MAIN POINT
- วิธีการคำนวณเงินเพื่อกู้ซื้อบ้าน ประกอบไปด้วยหลายขั้นตอน ตั้งแต่การประเมินรายได้ การประเมินหนี้สิน และการคำนวณเงินกู้ซื้อบ้านสูงสุด ซึ่งยอดวงเงินการกู้ซื้อบ้านสูงสุดจะขึ้นอยู่กับรายได้และหนี้สินทั้งหมดที่มี
- การกู้บ้านให้ผ่านและได้วงเงินสูง ประกอบไปด้วย การประเมินสถานะทางการเงิน, การมีรายการเดินบัญชีที่ดี, การมีเงินออมสำรอง, การมีเครดิตการเงินที่ดี, การไม่มีหนี้สินคงค้าง, ไม่เคยค้างชำระ, ไม่มีการผ่อนสินค้าก่อนเริ่มกู้ และการจัดเตรียมเอกสารให้พร้อม
เวลากู้ซื้อบ้าน นอกจากการเลือกบ้านที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันแล้ว การเตรียมตัวเพื่อกู้เงินซื้อบ้านกับทางธนาคารก็สำคัญไม่แพ้กัน วันนี้ AP Thai จึงรวบรวม 8 เทคนิคการกู้ซื้อบ้านยังไงให้ผ่านและได้วงเงินสูง พร้อมขั้นตอนกู้ซื้อบ้านกับธนาคารที่ควรรู้ เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวให้กับทุกคน ซึ่งจะมีเทคนิคอะไรบ้างนั้น ตามไปดูกันเลย!
วิธีการคำนวณเงินกู้ซื้อบ้าน
ขั้นตอนที่ 1 ประเมินรายได้
รายได้หรือรายรับถือเป็นปัจจัยหลักในการคำนวณหาวงเงินกู้ซื้อบ้าน ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือนจากงานประจำหรือค่าจ้างจากงานพาร์ทไทม์ โดยธนาคารมักจะกำหนดอัตราค่างวดต่อเดือนอยู่ที่ 40% ของรายได้ และหากมูลค่าบ้านที่ต้องการมีอัตราค่างวดอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด การอนุมัติก็จะง่ายขึ้น
ตัวอย่าง
- นาย A รายได้ต่อเดือน 30,000 บาท ค่างวดผ่อนบ้านต่อเดือนสูงสูดจะอยู่ที่ (30,000 x 40) ÷ 100 = 12,000 บาท
ขั้นตอนที่ 2 ประเมินหนี้สิน
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อวงเงินกู้บ้าน คือ หนี้สิน โดยธนาคารจะนำหนี้สินไปหักลบกับรายได้ในแต่ละเดือน เพื่อคำนวณหารายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย และถ้าใครไม่มีหนี้สินที่ต้องชำระในแต่ละเดือน จะช่วยให้การอนุมัติง่ายขึ้น
ตัวอย่าง
- นาย A มีหนี้สินค่างวดรถเดือนละ 6,000 บาท
- รายได้สุทธิของนาย A จะอยู่ที่ 30,000 (เงินเดือน) - 6,000 (ค่างวดรถ) = 24,000 บาท
- ค่างวดผ่อนบ้านต่อเดือนสูงสูดที่นาย A จะอยู่ที่ (24,000 x 40) ÷ 100 = 9,600 บาท
ขั้นตอนที่ 3 คำนวณเงินกู้ซื้อบ้านสูงสุด
เมื่อเรารู้ค่างวดต่อเดือนสูงสุดกันไปเรียบร้อยแล้ว ถึงเวลามาคำนวณหาวงเงินกู้ซื้อบ้านที่สูงที่สุด ซึ่งจะช่วยให้รู้ถึงมูลค่าบ้านที่เราสามารถกู้ซื้อได้นั่นเอง โดยการเอาค่างวดสูงสุดต่อเดือนมาคูณกับ 150
ตัวอย่าง
- นาย A รายได้ต่อเดือน 30,000 บาท แต่มีหนี้สินเดือนละ 6,000 บาท
- ทำให้รายได้สุทธิของนาย A อยู่ที่ 24,000 บาท และค่างวดต่อเดือนสูงสูดอยู่ที่ 9,600 บาท
- และวงเงินกู้ซื้อบ้านสูงสุดของนาย A จะอยู่ที่ 9,600 x 150 = 1,440,000 บาท
ตารางวงเงินกู้ซื้อบ้านสูงสุด
รายได้สุทธิ (บาท) | วงเงินกู้ซื้อบ้านเฉลี่ย (บาท) |
15,000 | 900,000 |
20,000 | 1,200,000 |
30,000 | 1,800,000 |
40,000 | 2,400,000 |
50,000 | 3,000,000 |
60,000 | 3,600,000 |
