อุบัติเหตุ ขึ้นชื่อว่าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะอุบัติเหตุภายในบ้านที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ทุกคนจึงควรเตรียมการป้องกัน หรือวางแผนสำรองเอาไว้ในยามฉุกเฉิน เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นมาได้โดยที่ไม่คาดคิด โดยอุบัติเหตุภายในบ้านนั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ และในบางครั้งก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงสาเหตุเหล่านั้นไม่ให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ในบทความนี้ทาง AP Thai จึงจะพาทุกคนไปดู 10 อุบัติเหตุภายในบ้าน และวิธีป้องกันอุบัติเหตุ ที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตของทุกคนนั้นปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
1.น้ำร้อนลวก
ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ชงชา หรือชงกาแฟเป็นประจำทุกวัน รวมถึงทำสิ่งต่างๆ ที่จะต้องใช้น้ำร้อน ก็จะทำให้ทุกคนจะต้องใช้น้ำร้อนอยู่บ่อยครั้ง และทำให้มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุภายในบ้านอย่างการโดนน้ำร้อนลวกตามมาได้ ถ้าหากไม่ระมัดระวังให้ดีก็จะทำให้โอกาสที่จะถูกน้ำร้อนลวกนั้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ค่อยระมัดระวัง หรือผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น เด็ก ผู้สูงวัย หรือสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
วิธีป้องกัน
สำหรับวิธีป้องกันอุบัติเหตุจากการโดนน้ำร้อนลวกมือ มีดังนี้
- เมื่อต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้น้ำร้อน ควรมีสติ และจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ ไม่ควรเหม่อลอย หรือทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย
- วางภาชนะใส่น้ำร้อนให้พ้นจากพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการโดนชน หรือกระแทกได้ง่าย
- หากมีเด็ก ผู้สูงวัย หรือสัตว์เลี้ยง ควรวางให้ห่าง และป้องกันไม่ให้เข้าใกล้ภาชนะ หรืออุปกรณ์ใส่น้ำร้อน เพื่อป้องกันการชน กระแทก หรือสัมผัสโดยบังเอิญ
หากเกิดขึ้นแล้วจะรับมืออย่างไร
หลังจากเกิดอุบัติเหตุภายในบ้านอย่างการโดนน้ำร้อนลวก ควรล้างด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติที่สามารถช่วยลดการหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณบาดแผลได้ และทำการเช็ดผิวบริเวณที่โดนน้ำร้อนลวกให้แห้งด้วยผ้าสะอาด พร้อมกับสังเกตว่าบริเวณที่โดนน้ำร้อนลวกนั้นมีรอยแผล มีตุ่มพองใสเกิดขึ้น หรือสีของผิวหนังเปลี่ยนไปหรือไม่
ถ้าหากเกิดอาการที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะว่าถ้าหากปล่อยไว้โดยไม่ล้างน้ำ และทำความสะอาดบริเวณแผลให้ดี อาจทำให้เกิดอาการปวด บวม และอักเสบตามมาได้ โดยเฉพาะแผลที่ถูกน้ำร้อนลวกจนลึกลงไปในชั้นผิวหนัง แต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี อาจจะทำให้เกิดแผลเป็น หรือแผลหดรั้งตามมาได้
