MAIN POINT
- ฟรีแลนซ์หลายคนอาจจะยังมีความกังวลในเรื่องของความมั่นคง โดยเฉพาะในเรื่องของการทำธุรกรรมทางด้านการเงิน แต่จริงๆ แล้วชาวฟรีแลนซ์สามารถกู้สินเชื่อได้เพียงแค่เตรียมตัวและเตรียมเอกสารให้พร้อมเท่านั้นเอง
- เทคนิคการขอสินเชื่อสำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ ง่ายๆ เพียงแค่เราแสดงออกว่าสามารถจ่ายชำระได้ตามกำหนด ทั้งการยื่นภาษีที่ถูกต้อง การเก็บเอกสารย้อนหลัง ตลอดจนมีบัญชีเงินฝากอย่างสม่ำเสมอ เพียงแค่นี้ก็สามารถกู้สินเชื่อได้ง่ายขึ้นแล้ว
เทคนิคขอสินเชื่ออาชีพอิสระ อยากผ่านต้องเตรียมตัวตามนี้
ฟรีแลนซ์ หรืออาชีพอิสระ เป็นอีกอาชีพที่เป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นหลังจากผ่านช่วงสถานการณ์โควิด-19 มาได้ หลายๆ คนผันตัวออกมาเป็นฟรีแลนซ์หรือเจ้านายตัวเองก็เพราะว่าอยากได้ความสะดวกสบายในการทำงาน สามารถบริหารจัดการเวลาและไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้อย่างลงตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตามหลายๆ คนอาจจะยังมีความกังวลในเรื่องของความมั่นคง โดยเฉพาะในเรื่องของการทำธุรกรรมทางด้านการเงิน ไม่ว่าจะ การยื่นกู้เพื่อซื้อบ้าน หรือยื่นกู้เพื่อทำธุรกิจต่างๆ วันนี้เอพีเปิดเคล็ดลับการเตรียมตัวขอสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับอาชีพอิสระ ที่ช่วยให้สามารถกู้หรือขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้นแน่นอน
สินเชื่อส่วนบุคคล คืออะไร?
สินเชื่อส่วนบุคคล คือ สินเชื่อที่ออกโดยผู้ให้บริการสินเชื่อ เป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับหมุนเวียนใช้จ่ายตามความต้องการ เรียกได้ว่าเป็นเงินกู้อเนกประสงค์เพราะสามารถนำไปใช้จ่ายได้หลากหลายตามความต้องการ โดยผู้กู้จะได้รับอนุมัติวงเงินที่สามารถใช้ได้ และทยอยผ่อนชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตามจำนวนงวดที่ตกลงไว้
ทำงานฟรีแลนซ์ขอสินเชื่อได้ไหม?
คำตอบคือได้แน่นอน เพราะไม่ว่าอาชีพใดก็สามารถขอสินเชื่อได้เหมือนกัน เพราะหลักเกณฑ์ในการให้สินเชื่อคือเพียงแค่ผู้ขอจะต้องมีหลักฐานมาประกอบว่ามีความสามารถในการชำระคืนให้แก่ผู้ให้บริการสินเชื่อ ดังนั้นแล้วไม่ว่าจะอาชีพอิสระอย่างชาวฟรีแลนซ์ หรืออาชีพใดก็ตาม ก็ย่อมยื่นกู้สินเชื่อได้แน่นอน ถ้าหากเราแสดงให้เห็นได้ว่าเราสามารถจ่ายคืนได้ อีกทั้งปัจจุบันก็มีแหล่งสถาบันการเงินและธนาคารหลายแห่งที่เปิดกว้าง และให้บริการสินเชื่อสำหรับอาชีพอิสระมากขึ้นด้วย
ประเภทของอาชีพอิสระ มีอะไรบ้าง?
สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทง่ายๆ
- Freelance ทำงาน Offline เป็นการทำงานนอกบ้านโดยเน้นด้านบริการเป็นหลัก เช่น นายหน้าอสังหาริมทรัพย์, พนักงานพาร์ทไทม์, นักดนตรี, ศิลปิน, นักแสดง, ไรเดอร์ส่งอาหารเดลิเวอรี่, ช่างภาพ,เป็นต้น
- Freelance ทำงาน Online เน้นการทำงานด้านออนไลน์เป็นหลัก เช่น งานออกแบบกราฟิกต่าง ๆ, งานเขียนบทความ, งานตัดต่อ, งานพากย์เสียง, งานแปลภาษา, งานดูแลระบบหลังบ้าน, บล็อกเกอร์, งานขายของออนไลน์แบบไม่มีหน้าร้าน เป็นต้น
5 เทคนิคขอสินเชื่ออาชีพอิสระ
สำหรับการขอสินเชื่อสำหรับฟรีแลนซ์และอาชีพอิสระ อาจอนุมัติวงเงินได้ยากกว่ามนุษย์เงินเดือนหรืออาชีพอื่นๆ เนื่องจากรายได้ในแต่ละเดือนที่ไม่แน่นอน ตลอดจนไม่มีสลิปเงินเดือนที่แสดงถึงความสม่ำเสมอของรายได้ แต่อย่างไรก็ตาม เอพีมาพร้อมคำแนะนำดีๆ สำหรับชาวฟรีแลนซ์ คลายความกังวลและเตรียมเอกสารไปขอสินเชื่อด้วยความมั่นใจขึ้นกัน
1. เอกสารสำคัญ ต้องห้ามลืม
ประกอบไปด้วย
- สำเนาบัตรประชาชนผู้กู้
- สำเนาทะเบียนบ้านผู้กู้
- ใบเปลี่ยนชื่อ/ นามสกุล/ ทะเบียนสมรส/ ใบหย่า (ถ้ามี)
- บัญชีเงินเดือนหรือบัญชีรายรับ/ รายการเดินบัญชี Statement ย้อนหลัง 6 เดือน – 1 ปี
- ใบจองซื้อ/ สำเนาโฉนดที่ดิน
- เอกสารเพิ่มเติมสำหรับอาชีพ Freelance
- Statement แสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง อย่างน้อย 12 เดือน
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป (ภ.ง.ด.90)
- ใบเสร็จรับเงินชำระภาษีประจำปี
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (ใบ 50 ทวิ)
- ใบสัญญาจ้างงาน อาจมีเอกสารอื่น ๆ ร่วมด้วย
2. จ่ายภาษี และยื่นแบบครบถ้วนทุกปี
การจ่ายภาษีเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ (รวมถึงอาชีพอื่นๆ ด้วยนะ) เพราะไม่ว่าเราจะมีรายได้มากหรือน้อยก็ตาม ในทุกๆ ปีเราต้องยื่นแบบภาษีภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด เมื่อยื่นแบบภาษีแล้วก็จะได้รับเอกสาร ภ.ง.ด.90 และใบเสร็จ นอกจากนั้นแล้วเราควรเก็บย้อนหลังนาน 2-3 ปี สำหรับในกรณีที่ต้องการยื่นกู้สินเชื่อเพื่อให้สามารถมีหลักฐานย้อนหลังได้ว่าเรามีรายได้เข้าสม่ำเสมอในระยะเวลาประมาณหนึ่ง และมีความรับผิดชอบเพียงพอ
สำหรับชาวฟรีแลนซ์มือใหม่ ไม่ต้องห่วงเรื่องการยื่นภาษีจะวุ่นวายอย่างไร เรามีวิธีการจัดการภาษีมาฝากผ่าน 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
- รวบรวมเงินได้พึงประเมิน คำนวณเงินได้สุทธิ
สิ่งที่เอามาคำนวณภาษี คือจำนวนเงินได้สุทธิ ที่คิดจากเงินได้พึงประเมิน คือเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษี โดยเราจะต้องเตรียมเอกสารและคำนวณเงินได้พึงประเมินด้วยตัวเอง หลักฐานสำคัญชิ้นนี้ ก็คือ ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% เมื่อจ้างด้วยเงินค่าจ้างเกิน 1,000 บาทขึ้นไป ในส่วนนี้ต้องเก็บไว้ให้ดี ๆ เพราะจะสามารถทำให้เราลดหย่อนภาษีได้ดีด้วยเช่นกัน
- ค่าใช้จ่าย และการลดหย่อนภาษี
ซึ่งเราจะหักจากเงินได้พึงประเมิน โดยหักแบบเหมา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนรายการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ก็มาจากการทำประกัน ทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันสังคม หรือแม้แต่ หุ้น กองทุน LTF หรือ RMF นั่นเอง
