KNOW HOW
  • Witty Hacks

ป้องกันไฟฟ้ารั่วในบ้าน ด้วย 5 วิธีตรวจเช็กสายดิน

แนะนำวิธีเช็กสายดินป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว พร้อมแนะนำข้อควรรู้ และวิธีป้องกันปัญหาไฟอื่นๆ เพื่อให้บ้านปลอดภัย จาก AP Thai

AP THAILAND

AP THAILAND

สายดิน ป้องกัน กระแส ไฟฟ้า รั่ว

เรื่องของความปลอดภัย ระวังเอาไว้ย่อมดีกว่า ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าในบ้านแล้วนั้น ยิ่งไม่ควรละเลย เพราะอันตรายจากไฟฟ้าอาจสร้างความสูญเสียแก่ทรัพย์สินและชีวิตได้ หนึ่งในปัญหากระแสไฟฟ้าที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษคือปัญหากระแสไฟฟ้ารั่ว ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเสื่อมของระบบไฟตามอายุใช้งานในบ้านที่อยู่มานานหรือในบ้านที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชิ้น สำหรับคนที่สงสัยว่า แล้วจะป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วได้อย่างไร? ขอตอบว่าจะต้องพึ่งการติดตั้ง ’สายล่อไฟ’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ สายกราวด์ สายสีเขียว หรือชื่อที่น่าจะคุ้นเคยกันที่สุดก็คือ ‘สายดิน’ นั่นเอง

ในบ้านมักมีการติดตั้งสายดินอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือการตรวจสอบการทำงานของสายดินว่าใช้งานได้จริงไหม หรือยังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ บทความนี้จะมาแนะนำวิธีเช็กสายดินในแบบต่างๆ อธิบายว่าสายดินป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วได้อย่างไร พร้อมข้อควรรู้และวิธีป้องกันปัญหาไฟฟ้าอื่นๆ ที่น่าสนใจ อย่ารอช้า ไปเริ่มกันที่ 5 วิธีตรวจสอบสายดินให้ปลอดภัยก่อนเลยดีกว่า

ใช้เครื่องมัลติมิเตอร์

1.ใช้เครื่องมัลติมิเตอร์

มัลติมิเตอร์ เป็นเครื่องมือวัดปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้สำหรับทดสอบอุปกรณ์หรือระบบไฟฟ้าต่างๆ มีข้อดี คือมีขนาดเล็ก ใช้งานง่าย และพกพาสะดวก สามารถหาค่าไฟฟ้าทั้งกระแสตรงและกระแสไฟฟ้าสลับ รวมถึงแสดงค่าแรงดันไฟฟ้า (โวลท์มิเตอร์)  กระแสไฟฟ้า (แอมป์มิเตอร์) และความต้านทานไฟฟ้า (โอห์มมิเตอร์) ได้ วิธีเช็กสายดินโดยใช้มัลติมิเตอร์เริ่มจากต่อสายตรวจสอบเข้ากับเต้าเสียบ จากนั้นตั้งมิเตอร์วัดไฟย่านกระแสสลับ (VAC) โดยตั้งที่ "ค่าสูงสุด" เพื่อความปลอดภัย และใช้ปลายสายมิเตอร์ วัดไฟจากขั้วของเต้าเสียบทั้ง 3 ช่อง ดังนี้

  • วัดที่ขั้ว N - สาย L หรือสายไลน์ จะต้องได้ค่าแรงดันไฟฟ้า (Volt) ประมาณ 220V. ตามมาตรฐาน
  • วัดที่ขั้ว N - สาย G หรือสายกราวด์ ต้องวัดให้ได้แรงดันไฟฟ้าประมาณ 0 - 2V. ถ้าวัดแล้วได้แรงดันไฟฟ้าประมาณ 110V. แสดงว่า สายดินมีปัญหา
  • วัดที่ขั้ว G - สาย L หรือสายไลน์ จะได้แรงดันไฟฟ้าประมาณ 220V.

