ฝ้าเพดานเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างบ้านที่ช่วยเก็บงานระบบอย่างโครงหลังคา สายไฟ ท่อ อุปกรณ์ไฟฟ้า ทำให้บ้านดูเรียบร้อย สวยงาม ทั้งยังช่วยกันความร้อน และลดการสะท้อนของเสียง ดังนั้น หากฝ้าเพดานมีปัญหา น้ำรั่ว เป็นรูจากปลวกกิน ก็จะทำให้การใช้งานมีประสิทธิภาพลดลง หรืออาจกลายเป็นที่สะสมเชื้อโรค และเป็นผลเสียต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยได้
บทความนี้จะพาไปดูสาเหตุของปัญหาฝ้าเพดานเป็นรู วิธีการซ่อมฝ้าเพดาน และการป้องกันไม่ให้ฝ้าเพดานเกิดความเสียหาย
สาเหตุต่างๆ ที่ทำให้ฝ้าเพดานเป็นรู
สาเหตุของฝ้าเพดานเป็นรูเกิดได้หลากหลาย โดย 2 สาเหตุยอดฮิต ได้แก่ การมีน้ำรั่วซึมตามจุดต่างๆ ของบ้านจนไหลมาถึงฝ้าเพดาน และการถูกแมลงกินไม้จำพวกปลวกรุกราน
ฝ้าเพดานน้ำรั่ว
ฝ้าเพดานน้ำรั่ว คือ ฝ้าเพดานรั่วที่มีสาเหตุจากการมีน้ำไหลซึมมาถึงบริเวณฝ้า เกิดขึ้นบ่อยช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวที่อากาศชื้นเป็นพิเศษ กรณีนี้ก่อให้เกิดผลกระทบ อย่างน้ำรั่วลงมาในบ้าน และยังอาจเกิดคราบดำ คราบสกปรก เชื้อรา และเพดานบวมตามมาได้ โดยต้นตอของน้ำรั่วซึมอาจมาจากจุดต่างๆ ของบ้าน ได้แก่
- รั่วซึมจากหลังคา: หากวัสดุมุงหลังคามีรอยร้าว หรือมีจุดรั่วซึมตามโครงสร้าง น้ำอาจไหลลงมาตามรอยรั่วของหลังคาหรือดาดฟ้า ทำให้ฝ้าเพดานเปียก สะสมความชื้น เป็นรอยด่าง บวม ขึ้นรา และทะลุในที่สุด
- รั่วซึมจากภายนอก: น้ำที่ไหลซึมตามรอยร้าวของผนังปูนอาจไหลไปรวมกันที่ฝ้าเพดานได้ ทำให้เกิดอาการบวมและทะลุ เช่นเดียวกันกับการรั่วซึมจากหลังคา
- รั่วซึมจากภายใน: ในกรณีที่มีห้องน้ำอยู่ชั้นบนของบ้าน น้ำอาจซึมตามรอยกระเบื้องของห้องน้ำ หรืออาจรั่วออกจากท่อน้ำภายใน และไหลไปรวมกันที่ฝ้าเพดานชั้นล่าง
- ฝ้าเพดานไม่กันความชื้น: วัสดุที่ใช้ทำฝ้าเพดานบางประเภทไม่มีการเคลือบสารที่ช่วยให้ทนต่อความชื้น เมื่อน้ำรั่วเข้ามาจึงซึมเข้าได้ง่าย เกิดการสะสมความเปียกชื้น และรั่วในที่สุด
