

  • เหมาะกับบ้านขนาดใหญ่หรือโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากตลอดทั้งวัน

 

4 สิ่งที่ควรรู้ก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้าน

1. ต้องสำรวจความพร้อมของตัวบ้าน

การติดตั้งโซลาร์เซลล์จะต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่างรวมกัน ดังนั้นก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทุกบ้านจะต้องสำรวจความพร้อมของตัวบ้านก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้งาน

 

1.1. ตรวจสอบกำลังการใช้ไฟของบ้าน

มิเตอร์ไฟฟ้า

 

การตรวจสอบกำลังไฟภายในบ้าน ทำให้รู้ว่าในแต่ละเดือนใช้กำลังไฟอยู่ที่เท่าไร และควรเลือกติดโซลาร์เซลล์ขนาดไหนจึงจะเหมาะสม ซึ่งการตรวจสอบสามารถใช้หลักการคำนวณคร่าว ๆ ผ่านสูตรเบื้องต้นด้านล่างนี้ โดยให้แบ่งค่าไฟออกเป็น ช่วงกลางวัน 70% และช่วงกลางคืน 30%

 

  1. ( ค่าไฟ x 70 ) ÷ 100 = ค่าไฟช่วงกลางวัน 
  2. ค่าไฟช่วงกลางวัน ÷ ค่าเฉลี่ยไฟฟ้าต่อหน่วย = จำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้า
  3. ( จำนวนหน่วย ÷ จำนวนวัน ) ÷ จำนวนชั่วโมงที่มีแสงอาทิตย์ = จำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้าต่อชั่วโมง

 

ตัวอย่างเช่น: ค่าไฟเฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท

 

  1. ( 5,000 x 70 ) ÷ 100 = 3,500 บาท
  2. 3,500 ÷ 4 = 875 หน่วย
  3. ( 875 ÷ 30 ) ÷ 9 = 3.2 หน่วยต่อชั่วโมง

 

ดังนั้น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่เหมาะสมคือ ขนาด 3-5 กิโลวัตต์ ซึ่งวิธีนี้เป็นการคำนวณเบื้องต้นเท่านั้น แนะนำว่าก่อนการติดตั้งจริงสามารถขอคำปรึกษาจากผู้ให้บริการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มเติม

 

1.2. ตรวจสอบความแข็งแรงของหลังคาบ้าน

การตรวจสอบหลังคาบ้าน

 

ด้วยน้ำหนักของแผงโซลาร์เซลล์ที่ค่อนข้างหนัก การตรวจสอบความแข็งแรงของหลังคาบ้านจึงสำคัญ ซึ่งโดยปกติแผ่นโซลาร์เซลล์ขนาดมาตราฐานจะอยู่ที่ 1x2 เมตร และแต่ละแผ่นจะมีน้ำหนักประมาณ 22 กิโลกรัม 

ดังนั้น ก่อนเริ่มติดตั้งควรตรวจสอบหลังคาบ้านให้ดี ว่ามีรอยแตก รอยร้าว หรือรอยรั่วไหม รวมถึงวัสดุที่นำมาใช้แข็งแรงหรือมั่นคงพอหรือไม่ ถ้าหลังคาไม่แข็งแรงพอ ควรรีโนเวทใหม่ให้ดีเสียก่อน เพื่อความปลอดภัยในการติดตั้งแบบระยะยาว

 

1.3. ตรวจสอบรูปทรงของหลังคาบ้าน

หลังคาบ้าน

 

 

1.หลังคาทรงจั่ว เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย เพราะสามารถระบายความร้อนได้ดี ด้วยลักษณะทรงหลังคาที่สูงและลาดชัน ทำให้สามารถติดโซลาร์เซลล์ได้ง่ายที่สุด

2. หลังคาทรงปั้นหยา เป็นทรงที่นิยมใช้กันทั่วโลก สามารถปะทะลม กันแดด กันฝนได้ดี แต่ระบายความร้อนได้ไม่ดีเท่าที่ควร ด้วยลักษณะของหลังคาที่มีความป้านและลาดเอียงเล็กน้อย  ในการติดโซลาร์เซลล์บ้านสามารถติดตั้งได้ทุกทิศของหลังคา

3. หลังคาทรงเพิงแหงน เป็นแบบหลังคาที่อาจจะระบายน้ำฝนได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ด้วยลักษณะหลังคาที่มีพื้นที่เยอะและกว้าง จึงสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ง่ายเช่นเดียวกับหลังคาทรงจั่ว

 

 

1.4. ตรวจสอบทิศทางที่เหมาะสมในการติดตั้ง

การตรวจสอบบ้าน

 

