MAIN POINT
- ศาลพระภูมิกับศาลเจ้าที่ มีความแตกต่างกันหลายด้าน ทั้งด้านความเชื่อ องค์ประกอบของศาล การวางตำแหน่งศาล วิธีการไหว้ จำนวนธูป รวมไปถึงบทสวด ซึ่งเจ้าของบ้านควรศึกษาข้อมูลการไหว้ให้ดีเพื่อความถูกต้อง
- การไหว้ศาลเจ้าที่จะใช้ธูปทั้งหมด 5 ดอก, เทียน 2 เล่ม, พวงมาลัยดอกไม้สด, หมากพลู, น้ำเปล่า, ผ้าขาวบาง, ของคาวหวาน และผลไม้มงคล ส่วนการไหว้ศาลพระภูมิจะใช้ธูปทั้งหมด 9 ดอก, ดอกไม้หรือพวงมาลัย, ข้าวสวยหุงใหม่, ของคาวหวาน และผลไม้มงคล
เตรียมพร้อมการไหว้พระภูมิเจ้าที่ ใช้ธูปกี่ดอก
- ความแตกต่างระหว่าง ศาลพระภูมิ กับ ศาลเจ้าที่
- ไหว้ศาลพระภูมิและไหว้เจ้าที่ใช้ธูปกี่ดอก
- วิธีไหว้เจ้าที่และศาลพระภูมิ ให้ชีวิตปังกว่าเดิม
- ปฏิทินวันดีในแต่ละเดือน ประจำปี 2567
ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย การไหว้เจ้าที่และการไหว้ศาลพระภูมิ ยังเป็นสิ่งที่คนไทยทำกันมาช้านาน เพราะเชื่อว่าสามารถช่วยเสริมความมงคลให้กับชีวิต ทั้งในด้านการงานการเงิน และยังเชื่อว่าสามารถช่วยป้องกันสิ่งไม่ดีเข้าสู่ตัวบ้านอีกด้วย วันนี้ AP Thai เลยจะมาไขข้อสงสัยเรื่องการไหว้เจ้าที่ใช้ธูปกี่ดอก วิธีการไหว้ รวมถึงบทสวดและปฏิทินวันดี ที่เหมาะกับการไหว้เจ้าที่ เพื่อเป็นแนวทางให้ทั้งเจ้าของบ้านใหม่และบ้านเก่าที่อยากไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ให้ถูกวิธี
ความแตกต่างระหว่าง ศาลพระภูมิ กับ ศาลเจ้าที่
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว ศาลมีทั้งหมด 2 แบบด้วยกัน คือ ศาลพระภูมิกับศาลเจ้าที่ โดยแต่ละบ้านสามารถเลือกตั้งเพียงศาลใดศาลหนึ่งหรือจะตั้งทั้ง 2 ศาลไว้ด้วยกันก็ได้ แต่จะต้องตั้งศาลพระภูมิไว้ทางซ้ายมือและศาลเจ้าที่ไว้ทางขวามือ ซึ่งศาลทั้ง 2 แบบมีข้อแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย ดังนี้
1. ศาลพระภูมิ คืออะไร
คนไทยเชื่อว่าศาลพระภูมิเป็นสถานที่ของเทพารักษ์ที่คอยคุ้มครองบ้านเรือน หากบ้านไหนกราบไหว้ศาลพระภูมิเป็นประจำ จะทำให้ได้รับแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต ซึ่งศาลพระภูมิจะมีลักษณะเป็นวิหารตั้งอยู่บนฐานที่เป็นเสาเพียงต้นเดียว โดยจะยกระดับสูงว่าศาลเจ้าที่ และมีตำแหน่งในการตั้งศาล ดังนี้
- ตั้งศาลไว้บนพื้นดินในตำแหน่งที่ไม่ถูกเงาของตัวบ้านทับ
- ห้ามตั้งศาลพระภูมิตรงกับประตูทางเข้าบ้านและห้องต่าง ๆ
- ตั้งศาลห่างจากรั้วบ้านหรือกำแพงบ้านอย่างน้อย 1 เมตร