หากวัดแล้วตรงทุกข้อแสดงว่าสายดินใช้ได้ไม่มีปัญหา แต่หากไม่ได้ค่าตามที่ระบุไปข้างต้น อาจเป็นสัญญาณว่าสายดินเสียหาย ชำรุด หรือใช้งานไม่ได้ และต้องได้รับการแก้ไขในทันที

ทดสอบด้วยหลอดไฟ

2.ทดสอบด้วยหลอดไฟ

การใช้หลอดไฟมาตรวจสอบเป็นวิธีเช็กสายดินง่ายๆ สำหรับผู้ที่ไม่มีเครื่องมือ โดยนำสายไฟมาต่อเข้ากับหลอดไฟ แล้วทดลองเสียบเข้ากับเต้าเสียบเพื่อดูว่าไฟติดหรือไม่ หากไฟติดก็แปลว่ามีไฟฟ้าไหลอยู่ในวงจร สิ่งต่อไปที่สามารถทำได้คือ ทดลองย้ายสายไฟไปยังช่องอื่นในเต้าเสียบ แล้วสังเกตว่าความสว่างของหลอดไฟเท่ากับช่องก่อนหน้าหรือไม่ หากไม่เท่า นั่นแปลว่ากระแสไฟสองช่องไม่เท่ากัน และสายดินอาจจะขาดอยู่ สำหรับหลอดไฟที่แนะนำให้ใช้ในการทดลองคือหลอดไฟ LED 5 วัตต์ เพราะเป็นหลอดขนาดเล็กใช้งานได้ง่ายนั่นเอง ทั้งนี้ ก่อนใช้วิธีนี้ต้องสวมรองเท้า เพื่อป้องกันกระแสไฟไหลเข้าร่างกายของเรา

นำแท่งกราวด์ต่อเข้ากับสายดินในตู้คอนซูมเมอร์

3.นำแท่งกราวด์ต่อเข้ากับสายดินในตู้คอนซูมเมอร์

ตู้คอนซูมเมอร์หรือกล่องไฟ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งร่วมกับระบบป้องกันไฟฟ้าอื่นๆ มีหน้าที่ควบคุมและป้องกันอันตรายจากการใช้ไฟฟ้า ส่วนหลักของกล่อง คือ เบรกเกอร์สำหรับป้องกันไฟดูด และวงจรสำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า วิธีเช็กสายดินวิธีนี้ ให้ใช้แท่งกราวด์หรือหลักดินซึ่งเป็นหลักทองแดงที่เสียบลงในดิน  เชื่อมกับเครื่องคอนซูมเมอร์หลัก และใช้แอมป์มิเตอร์ดูค่าการทำงานของกระแสไฟ โดยมาตรฐานของหลักดินที่ดีจะต้องมีขนาดสูงไม่ต่ำกว่า 2.4 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 16 มิลลิเมตร หรือ ⅝ นิ้ว

4.ตรวจสอบความสมบูรณ์ส่วนทองแดงของสายดินไม่ให้เสียหาย

สายดินที่ไม่ได้เก็บในกล่องพักสาย โดยเฉพาะสายแบบเปลือย จะเสี่ยงเกิดความเสียหายได้ โดยหากสายขาดอาจทำให้ไฟดูดเมื่อสัมผัสโลหะ ดังนั้น ควรตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ สังเกตว่าสายมีรอยขีดข่วน มีการปริขาด มีร่องรอยการไหม้ หรือประกายไฟออกมาหรือไม่ หากมีลักษณะดังกล่าว อาจเพราะส่วนที่เป็นทองแดงของสายดินได้รับความเสียหาย วิธีป้องกันคือ ควรเก็บสายหรือตรึงสายให้หลบทางที่อาจทำให้เกิดการกระทบ และไม่ควรปล่อยให้สายม้วนงอ หรือถูกกดทับ เพราะจะทำให้สายขาดง่ายขึ้น

