MAIN POINTS
- ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือ “ภาษีที่ดิน” เป็นภาษีรายปีที่คิดตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ ภาษีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย พาณิชยกรรม การเกษตรกรรม และที่ดินว่างเปล่า โดยแต่ละประเภทมีเงื่อนไขและมีอัตราภาษีที่แตกต่างกันไปตามรูปแบบการใช้งาน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 0.01% - 3% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ประเมินและส่งแบบประเมินภาษีให้กับผู้มีหน้าที่เสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และจะต้องจ่ายภาษีภายในวันที่ 30 เมษายนของปีนั้น ๆ
อัปเดตภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2568
- ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คืออะไร
- ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคิดจากอะไร
- ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีกี่ประเภท
- วิธีคำนวณภาษีที่ดิน พร้อมตัวอย่างการคำนวณ
- ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการลดหย่อนภาษี
- ใครเป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี
- ชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จ่ายเมื่อไหร่ จ่ายที่ไหน
- บทลงโทษของการไม่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- รวมคำถามที่เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนก็มีภาษีที่ต้องจ่ายเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ แต่สำหรับใครที่เป็นเจ้าของที่ดิน บ้าน คอนโด หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ก็จะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเข้ามาด้วย
หลายคนอาจยังสงสัยว่าภาษีที่ดินที่ต้องเสียอยู่ที่เท่าไร หรือมีอัตราการเก็บภาษีอะไรที่ต้องอัปเดตบ้าง บทความนี้ของ AP Thai จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2568 ทั้งในส่วนของอัตราภาษี การคำนวณ และการลดหย่อนภาษี มีอะไรที่ควรรู้บ้างไปดูกัน
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คืออะไร
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “ภาษีที่ดิน” เป็นภาษีรายปีที่คิดตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดการเรียกเก็บภาษี มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 และเริ่มจัดเก็บภาษีครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคิดจากอะไร
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่คนสามารถอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาคาร คอนโด โกดัง นับว่าต้องเสียภาษีทั้งหมด โดยใช้มูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในการคำนวณ แบ่งออกเป็น 3 รายการดังนี้
- ที่ดิน : ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน
- สิ่งปลูกสร้าง : ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง
- สิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุด : ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด
โดยองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ และอัตราภาษีที่เรียกเก็บในแต่ละปี ซึ่งราคาประเมินทุนทรัพย์นั้นจะเป็นราคาเดียวกันกับราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมที่ดิน
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีกี่ประเภท
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ภาษีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ภาษีที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม ภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม และภาษีที่ดินว่างเปล่า แต่ละประเภทถูกกำหนดขึ้นตามรูปแบบการใช้งานของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ ซึ่งมีเงื่อนไขและอัตราภาษีที่แตกต่างกันไป มาดูกันว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คุณครอบครองอยู่นั้นจัดว่าเป็นประเภทไหน
ประเภทที่ 1 ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย
ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย เช่น ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของอยู่เอง โดยจะต้องมีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ และทะเบียนบ้าน รวมถึงบ้านหลังอื่น ๆ ที่เจ้าของมีชื่อในโฉนด แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ก็จะต้องจ่ายภาษีที่อยู่อาศัยด้วยเช่นกัน
โดยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับการอยู่อาศัยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ เจ้าของที่ดินควบคู่กับสิ่งปลูกสร้าง เจ้าของสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียว (เช่น คอนโด ห้องชุด) และเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 2 หลังขึ้นไป โดยแต่ละแบบมีรายละเอียดอัตราภาษีต่างกัน
1. บุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว มีอัตราเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษีต่อปี |
0-50 ล้านบาท | ได้รับการยกเว้นภาษี |
50-75 ล้านบาท | 0.03% |
75-100 ล้านบาท | 0.05% |
100 ล้านบาทขึ้นไป | 0.1% |
2. บุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว มีอัตราเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
0-10 ล้านบาท | ได้รับการยกเว้นภาษี |
10-50 ล้านบาท | 0.02% |
50-75 ล้านบาท | 0.03% |
75-100 ล้านบาท | 0.05% |
100 ล้านบาทขึ้นไป | 0.1% |
3. บุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง 2 หลังขึ้นไป มีอัตราเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษีต่อปี |
0-50 ล้านบาท | 0.02% |
50-75 ล้านบาท | 0.03% |
75-100 ล้านบาท | 0.05% |
100 ล้านบาทขึ้นไป | 0.1% |
ประเภทที่ 2 ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม
ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรมเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่นำมาใช้ประโยชน์ในด้านการสร้างรายได้ เช่น สำนักงาน ออฟฟิศ ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น โดยมีอัตราเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษีต่อปี |
0-50 ล้านบาท | 0.3% |
50-200 ล้านบาท | 0.4% |
200-1,000 ล้านบาท | 0.5% |
1,000-5,000 ล้านบาท | 0.6% |
5,000 ล้านบาทขึ้นไป | 0.7% |
ประเภทที่ 3 ที่ดินเพื่อการเกษตร
ที่ดินเพื่อการเกษตร เป็นการใช้ประโยชน์ของที่ดินสำหรับเกษตรกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่ ทำสวน ทำนา การเลี้ยงปศุสัตว์ หรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงการทำสวนป่า นาเกลือ และการเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการบริโภค จำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม
ซึ่งที่ดินสำหรับการเกษตร หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม ถ้าหากเป็นบริษัทจะต้องขึ้นทะเบียนการทำเกษตรกรรม และถ้าเป็นส่วนบุคคลธรรมดาจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรด้วย
1. บุคคลธรรมดา มีอัตราเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษีต่อปี |
0-50 ล้านบาท | ได้รับการยกเว้นภาษี |
50-125 ล้านบาท | 0.01% |
125-150 ล้านบาท | 0.03% |
150-550 ล้านบาท | 0.05% |
550-1,050 ล้านบาท | 0.07% |
1,050 ล้านบาทขึ้นไป | 0.1% |
2. นิติบุคคล มีอัตราเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษีต่อปี |
0-75 ล้านบาท | 0.01% |
75-100 ล้านบาท | 0.03% |
100-500 ล้านบาท | 0.05% |
500-1,000 ล้านบาท | 0.07% |
1,000 ล้านบาทขึ้นไป | 0.1% |
ประเภทที่ 4 ที่ดินรกร้างว่างเปล่า
สำหรับที่ดินรกร้างหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้งานที่ดินให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร หรือที่ดินนั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่กลับปล่อยให้ที่ดินว่างตลอดทั้งปีก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน
ที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นที่ดินที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์หรือถูกทิ้งร้าง มีอัตราเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังนี้
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษีต่อปี |
0-50 ล้านบาท | 0.3% |
50-200 ล้านบาท | 0.4% |
200-1,000 ล้านบาท | 0.5% |
1,000-5,000 ล้านบาท | 0.6% |
5,000 ล้านบาทขึ้นไป | 0.7% |
หมายเหตุ: หากปล่อยที่ดินรกร้างว่างเปล่านานต่อเนื่องมากกว่า 3 ปี อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นอีก 0.3% ในทุก ๆ 3 ปี โดยมีเพดานภาษีสูงสุดไม่เกิน 3%
วิธีคำนวณภาษีที่ดิน พร้อมตัวอย่างการคำนวณ
การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ยากอย่างที่คิด เมื่อเราได้ศึกษารายละเอียดอัตราการเสียภาษีของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภทข้างต้นมาแล้ว ก็ลองหยิบปากกาและเครื่องคิดเลขมาคำนวณตามสูตรกันได้ตามตัวอย่างนี้เลย
1. ที่ดินเพื่อการเกษตร รวมถึงที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้างและที่ดินรกร้าง
สูตรการคำนวณภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร คือ
มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษีที่ดิน = ภาษีที่ต้องจ่าย
ตัวอย่างการคำนวณ:
A เป็นเจ้าของบริษัทสีข้าว จดทะเบียนในนามนิติบุคคล มีที่ดินเพื่อการเกษตรสำหรับปลูกข้าวมูลค่า 90 ล้านบาท
- อัตราภาษีที่ดินของนิติบุคคลเพื่อการเกษตรมูลค่า 75-100 ล้านบาท อยู่ที่ 0.03%
- คิดเป็น 90,000,000 x 0.03% = 27,000 บาท