ถ้าหากน้ำร้อนลวกในบริเวณใบหน้า จะต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะว่าผิวบริเวณใบหน้านั้นเป็นผิวที่บอบบาง และเกิดการระคายเคืองได้ง่าย ดังนั้น จึงไม่ควรใส่ยา หรือทำแผลด้วยตัวเอง และควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย และรักษาได้อย่างตรงจุดมากที่สุด
2.ไฟดูด หรือไฟช็อต
ไฟดูด หรือไฟช็อต เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากไฟฟ้า โดยไฟดูดนั้นเกิดจากการที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายคนสู้พื้นดิน แต่ไฟดูดนั้นเกิดจากประกายไฟภายในอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ว่าอุบัติเหตุภายในบ้านอย่างไฟดูด หรือไฟช็อตนั้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะว่าภายในบ้านของทุกคนในปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้เหล่านั้นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สายไฟรั่ว หรือจับเครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะที่มือเปียก เป็นต้น
วิธีป้องกัน
สำหรับวิธีป้องกันอุบัติเหตุจากการโดนไฟดูด หรือไฟช็อต มีดังนี้
- หมั่นตรวจสอบความปลอดภัยของระบบป้องกันภัยไฟฟ้าในบ้าน เช่น การตรวจเช็กเบรกเกอร์ หรือเช็กสายดินว่ายังทำงานได้ปกติอยู่หรือไม่ เป็นต้น
- ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีการชำรุด
- ทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณปลั๊กไฟที่มักจะมีฝุ่นเป็นจำนวนมาก และอาจทำให้เกิดไฟไหม้ในขณะที่เสียบปลั๊กไฟได้
- ทำความสะอาดบริเวณปลั๊กไฟให้แห้งอยู่เสมอ และไม่เสียบปลั๊กไฟในขณะที่มือเปียก
หากเกิดขึ้นแล้วจะรับมืออย่างไร
ถ้าเกิดอุบัติเหตุภายในบ้านอย่างไฟดูด หรือไฟช็อต ควรแยกตัวคนออกจากแหล่งไฟฟ้าโดยทันที และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกายโดยตรง โดยทำการสับสวิชต์ไฟ เพื่อตัดไฟในบ้าน แต่ถ้าจำเป็นต้องสัมผัสร่างกายก็ควรสวมรองเท้า หรือใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวที่ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า เช่น ไม้กวาด หรือ ผ้าห่ม มาใช้สัมผัสตัวคน หรือใช้เป็นเหมือนถุงมือชั่วคราวในการดึงตัวคนที่โดนไฟดูดออกจากแหล่งไฟฟ้าได้
หลังจากที่โดนไฟดูด และสามารถนำตัวออกมาได้แล้ว ควรให้คนที่โดนไฟดูดนอนในท่าพักฟื้น เพื่อให้สามารถหายใจได้สะดวก พร้อมกับปฐมพยาบาลด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- วางแขนของผู้ป่วยข้างใดข้างหนึ่งให้ตั้งฉากกับลำตัวของตัวผู้ป่วยเอง
- วางแขนอีกข้างหนึ่งลอดใต้ไปข้างศีรษะของผู้ป่วย
- งอเข่าข้างใดข้างหนึ่งให้เป็นมุมฉาก
- พลิกตัวผู้ป่วยให้นอนตะแคง และให้ด้านบนของท่อนแขนรองรับศีรษะ
- ยกคางของผู้ป่วยขึ้น เพื่อตรวจดูสาผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวกหรือไม่
- เฝ้าสังเกตการหายใจของผู้ป่วย และห้ามขยับตัวผู้ป่วยในขณะที่อยู่ในท่าพักฟื้น เพราะอาจทำให้รับบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้นได้
3.ของมีคมบาด