- ความสูงของศาลพระภูมิจะต้องอยู่เหนือระดับสายตาเล็กน้อย
2. ศาลเจ้าที่ คืออะไร
ส่วนศาลเจ้าที่หรือที่บางบ้านเรียกว่า ศาลตายาย เป็นสถานที่ของเจ้าของพื้นที่เดิมที่เคยอยู่มาก่อน โดยการตั้งศาลเจ้าที่ถือเป็นการอัญเชิญเจ้าที่เดิมมาอยู่อาศัย เพื่อช่วยดูแลคุ้มครองและปกปักรักษาทุกคนในบ้าน ซึ่งศาลเจ้าที่จะมีลักษณะเป็นบ้านแบบเรือนไทย ตั้งอยู่บนฐานที่มีเสา 4-6 ต้น โดยจะอยู่ในระดับต่ำกว่าศาลพระภูมิ และมีตำแหน่งในการตั้งศาล ดังนี้
- ศาลจะต้องตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่กว้างและสะอาดตา
- ตั้งศาลไว้บนพื้นธรรมดา แต่ถ้าต้องการเสริมโชคลาภ ให้วางแผ่นเงินหรือแผ่นทองไว้ที่ใต้ศาล
- ห้ามตั้งศาลเจ้าที่ตรงกับประตูทางเข้าบ้าน ห้องน้ำ หรือบริเวณใต้บันได
ไหว้ศาลพระภูมิและไหว้เจ้าที่ใช้ธูปกี่ดอก
ธูป 9 ดอกไหว้ศาลพระภูมิ
การไหว้ศาลพระภูมินิยมใช้ธูปทั้งหมด 9 ดอก เพื่อเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้าที่ที่คอยคุ้มครองคนในบ้านเสมอ อีกทั้งเลข 9 ยังเป็นเลขมงคลตามความเชื่อของคนไทยอีกด้วย
ธูป 5 ดอกไหว้เจ้าที่
การไหว้ศาลเจ้าที่นิยมใช้ธูปทั้งหมด 5 ดอก พร้อมเทียนอีก 2 เล่ม เพื่อเป็นการบูชาและแสดงความเคารพต่อดวงวิญญาณเจ้าที่และบรรพบุรุษที่เคยอาศัยหรือเป็นเจ้าของที่ดินผืนนี้มาก่อน
ความหมายของจำนวนธูปอื่น ๆ
นอกจากการจุดธูป 5 ดอกเพื่อไว้เจ้าที่ และจุดธูป 9 ดอกเพื่อบูชาศาลพระภูมิแล้ว จำนวนธูปก็ยังมีจุดประสงค์ในการไหว้ที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ธูป 1 ดอก จุดเพื่อไหว้เจ้าบ้านเจ้าเรือนดั้งเดิม วิญญาณทั่วไป หรือผีจรที่อยู่ในพื้นที่บริเวณนั้น
- ธูป 3 ดอก จุดเพื่อระลึกและบูชาถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
- ธูป 5 ดอก จุดเพื่อบูชาพระรัตนตรัย พ่อแม่ และครูบาอาจารย์
- ธูป 7 ดอก จุดเพื่อบูชาพระพรหม พระอาทิตย์ ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่หรือครูบาอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว
- ธูป 9 ดอก จุดเพื่อบูชาศาลพระภูมิ พระพุทธคุณทั้ง 9 พระเทพารักษ์ ศาลเทพ รวมถึงแม่ย่านาง
วิธีไหว้เจ้าที่และศาลพระภูมิ ให้ชีวิตปังกว่าเดิม
1. วิธีไหว้ศาลพระภูมิ
การไหว้ศาลพระภูมิ ถือเป็นการบูชาและเคารพดวงวิญญาณ เทวดา หรือเทพารักษ์ ที่อยู่ภายในศาลที่คอยช่วยให้โชคลาภเงินทองไหลมาเทมาและเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้กับคนในบ้าน โดยทุกบ้านสามารถไหว้ศาลพระภูมิเป็นประจำหรือเฉพาะในวันสำคัญก็ได้เช่นกัน
