Main points:
- การจัดวางหิ้งพระที่ถูกหลักฮวงจุ้ยและเป็นสิริมงคล ควรหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออก และทิศเหนือ เพื่อเสริมความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ใช้ชีวิตอย่างสุขกายสบายใจ
- ทิศที่ควรหลีกเลี่ยงในการหันหน้าหิ้งพระได้แก่ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศใต้ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิศตะวันตก และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เนื่องจากตามหลักฮวงจุ้ยถือเป็นทิศที่ไม่ดี เชื่อกันว่า ครอบครัวจะพบเจอแต่ความทุกข์ร้อน ค้าขายไม่ได้กำไร ทำการสิ่งใดก็ไม่เป็นมงคล
รวมวิธีจัดและวางหิ้งพระให้บ้านเฮง ๆ
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย พุทธศาสนิกชนชาวไทยยังคงให้ความสำคัญกับการจัดวางหิ้งพระภายในบ้านและคอนโดเสมอ เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจและเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต AP Thai จึงรวบรวมข้อควรรู้เกี่ยวกับการวางหิ้งพระควรหันหน้าไปทางไหน พร้อมวิธีจัดและตำแหน่งทิศที่เหมาะสม เพื่อเสริมความเป็นมงคล ส่งเสริมความสุข ความสงบ และความเจริญรุ่งเรืองให้กับทุกคนในครอบครัว
หิ้งพระควรมีพระอะไรบ้าง จัดวางลำดับอย่างไรให้ถูกต้อง
การจัดหิ้งพระ คือ การจัดวางที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้อยู่อาศัยเคารพนับถือ หิ้งพระอาจมีชั้นเดียวหรือหลายชั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบและความเหมาะสมของพื้นที่ติดตั้ง โดยแนะนำให้วางพระพุทธรูปเป็นจำนวนเลขคี่ ด้วยความเชื่อว่า เลขคี่เป็นเลขมงคลสามารถเสริมความเจริญก้าวหน้าและบารมีให้แก่ผู้ที่เคารพบูชา โดยลำดับการวางหิ้งพระ มีดังนี้
ลำดับที่ 1: พระพุทธรูป
ในการจัดวางหิ้งพระ พระประธานต้องอยู่ในตำแหน่งสูงสุดเสมอ เพื่อแสดงถึงความเคารพสูงสุดต่อพระพุทธเจ้า โดยพระพุทธรูปที่นิยมบูชา ได้แก่ พระแก้วมรกต พระพุทธชินราช หรือเลือกพระประจำวันเกิด เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล ได้แก่
- พระประจำวันอาทิตย์: ปางถวายเนตร
- พระประจำวันจันทร์: ปางห้ามญาติ หรือ ห้ามสมุทร
- พระประจำวันอังคาร: ปางโปรดอสุรินทราหู หรือ ปางไสยาสน์ หรือ ปางปรินิพพาน
- พระประจำวันพุธ (กลางวัน): ปางอุ้มบาตร
- พระประจำวันพุธ (กลางคืน): ปางป่าเลไลยก์
- พระประจำวันพฤหัสบดี: ปางสมาธิ หรือ ปางตรัสรู้
- พระประจำวันศุกร์: ปางรำพึง
- พระประจำวันเสาร์: ปางนาคปรก
ในกรณีที่มีพระพุทธรูปหลายองค์ ควรเลือกวางองค์พระประธานที่ถือเป็นพระประจำบ้านไว้ในจุดสูงสุดเพียงองค์เดียว ส่วนพระพุทธรูปองค์อื่นสามารถจัดวางในลำดับถัดลงมา โดยยังคงอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าพระอรหันต์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการระลึกถึงพระพุทธเจ้าและเสริมสร้างพลังใจให้แก่ผู้อยู่อาศัย
ลำดับที่ 2: พระอรหันต์
วางองค์พระอัครสาวกที่นับถือ เช่น พระสังกัจจายน์ พระสีวลี พระอานนท์
ลำดับที่ 3: พระอริยสงฆ์
วางรูปหล่อพระสงฆ์ที่บรรลุธรรมแล้ว เช่น หลวงปู่ทวด หลวงปู่โต
ลำดับที่ 4: สมมติสงฆ์
วางรูปภาพของพระเกจิอาจารย์ที่นับถือ
ลำดับที่ 5: พระบรมรูปพระมหากษัตริย์
วางพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลต่าง ๆ ในลำดับรองจากรูปสมมติสงฆ์
ลำดับที่ 6: องค์เทพตามความเชื่อ
สำหรับผู้ที่มีความเชื่อแบบพหุเทวนิยม สามารถสักการะองค์เทพตามที่ตนเชื่อได้ เช่น เจ้าแม่กวนอิม พระพิฆเนศ
ลำดับที่ 7: อัฐิ รูปบูชา ของบรรพบุรุษ วัตถุมงคล และสิ่งปลุกเสกต่าง ๆ
ควรวางลำดับล่างสุดของหิ้งพระหรือแยกหิ้งบูชา หากมีพื้นที่สามารถแยกหิ้งบูชาต่างหากได้จะดีกว่า
การจัดวางของบนหิ้งพระควรมีอะไรบ้าง
1. แก้วน้ำบนหิ้งพระ
แก้วน้ำเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ควรวางไว้บนหิ้งพระ เพื่อใช้ถวายน้ำบนหิ้งพระ เพราะน้ำเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ช่วยส่งเสริมให้จิตใจสะอาดผ่องใส การถวายน้ำพระจะช่วยเปิดรับสิ่งดี ๆ ให้เข้ามาในชีวิต เสริมโชคลาภและความมั่นคงทางการเงิน โดยสามารถถวายน้ำพระได้ทุกๆ วัน หรือถวายเฉพาะวันพระหรือทุกวันพฤหัสบดี ตามความสะดวกและศรัทธา
2. ธูปและเทียน
สำหรับการกราบไหว้พระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนหิ้งพระ ควรจัดเตรียมกระถางธูป เพื่อบูชาพระรัตนตรัย และเชิงเทียนสำหรับวางเทียน 2 เล่ม เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งแสงสว่าง ช่วยให้ผู้บูชาเกิดปัญญาและมีแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินชีวิต
ในปัจจุบัน มีธูปและเทียนไฟฟ้าที่เป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการจุดธูปเทียนแบบดั้งเดิม เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวก ประหยัด และปลอดภัย โดยยังคงไว้ซึ่งความเคารพและความหมายเชิงสัญลักษณ์เช่นเดิม
3. ดอกไม้
วางแจกันใส่ดอกไม้ถวายพระ เพื่อเป็นการสักการะและระลึกถึงพระรัตนตรัย อีกทั้งยังช่วยเสริมบรรยากาศภายในบ้านให้สดชื่น ช่วยให้จิตใจของผู้อยู่อาศัยผ่องใส เต็มไปด้วยความสุขและความร่มเย็นในการใช้ชีวิต
หิ้งพระควรหันหน้าไปทางไหน ถึงจะถูกหลักฮวงจุ้ยและเป็นสิริมงคล
1. หิ้งพระหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
การจัดวางหิ้งพระให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามหลักฮวงจุ้ย ถือเป็นการเสริมพลังแห่งโชคลาภและความมั่งคั่ง เนื่องจากทิศนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ทิศเศรษฐี" ซึ่งเชื่อกันว่าจะส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานและธุรกิจ นำพาความสำเร็จมาสู่ผู้อยู่อาศัย
นอกจากนี้หากพิจารณาในแง่ของการออกแบบ การหันหน้าหิ้งพระไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะช่วยให้ด้านหลังของหิ้งพระหันไปทางทิศตะวันตกและทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศที่เย็นสบาย ทำให้การสวดมนต์หรือปฏิบัติศาสนกิจเป็นไปอย่างร่มเย็นและเต็มไปด้วยความสุขอีกด้วย
2. หิ้งพระหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
การจัดวางหิ้งพระให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตามหลักฮวงจุ้ยถือเป็น "ทิศแห่งราชา" ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นทิศที่เสริมสร้างความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรือง และอำนาจบารมี ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยประสบความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และสมหวังในสิ่งที่มุ่งหมาย
