หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้ว หรืออาจจะมีใครที่ยังไม่รู้ว่าดอกเบี้ยที่มาจากการกู้ยืมเงินเพื่อที่จะใช้ซื้อบ้านนั้น สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีได้ ดังนั้นใครที่กำลังมีแพลนอยากซื้อบ้านหลังแรกเป็นของตัวเองต้องไม่พลาดที่จะศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ก่อนการลงทุน ซึ่งบทความนี้จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยที่ทำให้ได้บ้านมาครอบครองให้ได้รู้กัน
ทำไมดอกเบี้ยบ้านถึงสามารถลดหย่อนภาษีได้
สาเหตุที่ดอกเบี้ยจากการซื้อบ้านสามารถนำมาใช้ยื่นลดหย่อนภาษีได้นั้นเป็นเพราะว่าทางรัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้น จูงใจ ให้ประชาชนผู้มีรายได้ออกมาทำกิจกรรมทางการเงิน ไม่เพียงเฉพาะการซื้อบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการลงทุนในตลาดหุ้น การออมระยะยาว หรือการทำประกันชีวิตอีกด้วย
โดยมาตรการสิทธิลดหย่อนภาษี หรือ Tax Deductions คือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ช่วยทำให้ประชาชนผู้มีรายได้และใช้จ่ายตามที่รัฐต้องการเสียภาษีน้อยลงเมื่อทำการคำนวณภาษี เพื่อบรรเทาภาระทางภาษี และอาจทำให้ได้รับเงินคืนจากภาษีมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีส่วนป้องกันการยื่นภาษีผิดพลาดทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยค่าลดหย่อนภาษีไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่ในประมวลรัษฎากรเพียงเท่านั้น แต่จะกระจายไปตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
กู้เงินแบบไหนถึงจะนำมาลดหย่อนภาษีได้
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม หรือดอกเบี้ยจากการซื้อบ้านเพื่อจะนำไปลดหย่อนภาษีได้ มีเงื่อนไข 3 ประเด็นสำคัญที่จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษี คือ
- ต้องมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์สำคัญ คือ ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ไม่ใช่แค่บ้านแต่หมายรวมถึงคอนโด หรืออาคารชุดต่างๆ ที่ซื้อไว้เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย
- มีการกู้ยืมและจำนอง เช่น ซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารบนที่อยู่อาศัย คือเราสามารถกู้มาสร้างเป็นที่อยู่อาศัย หรือกู้มาสร้างบ้านบนที่ดินก็ได้ ซึ่งต้องมีการจำนองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจำนองเป็นสิ่งที่เราใช้อยู่อาศัย เช่น บ้าน คอนโด หรืออาคารที่สร้างบนที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ซึ่งจะใช้เป็นหลักประกันในระยะเวลาที่เท่ากับการกู้ยืม ในส่วนนี้หากเรากู้กับสถาบันการเงินจะมีระบุไว้ในสัญญาอย่างชัดเจน
- ต้องกู้ยืมกับผู้ประกอบกิจการภายในประเทศที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ ได้แก่ ธนาคาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สหการณ์ นายจ้างที่มีกองทุนจัดสรรไว้เป็นสวัสดิการ บริษัทประกันชีวิต หรือ บริษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือการที่เราจะต้องมีที่อยู่อาศัยไว้เพื่อที่จะนำไปกู้หรือจำนองกับคนที่ได้รับการอนุมัติตามกฎหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งการลดหย่อนภาษีนั่นเอง
เมื่อกู้เงินซื้อบ้าน ใช้ดอกเบี้ยลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่
ดอกเบี้ยจากการซื้อบ้านที่จะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่กฎหมายกำหนดให้คือ 100,000 บาทต่อคน ซึ่ง 100,000 บาทตรงนี้ เราจะสามารถกู้บ้านกี่หลังก็ได้ เพราะจะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมดที่เป็นที่อยู่อาศัยของเรา แต่วงเงินที่จำกัดไว้คือ 100,000 บาทต่อคน หากจ่ายดอกเบี้ยกู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยน้อยกว่าหรือเท่ากับ 100,000 บาทก็จะสามารถลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวนจากดอกเบี้ยที่ซื้อบ้าน แต่หากจ่ายดอกเบี้ยไปมากกว่า 100,000 บาท จะลดหย่อนภาษีได้เท่ากับ 100,000 บาท ตามที่กำหนดไว้แต่แรกเท่านั้น
