MAIN POINT
- เครดิตบูโร คือ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติที่มีหน้าที่รวบรวมประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ธนาคารใช้พิจารณาเพื่ออนุมัติสินเชื่อต่าง ๆ โดยจะมีการระบุเป็นตัวเลขสถานะบูโร เพื่อชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติทางการเงินของบุคคลนั้น ๆ
- วิธีรักษาสถานะและแก้เครดิตบูโร เพื่อเพิ่มความง่ายในการกู้ซื้อบ้านและคอนโด ประกอบไปด้วย เช็กประวัติเครดิตบูโรของตัวเอง, ชำระหนี้ให้ตรงเวลา, ยื่นขอสินเชื่อเพื่อรวมหนี้, วางแผนการชำระหนี้เสีย และสร้างสถานะเครดิตบูโรใหม่
เครดิตบูโร คืออะไร? พร้อมวิธีแก้ไขสถานะให้กลับมาปกติ
เมื่อนึกถึงการยื่นกู้ซื้อบ้านและคอนโด สิ่งแรกที่ต้องนึกถึงคือเรื่อง เครดิตบูโร ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทางธนาคารและสถาบันการเงิน ใช้ประกอบการพิจารณาเพื่ออนุมัติสินเชื่อต่าง ๆ AP Thai เลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ เครดิตบูโรว่าคืออะไร ? สำคัญมากแค่ไหน และควรเช็กเครดิตบูโรในตอนไหนบ้าง พร้อมแชร์วิธีรักษาสถานะและแก้เครดิตบูโร เพื่อเตรียมตัวก่อนการกู้ซื้อบ้านและคอนโด ซึ่งจะมีข้อมูลอะไรน่าสนใจบ้างนั้น ตามไปดูกันเลย!
เครดิตบูโร คืออะไร?
เครดิตบูโร (Credit Bureau) คือ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด ซึ่งเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้ทุกประเภท เพื่อระบุสถานะเครดิตบูโรที่สามารถบ่งบอกได้ถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณภาระด้านสินเชื่อที่มีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทุกธนาคารใช้ประกอบการพิจารณาเพื่ออนุมัติสินเชื่อต่าง ๆ ดังนั้น หากใครมีสถานะเครดิตบูโรที่ดี จะช่วยเพิ่มโอกาสการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้นนั่นเอง
โดยทั่วไปข้อมูลเครดิตจะยังถูกจัดเก็บอยู่ในเครดิตบูโรเป็นระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ได้ปิดยอดชำระสินเชื่อเรียบร้อย และจะถูกลบออกไปจากฐานข้อมูลอัตโนมัติเมื่อครบกำหนด
เครดิตบูโร สำคัญอย่างไร?
เนื่องจากข้อมูลเครดิตจากสถาบันเครดิตบูโร จะแสดงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา จึงช่วยสะท้อนพฤติกรรมทางการเงินของบุคคลนั้น ๆ ว่ามีวินัยและความตั้งใจในการชำระหนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของเจ้าของข้อมูล ซึ่งสถาบันการเงินและธนาคารต่าง ๆ จะใช้ข้อมูลเครดิตบูโรดังกล่าวในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ อย่างหลักประกัน ความมั่นคงในรายได้ รวมถึงปริมาณรายได้สุทธิ เพื่ออนุมัติสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม
การเช็กเครดิตบูโร คืออะไร?
การเช็กเครดิตบูโร คือ การตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น การผ่อนบ้าน การผ่อนรถยนต์ หรือการใช้จ่ายบัตรเครดิตต่าง ๆ โดยจะมีการใช้ตัวเลขกำกับเพื่อบ่งบอกสถานะบูโรของบัญชีสินเชื่อนั้น ๆ ว่าปกติหรือไม่อย่างไร
ตัวเลขสถานะบูโร คืออะไร ? มีความหมายอย่างไร ?