- ใช้อุปกรณ์ไม่มีคุณภาพ และติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน: อุปกรณ์ที่ไม่ได้คุณภาพ อาทิ สีกันซึมที่ประสิทธิภาพไม่ดี วัสดุโครงฝ้าเพดานที่ไม่ทนต่อความชื้น วัสดุเหล็กไม่เคลือบกันสนิม ฯลฯ และการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน อาทิ การติดตั้งโถสุขภัณฑ์ไม่ตรงรอยเจาะท่อ ปูกระเบื้องห้องน้ำโดยไม่ได้ปูวัสดุกันซึมก่อน หรือปูแล้วมีช่องว่างด้านหลังแผ่นกระเบื้องจนกลายเป็นช่องทางสะสมน้ำและความชื้น ฯลฯ ก็ถือเป็นความผิดพลาดที่ทำให้น้ำรั่วซึมได้
ฝ้าเพดานปลวกกิน
สัตว์ตัวเล็กตัวน้อยอย่างมอดและปลวกก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านได้เช่นกัน โดยเฉพาะปลวกกินฝ้าที่ถือเป็นอีกสาเหตุหลักของปัญหาฝ้าเพดานเป็นรู ต้องหาทางซ่อมกันให้วุ่น แม้ว่าฝ้าของหลายๆ บ้านจะทำจากยิปซัม แต่กระดาษห่อยิปซัมก็มีเซลลูโลสที่ถือเป็นอาหารชนิดหนึ่งของปลวก ไม่เพียงเท่านั้น โครงสร้างบ้านหลายหลังทำมาจากไม้ จึงยิ่งเป็นตัวดึงดูดปลวก ทั้งนี้ ฝ้าเพดานเป็นรูที่เกิดจากปลวกกินจะมีลักษณะคล้ายกับฝ้าเพดานที่เกิดจากน้ำรั่ว สังเกตได้ดังนี้
- ฝ้าเพดานมีทางเดินปลวก: ปกติแล้วทางเดินปลวกมีลักษณะเป็นเส้นสีดำ มักสร้างจากโคลนหรือดิน สังเกตได้ด้วยการใช้ไฟฉายส่องดูตามซอกและมุมที่มีความชื้นและอับแสง หากมีลักษณะผิดปกติ ให้ลองใช้ไขควงทิ่มหรือเคาะตามบริเวณที่สงสัย ถ้าบริเวณนั้นยวบหรือไม่แข็งแรง ก็เป็นไปได้ว่าอาจเสียหายจากการถูกปลวกกินไปเสียแล้ว
- ฝ้าเพดานเป็นคลื่นสีน้ำตาล: สังเกตได้เลยว่าตัวฝ้าจะมีสีและลวดลายต่างกับฝ้าเมื่อเริ่มติดตั้ง โดยปลวกมักทิ้งร่องรอยเป็นลายคลื่นสีน้ำตาล
- ฝ้าเพดานมีจุดสีน้ำตาล และรอยคราบ: ลักษณะคล้ายฝ้าเพดานที่มีรอยน้ำรั่ว
- ฝ้าเพดานมีรูเล็กๆ: เมื่อกดแล้วจะมีผงสีดำที่เป็นของเสียของปลวกร่วงลงมา
- ฝ้าเพดานมีรอยขยับ โก่ง หย่อน: เกิดจากโครงสร้างเพดานถูกปลวกกิน
- ฟังเสียง: ลองฟังเสียงแปลกๆ บนฝ้าเพดาน อาจได้ยินเสียงปลวกกินไม้อยู่ก็เป็นได้
วิธีซ่อมฝ้าเพดานด้วยตัวเองแบบง่ายๆ
ใครที่กำลังประสบปัญหาฝ้าเพดานเป็นรู หรือเริ่มสงสัยแล้วว่าฝ้าเพดานมีความผิดปกติ ก็สามารถเริ่มตรวจสอบสาเหตุ และลงมือซ่อมฝ้าเพดานเป็นรูได้ด้วยตัวเองตามวิธีต่อไปนี้
วิธีซ่อมฝ้าเพดานที่เกิดจากน้ำรั่ว