ใช้ไขควงลองไฟ

5.ใช้ไขควงลองไฟ

ไขควงลองไฟ เป็นไขควงขนาดเล็ก มีปลายโลหะแบน ด้ามทำจากพลาสติกหรือแก้ว มีปุ่มโลหะที่ก้นด้าม ภายในด้ามบรรจุหลอดแก้วนีออนและตัวต้านทานที่ต่ออนุกรมจากปลายไขควงมาที่ปุ่มโลหะก้นด้ามเพื่อทำหน้าที่แสดงผลแรงดัน มีประเภทใช้งานอยู่ 2 แบบคือ ไขควงแบบธรรมดา และแบบดิจิตอล วิธีใช้งานไขควงแบบธรรมดา ให้นำส่วนปลายของไขควงไปสัมผัสกับสายไฟหรือส่วนที่เป็นโลหะ หากมีแสงไฟขึ้นบริเวณแท่งหลอดแก้วซึ่งอยู่ภายในด้ามจับ แสดงว่าเกิดปัญหากระแสไฟรั่วหรือขัดข้อง สำหรับไขควงดิจิตอล หากมีค่าตัวเลขความดันไฟฟ้า แสดงว่ามีกระแสไฟรั่ว ทั้งนี้ วิธีเช็กสายดินวิธีนี้ควรจับด้ามไขควงให้ดีและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับส่วนที่เป็นโลหะ เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า

หากไม่ตรวจเช็กสายดิน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

หากไม่ตรวจเช็กสายดิน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ก่อนอื่นอาจต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสายดินป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วได้อย่างไร สายดินเป็นตัวนำที่ต่ออยู่กับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เมื่อกระแสไฟฟ้ารั่ว ตัวนำนี้จะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลไปที่ระบบตัดไฟ หรือไหลลงสู่ดิน ไฟจึงไม่เข้าสู่ร่างกายหรือรั่วออกไปที่อื่นนั่นเอง ดังนั้น หากไม่ได้ตรวจเช็กสายดินเลย เมื่อถึงคราวชำรุดเสียหาย อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาภายหลังได้ ดังนี้

  • อาจเกิดไฟรั่ว ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นกว่าที่ใช้งานจริง
  • หากไฟรั่วไปยังเฟอร์นิเจอร์ที่มีชิ้นส่วนเป็นโลหะก็อาจทำให้เกิดไฟดูดขึ้นได้เมื่อสัมผัสกับร่างกายคน
  • เส้นฉนวนสายไฟอาจไหม้ และเกิดประกายไฟที่ก่อให้เกิดเพลิงไฟได้
  • อาจทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสียหาย สายไฟอาจไหม้หรือระเบิดเมื่อแรงดันไฟฟ้าเกิน

นอกจากสายดินแล้ว มีอะไรที่สามารถป้องกันกระแสไฟฟ้าเหล่านี้ได้บ้าง

นอกจากสายดินแล้ว มีอะไรที่สามารถป้องกันกระแสไฟฟ้าเหล่านี้ได้บ้าง

นอกจากวิธีเช็กสายดินจะถูกใช้เพื่อตรวจสอบว่าสายดินยังทำงานเป็นปกติหรือไม่แล้ว ยังมีวิธีการอื่นๆ ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว ไฟดูด หรือปัญหาอื่นๆ มาแนะนำกันอีกด้วย โดยมีวิธีและอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้