หมายเหตุ: การคำนวณดังกล่าวเป็นการประเมินข้างต้นเท่านั้น วงเงินกู้บ้านสูงสุดจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร จึงควรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากธนาคารนั้น ๆ
แต่ถ้าใครคำนวณกู้ซื้อบ้านไม่เก่ง สามารถใช้ โปรแกรมคำนวณสินเชื่อเบื้องต้นจากเอพี เพื่อเช็กวงเงินสินเชื่อและค่างวดกู้บ้านในแต่ละเดือนแบบคร่าว ๆ พร้อมแนะนำโครงการบ้านที่ใช่สำหรับคุณ เพื่อช่วยในการประกอบการตัดสินใจและวางแผนการเงินในอนาคต
หลังจากที่ทุกคนรู้วงเงินกู้บ้านสูงสุดของตัวเองกันแล้ว ถึงเวลามารู้เทคนิคเตรียมตัวกู้ซื้อบ้านยังไงให้ผ่านไวและได้วงเงินตามที่ต้องการ ว่าแต่จะมีเทคนิคอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลย!
มัดรวม 8 เทคนิคกู้ซื้อบ้านยังไงให้ผ่านฉลุย
สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนยื่นกู้บ้าน | ข้อแนะนำ |
ราคาบ้าน | ไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ |
ภาระหนี้สิน | ไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ |
เงินออม | อย่างต่ำ 10% ของราคาบ้าน |
บัตรเครดิต | จ่ายตรงเวลา งดจ่ายขั้นต่ำ และไม่ควรถือบัตรเครดิตเยอะเกินไป |
การผ่อนสินค้า | งดการผ่อนชำระสินค้า |
รายการเดินบัญชี | มีรายได้เข้าอย่างสม่ำเสมอ 6 เดือน |
ประวัติการชำระหนี้สิน | มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีย้อนหลัง 3 ปี |
1. ประเมินสถานะทางการเงิน
ถ้าสถานะทางการเงินของเราดี รายได้ต่อเดือนและความสามารถในการผ่อนสอดคล้องกัน จะทำให้ธนาคารอนุมัติเงินกู้ง่ายขึ้น ซึ่งไม่ว่าเราจะยื่นกู้คนเดียวหรือกู้ร่วมกับคนอื่น ก็ต้องคำนึงถึงรายได้และหนี้สินทั้งหมดต่อเดือน รวมถึงค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ เพื่อให้รู้ถึงมูลค่าบ้านหรือวงเงินกู้ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ช่วยให้เรากู้เงินอย่างพอดีและสามารถผ่อนจ่ายรายเดือนไหว
2. มีรายการเดินบัญชีที่ดูดี
หนึ่งในเอกสารสำคัญที่ทางธนาคารจะขอดู คือ รายการเดินบัญชี หรือ Statement ย้อนหลัง 6 เดือน โดยส่วนมากมักจะเป็นบัญชีเงินเดือนหรือบัญชีรายรับประจำ ซึ่งในแต่ละเดือนควรมีเงินคงเอาไว้ในบัญชีอย่างต่อเนื่อง และหลีกเลี่ยงการถอนเงินจนหมด หรือหากมีอาชีพเสริมที่ได้รับเงินเป็นรายวัน ไม่ว่าจะเป็น ฟรีแลนซ์หรือเปิดร้านขายของ ก็ควรโอนเงินเข้าบัญชีอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อแสดงให้ธนาคารเห็นว่า เรามีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่การันตีถึงความสามารถในการกู้ซื้อบ้านของเรา
3. ควรมีเงินออมสำรอง
เนื่องจากเวลาซื้อบ้านจะมีค่าใช้จ่ายยิบย่อยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ค่าจองและทำสัญญา ค่าโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประเมินราคาบ้าน ค่าเบี้ยประกันภัยบ้าน รวมถึงค่าจดจำนอง อีกทั้งยังมีกรณีที่กู้เงินซื้อบ้านได้ไม่เต็มจำนวน ทำให้ต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มเติม ดังนั้น เราจึงควรมีเงินออมสำรองอย่างน้อย 10-20% ของมูลค่าบ้าน