อย่างที่กล่าวว่าฝ้าเพดานที่เกิดจากน้ำรั่วมีสาเหตุมาจากน้ำรั่วซึม ซึ่งเกิดได้ในหลายบริเวณของบ้าน วิธีซ่อมฝ้าเพดานน้ำรั่วด้วยตัวเองจึงควรเริ่มจากหาต้นเหตุของการรั่วซึมว่ามาจากบริเวณใด จากนั้นจึงจัดการปิดรอยรั่วให้สนิท และซ่อมแซมเพดานตามลำดับ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตรวจหาที่มาของน้ำรั่ว
ขั้นตอนแรกของการซ่อมฝ้าเพดานน้ำรั่วควรเริ่มจากการสำรวจว่าน้ำรั่วมาจากทิศทางใด โดยอาจเป็นทางหลังคา แนวปูน หรือมาจากห้องน้ำชั้นบน
หาตำแหน่งรั่วเพื่อซ่อมแซม
เมื่อทราบรู้แล้วว่าน้ำรั่วมาจากไหน ขั้นตอนถัดมาคือการตามหาตำแหน่งรอยรั่ว โดยรอยรั่วนั้นอาจจะเป็นรอยแตก รอยร้าวตามหลังคาหรือดาดฟ้า ช่องว่างระหว่างกระเบื้องห้องน้ำ รอยรั่วตรงท่อน้ำ ฯลฯ ซึ่งเคล็ดลับการมองหารอยรั่วเพื่อซ่อมแซ่มนั้น มีดังนี้
- หาจากจุดที่น้ำหยด: โดยเฉพาะเวลาฝนตกจะมีน้ำหยดลงมาแน่นอน ให้ใช้ช่วงจังหวะนั้นมองหาบริเวณที่น้ำหยดเพื่อจะระบุตำแหน่งที่ฝ้าเพดานมีน้ำรั่วได้
- หาจากแสงเล็กๆ: มองหาแสงตามหลังคาหรือตามพื้นเวลามีแดดออก วิธีนี้แม่นยำกว่าการมองหารอยน้ำหยด เนื่องจากจุดที่น้ำหยดลงมาอาจเป็นการซึมต่อมาจากรอยรั่วอื่นได้
- พันด้วยผ้าหรือทิชชู่: นำผ้าหรือทิชชู่ไปพันตามบริเวณที่สงสัยว่ามีรอยรั่วซึม เพื่อรอดูว่ามีความชื้นมาเกาะตัวหรือไม่
- สังเกตกระเบื้องหลังคาและดาดฟ้า: หากใช้งานมานานอาจเริ่มเสื่อมสภาพ สังเกตรอยร้าวตามตะปูยึดกระเบื้อง หรือตามปูน
- สังเกตเทปพันเกลียวท่อน้ำ: การรั่วซึมจากท่อน้ำไม่ได้เกิดจากรอยร้าวของตัวท่อเพียงเท่านั้น แต่หลายครั้งยังเกิดจากเทปพันเกลียวท่อน้ำหลวมด้วย
ปิดรอยรั่วของน้ำให้สนิททุกจุด
เมื่อพบรอบรั่วซึมทั้งหมดแล้ว ให้ปิดรอยรั่วให้สนิทให้เร็วที่สุดก่อนเริ่มลงมือซ่อมฝ้าเพดานอย่างจริงจัง เพื่อตัดต้นตอไม่ให้น้ำไหลซึมลงมาได้อีก นอกจากการปิดรอยรั่วจะจำเป็นต่อการซ่อมฝ้าเพดานน้ำรั่วให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิมแล้ว ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมเชื้อโรคและเชื้อรา อีกทั้งกันไม่ให้จุดรอยรั่วกลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่ชอบความชื้นอีกด้วย โดยหัวข้อนี้จะแนะนำตัวอย่างวิธีปิดรอยรั่วของน้ำแต่ละจุด เช่น
- สำหรับปัญหาการรั่วซึมจากกระเบื้องในห้องน้ำ สามารถสกัดกระเบื้องเดิมออกแล้วปูกระเบื้องใหม่ ขูดยาแนวเดิมออกแล้วใช้ยาแนวกันซึมใหม่แทน
