MAIN POINT
- ขยะแต่ละประเภทมีวิธีจัดการที่ต่างกัน จึงควรคัดแยกขยะให้ถูกต้องก่อนทิ้งลงถัง เพื่อช่วยให้กระบวนการกำจัดขยะเป็นไปอย่างมีระบบและรวดเร็วมากขึ้น ส่งผลให้สามารถกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาขยะล้นโลกและทำให้สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในระบบนิเวศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
- การคัดแยกขยะในบ้านง่าย ๆ ด้วยเทคนิค 3R ประกอบไปด้วย Reduce (ลด), Reuse (ใช้ซ้ำ), Recycle (รีไซเคิล) ที่นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและช่วยลดโลกร้อนได้อย่างดี
วิธีแยกขยะก่อนทิ้ง พร้อมเทคนิค 3R ช่วยคัดแยกขยะในบ้าน
ทุกวันนี้โลกกำลังเผชิญปัญหาขยะล้นโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยขยะส่วนหนึ่งยังถูกกำจัดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง จนกลายเป็นปัญหามลพิษสะสม การที่จะช่วยโลกลดปริมาณขยะได้คือการที่ทุกคนร่วมใจกัน โดยเริ่มต้นง่าย ๆ จากการคัดแยกขยะที่บ้านอย่างถูกวิธี และจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคนิค 3R ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการที่ได้รับความนิยม โดยเน้นลดการใช้ทรัพยากร (Reduce) ใช้ซ้ำให้คุ้มค่า (Reuse) และแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ซึ่งช่วยลดขยะตั้งแต่ต้นทาง พร้อมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ทางสภากรุงเทพมหานครได้ประกาศข้อบัญญัติใหม่ เรื่องการปรับเพิ่มค่าธรมเนียมเก็บขยะ โดยบ้านที่แยกขยะจะเสียค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือน ส่วนบ้านที่ไม่แยกขยะจะเสียค่าธรรมเนียม 60 บาทต่อเดือน เริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน ทำให้การแยกขยะกลายเป็นเรื่องที่หลายบ้านจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน
สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าจะต้องคัดแยกขยะอย่างไร AP Thai ได้รวบรวมวิธีคัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง พร้อมหลักการ 3R ที่จะมาช่วยจัดการขยะในบ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการคัดแยกขยะให้ถูกต้องไม่เพียงลดขั้นตอนในการกำจัดขยะ แต่ยังช่วยให้สามารถกำจัดได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
รู้จักประเภทของขยะก่อนแยก ต้องทิ้งลงถังแบบไหน?
การแยกขยะเป็นเรื่องที่ทุกคนควรศึกษาและทำความเข้าใจ เพราะขยะบางประเภทก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ส่วนขยะบางประเภทควรกำจัดโดยทันที เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ดังนั้นเพื่อง่ายต่อการจัดการ เราควรทิ้งขยะให้ถูกต้อง โดยสังเกตง่าย ๆ จากสัญลักษณ์หรือสีของถังขยะ ซึ่งมีทั้งหมด 4 ประเภท ดังนี้
1. ขยะอินทรีย์ ต้องทิ้งที่ถังขยะสีเขียว
ขยะอินทรีย์หรือขยะเปียก คือ ขยะที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายและใช้เวลาไม่นาน ซึ่งส่วนมากจะมาจากขยะในครัวเรือน เช่น เศษอาหาร ผลไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ โดยขยะจำพวกนี้จะสามารถนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรได้
2. ขยะทั่วไป ต้องทิ้งที่ถังขยะสีน้ำเงิน
ขยะทั่วไป คือ ขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ และไม่คุ้มค่าต่อการนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิล แต่ก็ไม่ใช่จำพวกขยะที่มีสารพิษ เช่น ซองขนมขบเคี้ยว ถุงพลาสติก ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กล่องโฟม หลอดกาแฟ เป็นต้น