  1. ทิศเหนือ เป็นทิศที่ได้รับแสงแดดน้อยที่สุด เพราะในประเทศไทยพระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและอ้อมไปทางทิศใต้ ก่อนจะไปตกที่ทิศตะวันตก จึงแนะนำว่าไม่ควรติดแผงโซลาร์เซลล์หันไปทางทิศเหนือ
  2. ทิศใต้ เป็นทิศที่ดีที่สุดในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพราะเป็นทิศที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน โดยในการติดตั้งสามารถเอียงแผงเล็กน้อยประมาณ 13.5 องศา เพื่อให้โซลาร์เซลล์สามารถรับกับแสงแดดได้อย่างเต็มที่
  3. ทิศตะวันออก เป็นทิศที่ได้รับแสงแดดปานกลาง เพราะมีข้อจำกัดในการรับแสงอยู่แค่ช่วงเช้า-เที่ยงเท่านั้น และเมื่อเทียบกับทิศใต้ ทิศตะวันออกจะได้รับแสงน้อยกว่าราว ๆ 2-16% ซึ่งส่งผลให้แผงโซลาร์เซลล์ทำงานได้ไม่เต็มที่มากนัก
  4. ทิศตะวันตก ประสิทธิภาพการรับแสงจะเท่ากับทิศตะวันออก เพราะมีข้อจำกัดในการรับแสงอยู่แค่ช่วงเที่ยง-เย็นเท่านั้น

 

2. ต้องเลือกผู้ให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ดี

การเลือกผู้ให้บริการในการติดโซลาร์เซลล์ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะต้องอาศัยทั้งความชำนาญและประสบการณ์ในการติดตั้ง เพื่อให้ทุกคนในบ้านได้ใช้ระบบโซลาร์เซลล์ที่ปลอดภัยที่สุด ซึ่งจะต้องพิจารณาจากปัจจัยสำคัญ ๆ เหล่านี้

 

2.1. งบประมาณค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง

การคำนวณค่าใช้จ่าย

 

หากเทียบกับสมัยก่อนการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะมีราคาสูงเป็นพิเศษ แต่ในปัจจุบันราคาในการติดตั้งลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของแผงโซลาร์เซลล์ที่เลือกใช้ รวมถึงจำนวนแผ่นและความยากง่ายในการติดตั้ง

ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละบริษัทจะมีการบริการและราคาที่แตกต่างกันออกไป ทุกบ้านจึงควรเข้าไปปรึกษาและสอบถามราคาจากผู้ให้บริการอย่างน้อย 2-3 บริษัท เพื่อเปรียบเทียบราคา ข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงการให้บริการในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสินใจเลือก

 

2.2. ความเชี่ยวชาญในการติดตั้ง

การติดตั้งโซล่าเซลล์

 

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอันขาด เนื่องจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ถือเป็นการลงทุนในระยะยาว ทุกบ้านจึงควรเลือกผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ มีความเชี่ยวชาญ มีมาตรฐาน และมีประสบการณ์ เพื่อลดปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น 

 

  • ตำแหน่งที่ใช้ในการติดตั้งไม่โดนแสงแดดหรือโดดแสงแดดได้ไม่ดีพอ
  • การเชื่อมต่ออุปกรณ์หลวมหรือสายไฟขาด จนเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้
  • การติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน จนเกิดความเสียหายกับหลังคาบ้าน

 

2.3. บริการหลังการขายและการรับประกัน

การบริการหลังการขาย

 

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเลือกผู้ให้บริการติดระบบโซลาร์เซลล์ ซึ่งทุกบ้านควรศึกษาการให้บริการหลังการขายและการรับประกันให้ถี่ถ้วน เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่แผงโซลาร์เซลล์เกิดปัญหาหลังการติดตั้ง โดยปกติแล้วการรับประกันจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

 

  • รับประกันสินค้า 10 ปี
  • รับประกันประสิทธิภาพของแผง 25 ปี

 

ซึ่งผู้ให้บริการในแต่ละเจ้าจะมีระยะเวลาการรับประกันที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงอาจจะมีการรับประกันอุปกรณ์อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คอนโทรลเลอร์ ชาร์เจอร์, อินเวอร์เตอร์ ออฟกริด, อินเวอร์เตอร์ ออนกริด, ไฮบริด ออฟกริด โดยการรับประกันจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 ปี

 

3. ต้องทำเรื่องขอติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

การยื่นเอกสาร

 

หลังจากตรวจความพร้อมของสถานที่และเลือกผู้ให้บริการในการติดตั้งได้แล้ว มาถึงอีกขั้นตอนสำคัญ คือ การทำเรื่องขอติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่บ้าน ซึ่งขั้นตอนการขออนุญาตอาจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน โดยรายละเอียดการขออนุญาตในการติดโซลาร์เซลล์สำหรับบุคคล จะมีขั้นตอน ดังนี้

 

1. ก่อนเริ่มติดตั้งจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปสำรวจสถานที่ เพื่อทำการวัดขนาด รวมถึงทิศทางในการติดตั้ง

2. ผู้ขออนุญาตการติดตั้ง ต้องเตรียมเอกสารต่าง ๆ เพื่อเข้าไปยื่นที่การไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยเอกสารที่ต้องนำไปยื่น มีดังนี้