- สำหรับปัญหาที่เกิดจากผนังร้าว สามารถแก้ไขเบื้องต้นได้โดยการอุดด้วยวัสดุกันซึม
- สำหรับปัญหาการรั่วซึมจากหลังคา สามารถแก้ไขเบื้องต้นได้โดยการอุดด้วยเทปบิวทิล
โป๊วฝ้าเพดานที่เป็นรู
เมื่อจัดการปิดทางน้ำไหลที่เป็นปัญหาปลายเหตุเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนถัดมา คือ การซ่อมฝ้าเพดานที่เป็นรูน้ำรั่ว โดยใช้วิธีโป๊วฝ้าเพดาน ดังนี้
- ตัดส่วนที่เสียหายและเป็นเชื้อราออกเพื่อกำจัดเชื้อโรค โดยใช้ใบเลื่อยเจาะช่องห่างจากบริเวณที่เสียหายและมีเชื้อราประมาณ 1 นิ้ว
- วางไม้เนื้อแข็งพาดฝ้าเพดานเพื่อเป็นโครงสำหรับฝ้าเพดานใหม่ ยึดด้วยสกรูเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
- ตัดแผ่นยิปซัมในขนาดเท่ากับช่องว่างที่ตัดออก ปะเข้าไปแทนเพื่อซ่อมพื้นผิว
- ใช้ปูนยิปซัมฉาบทับรอยต่อ
- ใช้เทปผ้ายิปซัมทับรอยต่อ
ขัดด้วยกระดาษทรายให้เรียบ
ขั้นตอนการซ่อมฝ้าเพดานน้ำรั่วถัดมา คือ การรอให้บริเวณที่ทำการโป๊วฝ้าเพดานแห้งสนิท โดยอาจทิ้งระยะเวลาไว้ 8-10 ชั่วโมง หรือ 1 วัน ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของสีโป๊วว่าแห้งเร็วหรือช้าแค่ไหน เมื่อมั่นใจว่าแห้งสนิทแล้ว ให้ใช้กระดาษทรายสำหรับขัดสีโป๊วขัดบริเวณที่ซ่อมแซมให้เรียบเสมอกับฝ้า การขัดด้วยกระดาษทรายจะช่วยไม่ให้บริเวณพื้นผิวที่ซ่อมแซมนูนออกมาเมื่อทาสีทับ
ทาสีทับจุดที่ซ่อมแซมให้สวยงาม
ขั้นตอนสุดท้ายในการซ่อมฝ้าเพดานน้ำรั่วด้วยตัวเอง คือ การทาสีทับจุดที่ซ่อมแซม ซึ่งถือเป็นการเก็บงานให้สวยงาม เริ่มจากตรวจสอบยี่ห้อ และเฉดสีของฝ้าเพดาน เพื่อให้สีใหม่ใกล้เคียงสีเดิม และป้องกันการเกิดรอยด่าง
วิธีซ่อมฝ้าเพดานที่เกิดจากปลวกกิน
ปลวกบนฝ้าเพดานมักเริ่มมาจากปลวกทำรังใต้ดินแล้วค่อยๆ รุกรานเข้ามาในบ้าน หากพบปลวกบนฝ้าเพดานแล้ว ก็มีโอกาสสูงว่าปลวกได้รุกรานไปทั่วบ้านเรียบร้อย กรณีนี้นอกจากจะทำให้ฝ้าเพดานมีปัญหาแล้ว หากไม่จัดการ ปลวกอาจกัดกินต่อไปจนทำให้ฝ้าถล่มลงมาได้ วิธีซ่อมฝ้าเพดานปลวกกินเพื่อให้ฝ้ากลับมาใช้งานได้ และปลอดภัยจากอันตราย มีดังนี้
กำจัดปลวกให้สิ้นซาก