3. ขยะรีไซเคิล ต้องทิ้งที่ถังขยะสีเหลือง
ขยะรีไซเคิล คือ ขยะที่สามารถนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปแล้วเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก เช่น กระป๋องอลูมิเนียมสามารถนำไปรีไซเคิลเป็นขาเทียม หรือแก้วที่สามารถนำไปหลอมให้ขึ้นเป็นภาชนะใหม่ได้
4. ขยะอันตราย ต้องทิ้งที่ถังขยะสีแดง
ขยะอันตราย คือ ขยะที่มีสารพิษปนเปื้อน รวมทั้งวัตถุไวไฟที่อาจเกิดปฏิกิริยากับวัตถุอื่น ๆ และจำพวกขยะติดเชื้อ ซึ่งไม่ควรปะปนไปกับขยะประเภทอื่น ๆ เพราะอาจจะเกิดผลกระทบและอันตรายกับสิ่งมีชีวิตได้ เช่น ถ่านไฟฉาย กระป๋องสเปรย์สารเคมีต่าง ๆ แบตเตอรี่ ยาฆ่าแมลง ชุดตรวจโควิด-19 ที่ใช้แล้ว โดยขยะจำพวกนี้จะไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก และต้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้มีสารพิษหลงเหลืออยู่
เริ่มต้นคัดแยกและจัดการขยะที่บ้านง่าย ๆ ด้วยหลักการ 3R
จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ อย่างการคัดแยกขยะให้ถูกประเภท ถือเป็นก้าวสำคัญในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแต่การแยกขยะอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ หากไม่ได้จัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดย AP Thai จะพามารู้จักวิธีการคัดแยกและจัดการขยะด้วยหลัก 3R เพื่อช่วยลดปริมาณขยะได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วย
- Reduce: ลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น
- Reuse: นำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำ
- Recycle: แปรรูปทรัพยากรที่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
โดยหลักการ 3R นี้เป็นแนวคิดในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้น วิธีการเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มต้นได้จากที่บ้านของเรานี่เอง
วิธีการนำหลักการ 3R มาคัดแยกขยะในบ้าน
1. หลักการ Reduce (ลด)
Reduce คือ ลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น เป็นการควบคุมการใช้ทรัพยากรให้พอเหมาะ เพียงเท่านี้ก็จะส่งผลให้ปริมาณขยะลดน้อยลง แถมยังช่วยให้เห็นคุณค่าและรู้จักการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ตัวอย่างทรัพยากรที่สามารถใช้กับหลักการ Reduce ได้
1. ลดถุงพลาสติก
ถุงพลาสติกเป็นทรัพยากรที่ย่อยสลายได้ยาก ใช้เวลานานหลายร้อยปี หากกำจัดโดยการเผาจะก่อให้เกิดสารประกอบไฮโดรคาร์บอนซึ่งเป็นบ่อเกิดภาวะโลกร้อนและสารก่อมะเร็งอีกด้วย ปัจจุบันจึงมีการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกและเปลี่ยนเป็นถุงผ้าแทน
เปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก
ถุงผ้า เป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายกว่าถุงพลาสติก แถมยังมีความทนทาน ใช้ง่ายขาดยาก พกพาง่าย สามารถนำไปซักและนำกลับมาใช้ซ้ำได้เรื่อย ๆ ส่งผลช่วยให้ลดปริมาณขยะมูลฝอยได้มากและลดอัตราการเกิดของก๊าซเรือนกระจกได้เป็นอย่างดี
2. ลดการใช้โฟม
ปัญหาขยะกล่องโฟมล้นโลกในปัจจุบัน ส่งผลกระทบร้ายแรงเป็นวงกว้างให้กับทั้งคนและสัตว์ เพราะมีการปล่อยของเสียที่ทำลายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการกำจัด สามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เปลี่ยนมาใช้ปิ่นโต กล่องเก็บอาหารแทนการใช้กล่องโฟม
