LIVING SERIES
  • Witty Living

ทริควางแผนจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุให้สะดวกและปลอดภัย ตอบโจทย์การใช้ชีวิต

บทความที่จะมาแนะนำวิธีการจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ที่ต้องการความปลอดภัยและความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณ

AP THAILAND

AP THAILAND

การจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุ
ด้วยในปัจจุบัน สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว วัยแรงงานน้อยลง สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ในฐานะลูกหลานจึงมีหน้าที่ที่จะต้องคิดและวางแผนในเรื่องการจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตบั้นปลายหลังวัยเกษียณได้อย่างปลอดภัย สะดวกสบาย มีความสุข และความอบอุ่นจากลูกหลานได้มากพอ โดยเฉพาะในวันที่ผู้สูงอายุต้องใช้ชีวิตระหว่างวันเพียงลำพัง ไอเดียที่นำมาแนะนำกันในวันนี้จะเน้นไปในส่วนของการปรับพื้นที่ เพิ่มความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวกในบางส่วนภายในบ้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างสะดวก
 
การจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุ
 

ทำไมการจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุจึงจำเป็น?

ด้วยอายุที่มากขึ้น ร่างกาย และส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เสื่อมลง เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้เหล่าคนเฒ่าคนแก่นั้นสามารถบาดเจ็บร้ายแรงได้แม้จะเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ ก็ตาม

 

เพราะฉะนั้นการจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุให้เอื้อต่อการใช้สอยในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย และสะดวกสบาย เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในบ้าน ดังนั้น การจัดบ้านคนสูงอายุให้เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาได้

 

 สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มวางแผนการจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุ

 

สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มวางแผนการจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุ

การวางแผนในการจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ดี แต่ก่อนที่จะลงมือทำ ยังมีสิ่งที่ควรศึกษาเพิ่มเติมอีกมากมายเพื่อให้บ้านหลังนั้นเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของพวกเขามากที่สุด

1.ประเมินสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุ

เพราะการจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุนั้นต้องใช้เงินในการปรับปรุงบ้านเป็นจำนวนไม่น้อย การประเมินสุขภาพของพวกเขาก่อนเริ่มปรับปรุงนั้นจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่าควรปรับปรุงบริเวณใดของบ้านเป็นพิเศษเพื่อให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของพวกเขามากที่สุด

 

ยกตัวอย่างเช่น หากผู้สูงอายุในบ้านของคุณมีอาการปวดเข่า ต้องใช้ไม้เท้าพยุงเดิน คุณอาจเลือกี่จะสร้างห้องพักของเขาเอาไว้ที่ชั้น 1 ของบ้าน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องขึ้นลงบันได รวมถึงติดตั้งราวจับติดกำแพงให้ทั่วบริเวณ และสร้างห้องน้ำผู้สูงอายุเพื่อป้องกันการลื่นล้มขณะอาบน้ำ

2.ทำเลที่ตั้ง

ทำเลที่ตั้งในการจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ ไม่ควรให้อยู่ห่างไกลจากเมืองมากนัก เพราะนั่นหมายถึงความห่างไกลจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น ห่างจากโรงพยาบาล รวมไปถึงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่จะเวลากับลูกหลาน เพื่อการเปลี่ยนบรรยากาศในวันหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำเลที่ตั้งที่ห่างไกลจากระบบขนส่งสาธารณะ อาจทำให้ผู้สูงอายุมีความลำบากในการใช้ชีวิตบั้นปลายมากขึ้น ดังนั้น ทำเลที่ตั้งที่ดีควรอยู่ใกล้แหล่งชุมชน สามารถติดต่อกับลูกหลาน หรือญาติได้ง่าย และง่ายต่อการเข้าถึง

3.สภาพแวดล้อม

การจัดสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมภายในบ้าน ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพของร่างกายและข้อจำกัดของวัย เพื่อลดและป้องกันอุบัติเหตที่อาจเกิดขึ้น การจัดบ้านคนสูงอายุที่ดีควรแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