การซ่อมฝ้าเพดานปลวกกินด้วยตัวเองนั้น มีขั้นตอนเบื้องต้นคล้ายกับการซ่อมฝ้าเพดานน้ำรั่ว คือ เริ่มจากการกำจัดต้นตอให้หมดเสียก่อน ดังนั้นเมื่อต้องซ่อมฝ้าเพดานเป็นรูจากปลวกกิน จึงจำเป็นต้องเริ่มจากการกำจัดปลวกให้ได้ยกรัง ไม่เช่นนั้นก็จะมีปลวกกลับมาอีกไม่จบไม่สิ้น โดยวิธีกำจัดปลวกที่นิยมทำกัน ได้แก่
- ใช้เหยื่อกำจัดปลวก: ใช้เหยื่ออาหารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการลอกคราบมาล่อปลวกตามทางเดินปลวก เพื่อให้ปลวกงานนำเหยื่ออาหารไปแบ่งปันกันในรัง วิธีนี้จะต้องเติมเหยื่อทุกๆ 15 - 30 วัน และใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน ปลวกจึงจะตายยกรัง เหมาะสำหรับผู้ที่แน่ใจว่ามีปลวกอยู่ในบ้าน
- ใช้สารเคมี: ฉีดพ่นสารเคมีตามทางเดินปลวก โดยการขุดใต้ดิน หรือเจาะตามคานบ้านจะช่วยให้พ่นสารเคมีได้ทั่วถึงมากขึ้น แต่การเจาะดังกล่าวอาจทำให้บ้านดูไม่สวยงาม
- ใช้สมุนไพร: เป็นการฉีดพ่นคล้ายกันกับการใช้สารเคมี แต่เปลี่ยนจากสารเคมีมาใช้สมุนไพรแทน เช่น
- สูตรน้ำส้มสายชูกำจัดปลวก: บีบมะนาว 2 ลูกลงบนน้ำส้มสายชู และผสมด้วยน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้ม
- ใบขี้เหล็กป่น: นำใบขี้เหล็กมาบดละเอียด ปั่นกับน้ำในอัตราส่วน 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดซ้ำในบริเวณที่คิดว่าปลวกจะมาทุก 3-5 วัน
- น้ำมันสะเดา: ถึงแม้น้ำมันสะเดาจะไม่สามารถฆ่าปลวกได้ถ้าไม่ได้สัมผัสกับปลวกโดยตรง แต่น้ำมันสะเดาสามารถยับยั้งการเติบโต การแพร่พันธ์ุ และการวางไข่ของปลวกได้ ดังนั้น หากสามารถนำน้ำมันสะเดาไปทาไว้ตรงจุดที่มั่นใจว่ามีปลวกก็สามารถช่วยกำจัดปลวกได้
การใช้สมุนไพรถือเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี อย่างไรก็ตาม อาจต้องใช้เวลาในการกำจัดมากกว่าวิธีอื่นๆ ในกรณีที่ปลวกขึ้นไปยังฝ้าเพดานแล้ว การใช้สมุนไพรเพื่อกำจัดปัญหาฝ้าเพดานเป็นรูจากปลวกกินจึงอาจไม่ทันใจก็เป็นได้ ทั้งนี้ นอกจากวิธีกำจัดปลวกเหล่านี้แล้ว ยังมีอีกหนึ่งเคล็ดลับที่น่าสนใจ นั่นคือการเฝ้าระวังและเรียนรู้วิธีกำจัดแมลงเม่าในบ้านเอาไว้ เนื่องจากแมลงเม่าถือว่าเป็นปลวกในระยะสืบพันธ์ุ ดังนั้น การกำจัดแมลงเม่าก็อาจช่วยลดปริมาณปลวกในอนาคตได้
ประเมินความเสียหาย
หลังจากกำจัดปลวกได้แล้ว ขั้นตอนถัดมา คือ การประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพรวมก่อนวางแผนการซ่อมแซมให้เหมาะกับความเสียหายแต่ละจุด