    • รูปถ่ายแสดงการติดตั้งของอุปกรณ์
    • สำเนาหลักฐานการยื่นแจ้งราชการส่วนท้องถิ่น โดยสามารถทำเรื่องได้ที่ สำนักงานเขต เพื่อแจ้งขอติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนที่พักอาศัย
    • ในกรณีต่อเดิมหรือมีการเปลี่ยนแปลงอาคารที่ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ต้องแจ้งทางวิศวกรโยธาให้เข้ามาตรวจสอบและเซ็นรับรอง เพื่อนำเอกสารชุดดังกล่าว ไปยื่นขอใบอนุญาต อ.1 ที่สำนักงานเขต
    • แจ้งทางโยธาและวิศวกรโยธาที่มีใบ กว. ให้เข้ามาตรวจสอบความพร้อมในการติดตั้ง เพื่อรับรองว่าสถานที่นั้นมีความพร้อม
    • เอกสาร Single Line Diagram ที่ถูกลงนามโดยวิศวกรไฟฟ้าที่มีใบ กว.
    • รายละเอียดของแผงโซลาร์เซลล์
    • รายการตรวจสอบมาตรการด้านการออกแบบ

 

โดยการเลือกระบบโซลาร์เซลล์ที่จะใช้ มีผลต่อการยื่นขอทำเรื่องที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

1. ระบบ Off Grid เป็นระบบโซลาร์เซลล์ที่ไม่ต้องพึ่งพลังงานจากการไฟฟ้า ทำให้สามารถติดตั้งได้เลย โดยไม่ต้องทำเรื่องขออนุญาตจากการไฟฟ้า

2. ระบบ On Grid เป็นระบบโซลาร์เซลล์ที่ใช้พลังงานจากทั้งแผงโซลาร์เซลล์และการไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องดำเนินการขออนุญาตจากการไฟฟ้า

3. ระบบ Hybrid Grid เป็นระบบที่ควบรวม Off Grid กับ On Grid ไว้ด้วยกัน ทำให้มีการใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ และการไฟฟ้า เลยจำเป็นต้องทำเรื่องขออนุญาตจากการไฟฟ้าเช่นกัน

 

จะเห็นได้ว่าการทำเรื่องขออนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์ มีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการอีกด้วย แต่ถ้าใครไม่สะดวกติดต่อหรือทำเรื่องด้วยตัวเอง ก็มีผู้ให้บริการหลายบริษัท ที่รับเป็นตัวแทนดำเนินการขออนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้

 

4. ต้องรู้วิธีการดูแลแผงโซลาร์เซลล์

การทำความสะอาดแผงโซล่าเซลล์

 

เมื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้านเรียบร้อยแล้ว ทุกบ้านควรหมั่นดูแลและตรวจสอบสภาพแผงโซลาร์เซลล์อยู่เสมอ เพราะหากขาดการดูแลเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้การทำงานและประสิทธิภาพการรับแสงน้อยลง ซึ่งขั้นตอนการดูแลรักษาแผงโซลาร์เซลล์สามารถทำได้ ดังนี้

 

  • หมั่นตรวจสอบสภาพของแผงโซลาร์เซลล์ว่า มีรอยร้าว รอยแตก หรือสีของแผงแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่
  • ทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์เป็นประจำ เพื่อขจัดคราบฝุ่นและสิ่งสกปรกที่ติดอยู่บนแผง ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาด ควรเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ทำให้เกิดรอยข่วน เช่น แปรงขนไนลอน ผ้า หรือฟองน้ำ
  • ควรใช้น้ำเปล่าในการล้าง และควรทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ในช่วงเช้า โดยเฉลี่ยประมาณปีละ 4-5 ครั้ง 
  • ควรตรวจสอบอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับแผงโซลาร์เซลล์อยู่เสมอ เช่น แบตเตอรี่ สายไฟ หรือกล่องอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากแมลงหรือสัตว์ตัวเล็ก ๆ

 

การติดโซลาร์เซลล์ช่วยประหยัดได้จริงไหม?

หลังจากที่ทุกคนได้ทำความรู้จับกับโซลาร์เซลล์กันไปแล้ว ก็มาคลายข้อสงสัยกับคำถามที่หลายคนอยากรู้ ว่าการติดโซลาร์เซลล์ช่วยประหยัดค่าไฟได้จริงหรอ ซึ่งคำตอบ คือ ช่วยประหยัดได้จริง แต่จะประหยัดได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับจำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้าและขนาดของแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้ง ซึ่งจะต้องสอดคล้องกัน เพื่อประสิทธิภาพที่สูงที่สุดในการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์ 

 

โซลาร์เซลล์ นวัตกรรมที่ช่วยประหยัดค่าไฟภายในบ้าน

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลสำคัญ ๆ ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้าน ที่เจ้าของบ้านยุคใหม่ทุกคนควรรู้ เพราะการติดแผงโซลาร์เซลล์ที่บ้าน เต็มไปด้วยข้อดีและจุดเด่นต่าง ๆ มากมาย AP Thai หวังว่าบทความนี้น่าจะพอเป็นแนวทางที่ช่วยในการประกอบการตัดสินใจให้กับเพื่อน ๆ ได้ไม่มากก็น้อย

 

เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต

เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมหรือบ้านแฝดดีไซน์สวย คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย

 

 

EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ

RELATED ARTICLES