วันและเวลาที่ควรไหว้
วันสำคัญที่เหมาะกับการไหว้ศาลพระภูมิ คือ วันเกิด วันพระ วันอังคาร และวันเสาร์ ในช่วงเวลาตั้งแต่ 09.09 - 12.00 น. โดยแนะนำให้ไหว้ทุก ๆ 3 หรือ 6 เดือน
ของถวายศาลพระภูมิ
- ของคาว
ส่วนใหญ่นิยมถวายด้วย ข้าวสวยหุงใหม่ แกงต้มจืด หัวหมู ไก่ ปลา กุ้ง หรือปู ที่ผ่านขั้นตอนการทำให้สุกมาแล้ว
- ของหวาน
ส่วนมากจะเป็นขนมไทยที่มีความหมายมงคล เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมชั้น หรือถ้วยฟู
- ผลไม้มงคล
ส่วนใหญ่จะนิยมถวายผลไม้หลายชนิด เช่น กล้วย มะพร้าว ส้ม สับปะรด องุ่น หรือแอปเปิ้ลแดง เป็นต้น โดยแบ่งเป็นชนิดละ 5 ลูก หรือตามความสะดวกของผู้ถวาย- กล้วย: สื่อถึงการมีโชคลาภ บริวารที่ดี มีลูกหลานสืบสกุล เปรียบเหมือนกล้วยที่มีหลายลูกในหวีเดียวกัน
- มะพร้าว: สื่อถึงการมีชื่อเสียง การเป็นที่ยอมรับจากบุคคลภายนอก
- ส้ม: ผลไม้มงคงที่สื่อถึงความร่ำรวยเงินทอง ความมั่งคั่งสมบูรณ์ ความโชคดี
- องุ่นแดง: สื่อถึงความเจริญก้าวหน้า เติบโตในหน้าที่การงาน ความสำเร็จ เปรียบเสมือนองุ่นที่มีลูกติดกันเป็นพ่วง ส่งเสริมความสามัคคี ความร่วมมือ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการทำงาน
- แอปเปิ้ล: สื่อถึงการมีสุขภาพที่ดี ไร้โรคภัยไข้เจ็บ ความสงบสุขในชีวิต
- เครื่องดื่ม
ส่วนมากนิยมถวาย น้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำชา น้ำอัดลม หรือหากบ้านไหนต้องการถวายเหล้าหรือสุราก็ได้เช่นกัน
- อื่น ๆ
ธูปจำนวน 9 ดอก และ ดอกไม้หรือพวงมาลัย
บทสวดไหว้ศาลพระภูมิ
สำหรับการไหว้ศาลพระภูมิจะต้องเริ่มด้วยนะโม 3 จบก่อนเสมอ เพื่อเป็นการนมัสการพระพุทธเจ้า จากนั้นจึงจะตามด้วยบทสวดสำหรับไหว้ศาลพระภูมิ
“ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ” (3 จบ)
1. บทสวดขอพรศาลพระภูมิ
“ สิโรเม ขอเดชะ พระภูมิเทวารักษาที่รับพระพรจากเจ้ากรุงพาลีมา ให้วัฒนาถาวรสิ่งสุขแด่ (ชื่อ-นามสกุล) ให้มั่งมีเงินทอง และทรัพย์พัสดุข้าวของเนืองนอง ทั้งพร้อมพงศ์เผ่าบริวาร บุตรหลานเหลนลื้อบันลือ สาธุชนซ้องสรรเสริญ โสตถิ ชัยยะ ภะวันตุ เม ”
2. บทสวดบูชาศาลพระภูมิ
“ ยัสสา มุสสะระเณ นาปิ อันตะลิกเขปิ ปาณิโน ปะติฎ ฐะมะ ธิคัจฉันติ ภูมิยังวิยะ สัพพะทา สัพพูปัททะวะชาลัมหา ยักขะโจรา ทิสัมภะวา คะณะนา ณะจะ มุตตานัง ปะริตตันตัม ภาณามะเหฯ ”
2. วิธีไหว้เจ้าที่