4. ทำเครดิตการเงินให้สวย จ่ายบัตรเครดิตให้ตรงเวลา
เครดิตทางการเงินเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงวินัยทางการเงินของเรา โดยธนาคารจะตรวจสอบประวัติการชำระเงินที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น การใช้จ่ายบัตรเครดิตและการผ่อนชำระสินค้าต่าง ๆ ว่าชำระตรงตามรอบหรือไม่ ค้างจ่ายหรือเคยจ่ายขั้นต่ำหรือเปล่า ซึ่งหากมีประวัติการชำระเงินที่ดี จ่ายเต็มและตรงตามรอบเสมอ จะช่วยให้ธนาคารอนุมัติการกู้ซื้อบ้านไวยิ่งขึ้น อีกทั้งยังไม่ควรถือบัตรเครดิตจำนวนเยอะเกินไป เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทางธนาคารจะพิจารณา ดังนั้นทางที่ดีควรปิดบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้ให้เรียบร้อย
5. ต้องเคลียร์หนี้สินให้หมด
เนื่องจากหนี้สินเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกู้เงินซื้อบ้านผ่านธนาคาร เพราะมีส่วนทำให้วงเงินกู้บ้านที่ต้องการลดลง ดังนั้น ถ้าบ้านในฝันใครมีมูลค่าสูง การเคลียร์หนี้สินต่าง ๆ ให้หมด ทั้งการผ่อนรถยนต์หรือการผ่อนมือถือ ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะช่วยในการเพิ่มวงเงินกู้สูงสุดให้กับเราได้
6. พยายามอย่าค้างชำระ
การใช้บัตรเครดิต ไม่ว่าจะผ่อนสินค้าชิ้นเล็ก ๆ อย่างทีวี หรือสินค้าชิ้นใหญ่ ๆ อย่างรถยนต์ ก็ไม่ควรค้างชำระ เนื่องจากหากเรายื่นกู้ซื้อบ้านกับทางธนาคาร ธนาคารจะเช็กเครดิตบูโรผ่านทางสถาบันการเงิน เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ โดยจะมีรายละเอียดการชำระหนี้ย้อนหลัง 3 ปี หากใครเคยผ่อนจ่ายไม่ตรงเวลา อาจจะทำให้ติดแบล็กลิสต์ได้ ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี แต่ถ้าใครไม่เคยค้างชำระเลย จะช่วยให้การกู้ธนาคารเพื่อซื้อบ้านได้รับการอนุมัติไวขึ้น
7. ไม่ควรผ่อนสินค้าก่อนเริ่มกู้
สำหรับใครที่มีแพลนจะกู้เงินซื้อบ้าน เพื่อให้ได้วงเงินที่สูงที่สุด ควรงดหรือเลื่อนการผ่อนสินค้าออกไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนแบบมีดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ย 0% ก็ตาม เนื่องจากค่าผ่อนสินค้าดังกล่าวจะถูกนำไปคำนวณกับรายได้ต่อเดือน ซึ่งจะส่งผลให้วงเงินกู้ซื้อบ้านต่ำลงนั่นเอง
8. จัดเตรียมเอกสารให้พร้อม
เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นกู้ธนาคารเพื่อซื้อบ้านมีค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ถ้าใครอยากให้ธนาคารอนุมัติเงินกู้เร็ว ๆ ควรจัดเตรียมเอกสารให้เรียบร้อย เพื่อความพร้อมในการยื่นเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สลิปเงินเดือน และรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน เป็นต้น
หลังจากที่ได้เทคนิคดี ๆ ในการเตรียมตัวกู้ซื้อบ้านกันไปแล้ว ก็ถึงเวลาของขั้นตอนกู้ซื้อบ้านกับทางธนาคารที่คนอยากมีบ้านต้องรู้ ซึ่งจะมีขั้นตอนอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลย!