  • เครื่อง RCD หรือ เครื่องตัดไฟรั่ว ช่วยตัดไฟฟ้าได้อัตโนมัติเมื่อกระแสไฟฟ้าไหลเข้าไหลออกมีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งการไหลเข้าออกไม่เท่ากันอาจทำให้คนถูกไฟดูดเมื่อสัมผัสกับเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่อง RCD ตัวนี้จะช่วยลดโอกาสการถูกไฟดูดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เครื่อง RCD ไม่สามารถป้องกันไฟดูดได้ 100% ดังนั้น สิ่งสำคัญคือควรใส่รองเท้าเมื่อสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ
  • ติดตั้งเบรกเกอร์ที่ทำหน้าที่ตัดไฟฟ้าเมื่อไฟฟ้าลัดวงจรหรือไฟฟ้าเกิน ลดการเกิดไฟไหม้จากระบบไฟฟ้า
  • เลี่ยงการสัมผัสสวิตช์ไฟเมื่อมือหรือตัวเปียก
  • หากจำเป็นต้องสัมผัสกับอุปกรณ์แต่สงสัยว่ามีไฟรั่ว ให้ใช้ไขควงเช็กไฟตรวจสอบจุดที่สัมผัสก่อน เมื่อพบว่าไม่มีไฟรั่วจึงค่อยสัมผัส
  • ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมาตรฐาน มอก. ซึ่งเป็นหลักประกันได้ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้ามีมาตรฐานสากล สังเกตสัญลักษณ์ มอก. ได้บนสินค้า
  • เก็บสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มิดชิดเมื่อไม่ใช้งานเพื่อป้องกันการสัมผัสหรือความเปียกชื้น เช่น ติดตั้งฝาครอบเต้าเสียบผนัง หรือถอดปลั๊กไฟที่ไม่ได้ใช้แล้วออก
  • ไม่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเกินกำลังไฟ ไม่ควรต่อสายไฟต่อกันเป็นทอดๆ เพราะอาจทำให้สายไฟไหม้ได้
  • ใส่รองเท้าก่อนสัมผัสกับเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากโดยปกตินั้นไฟฟ้าจะไหลลงสู่พื้นที่มีความศักย์ต่ำกว่า หากคนไปสัมผัสกับไฟฟ้าโดยตรง ไฟฟ้าอาจไหลผ่านร่างกายลงสู่พื้นและหัวใจอาจวายจากกระแสไฟฟ้านั้นได้ การใส่รองเท้าเป็นการเพิ่มชั้นฉนวนกั้นระหว่างแหล่งไฟฟ้ากับพื้นดิน เมื่อไฟฟ้าเห็นว่ามีส่วนที่ปิดทางลงสู่พื้นก็จะไม่ไหลผ่านร่างกายเรานั่นเอง ทั้งนี้ ส้นรองเท้าควรมีความหนาในระดับหนึ่งด้วย
  • เลี่ยงการสัมผัสส่วนโครงโลหะ เพราะโลหะจะนำไฟฟ้าได้สูงกว่า อีกทั้งการสัมผัสกับโลหะจะทำให้โดนไฟดูดรุนแรงกว่าหากมีไฟรั่ว

ข้อควรรู้ในการใช้งานสายดิน

ข้อควรรู้ในการใช้งานสายดิน

แม้ว่าการติดตั้งสายดินและหมั่นใช้วิธีเช็กสายดินที่ถูกต้องจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตได้ แต่หากติดตั้งไม่รัดกุม ใช้เกินอายุการใช้งาน หรือเลือกขนาดไม่เหมาะสมก็อาจทำให้สายดินมีความบกพร่อง และเกิดอันตรายตามมาได้เช่นกัน ข้อควรรู้ในการใช้งานสายดินให้ป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีดังนี้

การติดตั้ง

การติดตั้ง

สิ่งแรกที่ควรทำเสมอก่อนการติดตั้งสายดิน คือ ปิดเบรคเกอร์ทุกครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาไฟฟ้าขัดข้องระหว่างการติดตั้ง เมื่อจัดการเบรคเกอร์เรียบร้อยแล้วจึงติดตั้งสายดินตามขั้นตอนดังนี้

  1. เจาะหรือเซาะผนังเพื่อใส่ตัวเต้ารับให้พอดีก่อนติดตั้งสายดิน
  2. จั๊มสายไฟ ทั้งสายไลน์ สายนิวทรัล และสายกราวด์ หรือสายดินให้เข้ากับช่องเสียบ และขันน็อตให้แน่น จากนั้นปิดด้วยหน้ากากปลั๊กจนสนิทดี
  3. ให้นำสายดินอีกด้านหนึ่งร้อยออกมาด้านนอกบ้านเพื่อปักลงดิน ควรเลือกจุดที่ไม่มีน้ำอยู่ใกล้ เพื่อไม่ให้คนที่สัมผัสน้ำเกิดอันตราย แต่หากจำเป็นต้องปักหลักดินให้มิดดิน และควรเลี่ยงพื้นที่ที่มีเศษหินและกรวดอยู่เยอะ เพราะจะรบกวนกระแสไฟฟ้า
  4. นำสายทองแดงของสายดินมาผูกกับสายทองแดงของฉนวนกันไฟฟ้าแล้วนำคีมมามัดด้วยกันให้แน่น ก่อนพันเทปพันสายไฟและจับใส่กล่องเปล่าเพื่อเพิ่มความปลอดภัย
  5. นำปลายสายทองแดงมาพันกับหมุดทองแดงที่มีความยาวประมาณ 1 ฟุต แล้วตอกให้สนิทกับพื้นดิน