- 10 หรือ 010 คือ สถานะปกติ ไม่มีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน
- 11 หรือ 011 คือ สถานะปิดบัญชีหรือชำระหนี้ครบตามยอดที่ได้ทำสัญญาเอาไว้
- 12 หรือ 012 คือ สถานะขอพักชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ
- 20 หรือ 020 คือ สถานะหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน
- 21 หรือ 021 คือ สถานะหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์ไม่ปกติ
- 30 หรือ 030 คือ สถานะอยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย
- 31 หรือ 031 คือ สถานะอยู่ในระหว่างการชำระหนี้ตามคำพิพากษา
- 32 หรือ 032 คือ สถานะศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากคดีขาดอายุความหรือเหตุอื่น ๆ
- 33 หรือ 033 คือ สถานะปิดบัญชี เนื่องจากตัดเป็นหนี้สูญโดยไม่ติดใจทวงถามอีกต่อไป
- 40 หรือ 040 คือ สถานะอยู่ระหว่างชำระสินเชื่อเพื่อปรับเป็นสถานะปกติหรือปิดบัญชี
- 41 หรือ 041 คือ สถานะอยู่ระหว่างตรวจสอบรายการโดยเจ้าของข้อมูลหรือสมาชิก
- 42 หรือ 042 คือ สถานะโอนหรือขายหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน
- 43 หรือ 043 คือ สถานะโอนหรือขายหนี้และชำระหนี้เสร็จสิ้น
- 44 หรือ 044 คือ สถานะโอนหรือขายหนี้ที่อยู่ในสถานะบัญชีปกติ
เช็กเครดิตบูโรที่ไหนได้บ้าง?
1. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร กรุงเทพฯ และปริมณฑล รอรับได้เลยภายใน 15 นาที ค่าบริการ 100 บาท
- ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระราม 9 ชั้น 2 (โซนพลาซ่า)
เวลาทำการ: วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 16.30 น. หยุดวันหยุดนักขัตฤกษ์ - ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี)
เวลาทำการ: วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9.00 น. – 18.00 น. หยุดวันหยุดนักขัตฤกษ์ - ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจเวนิว (นวนคร) ชั้น 1
เวลาทำการ: วันจันทร์ – วันอาทิตย์ เวลา 9.00 น. – 18.00 น.
เอกสารที่ต้องใช้
กรณีที่ 1: ขอตรวจสอบด้วยตัวเอง
- บัตรประชาชนตัวจริง / หนังสือเดินทาง
กรณีที่ 2: มอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทน
- หนังสือมอบอำนาจ
- บัตรประชาชนตัวจริง สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ
- บัตรประชาชนตัวจริง และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
2. ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) กรุงเทพฯ และปริมณฑล รับรายงานทางอีเมลได้ทันที ค่าบริการ 100 บาท
- ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระราม 9 ชั้น 2 (โซนพลาซ่า)
- เครดิตบูโรคาเฟ่ อาคารเพิร์ลแบงก์ค็อก ชั้น 3 (โซนธนาคาร) (BTS อารีย์ ทางออก 1)
- ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจเวนิว (นวนคร) ชั้น 1
- สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ด้านหลังเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ประตูทางเข้า 1 จุดติดตั้งนาฬิกาประจำสถานี
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (สำนักงานใหญ่) อาคารเคเคพีทาวเวอร์ ชั้น 1 ใกล้ประตูทางเข้าอาคาร
- อาคารสาธรนครทาวเวอร์ ชั้น 1 (BTS ช่องนนทรี ทางออก2)
- ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (อาคาร A) ชั้น 2 โถงต้อนรับเยื้องจุดสอบถาม
เอกสารที่ต้องใช้
- บัตรประชาชนตัวจริง / หนังสือเดินทาง
3. กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ยื่นคำร้องทางออนไลน์ รับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ทางอีเมล ค่าบริการ 150 บาท
3.1. รู้ผลทันที
- โมบายแบงก์กิ้งของธนาคารกรุงเทพ
- โมบายแอปฯ ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KPP Mobile)
3.2. รู้ผลภายใน 24 ชั่วโมง (เงื่อนไขเป็นไปตามที่เครดิตบูโรกำหนด)
- โมบายแอปฯ ของธนาคารกรุงไทย (Krungthai NEXT)
- โมบายแอปฯ ของธนาคารออมสิน (MyMo by GSB)
- โมบายแอปฯ ของเป๋าตัง (เป๋าตังค์เปย์)
- โมบายแอปฯ ของ Flash Express (Flash Money)
3.3. รู้ผลภายใน 3 วันทำการ
- โมบายแอปฯ ของธนาคาร ธ.ก.ส. (BAAC Mobile)
- โมบายแอปฯ ของธนาคาร SME D BANK (กรณีที่เป็นลูกค้าที่มีสินเชื่อและบัญชีเงินฝากแล้ว)
- โมบายแอปฯ ของธนาคารทหารไทยธนชาติ (TTB Touch)
4. กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รับรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ภายใน 7 วันทำการ ค่าบริการ 150 บาท
4.1. เคาน์เตอร์ธนาคาร (ทุกสาขา)
- เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์
- ธนาคาร ธ.ก.ส.