- ดังนั้น A มีภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรที่ต้องจ่าย คือ 27,000 บาท
2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
สูตรการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ
(มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
ตัวอย่างการคำนวณ:
B เป็นเจ้าของที่ดินมูลค่า 60 ล้านบาท และมีบ้านเดี่ยวมูลค่า 20 ล้านบาท
- อัตราภาษีบุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลังเดียวมูลค่า 75-100 ล้านบาท อยู่ที่ 0.05%
- คิดเป็น (60,000,000 + 20,000,000) x 0.05% = 40,000 บาท
- ดังนั้น B มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องจ่ายคือ 40,000 บาท
3. ห้องชุด
สูตรการคำนวณภาษีที่ดินสำหรับห้องชุด คือ
มูลค่าห้องชุด (มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
ตัวอย่างการคำนวณ:
C เป็นเจ้าของคอนโดมูลค่า 30 ล้านบาท
- อัตราภาษีบุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างหลังเดียวมูลค่า 10-50 ล้านบาท อยู่ที่ 0.02%
- คิดเป็น 30,000,000 x 0.02% = 6,000 บาท
- ดังนั้น C มีภาษีที่ดินสำหรับคอนโดที่ต้องจ่ายคือ 6,000 บาท
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการลดหย่อนภาษี
สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการลดหย่อนภาษีนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นที่ ๆ ในกิจการผลิตสาธารณูปโภค หรือสร้างสาธารณประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป ตามประกาศ ณ ปัจจุบันมีการลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด 2 แบบ ดังนี้
1. ที่ดินที่ได้รับลดหย่อนภาษี 50%
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับสิทธิลดภาษีลง 50% ได้แก่
- ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองจากมรดก และได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นแล้วก่อนวันที่ 13 มีนาคม 2562
- ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงผลิตไฟฟ้า ที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟฟ้า
- ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นเขื่อนเพื่อการผลิตไฟฟ้า
2. ที่ดินที่ได้รับลดหย่อนภาษี 90%
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับสิทธิลดภาษีลง 90% ได้แก่
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่สถาบันการเงิน เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปืนับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของหน่วยงานดังกล่าว
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นโครงการจัดสรรเพื่อที่อยู่อาศัยหรือการอุตสาหกรรม เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินดังกล่าว
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นอาคารชุด (คอนโด) เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดดังกล่าว
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชนในกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในกิจการของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบ ประเภทสอนศาสนาหรือประเภทศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด หรือประเภทสถาบันศึกษาปอเนาะ
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นสถานที่ให้บริการแก่ประชาชน เช่น สวนสัตว์ สวนสนุก ที่จอดรถไฟฟ้า ลานจอดรถโดยสารสาธารณะในสถานีขนส่ง เป็นต้น
ใครเป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี
- ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง (ดูจากโฉนดที่ดิน)
- ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
หมายเหตุ:
- ใครที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในวันที่ 1 มกราคมของปีไหน จะถือว่าเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินของปีนั้น ๆ ไป
- ในกรณีที่มีเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลายคน ทุกคนที่มีชื่อระบุในโฉนดที่ดินจะต้องเสียภาษีร่วมกันทั้งหมด
- ในกรณีที่เจ้าของที่ดินและเจ้าของสิ่งปลูกสร้างเป็นคนละคนกัน เจ้าของแต่ละทรัพย์สินจะต้องเสียภาษีในสิ่งที่ตนถือครองอยู่
ชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จ่ายเมื่อไหร่ จ่ายที่ไหน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และส่งแบบประเมินภาษีให้กับผู้มีหน้าที่เสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยผู้เสียภาษีต้องจ่ายภาษีภายในวันที่ 30 เมษายนของปีนั้น ๆ
** ทั้งนี้ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศรายละเอียดการขยายระยะเวลาชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2568 ออกไปอีก 2 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด
- งวดที่ 1: จากเดิมกำหนดชำระภายในเดือน เมษายน 2568 เปลี่ยนเป็นชำระภายในเดือน มิถุนายน 2568