ซ่อมแซมตามความเสียหาย
ขั้นตอนสุดท้ายของการซ่อมฝ้าเพดานเป็นรูจากปลวกกิน คือ การซ่อมแซมตามความเสียหายที่ประเมินไว้ โดยหากฝ้าเพดานเป็นรูไม่ใหญ่มาก โครงสร้างยังคงอยู่ สามารถโป๊วหรืออัดเฉพาะรูได้ แต่หากฝ้าเพดานบวม รูใหญ่มาก หรือโครงสร้างบิดเบี้ยว ควรเปลี่ยนใหม่ทั้งแผ่น
โป๊ว หรืออุดเฉพาะรู
ฝัาเพดานที่มีความเสียหายไม่รุนแรง เล็งเห็นว่าหากซ่อมแซมปิดรอยแล้วก็สามารถกลับไปใช้งานได้ตามเดิม สามารถใช้วิธีอุด หรือโป๊วเฉพาะรูได้ โดยทำเหมือนกันกับการโป๊วฝ้าเพดานในขั้นตอนการซ่อมฝ้าเพดานน้ำรั่ว คือ
- ตัดส่วนที่เสียหายและมีรอยปลวกออกเพื่อกำจัดเชื้อโรค
- เจาะช่องห่างจากรอยประมาณ 1 นิ้ว
- วางไม้เนื้อแข็งพาดฝ้าเพดาน ยึดด้วยสกรู
- ปะแผ่นยิปซัมในขนาดเท่ากับช่องว่างที่ตัดออก
- ใช้ปูนยิปซัมฉาบทับรอยต่อและสกรู
- ใช้เทปผ้ายิปซัมทับรอยต่อ
- รอจนแห้ง ขัดด้วยกระดาษทราย และฉาบด้วยสีเพื่อเก็บงาน
เปลี่ยนฝ้าเพดานใหม่ทั้งแผ่น
ในกรณีที่ฝ้าเพดานบวม รูใหญ่มาก หรือมีความเสียหายมากแล้ว การเปลี่ยนฝ้าเพดานใหม่จะง่ายและเหมาะกว่าการอุด หรือโป๊วเฉพาะจุด โดยวิธีการซ่อมฝ้าเพดานด้วยตัวเองด้วยวิธีการเปลี่ยนนั้น ทำได้เบื้องต้น มีดังนี้
- ตัดแผ่นฝ้าออก
- ตรวจสอบโครงเดิมว่าผุพังหรือไม่ ถ้าหากเป็นโครงไม้ ปลวกอาจกัดกินไปแล้ว หรือหากเป็นโครงเหล็กก็อาจมีบิ่นตามอายุการใช้งาน กรณีที่โครงไม่แข็งแรงแนะนำให้ปรึกษาช่างก่อน แต่หากโครงสร้างยังแข็งแรงดีอยู่ก็สามารถทำขั้นตอนถัดไปได้เลย
- ติดตั้งแผ่นฝ้ายิปซัมใหม่เข้าไปแทน
- ฉาบด้วยปูนยิปซัม และติดเทปยิปซัมทับ
- รอจนแห้ง ขัดด้วยกระดาษทราย และฉาบสีเพื่อเก็บงานให้เรียบร้อย
วิธีป้องกันไม่ให้ฝ้าเพดานเสียหายหรือเป็นรู
แม้ว่าจะสามารถลงมือซ่อมฝ้าเพดานเป็นรูด้วยตัวเองได้ แต่ก็จำเป็นต้องใช้เวลา ทั้งการเริ่มค้นหาสาเหตุ และขั้นตอนการซ่อมผืนผิว รวมถึงฝ้าที่แก้ไขนั้นอาจไม่ได้เนียนกริบเหมือนใหม่เสมอไป ดังนั้นหากสามารถป้องกันไว้ก่อนที่ฝ้าจะมีปัญหาได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีกว่าละเลยการดูแลแล้วกลับมาซ่อมในภายหลัง
เลือกใช้ฝ้าเพดานที่มีมาตรฐาน