อายุการใช้งาน

สายดินมีอายุการใช้งานยาวนาน ประมาณ 10-15 ปี ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยควรเปลี่ยนสายดินทุกๆ 10 ปี หากใช้งานเกินอายุโดยไม่มีการตรวจสอบหรือไม่ได้ใช้วิธีเช็กสายดินที่ถูกต้อง ก็อาจทำให้มองไม่เห็นจุดที่ชำรุดและทำให้เกิดอันตรายในการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านตามมาได้

ขนาดของสายดิน

ขนาดของสายดิน

การเลือกสายดินดูได้จากขนาดของเบรกเกอร์ มีขนาดตั้งแต่ 25 ตร.มม. ขึ้นไป หรือเลือกโดยดูจากขนาดของสายตัวนำประธาน โดยการไฟฟ้าได้กำหนดขนาดของสายประธานดูจากขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้าไว้ ดังนั้น ให้ตรวจสอบกับเขตการไฟฟ้าของตัวเองให้แน่ชัดก่อนเลือกขนาดของสายดินที่เหมาะกับบ้านของเรา  โดยแนะนำให้ติดตั้งในท่อโลหะหรือท่ออโลหะ

  • หากขนาดตัวนำประธานไม่เกิน 35 ตร. มม. ต้องใช้ สายต่อหลักดินไม่ต่ำกว่า 10 ตร. มม.
  • หากขนาดตัวนำประธานเกิน 35 แต่ไม่เกิน 50 ตร. มม. ต้องใช้ สายต่อหลักดินไม่ต่ำกว่า 16 ตร. มม.
  • หากขนาดตัวนำประธานเกิน 50 แต่ไม่เกิน 95 ตร. มม. ต้องใช้ สายต่อหลักดินไม่ต่ำกว่า 25 ตร. มม.
  • หากขนาดตัวนำประธานเกิน 95 แต่ไม่เกิน 185 ตร. มม. ต้องใช้ สายต่อหลักดินไม่ต่ำกว่า 35 ตร. มม.
  • หากขนาดตัวนำประธานเกิน 185 แต่ไม่เกิน 300 ตร. มม. ต้องใช้ สายต่อหลักดินไม่ต่ำกว่า 50 ตร. มม.
  • หากขนาดตัวนำประธานเกิน 300 แต่ไม่เกิน 500 ตร. มม. ต้องใช้ สายต่อหลักดินไม่ต่ำกว่า 70 ตร. มม.
  • หากขนาดตัวนำประธานไม่เกิน 500 ตร. มม. ต้องใช้ สายต่อหลักดินไม่ต่ำกว่า 95 ตร. มม.

ปัญหาไฟฟ้ารั่วนั้นถือเป็นอุบัติเหตุภายในบ้าน ที่อาจรุนแรงจนถึงชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อรู้แล้วว่าสายดินป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วได้อย่างไร ก็ควรเช็กสายดินเพื่อป้องกันปัญหาไว้ก่อนจึงดีที่สุด หากเจ้าของบ้านไม่พร้อมหรือไม่มีความเคยชินกับการทำงานช่าง แนะนำให้ติดต่อช่างมืออาชีพมาช่วยดำเนินการแทน อย่างชาว AP สามารถเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญผ่านแอปพลิเคชัน SMART WORLD ได้เลยเพียงไม่กี่คลิกเท่านั้น จัดการปัญหาไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว บ้านก็จะปลอดภัยขึ้นแน่นอน

RELATED ARTICLES