- ยื่นภาษี ทำได้ 2 วิธี คือ
-ยื่นแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ด้วยตัวเอง ที่สำนักงานกรมสรรพากรในจังหวัดที่เราอยู่
-ยื่นออนไลน์ ในเว็บไซต์กรมสรรพากร แล้วชำระภาษีผ่านธนาคาร ไปรษณีย์ และบัตรเครดิต สะดวกสบายชำระได้หลายทาง
3. ไม่มีหนี้สินและไม่ติดเครดิตบูโร
เพราะเจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคารจะขอให้เราเซ็นยินยอมให้มีการตรวจสอบประวัติทางธุรกรรม โดยผู้ดำเนินการเก็บข้อมูลไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผ่อนจ่ายบัตรเครดิต ผ่อนรถ ผ่อนสินค้า บัตรกดเงินสด หรือรายการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือที่เรียกติดปากว่า ‘เครดิตบูโร’ ดังนั้นแล้วก่อนที่เราจะกู้สินเชื่อ เราจะต้องทำประวัติเครดิตบูโรของเราให้ดีก่อนนั่นเอง เพราะฉะนั้นหากเรามีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ดี ไม่มีหนี้สินก็จะส่งผลให้ธุรกรรมต่างๆ ของเรา ตลอดจนการขอกู้สินเชื่อได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
4. เปิดบัญชีออมทรัพย์ พร้อมฝากอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากการเตรียมเอกสารด้านบนข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยให้สามารถกู้สินเชื่อผ่านได้คือการที่เรามีบัญชีเงินออม พร้อมฝากเงินเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอ ตรงนี้เองจะช่วยแสดงศักยภาพและความมีวินัยด้านการเงินของเรา แม้ว่าจะทำอาชีพอิสระก็ตาม โดยสามารถเลือกบัญชีเงินออมทรัพย์ของธนาคารไหนก็ได้ ไม่ได้มีตัวกำหนด สามารถเลือกฝากเงินได้ตามความสะดวกของเราได้เลย
5. สินเชื่อผ่านง่ายกว่าเดิม ด้วยการ ‘กู้ร่วม’
การกู้ร่วม คือการร่วมทำสัญญาเงินกู้สินเชื่อก้อนเดียวกัน จะทำให้ธนาคารหรือสถาบันทางการเงินก็จะเห็นว่าเรามีอีกคนหนึ่งมาช่วยรับผิดชอบในวงเงินกู้ โดยบุคคลนั้นๆ สามารถเป็นได้ทั้งเครือญาติและสามีภรรยา เมื่อมีอีกคนหนึ่งมากู้ร่วมก็จะสามารถเพิ่มความมั่นใจให้ได้ว่าเราความสามารถของการผ่อนชำระได้ตามกำหนด การเลือกกู้ร่วมจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่กู้ร่วมกับเราก็ต้องมีเอกสารแสดงรายได้และอื่นๆ ตามด้านบนให้ชัดเจนด้วยเช่นเดียวกัน
เตรียมตัวง่ายๆ เพื่อบ้านในฝันฉบับฟรีแลนซ์
ชาวฟรีแลนซ์คนไหนกำลังเตรียมตัวขอเงินกู้เพื่อจะทำธุรกิจของตัวเอง หรือจะซื้อบ้านในฝันเป็นของตัวเองอยู่ หลังอ่านบทความนี้จบแล้วก็น่าจะคลายความกังวลไปได้แน่นอน เพราะทั้ง 5 ขั้นตอนที่เรานำมาฝากสามารถนำไปปรับใช้ตามกันได้เลย เอพีเป็นกำลังให้กับชาวฟรีแลนซ์ทุกคนให้ไปถึงเป้าหมายของการมีบ้านของตัวเองในฝันอีกก้าวหนึ่ง
เอพี ไทยแลนด์ เติมเต็มเป้าหมาย ชีวิตดี ๆ ในพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเองได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมหรือบ้านแฝดดีไซน์สวย คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋ง รองรับทุกธุรกิจ ก็เลือกให้ตอบโจทย์ได้เลย เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