 

  • ห้องนอนผู้สูงอายุ
  • ห้องน้ำผู้สูงอายุ
  • พื้นที่ใช้สอยทั่วไป

 

โดยควรเน้นใช้กระเบื้องปูพื้นที่ไม่ลื่น และสีที่เลือกใช้ควรมีความต่างจากสีของผนัง แต่ไม่ควรสว่างเกินไป เพราะจะส่งผลต่อสายตาของผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการพร่ามัวได้

 

4.ดีไซน์บ้าน

ดีไซน์ด้านในของตัวบ้าน หากเป็นบ้านที่มีหลายชั้น แนะนำว่าควรจัดให้ห้องของผู้สูงอายุอยู่ที่ชั้น 1 โดยมีทั้งห้องนอน และห้องน้ำ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และง่ายต่อการใช้งาน เนื่องจากการให้ผู้สูงอายุเดินขึ้น-ลงบันได อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้

  สิ่งอำนวยความสะดวกต่อการจัดบ้านผู้สูงอายุ

 

5.สิ่งอำนวยความสะดวก

ในเรื่องรายละเอียดของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็ควรใส่ใจและพิถีพิถันในการเลือกไม่แพ้กัน เริ่มตั้งแต่

  • เตียงนอน

ควรเลือกเตียงนอนที่สามารถปรับระดับได้ มีราวจับข้างเตียงเพื่อการพยุงตัว เบาะที่นอนไม่ควรแข็งหรือนิ่มเกินไป และให้มีพื้นที่ข้างๆ เตียงประมาณ 90-100 เซนติเมตร เพื่อให้ลูกหลานสามารถเข้าไปดูแล และเพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอที่จะรองรับการใช้งานรถเข็น หากจำเป็น

 

  • เฟอร์นิเจอร์

สิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุ อีกสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญ ได้แก่ โต๊ะข้างเตียง เพื่อที่ใช้วางสิ่งของที่ผู้สูงอายุใช้เป็นประจำ ตู้เสื้อผ้า และชั้นวางของ ทั้งหมดนี้ควรมีความสูงในระดับที่ผู้สูงอายุสะดวกต่อการใช้งาน รวมถึงในส่วนของห้องน้ำ อาทิ เก้าอี้นั่งอาบน้ำ เป็นต้น

 

  • ประตู

สิ่งที่ไม่ควรมีคือ ‘ธรณีประตู’ เพื่อป้องกันการสะดุด และควรเลือกประตูแบบบานเลื่อนเปิด-ปิด ที่มีระบบรางแขวนด้านบนเป็นตัวล็อก ผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก เพราะใช้แรงน้อยในการผลักประตู

 

6.ค่าใช้จ่าย

เนื่องจากผู้สูงอายุจะใช้ชีวิตประจำซ้ำๆ อยู่กับบ้าน ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีงบประมาณจำกัด อาจเลือกปรับปรุงพื้นที่ที่มีการใช้งานเป็นประจำก่อน อาทิ ห้องนอน และห้องน้ำ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นภาพรวมของงบประมาณ และควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น

 

สิ่งที่ควรทำเมื่อวางแผนสร้างบ้านสำหรับผู้สูงอายุ

 

สิ่งที่ควรทำ เมื่อวางแผนสร้างบ้านคนสูงอายุ

เพื่อให้การอยู่อาศัยในวัยหลังเกษียณของคนที่เรารักมีความสุข มีความปลอดภัย และมีความอบอุ่นจากลูกหลาน การตระเตรียมและการปรับสิ่งแวดล้อมภายในบ้านจึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนี้

  • เพิ่มแสงสว่างภายในบ้าน

เพราะผู้สูงอายุมักจะมีอาการทางประสาทตา และการมองเห็น ดวงตาที่ถูกใช้มานานเริ่มเสื่อมสภาพ ความสามารถในการมองเห็นด้อยลง แต่จะมีอาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

 