เปลี่ยนจากการใช้กล่องโฟม มาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างการใช้ปิ่นโต หรือกล่องใส่อาหาร รวมทั้งการใช้แก้วน้ำส่วนตัวแทนแก้วน้ำพลาสติก ซึ่งช่วยลดขยะจำพวกโฟม พลาสติกได้หลายเท่าตัว สามารถล้างทำความสะอาดแล้วนำมาใช้ต่อได้เรื่อย ๆ เป็นการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า นอกจากรักษ์โลกแล้วยังเป็นการรักสุขภาพอีกด้วย
3. ลดการใช้กระดาษ
กระดาษ ไม่ว่าจะเป็น กระดาษทิชชู กระดาษเอกสาร จานหรือแก้วกระดาษแบบใช้แล้วทิ้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทรัพยากรที่สิ้นเปลืองและก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก แถมยังเป็นบ่อเกิดคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย
เปลี่ยนมาใช้ผ้าเช็ดหน้าแทนการใช้กระดาษทิชชู่
เปลี่ยนจากกระดาษทิชชู่ มาใช้ผ้าเช็ดหน้าที่สามารถซักแล้วใช้ซ้ำต่อไปเรื่อย ๆ ได้ แถมยังสามารถพกติดตัวได้ตลอด เป็นการช่วยลดทรัพยากรที่ไม่จำเป็น และถือเป็นการลดการตัดต้นไม้ทางอ้อมอีกหนึ่งทางด้วย
4. ลดการใช้สิ่งของสิ้นเปลือง
การใช้ทรัพยากรที่สามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวและต้องทิ้ง เป็นการสร้างขยะจำนวนมากโดยใช่เหตุ อย่างผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจำพวกซองที่ไม่สามารถนำกลับมาเติมใหม่ได้ ถือเป็นสิ่งของที่สิ้นเปลืองและน่าเสียดายทรัพยากรที่นำมาใช้ในการผลิตสิ่งของเหล่านี้
เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้
ลดการสร้างขยะจากบรรจุภัณฑ์ด้วยการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถเติมได้เรื่อย ๆ ตลอดอายุการใช้งานอย่างขวดแก้ว และซื้อผลิตภัณฑ์ในรูปแบบรีฟิลมาเติมแทน ช่วยลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้อีกเมื่อไม่ใช้แล้ว
2. หลักการ Reuse (ใช้ซ้ำ)
Reuse คือ การนำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำอีกโดยไม่ผ่านการแปรรูปหรือแปรสภาพ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้ปริมาณขยะลดลงและเพิ่มสมดุลให้ธรรมชาติมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่จะช่วยรักษ์โลกในรูปแบบง่าย ๆ แต่ได้ผลลัพธ์มหาศาล
ตัวอย่าง ทรัพยากรที่สามารถใช้กับหลักการ Reuse ได้
1. เสื้อผ้า
เสื้อผ้าเก่าที่ไม่ต้องการแล้ว สามารถนำไปบริจาคให้องค์กรการกุศลได้ เพราะยังมีอีกหลายคนที่ต้องการ หรือหากเป็นเสื้อผ้าที่มีตำหนิจนไม่สามารถสวมใส่ได้ ก็สามารถนำไปใช้ถูบ้านได้อีกด้วย และในปัจจุบันการใส่เสื้อผ้ามือสองก็เป็นที่นิยมในหมู่คนสมัยใหม่ เพราะสไตล์และความวินเทจที่หาไม่ได้กับเสื้อผ้าในยุคปัจจุบัน ถือเป็นการนำเสื้อมา Reuse ได้อย่างเหมาะสม ช่วยลดการเกิดขยะ มลพิษให้กับโลกของเราอีกด้วย
สำหรับใครที่มีแพลนจะโล๊ะตู้เสื้อผ้าเก่าสามารถนำไปบริจาค เพื่อส่งต่อโอกาสให้ชีวิตอื่น ๆ ได้ที่องค์กรเหล่านี้
- มูลนิธิกระจกเงา
- มูลนิธิบ้านนกขมิ้น
- ปันกัน โดย มูลนิธิยุวพัฒน์
- มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
- มูลนิธิบ้านกึ่งวิถีหญิง
- โครงการ Help Keeper คนจิตอาสา
- วัดพระบาทน้ำพุ
- มูลนิธิสวนแก้ว
- มูลนิธิธรรมานุรักษ์
2. เฟอร์นิเจอร์
เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ โซฟา และอื่น ๆ เมื่อมีการชำรุดเสียหายในสภาพที่ยังสามารถซ่อมแซมได้ แทนที่จะซื้อสินค้าใหม่ ลองเปลี่ยนมาเป็นการซ่อมแซมแทน เพราะนอกจากจะช่วยลดการเกิดขยะแล้ว ยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าอีกด้วย