ขั้นตอนการกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร ที่ควรรู้
1. เตรียมเอกสารกู้เงิน
สำหรับใครที่ได้บ้านหรือคอนโดที่ถูกใจแล้ว จะต้องจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ เพื่อยื่นกู้เงินกับทางธนาคาร โดยจะต้องไม่ลืมเช็กอัตราดอกเบี้ยบ้านของแต่ละธนาคาร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกธนาคารที่เหมาะกับเรามากที่สุด โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารจะทำการตรวจสอบเอกสารและประเมินรายได้สุทธิ ก่อนการอนุมัติวงเงินสูงสุด ซึ่งเอกสารที่ต้องเตรียม มีดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนารับรองสถานภาพ สมรส โสด หรือหย่าร้าง
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
- หนังสือรับรองเงินเดือน
- สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน
- รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน
- เอกสารแสดงรายได้อื่น ๆ
- ข้อมูลโครงการบ้านที่ต้องการซื้อ
2. ส่งเอกสารกู้เงินและรอฟังผล
สำหรับใครที่รวบรวมเอกสารที่ต้องใช้ในการกู้ซื้อบ้านเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการติดต่อกับทางธนาคาร เพื่อส่งเอกสารการกู้ซื้อบ้านทั้งหมดกับธนาคารที่เลือกเอาไว้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ จากนั้นรอฟังผลการอนุมัติต่อไป
3. เจ้าหน้าที่ประเมินเพื่ออนุมัติ
โดยส่วนใหญ่แล้วสำหรับขั้นตอนการอนุมัติวงเงินกู้ ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารจะประเมินและแจ้งผลการอนุมัติไปยังผู้ยื่นขอสินเชื่อภายใน 7 วันทำการ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำเอกสารสัญญากู้เงินและจดจำนองต่อไป
4. ทำเอกสารสัญญากู้เงินและจดจำนอง
หลังจากที่ได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารจะติดต่อและทำนัดกับผู้ยื่นขอสินเชื่อ เพื่อทำเอกสารสัญญาเงินกู้ พร้อมชี้แจงรายละเอียดเรื่องการจดจำนอง รวมถึงหลักประกันที่ใช้ในการกู้
นอกจากการเตรียมตัวสำหรับการกู้ธนาคารเพื่อซื้อบ้านจะสำคัญแล้ว การเลือกซื้อบ้านที่ใช่และตอบโจทย์ก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งปัจจัยหลัก ๆ ที่ต้องใช้ประเมินในการเลือกซื้อบ้าน มีดังนี้
3 ปัจจัยในการเลือกซื้อบ้านให้ตอบโจทย์
1. ราคาบ้านต้องอยู่ในงบ
ภาพ: PLENO TOWN เพชรเกษม 81
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกู้ซื้อบ้าน คือ ราคาบ้าน ที่จะแตกต่างกันไปตาม ประเภทของบ้านและทำเลที่ตั้ง โดยราคาบ้านจะต้องอยู่ในงบประมาณของความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือนของเรา เพื่อไม่ให้บ้านในฝันกลายไปเป็นภาระในอนาคต
2. ทำเลต้องดี เดินทางสะดวก
ทำเลบ้านดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ซึ่งโครงการบ้านในปัจจุบันมีทำเลให้เลือกเยอะแยะมากมาย และการได้เป็นเจ้าของบ้านที่ตั้งอยู่บนทำเลคุณภาพ จะช่วยให้เดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก ไม่ต้องใช้เวลาในการเดินทางนาน ไม่ต้องเจอกับปัญหารถติดในทุก ๆ วัน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มเวลาพักผ่อนให้กับตัวเองได้อีกด้วย
3. ประเภทบ้านรองรับไลฟ์สไตล์
ภาพ: MODEN บางนา-ศรีนครินทร์
แต่ละครอบครัวมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน แถมยังมีจำนวนสมาชิกที่ไม่เท่ากันอีกด้วย ดังนั้น การเลือกซื้อบ้านที่พอดีกับขนาดครอบครัว จะช่วยให้ทุกคนในบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี และถ้าบ้านที่เลือกสามารถรองรับไลฟ์สไตล์และสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิต ก็จะช่วยเติมเต็มความสุขให้กับทุกคนในบ้านได้
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนกู้ซื้อบ้าน ช่วยให้ผลการอนุมัติไวได้วงเงินสูง
ทั้งหมดนี้ คือ เคล็ดลับการเตรียมตัวเพื่อยื่นกู้ซื้อบ้านกับทางธนาคาร พร้อมวิธีการคำนวณวงเงินกู้บ้านสูงสุด ที่ช่วยให้การอนุมัติผ่านไวและได้วงเงินสูง ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ให้กับคนอยากมีบ้านไม่มากก็น้อย เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของบ้านในฝันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่ทุกคนต้องการ
รวมโปรโมชันบ้านและคอนโดจาก AP ขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ AP
เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต
เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมหรือบ้านแฝดดีไซน์สวย คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