การไหว้ศาลเจ้าที่ ถือเป็นการบูชาและเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ภายในศาล ที่ช่วยปกปักรักษาป้องกันภยันตราย และช่วยให้ทุกคนในบ้านอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยแต่ละบ้านสามารถไหว้ศาลเจ้าที่เป็นประจำหรือแค่ในวันสำคัญก็ได้เช่นกัน
วันและเวลาที่ควรไหว้
ช่วงเวลาที่เหมาะกับการไหว้ศาลเจ้าที่ คือ ประมาณ 09.00 - 12.00 น. แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ ตั้งแต่ 08.39 - 10.09 น. ของวันอังคารหรือวันเสาร์ โดยแนะนำให้ไหว้ทุก ๆ 3 หรือ 6 เดือน
ของถวายศาลเจ้าที่
- ของคาว
ส่วนใหญ่จะนิยมใช้เป็นหัวสัตว์ เช่น หัวหมูหรือหัวไก่ ที่ผ่านขั้นตอนการปรุงสุกมาแล้ว รวมถึงข้าวสวยและต้มแกงต่าง ๆ
- ของหวาน
ส่วนมากนิยมถวายขนมที่ทำมาจากนมและเนยหรือวุ้นผลไม้ เช่น วุ้นมะพร้าว รวมถึงขนมไทยความหมายดี อย่าง ฝอยทอง เม็ดขนุน หรือทองเอก เป็นต้น
- ผลไม้
ส่วนใหญ่จะนิยมถวายผลไม้ความหมายดี อย่างเช่น องุ่นหรือแก้วมังกร เป็นต้น
- เครื่องดื่ม
ส่วนมากนิยมถวายเป็น น้ำเปล่า น้ำชา และน้ำอัดลม โดยเฉพาะ น้ำแดง ที่ใช้ถวายเพื่อแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความแข็งแกร่ง และพลังอำนาจ
- อื่น ๆ
ธูป 5 ดอก, เทียน 2 เล่ม, พวงมาลัยดอกไม้สด, หมากพลู และ ผ้าขาวบาง
บทสวดไหว้ศาลเจ้าที่
สำหรับการไหว้ศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย ทุกบ้านควรเริ่มด้วยการตั้งนะโม 3 จบ ก่อนตามด้วยบทสวดไหว้เจ้าที่
“ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ” (3 จบ)
1. บทสวดไหว้เจ้าที่เพื่อการค้าขาย
“ เจ้าที่ เทวดานัง ปิยะสุตวา มหาลาโภ ประสิทธิลาภา ประสันนะจิตตา ศรีทาสุตถี พระวันตุเมฯ ขอบารมี พระภูมิเจ้าที่เจ้าทาง บัดนี้ข้าพเจ้า (ชื่อ-นามสกุล) ขอจุดธูปเพื่อสักการะเทพ 16 ชั้นฟ้า 15 ชั้นดิน จงเปิดทางทรัพย์ ให้ตลอดทั้งวันนี้ ข้าพเจ้าได้รับข่าวดี ค้าขายร่ำรวย ตลอดทั้งวันด้วยเทอญ ”
2. บทสวดไหว้ศาลตายาย
“ ตา-ยาย ยัสมิง ทิสาภาเค สันติ ตายายเทวา มหิทธิกา เตปิตุมเห อนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะจะ ” (3 จบ)
“ สิโรเม ขอเดชะ ตายายเทวา เจ้าของที่ ขอให้ช่วยดูแลคุ้มครองรักษาบ้านเรือน (ชื่อสถานที่) และข้าพเจ้าผู้อยู่อาศัยในสถานที่นี้ (คำอธิษฐาน) โสตถิ ชัยยะ ภะวันตุ เม ”
3. สิ่งที่ไม่ควรนำมาถวายในการไหว้
ของที่จะนำมาไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ ควรเน้นอาหารมงคลเป็นหลัก และจะต้องผ่านขั้นตอนการปรุงสุกแล้วเท่านั้น ห้ามถวายอาหารดิบโดยเด็ดขาด อีกทั้งยังไม่ควรถวายอาหารที่มีชื่อไม่มงคล อย่าง มังคุด ละมุด พุทรา ลางสาด น้อยหน่า หรือระกำ เป็นต้น