3. หนังสือ
หนังสือเก่าที่ไม่ต้องการแล้ว สามารถนำไปบริจาคตามสถานที่ที่รับบริจาคหนังสือต่าง ๆ เพื่อส่งต่อความรู้และประโยชน์ให้ผู้ที่ต้องการได้ หรือสามารถนำไปวางเป็นพร๊อพเพื่อตกแต่งห้องมุมใดมุมหนึ่งก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
สำหรับใครที่มีหนังสือที่ไม่ใช้แล้ว สามารถนำไปบริจาค เพื่อส่งต่อความรู้ดี ๆ ได้ที่องค์กรเหล่านี้
- มูลนิธิกระจกเงา
- ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ
- มูลนิธิบ้านนกขมิ้น
- มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย
- ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์
- มูลนิธิคริสเตียนเพื่อเด็กพิการ (CCD)
- มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
- โครงการ Super Kids Charity รับบริจาคหนังสือ
- ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข มหาวิทยาลัยมหิดล
- มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง
4. เครื่องใช้ไฟฟ้า
สำหรับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้แล้ว สามารถนำไปขายต่อกับร้านที่รับซื้อสินค้ามือสองได้ เพื่อส่งต่อให้กับคนที่ต้องการ หรือการเลือกใช้ถ่านไฟฉายแบบชาร์จได้ ก็เป็นข้อดีที่จะช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ และยังช่วยลดมลพิษจากสารเคมีในถ่านได้อีกด้วย
5. กล่องหรือชั้นวางของ
กล่องหรือชั้นวางของที่ผ่านการใช้งานแล้วแต่ยังคงสภาพดีอยู่ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อได้ เช่น กล่องลังจากพัสดุทางไปรษณีย์ สามารถนำมาใช้สำหรับเก็บของต่าง ๆ ได้ เพื่อจัดระเบียบให้สิ่งของภายในบ้าน เป็นการ Reuse กล่องลังได้อย่างคุ้มค่าและไม่ก่อให้เกิดขยะเพิ่มเติม อีกทั้งยังช่วยให้บ้านสะอาด แถมยังหาของภายในบ้านได้ง่ายยิ่งขึ้น
3. หลักการ Recycle (รีไซเคิล)
Recycle คือ การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เป็นกระบวนการแปรรูปหรือแปรสภาพทรัพยากรที่ใช้แล้ว ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง เป็นการหมุนเวียนทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและถูกนำมาใช้บ่อยที่สุดในหลักการ 3R
ตัวอย่างทรัพยากรที่สามารถใช้กับหลักการ Recycle ได้
1. พลาสติก
พลาสติกจำพวกขวดน้ำ ขวดใส่แชมพู ขวดโลชั่น และอื่น ๆ ล้วนเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กันทุกครัวเรือน ทำให้เกิดเป็นขยะจำนวนมหาศาล ดังนั้นควรนำพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จะได้ประโยชน์มากกว่าการทิ้งให้กลายเป็นขยะอย่างสูญเปล่า
ซึ่งพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ แบ่งได้เป็นหลายประเภท
- พลาสติก PETE: ที่ใช้ทำขวดน้ำ ขวดสบู่เหลว สามารถนำกลับมารีไซเคิลให้เป็นเส้นใยสำหรับทำเสื้อกันหนาวหรือพรมได้
- พลาสติก HDPE: ที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับทำความสะอาด สามารถนำกลับมารีไซเคิลให้เป็นขวดน้ำมันเครื่องได้
- พลาสติก PVC: ที่ใช้ทำพวกท่อประปา สามารถนำกลับมารีไซเคิลให้เป็นท่อน้ำประปาหรือรางน้ำได้
- พลาสติก LDPE: จำพวกฟิล์มห่ออาหาร สามารถนำกลับมารีไซเคิลให้เป็นถุงดำสำหรับใส่ขยะได้
- พลาสติก PP: ที่ใช้ทำภาชนะบรรจุอาหาร สามารถนำกลับมารีไซเคิลให้เป็นกล่องแบตเตอรี่ในรถยนต์ได้
- พลาสติก PS: ที่ใช้ทำโฟมใส่อาหาร สามารถนำกลับมารีไซเคิลให้เป็นไม้แขวนเสื้อได้