อุบัติเหตุภายในบ้านอย่างการโดนของมีคมบาด เป็นอุบัติเหตุที่สามารถพบได้เป็นประจำ เพราะว่าทุกคนภายในบ้านนั้นมักจะใช้ของมีคมอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นมีด กรรไกร หรือของมีคมอื่นๆ รวมถึงของมีคมที่เกิดจากข้าวของเครื่องใช้ได้รับความเสียหาย เช่น แก้วแตก จานแตก หรือกระเบื้องแตก เป็นต้น โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นของที่สามารถบาดผิวของทุกคนจนเป็นแผลได้ ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในขณะที่ใช้งาน และไม่ควรปล่อยให้เด็กๆ นำมาถือเดิน หรือวิ่งเล่น ที่อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่างๆ ตามมาได้
วิธีป้องกัน
สำหรับวิธีป้องกันอุบัติเหตุจากการโดนของมีคมบาด มีดังนี้
- เก็บของมีคมให้มิดชิด และเก็บให้พ้นจากมือเด็ก เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เด็กๆ หยิบไปถือเองได้โดยพลการ
- ของใช้ในบ้านที่มีความแหลม หรือมีความคม ควรใช้ยางกันคม หรือยางกันกระแทกมาสวมติดไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้โดนบาด โดยเฉพาะในบ้านที่มีเด็กนั้นควรติดป้องกันไว้เป็นอย่างมาก
หากเกิดขึ้นแล้วจะรับมืออย่างไร
ถ้าหากปล่อยบาดแผลจากการโดนของมีคมบาดทิ้งไว้ และไม่ทำการรักษา หรือห้ามเลือด อาจทำให้เกิดการเสียเลือดมากเกินไป และส่งผลให้หน้ามืดได้ และถ้าหากไม่ล้างทำความสะอาดให้ดีก็อาจจะติดเชื้อ หรือเป็นบาดทะยักได้เช่นกัน โดยการที่ผู้ป่วยไม่ปิดแผลด้วยอุปกรณ์ทำแผลนั้นนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อแล้ว ยังสามารถเพิ่มโอกาสที่จะบาดเจ็บซ้ำได้ เพราะว่าแผลเกิดการฉีกขาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดแข็งตัวช้า หรือไม่แข็งตัว หรือผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ทำให้แผลแห้งช้า หายช้า และอาจเกิดการติดเชื้อได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน
โดยวิธีการปฐมพยาบาลให้กับผู้ที่โดนของมีคมบาด มีดังนี้
- ห้ามเลือดด้วยผ้าสะอาด โดยการวางผ้าทับไว้ที่ปากแผล และใช้มือกดทิ้งไว้
- ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น และเช็ดรอบๆ แผลอย่างระมัดระวัง
- ทายาฆ่าเชื้อ และปิดพลาสเตอร์ป้องกันแผลให้มิดชิด
- ถ้าหากแผลกว้างมาก มีเลือดออกเยอะ และจำเป็นต้องเย็บแผล ให้ห้ามเลือดไว้ และไม่ต้องล้างแผล และรีบนำไปส่งโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาทันที
- ระมัดระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ หรือให้อุปกรณ์ทำแผลสกปรก เพราะอาจทำให้แผลอักเสบ และติดเชื้อได้ง่าย
4.ลื่นล้ม
อุบัติเหตุภายในบ้านอย่างการลื่นล้ม เป็นอุบัติเหตุที่สามารถพบได้บ่อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะว่าร่างกายนั้นมีการเสื่อมสภาพ และไม่แข็งแรงเท่ากับวัยหนุ่มสาว จึงทำให้เกิดการลื่นล้มได้ง่าย และอาจได้รับบาดเจ็บหนักกว่าวัยอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งพื้นที่ที่มักจะลื่นล้มบ่อย คือ ห้องน้ำ เพราะเป็นพื้นที่ภายในบ้านที่เปียกน้ำ และมักจะมีคราบสบู่หลงเหลืออยู่ หรือคราบตะไคร่เกาะอยู่ จึงทำให้เป็นจุดที่เสี่ยงต่อการลื่นล้มมากกว่าพื้นอื่นๆ นั่นเอง
วิธีป้องกัน
สำหรับวิธีป้องกันอุบัติเหตุจากการลื่นล้ม มีดังนี้
- หมั่นทำความสะอาดพื้นให้สะอาด เพื่อป้องกันคราบต่างๆ เกาะอยู่บนพื้นที่อาจทำให้พื้นลื่นได้