วัสดุที่นิยมใช้ทำฝ้าเพดาน คือ แผ่นฝ้ายิปซัม เนื่องจากเป็นวัสดุที่เบา สะดวก ตัด และปะง่าย แต่แผ่นฝ้ายิปซัมนี้ก็มีหลากหลายแบบ ควรเลือกรุ่นที่มีรอยตัดเรียบ ทนชื้น กันน้ำ กันเชื้อรา กันปลวก และไม่แอ่นตัว วัสดุอื่นๆ ที่ใช้ในโครงสร้างฝ้าเพดานก็มีความสำคัญเช่นกัน ควรเลือกโครงฝ้าที่แข็งแรง ไม่มีรอยบิ่น รวมถึงเลือกตัวเทป และปูนฉาบที่มีคุณภาพดี
เลือกช่างที่สามารถไว้ใจได้
เมื่อเริ่มต้นสร้างบ้านหรืออาคาร ควรเลือกช่างที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ และรู้วิธีเก็บรายละเอียดงานต่างๆ เช่น สามารถยาแนวได้ดี ไม่มีพื้นที่ว่าง สามารถติดตั้งช่องเซอร์วิสให้เหมาะกับแต่ละประเภทห้องเพื่ออำนวยความสะดวกในกรณีที่ต้องซ่อมแซมเมื่อมีปัญหา มีความซื่อสัตย์ในการเลือกวัสดุคุณภาพดีมาใช้ ฯลฯ
คอยสังเกตว่าฝ้าเพดานมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
จดจำสีและลวดลายของฝ้าเพดานปกติไว้ให้ดี และหมั่นสังเกตว่าฝ้าเพดานเริ่มเปลี่ยนสี เป็นจุด มีรู มีลักษณะเหมือนรอยน้ำรั่ว หรือรอยดำคล้ายปลวกเริ่มแทะหรือไม่
หากพบปัญหาต้องรีบแก้ให้เร็วที่สุด
หากพบปัญหาควรรีบหาต้นตอ กำจัดสาเหตุ และซ่อมแซมให้เร็วที่สุด ก่อนที่ฝ้าจะบวม กลายเป็นรูใหญ่ หรือเสียหายหนัก ถ้าหากปล่อยให้ฝ้าเพดานมีปัญหาไปเรื่อยๆ เช่น มีน้ำขังจนต้องรับน้ำหนักมากเกินไป หรือโดนปลวกกินจนโครงสร้างเสีย อาจทำให้ฝ้าถล่มลงมาทั้งแถบได้
ไม่ว่าฝ้าเพดานภายในบ้านจะได้รับความเสียหายจากน้ำรั่วซึม หรือโดนปลวกกิน ก็สามารถซ่อมฝ้าเพดานด้วยตัวเองได้ง่ายๆ โดยใช้วิธีการซ่อมฝ้าเพดานน้ำรั่ว และซ่อมฝ้าเพดานปลวกกินที่นำมาฝากในบทความนี้ จุดสำคัญในการซ่อมฝ้าเพดาน คือ หาสาเหตุ และแก้ปัญหานั้นอย่างตรงจุด พร้อมกับใช้อุปกรณ์ในการซ่อมแซมที่มีคุณภาพ เท่านี้ก็สามารถเสริมความแข็งแรงให้ฝ้าเพดาน และช่วยยืดอายุการใช้งานให้นานมากยิ่งขึ้นได้ สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่ยังไม่มั่นใจในฝีมือซ่อมแซมบ้านของตัวเอง ก็สามารถใช้บริการช่างมืออาชีพมาตรวจสอบและซ่อมแซมให้ได้ ยิ่งถ้าใครอยู่ในโครงการที่มีบริการ SMART Worldครอบคลุมทุกเรื่องบ้านอย่างในโครงการของ AP ก็ยิ่งสบายเข้าไปใหญ่ เพราะสามารถติดต่อเรื่องช่างมืออาชีพกับนิติบุคคลได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วเท่านั้น!