3. หิ้งพระหันหน้าไปทางทิศเหนือ
การจัดวางหิ้งพระให้หันหน้าไปทางทิศเหนือ ตามหลักฮวงจุ้ยถือเป็น "ทิศแห่งความเป็นสิริมงคล" เชื่อกันว่าจะช่วยส่งเสริมสุขภาพที่แข็งแรง ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ นำพาความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง และความร่มเย็นเป็นสุข ทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น
4. หิ้งพระหันหน้าไปทางประตูบ้าน
การจัดวางหิ้งพระให้หันหน้าออกไปทางประตูบ้าน ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีเสริมสิริมงคลตามหลักฮวงจุ้ย เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ทั้งผู้อยู่อาศัยและแขกผู้มาเยือนสามารถมองเห็นได้ทันที ช่วยเสริมพลังแห่งความศรัทธาและความสงบ อีกทั้งยังเปิดรับพลังงานดี ๆ ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองบ้านจากภยันตราย นำพาความร่มเย็นเป็นสุข และเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ทุกคนในครอบครัว
หิ้งพระไม่ควรหันหน้าไปทางไหน ทิศหันหน้าหิ้งพระที่ควรหลีกเลี่ยง
1. หิ้งพระไม่ควรหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ตามหลักฮวงจุ้ยถือเป็น "ทิศปฐม" เชื่อกันว่าเป็นทิศที่ไม่สู้ดี ทำอะไรก็ไม่ค่อยเจริญ
2. หิ้งพระไม่ควรหันหน้าไปทางทิศใต้
ตามหลักฮวงจุ้ยถือเป็น "ทิศจัณฑาล" เชื่อกันว่า ชีวิตจะติดขัด ไม่มีโชคลาภ หากมีการลงทุนผลตอบแทนที่ได้มักไม่เป็นไปตามที่หวัง
3. หิ้งพระไม่ควรหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
ตามหลักฮวงจุ้ยถือเป็น "ทิศวิปฏิสาร" ชีวิตจะพบเจอเรื่องเดือดร้อนรำคาญใจ ไปจนถึงประสบปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนบ้าน
4 หิ้งพระไม่ควรหันหน้าไปทางทิศตะวันตก
ตามหลักฮวงจุ้ยถือเป็น "ทิศกาลกิณี" ไม่ควรตั้งหิ้งพระหันหน้าไปทิศนี้ เชื่อว่า ผู้อยู่อาศัยจะมีแต่ความทุกข์ร้อนไปจนถึงประสบภัยร้ายแรงได้
5. หิ้งพระไม่ควรหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ตามหลักฮวงจุ้ยถือเป็น "ทิศอุทธัจจะ" เชื่อกันว่า ชีวิตไม่มั่นคง เกิดความลังเลบ่อย ต้องเปลี่ยนงานหรืออาชีพไปเรื่อย ๆ
4 ตำแหน่งที่ควรติดตั้งหิ้งพระ
1. ติดตั้งหิ้งพระในมุมเงียบสงบ
ควรเลือกติดตั้งหิ้งพระในมุมที่เงียบสงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน ไม่มีเสียงรบกวน เพื่อให้สภาพแวดล้อมเหมาะกับการทำกิจกรรมทางศาสนา เช่น สวดมนต์ ทำสมาธิ เพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย
2. ติดตั้งหิ้งพระในพื้นที่โปร่งโล่ง
ควรเลือกติดตั้งหิ้งพระในบริเวณที่โปร่งโล่ง เพื่อสร้างบรรยากาศที่สบายตาและสบายใจ เสมือนเปิดรับพลังงานดี ๆ ให้ไหลเวียนอย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมความสงบและความเป็นสิริมงคลภายในบ้าน
3. ติดตั้งหิ้งพระในมุมที่สะอาด เป็นระเบียบ
ควรเลือกติดตั้งหิ้งพระในมุมที่สะอาดและไม่มีสิ่งของรกรุงรัง นอกจากนี้ควรหมั่นดูแลปัดกวาด เช็ดถู และเปลี่ยนดอกไม้และน้ำถวายน้ำพระเป็นประจำ เพื่อช่วยเสริมความเป็นสิริมงคล ให้จิตใจปลอดโปร่ง สดชื่น และสร้างบรรยากาศที่ดีภายในบ้าน
4. ติดตั้งหิ้งพระสูงเหนือศีรษะ