- ปูนแผ่นยางกันลื่นไว้ภายในห้องน้ำ เพื่อให้เท้าสามารถยึดเกาะกับพื้นได้ดีกว่า
- ซ่อมแซมพื้นให้มั่นคง หรือซ่อมแซมให้พื้นเรียบ เพื่อลดโอกาสในการสะดุด หรือหกล้มได้
- จัดวางของให้เป็นระเบียบ และไม่วางของขวางทางเดิน เพื่อให้เดินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
- เพิ่มแสงสว่างภายในบ้านให้เพียงพอ เพื่อจะได้มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
หากเกิดขึ้นแล้วจะรับมืออย่างไร
หลังจากมีการลื่นล้ม สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ดูอาการบาดเจ็บ และควรนอน หรือนั่งพัก เพื่อเลี่ยงการบาดเจ็บซ้ำระหว่างดูอาการ อาจจะใช้เวลาสักพักกว่าจะเริ่มรู้สึกว่าตรงไหนได้รับบาดเจ็บบ้าง ถ้าหากจุดที่บาดเจ็บเป็นจุดสำคัญอย่างหลัง หรือศีรษะ และได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
โดยผู้ที่มีการหกล้มหลายๆ ครั้ง แต่ยังไม่เห็นบาดแผลที่ชัดเจน และคิดว่าตัวเองไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ แต่ว่าอาจจะมีบาดแผลภายในเกิดขึ้นก็ได้ เช่น อาการช้ำ กระดูกหัก เอ็นอักเสบ หรือเส้นเลือดแตก โดยอาการเหล่านี้ถ้าหากไม่พบแพทย์ หรือไม่ได้สังเกตอาการต่างๆ ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้
5.สำลักอาหารหรือสิ่งของ
การสำลักอาหาร หรือสิ่งของ เป็นอุบัติเหตุภายในบ้านที่เสี่ยงอย่างมากในกลุ่มเด็ก เพราะว่าเด็กๆ นั้นมักจะมีความสงสัย และอยากรู้อยากเห็น จึงทำให้หยิบจับสิ่งของเหล่านั้นเข้าปากโดยธรรมชาติ นอกจากนั้นยังอาจเกิดได้จากการที่กินอาหารอย่างรวดเร็ว หรือคำใหญ่มากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอาการสำลักอาหารได้ ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรระมัดระวังอุบัติเหตุนี้เป็นอย่างดี เพราะสามารถทำให้อันตรายถึงชีวิตได้
วิธีป้องกัน
สำหรับวิธีป้องกันอุบัติเหตุจากการสำลักอาหาร หรือสิ่งของ มีดังนี้
- คอยดูแลให้เด็กๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด และเตรียมน้ำไว้ใกล้ตัวระหว่างกินอาหาร สำหรับผู้ปกครองที่ดูแลเด็กเล็กควรค่อยๆ ป้อนอาหารเด็ก และอย่ารีบป้อนจนเกินไป
- เก็บสิ่งของที่มีความเสี่ยงว่าเด็กๆ สามารถหยิบเข้าปาก และกลืนลงไปได้ เช่น ตัวต่อเลโก้ หรือของเล่นชิ้นเล็กๆ เป็นต้น
หากเกิดขึ้นแล้วจะรับมืออย่างไร
ความรู้สึกแน่นคอ การไอ หายใจไม่ออก หรือพูดออกเสียงไม่ได้ เป็นสัญญาณว่าคุณ หรือคนใกล้ตัวมีบางสิ่งติดคออยู่ และถ้าหากปล่อยไว้อาจจะทำให้ขาดอากาศหายใจ สลบ และเกิดความเสียหายทางสมอง หรืออาจจะเสียชีวิตได้ โดยการช่วยเหลือเบื้องต้น คือ การให้ดื่มน้ำสำหรับผู้ที่มีอาหารติดคอ หรือการให้แหงนหน้าขึ้น เพื่อขยายหลอดลมให้อากาศเข้าได้สะดวกขึ้น แต่ถ้าหากอาหารติดคอจนไม่สามารถหายใจได้ เสียงแหบ เบา หรือไม่มีเสียง ให้รีบช่วยเหลือด้วยการ Chocking ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
- ยืนด้านหลังผู้ป่วย และวางเท้าตรงระหว่างเท้าทั้ง 2 ข้างของผู้ป่วย
- ประสานมือทั้ง 2 ข้างเข้าด้วยกัน และกดลงที่ท้องของผู้ป่วยในช่วงตำแหน่งเหนือสะดือ และใต้ลิ้นปี่