เพราะฉะนั้น ภายในบ้านจึงควรมีการเพิ่มแสงสว่างโดยเฉพาะบริเวณที่มีการใช้งานเป็นประจำ อาทิ ห้องนอน ห้องน้ำ บันได ประตู รวมถึงระเบียงทางเดิน แต่แสงสว่างที่เพิ่มเข้าไปนั้นไม่ควรสว่างมากจนเกินไป เพราะอาจส่งผลให้สายตาของผู้สูงอายุยิ่งพร่ามัว และมองได้ไม่ชัด ที่สำคัญ ควรติดตั้งตำแหน่งของสวิตช์ไฟเอาไว้ในที่ที่พวเขาสามารถใช้งานได้สะดวกอีกด้วย

 

  • ประตูขนาด 90 ซม

ประตูเข้า-ออก ควรมีความกว้างมากกว่าปกติ ซึ่งโดยทั่วไปประตูขนาดมาตรฐานที่เราใช้กันจะมีขนาด 70 เซนติเมตร แต่การจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุควรเพิ่มขนาดความกว้างให้อยู่ที่ 90 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้สูงอายุเดินเข้า-ออกได้อย่างสะดวก และควรเป็นประตูบานเลื่อนซึ่งจะใช้งานง่ายมากกว่าประตูแบบบานพับ

 

  • เลือกปูพื้นแบบกันลื่น

ในวัยหลังเกษียณความคล่องแคล่วในการเดินลดลง สายตาอาจพร่ามัวยิ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการหกล้มได้มาก การปรับเปลี่ยนพื้นบ้านให้พื้นลามิเนตกันกระแทก หรือในพื้นห้องน้ำปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นแบบกันลื่นก็จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้

 

  • หลีกเลี่ยงพื้นต่างระดับ

พื้นต่างระดับเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้สูงอายุประสบอุบัติเหตุได้ ดังนั้น ภายในบ้านไม่ควรมีพื้นที่ต่างระดับ ยกเว้นว่าครอบครัวไหนจำเป็นที่จะต้องมีพื้นต่างระดับจริงๆ ควรสร้างทางลาดควบคู่กันไปด้วย เพื่อสะดวกต่อการเดิน และเพื่อรองรับการใช้รถเข็น

 

  • ติดตั้งราวจับ

การติดตั้งราวจับเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุได้ ตำแหน่งที่ควรติดตั้งราวจับ ได้แก่ เตียงนอน ภายในห้องนอน ในห้องน้ำผู้สูงอายุ โดยโซนแห้งควรติดตั้งข้างๆ โถสุขภัณฑ์ และโซนเปียก ควรติดตั้งบริเวณพื้นที่อาบน้ำ บันได รวมถึงภูมิทัศน์โดยรอบ

 

  • ติดตั้งกล้องวงจรปิด

กล้องวงจรปิดนอกเหนือจะสามารถใช้สอดส่องคนแปลกหน้าได้แล้ว ยังเป็นใช้เพื่อให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุได้หากต้องอาศัยอยู่นบ้านเพียงลำพัง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคความดันโลหิตสูง อาจไม่ต้องติดตั้งทุกห้อง เลือกเฉพาะห้องที่สำคัญๆ อย่างห้องนั่งเล่น ห้องนอน หรือพื้นที่ที่จะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

 

โครงการ THE CITY บางใหญ่

 

ลักษณะห้องต่างๆ ภายในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ

เพราะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านเพียงลำพัง มีความเสี่ยงสูงที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้น พื้นที่ใช้สอยต่างๆ ของผู้สูงอายุจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อเอื้อต่อการใช้งานที่สะดวกและมีความปลอดภัยมากพอ

  • ห้องนอน

ห้องนอนของผู้สูงอายุควรมีการเชื่อมต่อได้กับทุกพื้นที่ในบ้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเดินไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก เตียงนอนควรมีความสูงที่พอเหมาะหรือเลือกที่สามารถปรับระดับได้พร้อมราวจับขอบเตียง เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เช่น โต๊ะ ควรมีระดับพอดีกับที่ผู้สูงอายุสามารถใช้สอยได้อย่างสะดวก ติดตั้งแสงสว่างเพิ่ม อาทิ โคมไฟข้างเตียง หรือไฟทางเดิน ห้องนอนควรมีหน้าต่าง เพื่อที่สามารถรับแสงสว่างจากธรรมชาติ และอากาศถ่ายเทได้สะดวก