หากต้องการทิ้งพลาสติกเหล่านี้ หรือพบเจอขยะพลาสติกที่หล่นอยู่ตามข้างทาง สามารถเก็บรวบรวมใส่ถุงแล้วนำไปทิ้งที่ขยะสีเหลืองสำหรับรีไซเคิลได้เลย
2. เศษอาหาร
เศษอาหารที่เหลือจากการรับประทาน ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ เปลือกไข่ ล้วนแต่เป็นขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ง่ายและใช้เวลาไม่นาน สามารถนำไปใส่ในถังหมักเพื่อทำเป็นปุ๋ยออร์แกนิกไว้ใช้ในการเกษตรได้ หรือหากต้องการทิ้งลงถังขยะ ต้องเลือกทิ้งใส่ถังสีเขียวที่เป็นขยะอินทรีย์โดยเฉพาะ
สำหรับใครที่สนใจวิธีการกำจัดเศษอาหารภายในบ้าน หรืออยากสร้างประโยชน์จากเศษอาหารที่ทานเหลือเป็นประจำในแต่ละวัน สามารถตามไปอ่านต่อได้ที่ รวม 7 วิธีกำจัดเศษอาหารเหลือทิ้งในบ้าน ให้เป็นประโยชน์
3. เสื้อผ้าที่ไม่สามารถใช้ได้แล้ว
หากมีเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว อย่าเพิ่งนำไปทิ้งให้เป็นขยะในทันที เพราะเสื้อผ้าเหล่านั้นยังสามารถนำมาดัดแปลง ตัดเย็บ ให้กลายเป็นสไตล์ใหม่ ๆ รวมทั้งยังสามารถนำชิ้นส่วนอะไหล่เสื้อผ้า เช่น กระดุม ซิป กลับมาใช้ซ้ำกับเสื้อผ้าตัวอื่น ๆ ได้ หรืออาจจะ DIY เปลี่ยนให้กลายเป็นกระเป๋าสะพายเก๋ ๆ ไม่ซ้ำใครก็ได้อีกเช่นกัน แต่ในกรณีที่เสื้อผ้าชำรุดจนจำเป็นต้องทิ้งจริง ๆ ให้ทิ้งที่ถังขยะสีน้ำเงิน โดยการเก็บรวมใส่ถุงและนำไปกำจัดเฉพาะทาง เพราะขยะจำพวกผ้าเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เอง
ซึ่งในปัจจุบันได้มีการเกิดเทรนด์ที่เรียกว่า Textile Recycling เป็นเทรนด์เสื้อผ้ารักษ์โลกที่ได้มีการนำเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ใช้งานแล้ว ไปเข้าสู่กระบวนการผลิตอีกครั้งจนได้เป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ สามารถเป็นจุดขายให้กับแรนด์เสื้อผ้าได้ แถมยังช่วยลดขยะสิ่งทอ เป็นการใส่ใจโลก ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
4. ขวดแก้ว
ขวดแก้วต่าง ๆ ที่ไม่ใช้แล้ว เช่น ขวดโซดา ขวดโหลแก้ว แก้วน้ำ สามารถนำไปทิ้งได้ในถังขยะรีไซเคิลสีเหลือง โดยให้ถอดฝาออกจากขวดแก้ว และเทของเหลวออกให้หมดก่อนนำไปทิ้ง ซึ่งวิธีการรีไซเคิลจะใช้กระบวนการหลอมเพื่อให้เกิดเป็นแก้วขวดใหม่หรือรูปทรงใหม่ ๆ ที่นอกจากจะเป็นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าและอาจสร้างอาชีพให้กับผู้ที่สนใจด้านการผลิตแก้วได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีขวดแก้วบางชนิดที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ อย่างเช่น กระจกแว่นตา บานหน้าต่าง หลอดไฟ จอมอนิเตอร์ เป็นต้น เนื่องจากกระจกเหล่านี้จะมีสารบางชนิดเจือปนอยู่ แนะนำให้ไปบริจาคให้แก่มูลนิธิหรือส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการ จะเป็นการลดขยะให้กับโลกได้เช่นกัน หรือหากต้องการกำจัดทิ้ง ต้องทิ้งในถังขยะอันตรายสีแดง โดยมัดใส่ถุงปิดมิดชิดก่อนนำไปทิ้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากสารเคมีต่าง ๆ
5. แผ่นไม้
สำหรับแผ่นไม้ที่ชำรุด หรือไม่ได้ใช้งานแล้ว สามารถนำไปรีไซเคิลโดยการแปรรูปให้เกิดเป็นเฟอร์นิเจอร์ใหม่ ๆ อย่างเช่น โต๊ะ เก้าอี้ หรือสิ่งของต่าง ๆ ได้เช่นกัน อีกทั้งยังสามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นงานคราฟท์เพื่อสร้างรายได้ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะแล้วยังได้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ประโยชน์ของการแยกขยะในบ้าน และการใช้หลัก 3R ลด ใช้ซ้ำ รีไซเคิล