- ออกแรงกระทุ้ง และดันขึ้นด้านบน อาจให้ผู้ป่วยก้มตัวเล็กน้อย เพื่อให้ง่ายต่อการช่วยเหลือมากขึ้น
- ทำรอบละ 5 ครั้ง พร้อมกับสังเกตว่ามีสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาหรือไม่ ถ้าหากยังไม่มีก็ให้ทำต่อเนื่องจนกว่าจะหลุดออกมา
6.ไฟไหม้บ้าน
อุบัติเหตุภายในบ้านอย่างไฟไหม้ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความประมาทอย่างการเปิดเตาแก๊วทิ้งไว้จากการทำอาหารแล้วลืมปิด หรือเกิดไฟฟ้าช็อตจากเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือระบบไฟฟ้าภายในบ้าน โดยพฤติกรรมอย่างการหลงลืม หรือความประมาทนั้นถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดไฟไหม้มากกว่าปัจจัยอื่นๆ ถึงแม้ว่าไฟไหม้จะไม่ใช่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้บ่อย แต่ว่าเป็นอุบัติเหตุที่สามารถทำให้สูญเสียทรัพย์ได้มากกว่าอุบัติเหตุอื่นๆ เป็นอย่างมาก
วิธีป้องกัน
สำหรับวิธีป้องกันอุบัติเหตุจากไฟไหม้บ้าน มีดังนี้
- ติดตั้งระบบตรวจจับไฟไหม้ หรือเครื่องมือดับไฟประจำบ้าน
- ตรวจสอบระบบไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านให้มีความปลอดภัยอยู่เสมอ
- แยกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการไฟไหม้ เช่น พื้นที่ครัว หรือที่สูบบุหรี่ออกจากตัวบ้าน เพื่อป้องกันไฟลุกลามไปทั่วบ้านเมื่อเกิดไฟไหม้
หากเกิดขึ้นแล้วจะรับมืออย่างไร
ถ้าหากไฟไหม้ในจุดเล็ก สามารถใช้ผ้าดับได้ แต่ถ้าเป็นไฟไหม้ขนาดใหญ่ควรเรียกดับเพลิง หรือใช้อุปกรณ์สำหรับดับเพลิงเท่านั้น และถ้าหากไฟติดที่ตัว ให้ทำการนอนกลิ้งไปกับพื้น เพื่อดับไฟที่ลุกอยู่บนตัว เมื่อไฟดับแล้วควรรีบใช้ผ้าสะอาดในการทำความสะอาด และเช็ดบริเวณแผลไฟไหม้ หลังจากนั้นแล้วจึงใส่ยาฆ่าเชื้อบนแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
โดยแผลที่เกิดจากไฟไหม้นั้นมีอยู่หลายระดับ และมีอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้
- แผลไหม้ระดับแรก ในบริเวณแผลจะมีผิวสีแดง ไม่มีตุ่มพอง แต่จะรู้สึกเจ็บปวด หรือแสบร้อน โดยแผลประเภทนี้จะต้องใช้ระยะเวลารักษาประมาณ 7 วัน และจะไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ แต่ถ้ามีการติดเชื้อ หรืออักเสบ ก็ให้ทำการรักษาด้วยการใช้ยาทาแผลเฉพาะภายนอก หรือปิดแผลด้วยพลาสเตอร์
- แผลไหม้ระดับที่สอง เป็นแผลที่สามารถหายได้เร็ว และไม่เกิดเป็นแผลเป็นเช่นกัน แต่ถ้าเกิดจากการถูกของเหลวลวก หรือถูกเปลวไฟ จะทำให้บาดแผลมีตุ่มพองใส และถ้าลอกเอาตุ่มพองออกมา ตรงส่วนแผลจะมีสีชมพู มีความชื้น และมีน้ำเหลืองซึม ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกปวด และแสบ เพราะเส้นประสาทบริเวณผิวหนังยังเหลืออยู่ โดยแผลจะหายได้ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ และเพื่อไม่เกิดแผลเป็น สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาทาแผลเฉพาะภายนอก หรือปิดแผลด้วยอุปกรณ์สำหรับทำแผลโดยเฉพาะ
- แผลไหม้ระดับที่สาม เป็นบาดแผลที่มีสีขาว ซีด เหลือง น้ำตาลไหม้ หรือดำ และผิวจะมีความหนา และแข็งเหมือนแผ่นหนัง แถมยังแห้ง และกร้าน ทำให้เห็นรอยเส้นเลือดอยู่ใต้ผิวหนังส่วนนั้นด้วย และเนื่องจากเส้นประสาทที่อยู่บริเวณผิวหนังแท้ถูกทำลายไปหมด ทำให้ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด ซึ่งบาดแผลประเภทนี้จะไม่หายเอง และจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกผิวหนัง และอาจจะมีการดึงรั้งของแผล ทำให้ข้อยึดติด และเมื่อหายแล้วก็อาจกลายเป็นแผลเป็นได้
7.อาหารเป็นพิษ
อาหารเป็นพิษ เป็นอีกอุบัติเหตุภายในบ้านที่สามารถเกิดได้จากการทานอาหาร หรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ทำให้ผู้ทานเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสียได้ โดยโอกาสที่จะเกิดอาหารเป็นพิษนั้นขึ้นอยู่กับความสะอาดของสภาพแวดล้อม และอาหารที่ทานเข้าไป รวมถึงภูมิคุ้มกันของคนแต่ละคนด้วย ดังนั้น ผู้ที่ไม่รักษาความสะอาดระหว่างการทานอาหาร ก็จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการมีอาหารเป็นพิษมากยิ่งขึ้น
วิธีป้องกัน
สำหรับวิธีป้องกันอุบัติเหตุจากอาหารเป็นพิษ มีดังนี้
- ทานอาหารสะอาด และมีการปรุงสุกที่ถูกสุขอนามัย
- ล้างมือก่อน และหลังการทำอาหาร และการทานอาหาร
- รักษาความสะอาดภายในครัว โต๊ะทานอาหาร และภาชณะใส่อาหารเป็นประจำ
หากเกิดขึ้นแล้วจะรับมืออย่างไร
อาการของอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่นั้นจะมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียนนำมาก่อน ซึ่งมีทั้งอาการที่ไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรงมากจนไม่สามารถทานอาหารได้ และในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการปวดท้อง หรือท้องเสียร่วมด้วย โดยผู้ที่ทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการได้ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน และถ้าอาการไม่รุนแรงก็สามารถหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง เพียงแค่รักษาตามอาการ เช่น ดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทน หรือทานยาแก้คลื่นไส้อาเจียน หรือยาแก้ปวดท้อง แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ทันที
8.จมน้ำ
การจมน้ำ เป็นอุบัติเหตุภายในบ้านที่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยมากนัก แต่ถ้าหากอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น สระว่ายน้ำ คลอง หรือมีบ่อเลี้ยงปลาในบ้าน ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุนี้ได้ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มีโอกาสเกิดการจมน้ำมากกว่าผู้ใหญ่ และมีโอกาสเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่า เพราะว่าว่ายน้ำไม่เป็น หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ หรือเด็กก็ควรจะอยู่ให้ห่างจากแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายที่คาดไม่ถึงได้
วิธีป้องกัน
สำหรับวิธีป้องกันอุบัติเหตุจากการจมน้ำ มีดังนี้
- ทุกครั้งที่ทำกิจกรรมทางน้ำ ควรมีผู้อื่นอยู่ด้วย เพื่อคอยช่วยเหลือ หรือตามคนมาช่วยเหลือในกรณีที่จมน้ำ หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- ไม่ปล่อยให้เด็กเล็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำโดยลำพัง เพราะเป็นจุดที่อันตราย และเด็กอาจจะพลัดตกน้ำไปได้