 

  • ห้องน้ำ

ห้องน้ำผู้สูงอายุ โดยเฉพาะพื้นห้องน้ำควรเป็นพื้นกันลื่น แต่ไม่ควรมีความขรุขระมากเกินไป เพราะอาจทำให้ผู้สูงอายุเดินสะดุดเพราะความฝืดได้ ติดตั้งราวจับบริเวณด้านข้างของสุขภัณฑ์ และบริเวณพื้นที่อาบน้ำ

 

  • ห้องครัว

การเข้าครัวทำอาหารนับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผู้สูงอายุนิยมทำกัน เป็นกิจกรรมที่ดีที่จะช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมและเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ ที่ดีต่อสุขภาพ

 

แต่เพื่อความปลอดภัย ห้องครัวของผู้สูงอายุควรมีการวางแผนและปรับเปลี่ยนเช่นกัน เริ่มจากระดับความสูงของเคาน์เตอร์ทอปควรมีความสูงที่ 75 เซนติเมตร จากพื้น เนื่องจากผู้สูงอายุจะก้มตัวได้ลำบากมากขึ้น หรือสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น พื้นที่ด้านล่างเคาน์เตอร์ควรเปิดโล่ง เพื่อการสอดตัวเข้าไปได้

 

ไม่ควรใช้เตาแก๊สในการประกอบอาหาร เนื่องจากผู้สูงอายุอาจลืมปิดแก๊ส แต่ควรเป็นเตาแม่เหล็กไฟฟ้าที่เมื่อสัมผัสกับหน้าเตาแล้วไม่ร้อน พร้อมติดเครื่องดูดควันที่ฝังกับผนังเคาน์เตอร์  เพราะสะดวกกว่าแบบที่ติดตั้งอยู่กับใต้ฝ้า

 

  • ห้องนั่งเล่น

ห้องนั่งเล่นเป็นส่วนที่สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาแห่งความสุขร่วมกัน ดังนั้น การจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการเลือกเฟอร์นิเจอร์ของห้องนั่งเล่นจึงควรพิถีพิถันสักหน่อย โดยเฉพาะชุดโซฟาควรเลือกสีสว่างและมีความสูงของที่นั่ง 45 เซนติเมตรจากพื้นโดยประมาณ เบาะไม่ควรยุบตัวมากเกินไป เพราะจะทำให้ลุกยาก การติดตั้งแสงสว่างควรใช้เป็นแสงที่ไม่ตกกระทบกับสมาชิกในบ้านโดยตรง เพราะจะทำให้แสงแยงตาผู้สูงอายุ

 

  • ห้องพระ

ห้องพระสำหรับผู้สูงอายุ ไม่ควรมีการตกแต่งหรือข้าวของมากเกินไป เน้นให้ดูโปร่งโล่ง โทนสีอ่อน ซึ่งอาจไม่ใช่สีขาว เพราะอาจส่งผลต่อสายตาของผู้สุงอายุได้ ติดตั้งไฟส่องสว่างที่เหมาะสม ไม่จ้าเกินไป ควรมีหน้าต่างเพื่อการระบายอากาศได้ดี และรับแสงสว่างจากธรรมชาติได้ด้วย พื้นห้องควรเป็นพื้นกันลื่น ไม่ควรใช้พรมหรือไม้ เนื่องจากติดไฟได้ง่าย

 

ด้วยความเสื่อมไปของสภาพร่างกาย อันเนื่องมาจากอายุที่มากขึ้น การจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรพิถีพิถันและใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ตั้งแต่ทำเลที่ตั้ง สภาพแวดล้อม รวมไปถึงการออกแบบบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงและเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุระหว่างที่ลูกหลานต้องออกไปทำงานหรือทำธุระนอกบ้าน

RELATED ARTICLES