- มังคุด: สื่อถึงการทำอะไรก็ไม่ดีเท่าที่ควร ทำไปได้ไม่ดีที่สุด ไม่โดดเด่น
- ระกำ: สื่อถึงความไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำอยู่ ทำสิ่งใดก็มักจะพบแต่ความผิดหวัง ไม่สำเร็จตามที่ตั้งไว้
- น้อยหน่า: สื่อถือการทำอะไรก็พบเจอแต่ปัญหา อุปสรรคมาคอยกวนใจ ปัญหาจุกจิกที่ต้องคอยแก้ไขอยู่ตลอด
- ละมุด: สื่อถือความไม่ราบรื่นในการทำสิ่งต่าง ๆ มักจะต้องปิดบัง ซ่อนเร้นอยู่ตลอด
ตอนนี้ทุกคนก็ได้รู้แล้วว่าไหว้เจ้าที่ใช้ธูปกี่ดอก รวมถึงวิธีการไหว้ศาลพระภูมิที่ถูกต้อง แต่การเลือกวันไหว้ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อความเฮงขั้นสุด วันนี้ AP Thai เลยรวบรวมวันดีประจำปี 2567 มาฝากทุกคนกัน ว่าแต่จะมีวันไหนบ้างนั้น ตามไปดูกันเลย!
สรุป ปฏิทินวันดีในแต่ละเดือน ประจำปี 2567
ก่อนจะไปไล่ดูปฏิทินวันดีของปี 2567 มาทำความรู้จักกับ วันธงชัย และ วันอธิบดี กันก่อนดีกว่าว่าทั้ง 2 วันนี้ แตกต่างกันยังไง
- วันธงชัย คือ วันดีที่สุดของเดือนนั้น ๆ สื่อถึงวันแห่งชัยชนะ จึงมักเป็นวันที่หลายคนนิยมเริ่มต้นทำสิ่งมงคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การขึ้นบ้านใหม่ การออกรถใหม่ การเปิดธุรกิจใหม่ เพราะเชื่อว่าจะนำพาความรุ่งเรืองมาให้
- วันอธิบดี คือ วันที่ดีรองลงมาของเดือนนั้น ๆ ซึ่งมักจะเป็นวันที่ถูกเลือกใช้สำหรับงานมงคลต่าง ๆ เช่นกัน แต่ในกรณีที่ไม่ว่างหรือไม่สะดวกในวันธงชัยนั่นเอง
- วันกาลกิณี คือ วันอัปมงคลที่ไม่ควรประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ไม่แนะนำให้ทำบุญ ไหว้เจ้าที่ ไหว้ศาลพระภูมิ หรือย้ายเข้าบ้านใหม่ เปิดกิจการ แต่งงาน เพราะเชื่อว่าจะนำสิ่งที่ไม่ดี และเกิดอุปสรรคต่าง ๆ ขึ้นได้
เดือนมกราคม 2567
- วันธงชัย คือ วันที่ 6 / 13 / 20 และ 27
- วันอธิบดี คือ วันที่ 3 / 10 / 17 / 24 และ 31
- วันกาลกิณี คือ วันที่ 5 / 12 / 19 และ 26
เดือนกุมภาพันธ์ 2567
- วันธงชัย คือ วันที่ 3 / 10 / 17 และ 24
- วันอธิบดี คือ วันที่ 7 / 14 / 21 และ 28
- วันกาลกิณี คือ วันที่ 2 / 9 / 16 และ 23
เดือนมีนาคม 2567
- วันธงชัย คือ วันที่ 2 / 9 / 16 / 23 และ 30
- วันอธิบดี คือ วันที่ 6 / 13 / 20 และ 27
- วันกาลกิณี คือ วันที่ 1 / 8 / 15 / 22 และ 29
เดือนเมษายน 2567
- วันธงชัย คือ วันที่ 6 / 13 / 16 / 23 และ 30