ส่วนค่าภาษีที่เราสามารถประหยัดไปได้นั้นจะคิดเป็นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับฐานภาษีของแต่ละบุคคล โดยหลักการคำนวณภาษีคือ
- ภาษีที่ต้องจ่าย = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี
ซึ่งเงินได้สุทธิจะมาจากรายได้ทั้งหมดหักลบกับค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ เช่น ลดหย่อนภาษีบ้าน เงินที่เหลือคือเงินได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณภาษีแบบขั้นบันไดต่อ
- เงินได้สุทธิ = เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
ในส่วนนี้ หากใครเป็นผู้มีรายได้เยอะ ก็จะได้ค่าลดหย่อยภาษีจากดอกเบี้ยบ้านมากขึ้นไปอีกด้วย
หากกู้ร่วมหลายคน สามารถใช้ดอกเบี้ยลดภาษีได้เท่าไหร่
กรณีที่บ้านหนึ่งหลังมีผู้กู้ร่วมกันหลายคน จากที่กำหนด 100,000 บาทต่อคนก็จะถูกกำหนดให้เป็น 100,000 บาทต่อหลัง หมายความว่าดอกเบี้ยที่จะนำมาขอลดหย่อนภาษีนั้นจะต้องหารเฉลี่ยตามจำนวนของผู้กู้ สูงสุด 1 หลังไม่เกิน 100,000 บาท และไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง
ตัวอย่างเช่น มีเพื่อน 5 คน ร่วมกันเพื่อจะกู้ซื้อบ้าน 1 หลัง ในแต่ละปีก็จะมีรอบการจ่ายดอกเบี้ยบ้านตามจริงคือ 100,000 บาท ซึ่งแต่ละคนจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยบ้านคนละ 20,000 บาทจากการหารเฉลี่ยจำนวนคนกับเงินที่ได้รับการลดหย่อนสูงสุด 1 หลัง คือ 100,000 บาท ต่อให้แต่ละคนจะจ่ายดอกเบี้ยไม่เท่ากันแต่ก็จะนำดอกเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้คนละ 20,000 อยู่ดี
ซึ่งจากการกู้เงินร่วมกันจะทำให้แต่ละคนมีสิทธิ์ได้รับการลดหย่อนภาษีบ้านต่อคนเหลืออีกคนละ 80,000 บาท ก็สามารถนำเงินส่วนนั้นไปลดหย่อนภาษีบ้านจากการกู้ / จำนองเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้อีกเช่นกัน จะเป็นการกู้ร่วมกับผู้อื่นอีก หรือเป็นการกู้ของตัวเองคนเดียวก็ได้ เพราะตามกฎหมายกำหนดคือจะได้รับ 100,000 บาทต่อคนนั่นเอง
สิ่งสำคัญคือการวางแผนการกู้เงินอย่างเหมาะสม เพราะถ้ากู้เกินความสามารถที่ตัวเราจะสามารถชำระหนี้ได้ จะเกิดปัญหาอื่นตามมาอย่างแน่นอน
หากเป็นการกู้ร่วมระหว่างสามี-ภรรยา จะใช้ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีอย่างไร?
การยื่นภาษีระหว่างคู่สมรสจะคล้ายกับการกู้ร่วมกับผู้อื่น มีการหารเฉลี่ยค่าลดหย่อนภาษีตามจำนวนของผู้กู้ตามปกติ ในกรณีของคู่สมรสระหว่างสามีภรรยาก็จะได้ค่าลดหย่อนภาษีเท่ากันคนละครึ่ง ซึ่งการลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยในการซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัยนี้จะสามารถทำได้เฉพาะคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น โดยรายละเอียดก็จะมีแยกย่อยเป็นการแยกกันยื่นภาษี และยื่นร่วมกัน ดังนั้นใครที่วางแผนว่าจะซื้อบ้านร่วมกันกับคู่สมรสเป็นของขวัญแต่งงานและการเริ่มต้นชีวิตคู่ ก็ต้องไม่พลาดที่จะศึกษาการยื่นขอลดหย่อนภาษีสำหรับบ้านหลังแรกด้วยเช่นกัน
กรณีแยกยื่น
สามารถแบ่งได้อีกเป็นการกู้ร่วม หรือแยกกันกู้ โดย
- การกู้ร่วม จะคล้ายกับการกู้ร่วมกันกับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่สมรส เช่น เพื่อน พี่น้อง คือทั้งสองคนจะได้รับค่าลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยสูงสุดคนละ 50,000 บาท รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีเงินได้สุทธิ ก็สามารถขอลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะบ้าน คอนโด หรืออาคารชุด สำหรับผู้ยื่นภาษีเงินได้เต็มจำนวนตามจ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท
- การที่ต่างคนต่างกู้ ก็จะเหมือนกับการยื่นขอลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยบ้านในคนโสด หรือคู่รักที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส คือสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงในส่วนของตนเองต่อคนสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทนั่นเอง
กรณียื่นร่วม
- กรณีที่ต่างคนต่างแยกกู้ จะสามารถใช้สิทธิของตัวเองได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และใช้สิทธิของคู่สมรสได้อีก 100,000 บาท รวมกันไม่เกิน 200,000 บาท
- กู้ร่วมกัน ในกรณีที่ผู้สมรสทั้งสองคนเป็นผู้มีรายได้ทั้งคู่ และได้ร่วมกันกู้เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารบนที่อยู่อาศัย แม้จะยื่นกู้ร่วมกันแต่ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท คล้ายกับกรณีที่ต่างคนต่างแยกกันยื่นภาษี
ดังนั้น ก่อนการขอยื่นลดหย่อยภาษีก็ควรพิจารณาเปรียบเทียบก่อนว่ายื่นแบบใดถึงจะเสียภาษีน้อยสุด นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องการโอนสิทธิในการขอลดหย่อนภาษีด้วย ซึ่งจะสามารถทำได้ในกรณีที่สามีภรรยาได้รับการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายอย่างถูกต้องเท่านั้น กรณีที่เป็นคนอื่น ไม่ใช่คู่สมรส เช่น พี่น้อง เพื่อน จะไม่สามารถโอนสิทธิการขอลดหย่อนภาษีที่เหลืออยู่จากการกู้ร่วมและเป็นผู้ที่ไม่มีเงินได้ได้ อีกสิ่งที่สำคัญของการโอนสิทธิ์ของต้องเป็นการกู้ร่วมของคู่สมรสเท่านั้น
สรุปการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีหากมีการกู้ซื้อบ้าน
การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจะมีอยู่ 3 กรณี คือ 1. ลดหย่อนภาษีได้ หากวางแผนที่จะซื้อบ้านและต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้าน จะสามารถใช้สิทธิขอลดหย่อนภาษีสำหรับบ้านหลังแรกได้ตามที่กฎหมายกำหนดคือสูงสุดต่อคนไม่เกิน 100,000 บาท
กรณีที่ 2 คือลดหย่อนภาษีได้บางส่วน ซึ่งเกิดจากการรีไฟแนนซ์ ผู้ที่ต้องการขอลดหย่อนภาษีจะยังสามารถนำดอกเบี้ยบ้านในส่วนเงินกู้เดิมไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามปกติ แต่จะไม่สามารถนำดอกเบี้ยในส่วนที่กู้เพิ่มไปขอลดหย่อนหรือใช้ประโยชน์อื่นได้ เพราะเงินกู้ใหม่จะถือเป็นเงินกู้ส่วนบุคคลโดยนำที่อยู่อาศัยนั้นมาเป็นหลักทรัพย์สำหรับค้ำประกันเท่านั้น จะไม่ถือเป็นการกู้เพื่อซื้อบ้านใหม่ ในเอกสารทางการเงินของธนาคารจะระบุไว้ว่าเป็นการต่อเติม ตกแต่งหรือใช้ประโยชน์อื่นส่วนตัวเท่านั้น กรณีนี้จึงยื่นขอลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรกได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
กรณีสุดท้ายคือลดหย่อนภาษีไม่ได้ ซึ่งก็คือการที่บางคนนำบ้านที่มีอยู่ในครอบครองอยู่แล้วไปเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกันเงินกู้ กรณีนี้จะไม่ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อซื้อบ้าน ตามกฎหมายจึงไม่สามารถยื่นขอลดหย่อนภาษีได้ ดังนั้นใครที่จะต้องการจะยื่นขอลดหย่อนภาษีสำหรับบ้านหลังแรกก็ควรดูเงื่อนไขการใช้สิทธิอย่างถี่ถ้วนด้วยเช่นกัน
การขอลดหย่อนภาษีนั้นจะทำให้เราลดภาระภาษีได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งดอกเบี้ยบ้านก็สามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน ตามกฎหมายจะได้รับสูงสุดต่อคน 100,000 บาท หากมีการกู้ร่วมกับคนอื่นก็จะได้สูงสุด 100,000 ต่อหลังและหารเฉลี่ยตามจำนวนคน สิทธิมาตรการลดหย่อนภาษีนั้นช่วยกระตุ้นให้ประชาชนได้หมุนเวียนเงินในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ดอกเบี้ยจากการซื้อบ้านนอกจากจะทำให้ลดหย่อนภาษีได้แล้วนั้นยังอาจได้เงินคืนจากภาษีเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังลดปัญหาการยื่นภาษีผิดพลาดได้อีกเช่นกัน การศึกษาเรื่องภาษีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะจะเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเอง