เรากำลังอยู่ในยุคแห่งปรัชญา มินิมอลลิสม์ ลีฟวิ่ง (Minimalist Living) ที่สนับสนุนการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายพอเพียง ไม่ขาด ไม่เกิน มีเท่าที่จำเป็น แต่ต้องรู้สึกดีและมีความสุข
ซึ่งหากมองเป็นภาพของบ้านสักหลังแล้ว ก็อาจหมายถึงการใช้ชีวิตในบ้านที่เรียบง่าย มีความสวยงามที่พอเหมาะพองาม ไม่ระยิบระยับไปด้วยรายละเอียดของการตกแต่งเกินจำเป็นในแบบของสไตล์คลาสสิก แต่ก็ไม่ได้เรียบโล่งไร้รายละเอียดจนดูน่าเบื่อหรือเคร่งเครียดเกินไปอย่างในแบบของสไตล์มินิมอล ดังนั้นการใช้ชีวิตในแบบ มินิมอลลิสม์ ลีฟวิ่ง ของแต่ละคนนั้นย่อมไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ของครอบครัว และวิถีการทำงานนั่นเอง
แรกเริ่มเลยคำว่า มินิมอล มักหมายถึงผลงานการออกแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ รวมไปถึงแฟชั่น ที่สะท้อนความสวยงามที่เรียบงาย สะท้อนลักษณะการใช้งาน แต่ความหมายของ มินิมอล นั้นก็ขยายออกไปสู่การใช้ชีวิตแบบที่น้อยแต่มาก ในยุคที่เราอยู่กับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามามีส่วนสำคัญกับการใช้ชีวิตส่วนตัวมากขึ้น เช่น Gadget หรือของใช้ในชีวิตประจำวันสไตล์มินิมอลต่างๆ ที่เข้ามาช่วยในการทำงานหรือการใช้ชีวิตที่สะดวกขึ้น จนทำให้เราขาดสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ และสุดท้ายยังกลายเป็นเรื่องของวัตถุนิยม และเมื่อมีสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าทันสมัยกว่าแม้ว่าสิ่งที่มีอยู่ก็ยังตอบโจทย์การใช้งานได้ดีอยู่ แม้ว่าสิ่งที่เรามี บ้านที่เราอยู่อาจดูเป็นภาพลักษณ์แบบมินิมอล แต่ในความเป็นจริงเรากำลังใช้ชีวิตแบบ แม็กซิมอลลิสม์ ลีฟวิ่ง (Maximalist Living) โดยไม่รู้ตัว
การใช้ชีวิตในแบบ มินิมอลลิสม์ ลีฟวิ่ง ของแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกันจากปัจจัยต่างๆ ของชีวิตและการงาน แต่วันนี้คุณสามารถเริ่มต้นการใช้ชีวิตที่ “น้อยแต่มาก” ได้ในแบบที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และความพึงพอใจ ซึ่งอาจเป็นเพียงการเริ่มจากเปลี่ยนวิธีคิดไปจนถึงการเปลี่ยนวิถีชีวิต ซึ่งเชื่อว่าไม่ว่าคุณจะปรับไปได้น้อยหรือมากนั้น ก็ล้วนมีผลดีในทุกๆ ด้าน ช่วยให้มีเวลามากขึ้น ประหยัดเงินได้มากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น มาดูไอเดียง่ายๆ ที่คุณคนสามารถเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้กันเลย
ปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด
เริ่มกันง่ายๆ ก่อนด้วยการปรับ Mindset หรือกระบวนการคิด คิดให้อยู่ง่ายขึ้น คิดให้สะสมให้น้อยลง คิดว่าทิ้งไปบ้างก็ได้ สิ่งคิดอะไรเกินจำเป็นก็ออกไป
ใช้เวลาอยู่กับ “ตัวเอง” ให้มากขึ้น
ลองปล่อยว่างการรับรู้สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรับรู้เสมอไป อยู่ให้ห่างจากโทรศัพท์มือถือ เชื่อว่าเกินกว่าครึ่งของข้อความที่ได้รับไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญต่อการใช้ชีวิตหรือการทำงาน ลองหันกลับไปหาสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยทำแล้วมีความสุข ทำแล้วเวลาเดินผ่านไปอย่างเร็ว อย่างเช่น หยิบหนังสือเก่าๆ กลับมาอ่าน ทำงานฝีมือที่เคยชื่นชอบ การลองทำสวนครัวเล็กๆ หรือสวนครัวกระถางที่สามารถนำไปใช้งานต่อไป หรืออาจอบขนมต่างๆ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้เป็นอิสระจากสิ่งกวนใจจากโลกภายนอกไปไม่มากก็น้อย