หากทุกบ้านสามารถทำได้ครบทั้ง 3R ไม่ว่าจะเป็นการ Reduce ลดการใช้ทรัพยากรที่จะก่อให้เกิดขยะโดยไม่จำเป็น, การ Reuse ใช้ทรัพยากรซ้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด, การ Recycle นำทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งโดยผ่านการแปรรูปจนเป็นทรัพยากรใหม่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการแก้ปัญหาขยะล้นโลกได้ที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง และช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับระบบนิเวศ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อย่างมหาศาล ส่งผลมาถึงความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวเราด้วยเช่นกัน
1. ช่วยลดปริมาณขยะ
เมื่อคัดแยกขยะในบ้านได้อย่างถูกต้องแล้ว ก็จะมีทั้งขยะที่สามารถใช้ต่อได้ หรือขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลจนกลายเป็นของใหม่และนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ทำให้ปริมาณขยะที่ต้องทิ้งจริง ๆ ลดน้อยลง ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมรอบตัวบ้านก็จะลดลงตามไปด้วย
2. สร้างจิตสำนึกให้คนในครอบครัว
การศึกษาหลักการคัดแยกขยะ จะช่วยปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้กลายเป็นผู้ที่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม และใส่ใจในคนรอบข้างมากขึ้นไปด้วย เพราะการคัดแยกขยะก็ถือเป็นการลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการกำจัดขยะ ช่วยให้พวกเขาทำงานได้เป็นระบบและรวดเร็วมากขึ้น
3. ลดปัญหาสุขภาพให้คนในครอบครัว
เมื่อจัดการขยะได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เชื้อโรคหรือมลพิษต่าง ๆ ที่อาจแฝงอยู่ภายในบ้านก็จะลดลงไปด้วย ส่งผลให้คนในครอบครัวไม่เจ็บป่วยจากแบคทีเรียและสิ่งสกปรก ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนที่บ้านได้อย่างดี
4. ช่วยลดค่าใช้จ่ายในบ้าน
เมื่อรู้จักการใช้ทรัพยากรแต่ละประเภทได้อย่างถูกต้องแล้ว จะช่วยยืดอายุการใช้งานของสิ่งของต่าง ๆ ภายในบ้าน ส่งผลให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อสิ่งของใหม่ ๆ ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้อีกทาง
วิธีคัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง พร้อมหลัก 3R ที่ไม่ว่าใครก็ลงมือทำได้
ทั้งหมดนี้คือวิธีคัดแยกขยะที่ถูกต้อง พร้อมกับหลักการ 3R ตัวช่วยให้การคัดแยกขยะที่บ้านเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ AP Thai นำมาแบ่งปัน เพราะขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน หากช่วยกันคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้อง จะทำให้โลกนี้สะอาดและน่าอยู่มากขึ้น ส่งผลให้ระบบนิเวศทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ พืช ล้วนแต่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไป
เพิ่มเติมสาระความรู้ดี ๆ เรื่องของการรักษ์โลก ได้ที่นี่!
- รวม 5 วิธีเปลี่ยนบ้านเป็น Eco living ง่ายๆ ให้รายจ่ายน้อยลง
- รวม 4 นวัตกรรมกำจัดขยะ ด้วยแนวคิด Zero Waste ลดขยะให้เหลือศูนย์
- ECOBIN: WASTE MANAGEMENT น่าอยู่ด้วยระบบจัดการส่วนกลาง
เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต
เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมดีไซน์สวยหรือบ้านแฝดฟังก์ชันใหญ่ คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