เอกสารที่ต้องใช้
- บัตรประชาชนตัวจริง
4.2. ตู้ ATM (ทำรายการผ่านหน้าจอ)
- ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย
- ตู้ ATMธนาคารไทยพาณิชย์
เอกสารที่ต้องใช้
- บัตร ATM ของธนาคารที่ที่ถือบัตร
4.3. โมบายแอปพลิเคชัน (สำหรับผู้ที่ลงทะเบียน)
- โมบายแอปฯ ของธนาคารกรุงไทย (Krungthai NEXT)
- โมบายแอปฯ ของธนาคารออมสิน (MyMo by GSB)
- โมบายแอปฯ ของธนาคาร SME D BANK
- โมบายแอปฯ ของธนาคาร ธ.ก.ส. (BAAC Mobile)
- โมบายแอปฯ ของเป๋าตัง (เป๋าตังค์เปย์)
- โมบายแอปฯ ของ Flash Express (Flash Money)
4.4. ที่ทำการไปรษณีย์ และเคาน์เตอร์บริการไปรษณีย์ (ทุกแห่งทั่วประเทศ)
เอกสารที่ต้องใช้
-
บัตรประชาชนตัวจริง
5. ขอรายงานข้อมูลเครดิตบูโรแบบสรุป โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
อีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถตรวจสอบสถานะทางการเงินของตนเองได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว คือ การขอรายงานข้อมูลเครดิตบูโรแบบสรุป ซึ่งสามารถดำเนินการได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
- โมบายแอปฯ ทางรัฐ
- ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ (Government Smart Kiosk)
- ที่ทำการไปรษณีย์ และเคาน์เตอร์บริการไปรษณีย์ (ทุกแห่งทั่วประเทศ)
- ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส)
*อัปเดตสถานที่ตรวจเครดิตบูโร ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2567
ควรเช็กเครดิตบูโร เมื่อไหร่?
1. ควรเช็กอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการชำระสินเชื่อ
ถึงแม้ว่าในปีนั้น ๆ เราจะไม่ได้มีแพลนกู้ซื้อบ้านหรือกู้ซื้อรถยนต์ การเช็กเครดิตบูโรอย่างน้อยปีละครั้งก็ยังคงเป็นเรื่องที่ควรทำ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตบูโร แถมยังสามารถมองเห็นข้อมูลเครดิตในปัจจุบันของตัวเองว่าอยู่ในสถานะใด และหากมีจุดบกพร่องหรือข้อผิดพลาดใด ๆ จะได้แก้ไขข้อมูลได้ทันท่วงที อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นช่องทางในการตรวจสอบว่ามีใครปลอมแปลงเอกสารและนำไปยื่นกู้สินเชื่อในชื่อเราหรือไม่
2. เมื่อต้องการกู้ซื้อบ้านหรือซื้อคอนโด
สำหรับใครที่กำลังต้องการกู้ซื้อทรัพย์สินชิ้นใหญ่อย่างบ้านหรือคอนโด ควรจะต้องเช็กเครดิตบูโรเพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านการเงินก่อนเริ่มขอสินเชื่อ เพราะหากพบว่าตัวเองมีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี จะได้วางแผนและแก้ไขสถานะให้กลับมาเป็นปกติ เพื่อเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อ หรือหากตรวจเช็กเครดิตบูโรแล้วเจอข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจะได้ยื่นขอแก้ไขข้อมูลได้ทันเวลา
3. ไม่ควรยื่นขอสินเชื่อเกินความจำเป็น เพราะส่งผลต่อการอนุมัติสินเชื่อ
การยื่นขออนุมัติสินเชื่อหลายครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน อาจทำให้เครดิตบูโรช้ำและติดแท็กซิ่งได้ เนื่องจากธนาคารแต่ละแห่งจะทำการตรวจเช็กข้อมูลเครดิตบูโรของเราแบบติดต่อกันในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งบ่งบอกถึงความไม่น่าเชื่อถือแถมยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียตามมาในอนาคตได้ จึงทำให้หลาย ๆ ธนาคารกำหนดจำนวนครั้งสูงสุดในการเช็กเครดิตบูโร เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสียนั่นเอง