- เด็ก หรือผู้ใหญ่ที่ว่ายน้ำไม่เป็น ควรเรียนว่ายน้ำให้เป็น เพื่อป้องกันการจมน้ำ
หากเกิดขึ้นแล้วจะรับมืออย่างไร
คนที่จมน้ำมักจะตื่นตระหนก พยายามตะเกียกตะกายตัวให้ลอยน้ำ และพยายามเกาะสิ่งรอบตัว แต่ไม่นานนักก็จะหมดสติ และถ้าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือโดยเร็ว อาจอันตรายถึงชีวิตได้ โดยการช่วยเหลือคนที่หมดสติจากการจมน้ำนั้นสามารถช่วยได้ตามวิธี ดังนี้
- ตรวจดูความปลอดภัยบริเวณรอบๆ ตัวผู้ป่วย เช่น มีของแหลมคม มีกระแสไฟฟ้า มีน้ำมัน มีไฟ หรือสิ่งอันตรายอื่นๆ หรือไม่ ถ้าหากไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ให้โทรขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัย
- ถ้าหากสถานที่รอบๆ ผู้ป่วยปลอดภัยดี ให้ทำการตรวจสอบว่าผู้ป่วยหมดสติจริงหรือไม่ ด้วยการตีที่ไหล่ และเรียกชื่อด้วยเสียงดังประมาณ 4-5 ครั้ง ถ้าหากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ และหายใจเองได้ ให้จับนอนตะแคง แต่ไม่ควรทำ CPR ขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติ และโทรขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัย
- ถ้าหากผู้ป่วยไม่ได้สติ หรือหยุดหายใจ ให้รีบโทรขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัย พร้อมกับแจ้งอาการของผู้ป่วยให้หน่วยกู้ภัยทราบด้วย
- เริ่มทำการกดหน้าอก โดยจับผู้ป่วยนอนหงาย และนั่งคุกเข่าข้างผู้ป่วย พร้อมกับวางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก (ตำแหน่งตรงกลางระหว่างหน้าอก ระดับเดียวกับหัวนมพอดี) และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที สามารถปั๊มหัวใจตามจังหวะเพลง “สุขกันเถอะเรา” ของสุนทราภรณ์, “Staying Alive” ของ Bee Gees หรือ “Imperial March” เพลงธีมของ Darth Vader ในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ได้
- ควรทำ CPR ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมแพทย์ หรือหน่วยกู้ภัยจะมา แต่ถ้าไม่เคยเข้ารับการฝึกทำ CPR มาก่อน ให้กดหน้าอกเพียงอย่างเดียวไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเคยทำ CPR มาก่อนแล้ว อาจกดหน้าอกสลับกับการเป่าปากช่วยหายใจได้ โดยกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับมาเป่าปากช่วยหายใจ 2 ครั้ง
- ในกรณีที่มีคนอยู่ด้วยหลายคน สามารถสลับให้คนอื่นมาช่วยปั๊มหัวใจแทนได้
9.ของหล่นใส่
อุบัติเหตุภายในบ้านอย่างการโดนของหล่นใส่ เป็นอุบัติเหตุที่สามารถพบได้บ่อย โดยเป็นอุบัติเหตุที่ดูไม่ร้ายแรงมากนัก เพราะส่วนใหญ่จะมีอาการแค่ฟกช้ำเท่านั้น แต่ถ้าหล่นใส่อวัยวะที่สำคัญ เช่น ศีรษะ ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น ทุกครั้งที่หยิบจับของ ควรจะมีสติ เพื่อป้องกันไม่ให้ของหล่นใส่ตัวเอง
วิธีป้องกัน
สำหรับวิธีป้องกันอุบัติเหตุจากการโดนของหล่นใส่ มีดังนี้
- ไม่ควรวางของหนัก หรือของอันตรายไว้ในที่สูง
- ควรจัดวางข้าวของให้เป็นระเบียบ และไม่ขวางทางเดิน
- ควรวางสิ่งของที่ต้องใช้เป็นประจำให้อยู่ในจุดที่หยิบจับง่าย