ควรติดตั้งหิ้งพระในระดับที่เหมาะสม โดยอยู่สูงเหนือศีรษะ แต่ไม่เกินระยะเอื้อมถึง ซึ่งหิ้งพระที่ดีตามหลักฮวงจุ้ยควรมีความสูงจากพื้นประมาณ 146 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถกราบไหว้บูชาและถวายน้ำได้สะดวก สำหรับการติดตั้งโต๊ะหมู่บูชาหรือตู้หิ้งพระแบบตั้งพื้น สามารถเลือกความสูงให้เหมาะสมกับพื้นที่ติดตั้งได้ตามต้องการ
4 ตำแหน่งที่ไม่ควรติดตั้งหิ้งพระ
1. ไม่ควรติดหิ้งพระใกล้ห้องน้ำ
ควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งหิ้งพระในบริเวณใกล้ห้องน้ำ เนื่องจากห้องน้ำถือเป็นพื้นที่ที่มีพลังงานไม่สะอาด หากนำหิ้งพระไปตั้งใกล้ห้องน้ำ อาจส่งผลให้พลังงานโดยรวมของบ้านไม่ราบรื่น เกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิต หรือส่งผลต่อโชคลาภ ทำให้เก็บเงินไม่อยู่ มีปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้น
2. ไม่ควรติดหิ้งพระในห้องนอน
ควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งหิ้งพระภายในห้องนอน ด้วยความเชื่อว่าหิ้งพระเป็นจุดที่มีพลังงานศักดิ์สิทธิ์ไหลเวียนตลอดเวลา อีกทั้งห้องนอนยังเป็นพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งอาจมีกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การแต่งตัว ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องวางหิ้งพระในห้องนอนควรติดฉากกั้นปิดไว้ และวางในตำแหน่งที่ไม่ใช่ปลายเตียงนอน
3. ไม่ควรติดหิ้งพระบริเวณที่มีคนพลุกพล่าน
ควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งหิ้งพระในบริเวณที่มีการสัญจรไปมาบ่อย เช่น ใต้บันได ทางเดินขึ้น-ลง หรือบริเวณประตูทางเข้า-ออกของห้อง เนื่องจากเป็นจุดที่มีผู้คนเดินผ่านอยู่เสมอ ซึ่งอาจรบกวนสมาธิในการกราบไหว้บูชา และยังมีความเชื่อว่าตำแหน่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อการไหลเวียนของพลังงานที่ไม่ดี ทำให้ชีวิตติดขัด ทำอะไรก็ไม่ราบรื่น
4. ไม่ควรติดหิ้งพระข้างเสาลอยและใต้คาน
ควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งหิ้งพระบริเวณเสาลอยหรือใต้คาน เพราะเป็นจุดรับน้ำหนักของบ้าน ซึ่งในทางฮวงจุ้ยถือว่าเป็นจุดที่ไม่เป็นมงคล เนื่องจากเสาลอยสื่อถึงความไม่มั่นคง กดทับพลังงานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่งผลให้ชีวิตพบเจอแต่อุปสรรค
รวมสาระดีๆ เรื่องการวางหิ้งพระ ด้วยบทความน่ารู้จากเอพีไทย
- ฮวงจุ้ยห้องพระ กับศาสตร์การเสริมบ้านให้สงบร่มเย็น
- ข้อควรรู้ในการติดหิ้งพระในคอนโดตามหลักฮวงจุ้ย
- เปิดประตูรับโชค ย้ายเข้าบ้านใหม่ สายมู พร้อมฤกษ์ดี
วางหิ้งพระตำแหน่งที่ใช่ เสริมมงคลให้สุขกายสบายใจได้ทุกวัน
การจัดวางหิ้งพระอย่างเหมาะสม รวมถึงเลือกทิศทางและตำแหน่งของตามหลักฮวงจุ้ย จะช่วยเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต เป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาและที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เอื้อต่อการประกอบกิจกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือการทำสมาธิ ซึ่งล้วนช่วยให้จิตใจสงบและใช้ชีวิตอย่างสุขกายสบายใจในทุก ๆ วัน
เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต
เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมดีไซน์สวยหรือบ้านแฝดฟังก์ชันใหญ่ คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