- วันอธิบดี คือ วันที่ 3 / 10 / 18 และ 25
- วันกาลกิณี คือ วันที่ 5 / 12 / 20 / 22 / 27 และ 29
เดือนพฤษภาคม 2567
- วันธงชัย คือ วันที่ 7 / 14 / 21 และ 28
- วันอธิบดี คือ วันที่ 2 / 9 / 16 / 23 และ 30
- วันกาลกิณี คือ วันที่ 4 / 6 / 11 / 13 / 18 / 20 / 25 และ 27
เดือนมิถุนายน 2567
- วันธงชัย คือ วันที่ 4 / 11 / 18 และ 25
- วันอธิบดี คือ วันที่ 6 / 13 / 20 และ 27
- วันกาลกิณี คือ วันที่ 1 / 3 / 8 / 10 / 15 / 17 / 22 / 24 และ 29
เดือนกรกฎาคม 2567
- วันธงชัย คือ วันที่ 2 / 9 / 16 / 23 และ 30
- วันอธิบดี คือ วันที่ 4 / 11 / 18 และ 25
- วันกาลกิณี คือ วันที่ 1 / 6 / 8 / 13 / 15 / 20 / 22 / 27 และ 29
เดือนสิงหาคม 2567
- วันธงชัย คือ วันที่ 6 / 13 / 20 และ 27
- วันอธิบดี คือ วันที่ 1 / 8 / 15 / 22 และ 29
- วันกาลกิณี คือ วันที่ 3 / 5 / 10 / 12 / 17 / 19 / 24 / 26 และ 31
เดือนกันยายน 2567
- วันธงชัย คือ วันที่ 3 / 10 / 17 และ 24
- วันอธิบดี คือ วันที่ 5 / 12 / 19 และ 26
- วันกาลกิณี คือ วันที่ 2 / 7 / 9 / 14 / 16 / 21 / 23 / 28 และ 30
เดือนตุลาคม 2567
- วันธงชัย คือ วันที่ 1 / 8 / 15 / 22 และ 29
- วันอธิบดี คือ วันที่ 3 / 10 / 17 / 24 และ 31
- วันกาลกิณี คือ วันที่ 5 / 7 / 12 / 14 / 19 / 21 / 26 และ 28
เดือนพฤศจิกายน 2567
- วันธงชัย คือ วันที่ 5 / 12 / 19 และ 26
- วันอธิบดี คือ วันที่ 7 / 14 / 21 และ 28
- วันกาลกิณี คือ วันที่ 2 / 4 / 9 / 11 / 16 / 18 / 23 / 25 และ 30
เดือนธันวาคม 2567
- วันธงชัย คือ วันที่ 3 / 10 / 17 / 24 และ 31
- วันอธิบดี คือ วันที่ 5 / 12 / 19 และ 26
- วันกาลกิณี คือ วันที่ 2 / 7 / 9 / 14 / 16 / 21 / 23 / 28 และ 30
การไหว้เจ้าที่ช่วยเสริมสิริมงคลให้กับคนในบ้าน
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลสำคัญในการไหว้เจ้าที่ที่เจ้าของบ้านทุกคนควรรู้ ซึ่งน่าจะช่วยไขข้อสงสัยต่าง ๆ ได้ ทั้งการไหว้เจ้าที่ใช้ธูปกี่ดอก รวมไปถึงการไหว้ศาลพระภูมิต้องเตรียมอะไรบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งคนที่มีบ้านอยู่แล้ว รวมถึงคนที่กำลังจะซื้อบ้านใหม่ เพื่อชีวิตที่เฮง ๆ รวย ๆ เต็มไปด้วยความสุขและโชคลาภในชีวิต
เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต
เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมหรือบ้านแฝดดีไซน์สวย คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