ตัด Application ที่ทำให้เกิดความเครียดออกไป
สำหรับคนที่ชีวิตติดโซเชียลจริงจังระดับที่ใช้เวลาสื่อสารกับหน้าจอมากกว่าสื่อสารต่อหน้าคนจริงๆ คงจะเป็นไปได้ยากที่ตัดสื่อโซเชียลออกทั้งหมดเพราะยังมีหลายๆ สิ่งที่เราต้องรับทราบไม่มากก็น้อย มาดูว่า application ไหนหรือสิ่งที่เราติดตามจากไหนที่ขโมยเอาเวลาไปจากคุณมากที่สุด (ยกเว้นที่เกี่ยวกับเรื่องการงาน) ลองค่อยๆ เลิกติดตามสื่อและสิ่งที่เข้ามาก่อให้เกิดความเครียด เลือกเก็บติดตามไว้แต่สิ่งที่มอบความสุข ตัดออกวันละนิดเพื่อเติมความสุขให้ชีวิต
จัดบ้านใหม่ ให้ตอบโจทย์การใช้งานของคุณ
การจัดบ้านนอกจากก็ช่วยฆ่าเวลาและให้คุณอยู่กับตัวเองมากขึ้นแล้ว ยังอาจช่วยให้พบสิ่งที่เก็บไว้โดยเคยใช้ประโยชน์มาแรมปี ลองมาจัดการสิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้ใช้ประโยชน์ออกไป นำไปบริจาคเพื่อนๆ ญาติๆ หรือมอบให้กับผู้ด้อยโอกาส
คัดแยกของสะสมที่ไม่จำเป็น
สำหรับนักสะสมตัวยงย่อมมีของที่มีคุณค่าทางจิตใจ คิดดูว่าวันหนึ่งถ้าเราไม่อยู่แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ ลองคิดว่าของเหล่านี้คือสมบัติผลัดกันชม คุณได้ชื่นชมมาแล้วก็ควรปล่อยออกไป จะให้หรือจะขายก็แล้วแต่ ให้ผู้ที่เห็นคุณค่าได้ไปชื่นชมต่อ และคุณก็จะยังได้ความสุขที่ได้เห็นของรักของหวงไปอยู่กับคนที่รู้คุณค่าจริงๆ การอยู่แบบ มินิมอลลิสม์ ลีฟวิ่ง นั้นไม่ต้องสละทั้งหมด ควรมีของที่คุณรักไว้ในบ้าน เพื่อให้บ้านเป็นที่ๆ คุณอยู่แล้วมีความสุข มองไปมุมไหนก็ระลึกถึงความรู้สึกดีๆ
ปรับลุคการแต่งกายแบบมินิมอลลิสม์
ไม่ได้หมายถึงต้องใส่เสื้อผ้าสีพื้นน่าเบื่อ แต่ลองหาเสื้อผ้าทรงเรียบง่าย เลือกลวดลายที่คลาสสิกตลอดกาล มีแอสเซสเซอรี่ที่นำมาสร้างลุคที่แตกต่าง สามารถนำมาใส่แบบมิกซ์แอนด์แมทช์ได้เกือบทุกสถานการณ์ ถ้าวันหนึ่งเบื่อลุคเดิมๆ ก็ส่งมอบเสื้อผ้าให้ผู้อื่นที่ได้ประโยชน์ อย่าลืมว่าการอยู่แบบ มินิมอลลิสม์ ลีฟวิ่ง ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องสวมใส่เสื้อผ้าสไตล์เดิมๆ ที่เชยตกยุคเสมอไป
การจัดมื้ออาหารที่ “น้อยแต่มาก” ครบพร้อมคุณค่าที่คุณคู่ควร
ไม่ใช่การลดปริมาณอาหารที่คุณทานอิ่มในแต่ละมื้อ แต่เป็นการเลือกเมนูที่ชอบที่มีสารอาหารครบ ลดการปรุงอาหารหลายอย่างในแต่ละมื้อ การทำเมนูสไตล์อาหารจานเดียวที่ใช้วัตถุดิบที่ดีจะได้อาหารที่อร่อย ได้คุณค่าอาหารครบ ปรุงได้รวดเร็ว ประหยัดเวลา ลดการทำความสะอาด ส่วนขนมขบเคี้ยวนั้นก็เลือกหามาทานที่ละสิ่ง เบื่อแล้วก็หมุนเวียนไปหาสิ่งใหม่ วิธีนี้ยังช่วยให้คุณไม่เบื่อขนมขบเคี้ยวเมื่อเทียบกับการทานขนมหลากชนิดในช่วงเวลาเดียวกัน
การใช้ชีวิตแบบ มินิมอลลิสม์ ลีฟวิ่ง นั้น ไม่ใช่จะปรับกันแบบหักดิบในเวลาอันสั้น แต่เป็นการค่อยๆ ปรับเปลี่ยน คุณจะเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า สิ่งไหนที่คุณไม่มีก็ได้ ไม่ใช้ก็ไม่เป็นไร บางสิ่งยังต้องมีอยู่ แต่อาจลดความหลากหลากหรือจำนวน คุณอาจไม่คุ้นเคยและไม่ชินตากับสิ่งที่ลดน้อยขาดหายไป แต่สิ่งที่เพิ่มมากขึ้นคือคุณค่าของสิ่งที่คุณคัดสรรให้อยู่ต่อไป เรามาเริ่มใช้ชีวิตแบบ มินิมอลลิสม์ ลีฟวิ่ง เพื่อความยั่งยืนและอนาคตอันสดใสของเราและคนรุ่นหลังต่อไป