4 วิธีรักษาสถานะ พร้อมวิธีแก้เครดิตบูโร ก่อนกู้ซื้อบ้านและคอนโด
1. ตรวจสอบประวัติเครดิตบูโรของตัวเอง
สำหรับการกู้ซื้อบ้านและคอนโด หนึ่งในปัจจัยที่ธนาคารนำมาพิจารณาด้วยคือ เครดิตบูโร หรือประวัติการชำระเงินที่ผ่านมา ซึ่งการเช็กเครดิตบูโรด้วยตัวเองจะทำให้ทราบถึงสถานการณ์ทางการเงินและสถานะเครดิตบูโรในปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้เราสามารถวางแผนและบริหารจัดการหนี้ต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ หากตรวจสอบประวัติเครดิตบูโรแล้วพบข้อมูลที่ผิดพลาด ควรรีบดำเนินการแก้ไขกับบริษัทข้อมูลเครดิตหรือสถาบันการเงินนั้น ๆ
2. ชำระหนี้ต่าง ๆ ให้ตรงตามเวลา
หากมีหนี้อยู่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นหนี้รถยนต์ หนี้บ้าน หรือหนี้บัตรเครดิต จะต้องชำระหนี้ให้ตรงเวลา เพราะนอกจากจะช่วยสร้างวินัยทางการเงินที่ดีแล้ว ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อประวัติทางการเงินหรือสถานะเครดิตบูโร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การมีวินัยทางการเงินที่ดีไม่เพียงช่วยให้การยื่นกู้ขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านเป็นเรื่องง่ายขึ้น แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธสินเชื่อในอนาคตอีกด้วย
3. ยื่นขอสินเชื่อเพื่อทำการรวมหนี้
หากมีหนี้สินเชื่อจากหลายสถาบันทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หรือหนี้ระยะสั้นอื่น ๆ อีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยรักษาสถานะเครดิตบูโรได้ก็คือ การรวมหนี้ ซึ่งมีธนาคารหลายแห่งที่มอบทางเลือกให้กับลูกค้าที่มีประวัติที่ดี สามารถยื่นขอสินเชื่อสำหรับรวมหนี้เพื่อนำเงินก้อนไปชำระปิดบัญชีหนี้ค้างชำระต่าง ๆ ได้ การรวมหนี้จะช่วยลดจำนวนหนี้ที่ต้องจัดการ และเปลี่ยนเป็นการชำระเพียงเจ้าหนี้รายเดียว พร้อมกับดอกเบี้ยที่อาจต่ำกว่า ช่วยให้การบริหารจัดการหนี้สะดวกขึ้นและลดภาระดอกเบี้ยในระยะยาว
4. สร้างสถานะเครดิตบูโรใหม่
มีสถานะบัญชีเครดิตบูโรที่ไม่ปกติ หรือที่เรียกว่าติดเครดิตบูโร จะต้องชำระหนี้เก่าให้หมดและปิดบัญชีให้เรียบร้อยก่อน เพื่อแก้สถานะเครดิตบูโรให้กลับมาเป็นปกติ เมื่อชำระหนี้สินเก่าหมดแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นมาใหม่โดยการขอสินเชื่อและชำระหนี้ให้ตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี และค่อยลองยื่นขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านหรือคอนโดกับธนาคาร
คำถามน่ารู้เกี่ยวกับเครดิตบูโร
1. การติดแบล็คลิสต์ คืออะไร?
แบล็คลิสต์ คือ คำนิยามหรือคำที่ใช้เรียกบุคคลที่มีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามข้อตกลง หรือมียอดชำระหนี้ค้างอยู่ในระบบเท่านั้น ไม่ได้มีการขึ้นบัญชีดำอย่างที่ใครหลาย ๆ คนเข้าใจ หากใครเกิดติดแบล็คลิสต์หรือติดเครดิตบูโร จะส่งผลให้สถาบันการเงินรวมถึงธนาคารต่าง ๆ ไม่ไว้วางใจและมีโอกาสอนุมัติสินเชื่อน้อย เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคตได้
2. ถ้าติดเครดิตบูโร จะกู้ซื้อบ้านได้ไหม?
