ปัญหาท่อประปารั่วซึม เป็นปัญหายอดฮิตของผู้ที่อาศัยอยู่บ้านหรือคอนโด เนื่องจากการติดตั้งสิ่งของอำนวยความสะดวกในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทำน้ำอุ่น ก๊อกน้ำ ล้วนต้องใช้วิธีเดินท่อน้ำประปาเข้าสู่ตัวบ้านทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องปกติที่ตัวท่ออาจมีการชำรุด รั่วซึม เพียงเรียกช่างประปามาซ่อมท่อน้ำก็แก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้แล้ว แต่จริงๆ แล้วยังมีวิธีซ่อมท่อประปารั่วด้วยตนเอง ที่ทุกคนสามารถทำได้ ไม่ต้องพึ่งช่างประปา วันนี้ทาง AP Thai ได้รวบรวม 2 วิธีซ่อมท่อประปารั่วแบบเบื้องต้น ให้ลองไปทำตามกัน
เช็กอย่างไรให้รู้? ว่านี่คืออาการท่อประปารั่วหรือแตก
ปัญหาท่อน้ำประปารั่ว หรือท่อน้ำประปาแตก เป็นปัญหาที่ทำให้บ้านของคุณมีน้ำไหลตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ปริมาณน้ำไหลมากกว่าปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เปลืองเงินแค่ค่าน้ำเท่านั้น หากปล่อยไว้เรื่อยๆ ไม่ซ่อมท่อประปาสักที น้ำที่รั่วออกมาอาจทำให้ข้าวของภายในบ้านเสียหายไปด้วย
สำหรับวิธีการเช็กท่อประปาอย่างไรให้รู้ว่านี่คือ ท่อประปาแตก หรือแค่รั่วกันแน่? สามารถทำได้ตามวิธีต่อไปนี้
- ให้ลองเดินดูรอบบ้าน เพื่อเช็กดูว่ามีจุดไหนของบ้านต้องตรวจสอบอีกหรือไม่ เน้นไปที่บริเวณข้อต่อของอุปกรณ์ที่ต้องต่อสายกับท่อประปา เช่น บริเวณข้อต่อก๊อกน้ำ
- ปิดก๊อกและวาลว์น้ำ แล้วลองสังเกตดูว่ามิเตอร์น้ำยังขยับอยู่หรือไม่
- สังเกตการทำงานของปั๊มน้ำที่บ้าน ให้ลองปิดปั๊มน้ำดูก่อน หากปิดปั๊มแล้วยังมีเสียงการทำงานของปั๊มน้ำอยู่ แสดงว่าอาจมีจุดที่น้ำรั่วอยู่ในบ้าน
- ให้ตรวจสอบบริเวณผนังและเพดานว่ามีความชื้นอยู่หรือไม่ เนื่องจากการออกแบบบ้านของแต่ละบ้านจะแตกต่างกันออกไป บางบ้านใช้วิธีการซ่อนท่อประปาไว้ โดยการฝังท่อบนผนัง หรือวางท่อประปาแบบฝังพื้น รวมทั้งให้ลองสังเกตตามผนังดูว่ามีรอยน้ำ ความชื้นอยู่หรือไม่ หากผนังบ้านเริ่มมีการเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล หรือมีเชื้อราเกาะอยู่ แสดงว่าอาจมีปัญหาที่ท่อประปานั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้ท่อประปาแตก มีรอยรั่วซึม
หลายคนคงเคยสงสัยว่าท่อประปาแตก หรือรั่วซึมเกิดจากสาเหตุอะไร ปัญหาท่อน้ำประปาแตก มักเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นท่อประปาเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน แรงดันน้ำ และสาเหตุอีกมากมาย ดังนี้
เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน
ท่อประปาเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน โดยทั่วไปแล้ว ท่อประปาจะมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างยืนยาวมาก อาจมีอายุการใช้งานได้มากถึง 50 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยและสภาพแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งมีปัจจัยต่างๆ มากมายที่ทำให้ท่อน้ำประปาเสื่อมสภาพก่อนกำหนด เช่น
- การวางท่อไว้บริเวณที่แสงแดดตกถึงเป็นระยะเวลานาน
- ท่อประปารับแรงดันจากแรงดันน้ำในปริมาณที่สูงเกินไป
- อาจเดินระบบท่อน้ำประปาผิดพลาด ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง
แรงดันน้ำ
โดยปกติน้ำที่มาจากประปาจะใช้แรงดันต่ำ แต่บ้านในยุคสมัยปัจจุบัน มักเป็นบ้านสองหรือสามชั้น หรือบางคนอาจเลือกอยู่คอนโดตึกสูง ดังนั้นระบบการทำงานของน้ำตามที่อยู่อาศัย จึงนิยมใช้เครื่องปั๊มน้ำ เพื่อเพิ่มแรงดันน้ำให้สูงขึ้น สามารถสูบฉีดน้ำขึ้นไปตามชั้นต่างๆ ได้ ทำให้น้ำไหลเร็วขึ้น แรงขึ้น ซึ่งหากใช้แรงดันน้ำที่สูงมากจนเกินไป อาจทำให้ท่อประปาแตก หรือ หากเกิดความผิดปกติของเครื่องสูบน้ำ ทำให้น้ำที่กำลังดันขึ้นไปหยุดทันที จะเกิดแรงกระแทกภายในท่อน้ำ เพราะน้ำที่ถูกส่งขึ้นอยู่จะไหลย้อนกลับและกระแทกส่วนข้อต่อ หรือท่อประปา ส่งผลให้อาจเกิดการแตกหัก หรือรั่วซึมได้
การติดตั้งท่อประปาไม่ได้มาตรฐาน
การติดตั้งท่อประปาเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากได้ช่างประปาที่ไม่ชำนาญมาทำ มักเกิดปัญหาตามมาทีหลัง ทั้งปัญหาท่อประปาแตก น้ำรั่ว ฯลฯ ดังนั้นก่อนที่จะติดตั้งท่อประปา ควรเลือกช่างที่มีความชำนาญ มาเดินท่อประปา เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีซ่อมท่อประปารั่ว 2 แบบง่ายๆ ทำได้ด้วยตัวเอง
สำหรับวิธีซ่อมท่อประปารั่วมี 2 วิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง คือ วิธีตัดข้อต่อที่แตกหรือเสียหายออก และวิธีการใช้ท่อ PVC มาปิดรอยรั่ว ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
วิธีซ่อมท่อประปารั่วโดยการตัดข้อต่อท่อที่แตกหรือเสียหายออก
อุปกรณ์ที่ต้องใช้: ข้อต่อท่อประปา เลื่อยมือ และเทปพันเกลียวท่อประปา
- ให้ซื้อข้อต่อท่อประปา หรือมีอีกชื่อว่า ข้อต่อยูเนี่ยน ตามร้านขายวัสดุก่อสร้าง ซึ่งข้อต่อท่อประปา จะทำมาจากท่อ PVC มีเกลียวล็อคบริเวณส่วนหัวและท้าย ความยาวประมาณ 4-5 นิ้ว
- ปิดวาล์วน้ำให้สนิท แล้วใช้เลื่อยตัดบริเวณท่อที่แตก
- ให้เชื่อมข้อต่อท่อประปา เข้ากับตัวท่อเดิม โดยให้เชื่อมจากด้านซ้ายก่อน จากนั้นหมุนเกลียวให้แน่นสนิท หากต้องการเชื่อมให้ติดแน่น ทนทาน ให้ใช้เทปพันเกลียวท่อประปาพันรอบจุดเชื่อมอย่างน้อย 1 รอบ
- สวมท่อฝั่งขวา และหมุนจนแน่น และลองเปิดวาล์วน้ำอีกครั้ง จะพบว่ารูที่รั่วนั้น ถูกปิดไปแล้ว สามารถใช้น้ำได้ตามปกติ
วิธีซ่อมท่อประปารั่วโดยหารใช้ท่อ PVC มาปิดรอยรั่ว
อุปกรณ์ที่ต้องใช้: ท่อPVC, กาว, เลื่อย
- ในกรณีที่ท่อน้ำประปาแตก แต่เป็นรอยไม่เยอะ ให้ใช้ท่อ PVC อันใหม่มาปิดรอยรัว โดยการตัดท่อ PVC อันใหม่ให้ยาวพอที่จะคลุมทับรอยแตกของตัวท่อเดิมได้
- ใช้เลื่อยผ่าตัวท่อ PVC ใหม่ออกเพียงเล็กน้อย ให้ผ่าตามยาว และตัดให้ตัวท่อมีรอยกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร จะได้ตัวท่อ PVC ที่มีรูปเหมือนกับตัว U
- ปิดน้ำ และเช็ดให้ท่อแห้งสนิทก่อน
- ใช้กาวทาบริเวณรอบๆ ที่รั่ว และเสียบหรือวางท่อ PVC ที่ตัดเรียบร้อยแล้วตรงรอยรั่ว หมุนปิดทับให้แน่น
- ทิ้งให้กาวแห้งอย่างน้อยประมาณ 30 นาที
- เพื่อความแน่นหนา ติดทน แนะนำให้ใช้หนังยาง หรือใช้เชือกมารัดบริเวณที่ใส่ท่อปิดรอยเดิม เพื่อลดโอกาสการเกิดปัญหาท่อน้ำรั่วอีกครั้ง
รู้หรือไม่ ประเภทของท่อประปาที่นิยมใช้กันมีกี่แบบ
ในปัจจุบันท่อประปานิยมใช้ท่อหลายแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นท่อที่ทำจาก PVC ท่อPR ท่อPPR เป็นต้น ทั้งนี้ควรเลือกใช้ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ใช้งาน แต่จะเลือกท่อประปาแบบไหนดี? ใบนทความนี้จะนำเสนอข้อดีข้อดีข้อเสียของท่อประปาทั้ง 5 ประเภทด้วยกัน
ท่อเหล็กอาบสังกะสี
ท่อเหล็กอาบสังกะสี หรือท่อกัลวาไนซ์ (Galvanized) หรืออีกชื่อที่นิยมเรียก คือ ท่อแป๊ป เป็นท่อที่ทำจากเหล็กกล้า โดยผ่านกระบวนการอาบสังกะสี สามารถำเกลียว เพื่อขึ้นทรงเป็นแท่น หรือเสาขนาดกลมได้
ข้อดีของท่อเหล็กอาบสังกะสี
- มีความแข็งแกร่งสูง ทนทาน
- รองรับน้ำหนักได้ดี ทนต่อแรงกระแทกต่างๆ
- ทนทานต่ออุณหภูมิและความร้อนสูง จึงนิยมใช้ในการเดินสายท่อเครื่องทำน้ำอุ่น
ข้อเสียของท่อเหล็กอาบสังกะสี
- ท่อเหล็กอาบสังกะสี มักนิยมในงานฝังท่อลงไปในดิน ทำให้ยากต่อการตรวจสอบสภาพและอายุการใช้งาน
- อาจเกิดสนิมขึ้นได้ หากใช้งานมาเป็นระยะเวลาหลายปี
ท่อ PPR
ท่อ PPR ย่อมาจาก (Polypropylene Random Copolymer) เป็นท่อที่ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยมาตรฐานใหม่ มีคุณสมบัติ ดังนี้
ข้อดีของท่อ PPR
- ถูกพัฒนาก่อสร้างขึ้นมาใหม่ สามารถใช้เป็นฉนวนกันความร้อนได้ เนื่องจากสามารถทนต่อความร้อนได้สูงสุดถึง 95 องศาเซลเซียส
- ราคาถูกกว่าท่อเหล็กประปากัลวาไนซ์ (Galvanized Pipe)
- ท่อ PPR มีน้ำหนักเบากว่าท่อเหล็กประมาณ 8 เท่า สามารถขนย้ายได้สะดวก และง่ายต่อการติดตั้ง
- ตัวท่อทำจากเทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic) สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ข้อเสียของท่อ PPR
- ไม่ควรติดตั้งตัวท่อ PPR ที่ใต้พื้นดิน เนื่องจากตัวท่อมีความเปราะบาง หากเกิดปัญหาจะยากต่อการซ่อมแซม
ท่อ PVC
ท่อ PVC (Poly Vinyl Chloride) หรือท่อสีฟ้าที่พบเห็นกันทั่วไป เนื่องจากเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในงานประปา เพราะมีราคาถูก ดัดรูปแบบตัวท่อได้ง่าย การใช้ท่อ PVC มีข้อดีข้อเสีย ดังนี้
ข้อดีของท่อ PVC
- เป็นที่นิยมในงานประปา เนื่องจากมีราคาถูก และมีน้ำหนักเบา
- สามารถดัดรูปแบบตัวท่อได้ตามที่ต้องการ
ข้อเสียของท่อ PVC
- ไม่ทนแดด และเหมาะกับการใช้งานน้ำอุณหภูมิปกติเท่านั้น เพราะหากใช้กับน้ำที่มีความร้อน อาจทำให้ท่อละลายได้
- เนื้อท่อมีความเปราะบาง ทนแรงกระแทกหรือแรงดันน้ำได้น้อย มีโอกาสเกิดปัญหาเรื่องท่อประปาแตก หรือรั่วอยู่บ่อยครั้ง
ท่อ PE
ท่อ PE (Polyethylene) ใช้เรียกทับศัพท์ว่า ท่อโพลีเอทิลีน หรือบางที่นิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ท่อ HDPE ซึ่งท่อ PE เป็นท่อพลาสติกชนิดหนึ่ง ที่สามารถใช้ในงานประปา พวกการทำท่อน้ำ หรือสามารถทำท่อร้อยสายไฟก็ได้
ข้อดีของท่อ PE
- มีความยืดหยุ่นสูง สามารถดัดให้โคงงอได้
- เหมาะกับใช้งานประปาที่ฝังอยู่ใต้น้ำ หรือใต้ดิน เนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูง หากดินทรุดตัว โอกาสที่ท่อจะแตกก็มีน้อยกว่าท่อแบบอื่นๆ
ข้อเสียของท่อ PE
- ไม่ควรนำท่อ PE มาใช้ในงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของบรรยากาศภายนอก เนื่องจากตัวท่อทำจากพลาสติก อาจเกิดปัญหาท่อย้วยตามมา
ท่อไซเลอร์
ท่อไซเลอร์ (SYLER) คือ ท่อเหล็กชุบสังกะสี ซึ่งภายในประกอบด้วยสารโพลีเอทิลีน (Polyethylene หรือ PE) ซึ่งตัวท่อทำมาจากเหล็กกล้าชั้นดีคลาสเอ็มชุบสังกะสีและเคลือบด้วยผงโพลีเอทิลีน จึงมีคุณสมบัติเด่นหลายด้าน ดังนี้
ข้อดีของท่อไซเลอร์
- แข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก
- ตัวท่อภายในถูกบุด้วยพลาสติกโพลียูลิเทน PE และยังมีโพลีเอทิลีนเคลือบผิวอยู่ภายนอกอีกหนึ่งชั้น ช่วยลดโอกาสการเกิดสนิทได้ดี
- เหมาะสำหรับการติดตั้งบริเวณห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรืออาคารขนาดใหญ่
ข้อเสียของท่อไซเลอร์
- ท่อชนิดนี้มีราคาสูงกว่ายี่ห้ออื่น
ปัญหาท่อประปาแตกหรือรั่วซึมถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยปละละเลยอย่างยิ่ง เพราะปัญหาดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายให้กับข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านได้ นอกจากนั้นแล้ว ยังส่งผลต่อค่าประปาที่สูงมากขึ้นโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย ดังนั้น คุณควรที่จะหาวิธีซ่อมท่อประปารั่วหรือท่อประปาแตกให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ท่อประปากลับมามีสภาพดังเดิมและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต
แต่สำหรับลูกค้า AP Thai ที่มีปัญหานี้ก็ไม่ต้องกังวัลเพราะสามารถใช้แอปพลิเคชัน SMART WORLD ที่เป็นแหล่งรวมข้อมูลต่างๆ และเป็นผู้ช่วยดูแลลูกบ้าน ในการจ่ายบิล การรับพัสดุ หรือแม้แต่การให้บริการเรื่องบ้านอย่างการซ่อมแซมเองก็สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ทำให้คุณเบาใจ ไร้กังวัล!