หากเกิดขึ้นแล้วจะรับมืออย่างไร
หลังจากโดนหล่นตกใส่ ควรตรวจสอบว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ เพราะอาจเกิดการฟกช้ำ แต่ถ้าโดนของหล่นใส่ศีรษะก็อาจจะแตก หรือมีอาการมึนศีรษะเล็กน้อยหลังเกิดอุบัติเหตุก็สามารถเกิดได้ โดยส่วนใหญ่รอยฟกช้ำจะสามารถหายเองได้ แต่ถ้าทายาก็จะหายเร็วขึ้น แต่ถ้าโดนของหล่นใส่แล้วมีการสลบ หรือหมดสติ และหลังจากตื่นขึ้นมามีอาการปวดศีรษะ อาเจียน ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน หรือมีอาการที่รุนแรง ให้รีบพบแพทย์โดยทันที เพราะอาจเกิดอันตรายได้
10.ตกจากที่สูง
อุบัติเหตุภายในบ้านอย่างการตกจากที่สูง เป็นอุบัติเหตุที่สามารถเกิดได้ระหว่างการปีนเพื่อหยิบของ ปีนบันไดซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ภายในบ้าน ตกจากระเบียง หรือตกบันไดบ้าน โดยสามารถเกิดได้ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อาจจะวิ่ง เล่นผาดโผน หรือปีนขึ้นที่สูง อาจทำให้เกิดอันตรายตามมาได้ เช่น ศีรษะแตก แขนหัก ขาหัก หรือฟันหักก็ได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ปกครองจึงไม่ควรละสายตาจากเด็กๆ และคอยเฝ้าระวังเป็นอย่างดี
วิธีป้องกัน
สำหรับวิธีป้องกันอุบัติเหตุจากการตกจากที่สูง มีดังนี้
- ไม่ควรปีนขึ้นไปบนบันได หรือที่สูงที่ไม่มีความมั่นคง เพราะอาจทำให้พลัดตกลงมาบาดเจ็บได้
- ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรปีนขึ้นไปบนระเบียง เพราะอาจทำให้พลัดตกลงมาได้ง่าย
- ถ้าหากต้องขึ้นไปบนที่สูง เช่น บนหลังคา หรือปีนบันได้ เพื่อซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ควรมีคนอยู่ด้วย เพื่อคอยช่วยหยิบจับ และช่วยเหลืออยู่ใกล้ๆ ตัว
หากเกิดขึ้นแล้วจะรับมืออย่างไร
สำหรับผู้ที่ตกมาจากที่สูง อาจทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัส กระดูกร้าว หรือกระดูกแตกได้ ดังนั้น จึงควรโทรขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัย หรือเรียกรถพยาบาล และไม่ควรขยับผู้ป่วยที่ตกจากที่สูงโดยเด็ดขาด เพราะว่าถ้าเคลื่อนที่ไม่ถูกวิธี อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บมากกว่าเดิมได้
ถ้าหากผู้ป่วยหมดสติ หรือมีการหายใจที่ปกติ ควรปฐมพยาบาลโดยผู้ป่วยนอนราบ และให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย พร้อมกับยกขาขึ้น และถ้าหากมีเลือดไหลให้ห้ามเลือดด้วยการกดที่บาดแผลด้วยผ้าที่สะอาด จนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัย หรือโรงพยาบาล
อุบัติเหตุภายในบ้านสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าหากทุกคนประมาท ไม่ระมัดระวัง และไม่มีสติในการใช้ชีวิต ดังนั้น จึงควรแก้ปัญหาเหล่านี้จากสาเหตุโดยใช้วิธีป้องกันอุบัติเหตุที่ทาง AP Thai ได้นำมาฝากในบทความนี้ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง และสมาชิกทุกคนภายในบ้าน นอกจากนั้นทาง AP Thai ยังมีการเสริมความปลอดภัยให้กับลูกบ้านด้วยแอปพลิเคชัน KATSON นวัตกรรมยกระดับความปลอดภัย ที่มาพร้อมกับควาามสะดวกสบาย ให้ลูกบ้านทุกคนได้พักผ่อนอย่างปลอดภัยมากที่สุด