เนื่องจากบ้านและคอนโดเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง ดังนั้น การที่สถาบันการเงินและธนาคารต่าง ๆ จะอนุมัติสินเชื่อสำหรับกู้ซื้อบ้านและคอนโด จะต้องมั่นใจในศักยภาพและความพร้อมในการชำระหนี้ของบุคคลนั้น ซึ่งส่วนมากจะพิจารณาจากข้อมูลเครดิตบูโรร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ
หากใครเกิดติดเครดิตบูโร จะทำให้ธนาคารมองว่าบุคคลนั้นยังไม่มีวินัยและความพร้อมมากพอในการผ่อนชำระหนี้ขนาดใหญ่อย่างอสังหาริมทรัพย์ได้ แต่หากสามารถแก้ไขสถานะเครดิตบูโรให้กลับมาเป็นปกติ แล้วจึงยื่นกู้เพื่อขอสินเชื่อใหม่อีกครั้ง ก็จะเพิ่มโอกาสในการอนุมัติได้มากขึ้น
3. ระยะเวลาการจัดเก็บข้อมูลเครดิตบูโร
บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจะทำการจัดเก็บข้อมูลเครดิตบูโรย้อนหลังทั้งหมด 36 เดือน หรือนับรวมทั้งสิ้น 3 ปีด้วยกัน เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้ของบุคคลนั้น ๆ โดยข้อมูลที่มีอายุครบ 3 ปี จะค่อย ๆ ถูกลบออกไปทีละเดือน และเมื่อข้อมูลเดือนสุดท้ายมีอายุครบ 3 ปี ก็จะถูกลบออกจากฐานข้อมูลพร้อมบัญชีสินเชื่อนั้น ๆ
4. หากตรวจพบว่าข้อมูลเครดิตไม่ถูกต้อง ต้องทำยังไง?
เจ้าของข้อมูลเครดิตบูโรทุกคนล้วนมีสิทธิยื่นคำขอเพื่อเช็ก ตรวจสอบ และแก้ไข ข้อมูลเครดิตของตัวเองให้ตรงกับความเป็นจริง โดยการแจ้งไปยังบริษัทข้อมูลเครดิตหรือสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าว และหากสถาบันการเงินตรวจหลักฐานแล้วพบว่า ข้อมูลเครดิตไม่ถูกต้องจริง
สถาบันการเงินจะต้องส่งข้อมูลที่ถูกต้องให้กับบริษัทข้อมูลเครดิตเพื่อแก้ไข โดยสามารถแจ้งผลการตรวจสอบภายใน 30 วัน แต่หากข้อมูลยังผิดอยู่ สามารถยื่นคำขอให้บริษัทข้อมูลเครดิตลงบันทึกข้อโต้แย้งไว้ในรายงานข้อมูลเครดิตได้
เติมเต็มความรู้เพิ่มความเข้าใจในเรื่องการเงินกับบทความน่ารู้จากเอพี
- คำนวณเงินกู้ซื้อบ้าน 2568 พร้อม 8 เคล็ดลับยื่นกู้ให้ผ่านได้วงเงินสูง
- กู้ร่วมซื้อบ้าน-ซื้อคอนโด 2568 มีข้อควรรู้อะไรบ้าง รวมมาให้แล้ว!
- เผยสาเหตุที่ยื่นกู้บ้านไม่ผ่าน พร้อมวิธีขอสินเชื่อให้ผ่านฉลุย
สร้างสถานะเครดิตบูโรที่ดีได้ ด้วยวินัยทางการเงินและการชำระหนี้
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลสำคัญ ๆ ของเครดิตบูโรที่ทุกคนควรรู้ ทั้งความหมาย ความสำคัญ และการเช็กข้อมูลเครดิตบูโร พร้อม 4 วิธีรักษาสถานะและแก้เครดิตบูโรให้กลับมาเป็นปกติ เพื่อเตรียมตัวกู้ซื้อบ้านและคอนโดในอนาคต ซึ่งถ้าใครกำลังมองหาบ้านที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และชีวิตการเงิน สามารถใช้ โปรแกรมคำนวณการผ่อนบ้านจากเอพี เพื่อค้นหาบ้านที่ใช่พร้อมเช็กค่างวดในแต่ละเดือน หรือถ้าใครมีโครงการบ้านในใจแต่ยังตัดสินใจไม่ได้ ก็สามารถใช้ โปรแกรมเปรียบเทียบโครงการที่อยู่อาศัยจากเอพี ที่ช่วยให้มองเห็นภาพรวมของแต่ละโครงการได้ดียิ่งขึ้น
รวมโครงการทาวน์โฮมจาก AP ขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ AP
เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต
เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมดีไซน์สวยหรือบ้านแฝดฟังก์ชันใหญ่ คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