- งวดที่ 2: จากเดิมกำหนดชำระภายในเดือน พฤษภาคม 2568 เปลี่ยนเป็นชำระภายในเดือน กรกฎาคม 2568
- งวดที่ 3: จากเดิมกำหนดชำระภายในเดือน มิถุนายน 2568 เปลี่ยนเป็นชำระภายในเดือน สิงหาคม 2568
ในกรณีที่ต้องการยื่นผ่อนภาษี สามารถขอผ่อนชำระได้ 3 งวด เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยมีขั้นต่ำค่าภาษีอยู่ที่ 3,000 บาทขึ้นไป
สถานที่จ่ายภาษี
- กรุงเทพฯ – ชำระที่สำนักงานเขต
- เมืองพัทยา – ชำระที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
- เทศบาล – ชำระที่สำนักงานเทศบาล
- อบต. – ชำระที่สำนักงานองค์กรบริหารส่วนตำบล
บทลงโทษของการไม่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ผู้ที่เลี่ยงหรือเพิกเฉยต่อการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ถือว่ามีความผิดและต้องได้รับโทษทางกฎหมาย โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับดังนี้
1. เบี้ยปรับ
ในกรณีไม่จ่ายภาษีภายในเวลาที่กำหนด จะมีเบี้ยปรับตามลำดับขั้น ดังนี้
- คิดเบี้ยปรับ 10% จากค่าภาษีที่ค้างชำระ หากไม่จ่ายภาษีภายในเวลาที่กำหนด แต่จ่ายก่อนได้รับหนังสือเตือน
- คิดเบี้ยปรับ 20% จากค่าภาษีที่ค้างชำระ หากไม่จ่ายภาษีภายในเวลาที่กำหนด แต่จ่ายภายในระยะเวลาที่แจ้งตามหนังสือเตือน
- คิดเบี้ยปรับ 40% จากค่าภาษีที่ค้างชำระ หากไม่จ่ายภาษีภายในเวลาที่กำหนด และล่าช้ากว่าเวลาที่แจ้งตามหนังสือเตือน
2. เงินเพิ่ม
เงินเพิ่ม คือ ดอกเบี้ยจากการจ่ายภาษีล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด โดยเริ่มนับจากวันที่เลยกำหนดชำระภาษี คิดเป็นอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ค้างชำระโดยไม่คิดทบต้น
3. โทษทางอาญา
มีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี และปรับสูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท ในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดเอง อาจส่งผลให้กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกัน
รวมคำถามที่เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
1. ขอเงินคืนภาษีได้ไหม ถ้าหากจ่ายเกิน
ในกรณีที่จ่ายภาษีเกินกว่ายอดชำระที่ได้รับจากใบประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้เสียภาษีสามารถยื่นคำร้องต่อองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อขอเงินคืนได้ภายใน 3 ปี นับจากวันที่ชำระภาษีเกิน
2. กรณีที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ต้องหารกันจ่าย หรือจ่ายเท่ายอดเรียกเก็บ
ในกรณีที่มีเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลายคน ทุกคนที่มีชื่อในโฉนดที่ดินจะต้องเสียภาษีร่วมกัน โดย ในใบประเมินภาษีที่แต่ละคนได้รับจะระบุเป็นยอดชำระรวมทั้งหมด ดังนั้น เจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกคนสามารถหารกันจ่ายอย่างไรก็ได้ให้ครบตามยอดภาษีที่แจ้ง และให้เจ้าของกรรมสิทธิ์คนใดคนหนึ่งรับหน้าที่ไปดำเนินการจ่ายเป็นอันเสร็จสิ้น
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับอัปเดต 2568 ที่ศึกษาไว้ล่วงหน้าย่อมเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวจ่ายภาษีของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทุกคน เพราะการเข้าใจภาระภาษีอย่างถ่องแท้นั้นช่วยให้เราปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง รวมถึงช่วยในการวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
เพิ่มความรู้ในการเรื่องภาษี และค่าใช้จ่ายในการโอนบ้าน ได้ที่นี่!
- ค่าธรรมเนียมโอนที่ดินล่าสุด 2567 คำนวณยังไง มีค่าอะไรบ้าง?
- โอนบ้าน-โอนที่ดินให้ลูก 2567 ใช้เอกสาร มีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
เข้าใจภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เพื่อการเสียภาษีที่ถูกต้อง
การเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประจำทุกปี ถือเป็นหน้าที่ที่เจ้าของทรัพย์สินควรให้ความสำคัญ เพราะไม่เพียงช่วยให้จัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ
สำหรับใครที่กำลังวางแผนซื้อบ้านหรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การเลือกโครงการที่มั่นใจได้ทั้งด้านทำเล คุณภาพ และการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีนั้นย่อมช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้ โครงการบ้านและคอนโดจาก AP Thai ไม่เพียงออกแบบที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ แต่ยังตั้งอยู่ในทำเลศักยภาพที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคตซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว
เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต
เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมดีไซน์สวยหรือบ้านแฝดฟังชันใหญ่ คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