MAIN POINT
- แผ่นดินไหว เกิดจากการปรับสมดุลตามธรรมชาติของแผ่นเปลือกโลก ทำให้ชั้นหินขนาดใหญ่เคลื่อนที่ แตกหัก และเกิดเป็นแรงสั่นสะเทือนบนพื้นดินเป็นวงกว้าง
- การเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เช่น การติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัย การตรวจสอบความปลอดภัยภายในบ้าน การจัดเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินไว้ในจุดที่หยิบง่าย การกำหนดจุดรวมพลและวางแผนอพยพที่ชัดเจน
แผ่นดินไหวเกิดจากอะไร ส่งผลกระทบอะไรบ้าง? พร้อมวิธีรับมือ
แผ่นดินไหว ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นอย่างคาดเดาไม่ได้ ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ได้ภายในชั่วพริบตา การทำความเข้าใจและรู้จักเตรียมพร้อม คือกุญแจสำคัญสำหรับการรับมือกับภัยพิบัติ วันนี้ AP Thai รวมสาระความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว พร้อมวิธีรับมืออย่างถูกต้องและปลอดภัย มาฝากกัน
แผ่นดินไหวเกิดจากอะไร?
แผ่นดินไหว (Earthquake) เกิดจากการปรับสมดุลตามธรรมชาติของแผ่นเปลือกโลก ทำให้ชั้นหินขนาดใหญ่เคลื่อนที่ แตกหัก และเกิดเป็นแรงสั่นสะเทือนบนพื้นดิน ทั้งนี้แผ่นดินไหวอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากธรรมชาติ เช่น เปลือกโลกตามแนวรอยเลื่อนเคลื่อนตัวฉับพลัน ภูเขาไฟระเบิด อุกกาบาตขนาดใหญ่ตก หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การทดลองระเบิดปรมาณู การทำเหมืองแร่ใกล้รอยเลื่อน
แผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ ล่าสุด ทำไมถึงรุนแรง?
แผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมา มีความรุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ประเทศเมียนมา ขนาด 7.7 ริกเตอร์ ซึ่งตามข้อมูลจากสำนักสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ ถือว่าเป็นระดับความรุนแรงที่มากกว่าการปล่อยพลังงานระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น
แผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดจากรอยเลื่อนที่มีลักษณะตรง ความลึก 10 กิโลเมตร ลักษณะเช่นนี้ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนที่ผิวดินรุนแรงมากขึ้น และสามารถทำลายพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ โดยพลังงานมหาศาลได้ส่งผ่านไปตามความยาวของรอยเลื่อนสะกายถึง 1,200 กิโลเมตร ไปทางทิศใต้จนมาถึงประเทศไทย
แม้ว่ากรุงเทพฯ จะอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร แต่ด้วยลักษณะพื้นที่ที่เป็นดินอ่อน ทำให้คลื่นแผ่นดินไหวชะลอความเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็ได้สะสมพลังงานเอาไว้ จนทำให้ขนาดของคลื่นเพิ่มขึ้น แรงสั่นสะเทือนจึงทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะกับอาคารสูงที่ไวต่อแรงสั่นสะเทือนในช่วงความถี่ต่ำ จึงทำให้ได้รับความเสียหายมากกว่าอาคารทั่วไป
แผ่นดินไหวส่งผลกระทบอะไรบ้าง?
แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งต่อสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และชีวิตของมนุษย์
ผลกระทบทางกายภาพ
- อาคารและโครงสร้างพังทลาย: เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย อาคาร สะพาน และโครงสร้างพื้นฐานในวงกว้าง
- แผ่นดินถล่ม: แผ่นดินไหวกระตุ้นให้เกิดการพังทลายของพื้นที่ลาดชัน
- สึนามิ: ภัยพิบัติที่อาจตามมาหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ใต้ทะเลสามารถสร้างคลื่นยักษ์ที่ทำลายล้างพื้นที่ชายฝั่ง
- พื้นดินแตกแยก: เกิดการแตกร้าวบนพื้นผิวโลก การทรุดตัวของพื้นที่
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
- ระบบสื่อสารขัดข้อง: ระบบสาธารณูปโภคถูกทำลาย การสื่อสารขาดช่วง ระบบคอมพิวเตอร์ขัดข้อง
- การคมนาคมหยุดชะงัก: การคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ อาจต้องหยุดชะงักจากความเสียหายของภัยพิบัติ
- ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟู: ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการบูรณะฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย
ผลกระทบทางสังคมและมนุษย์
- สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน: ผู้คนอาจเสียชีวิตจากอาคารถล่ม หรือภัยพิบัติที่ตามมาหลังแผ่นดินไหว โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้จุดศูนย์กลาง
- อาการบาดเจ็บ: ผู้รอดชีวิตอาจได้รับอาการบาดเจ็บทางร่างกาย
- ผู้คนพลัดถิ่น: เกิดวิกฤตต้องอพยพออกจากสถานที่ที่เสียหาย และรอการช่วยเหลือ
- ผลกระทบทางจิตใจ: เกิดความเครียด วิตกกังวล และภาวะทางจิตใจของผู้ประสบภัย
วิธีการป้องกันและเตรียมตัวก่อนเกิดแผ่นดินไหว
1. ติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือนแผ่นดินไหวในโทรศัพท์มือถือ
ช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่วินาที มีค่ามากพอที่จะช่วยให้เราหาที่หลบภัยหรือเตรียมตัวรับมือได้ทัน ควรเลือกแอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ควรตั้งค่าการแจ้งเตือนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความมั่นใจและไม่พลาดช่วงเวลาสำคัญยามวิกฤต
Earthquake TMD แอปพลิเคชันแจ้งเตือนแผ่นดินไหวทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ที่พัฒนาโดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว สามารถดูได้ว่ามีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ใด พร้อมวัน เวลา ระยะห่าง ระดับความรุนแรง และระดับความลึกจากใต้พื้นดิน รวมถึงมีฟีเจอร์แจ้งข้อมูลหากรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน วิธีปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และเบอร์โทรฉุกเฉินของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่สามารถเข้าถึงได้แม้ไม่มีอินเทอร์เน็ต
ลิงก์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน:
2. ตรวจสอบความปลอดภัยภายในบ้าน
บ้านควรเป็นที่พื้นที่ปลอดภัยแม้ในยามเกิดภัยพิบัติ การตรวจสอบความปลอดภัยภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่น สำรวจโครงสร้างบ้านว่ามีรอยแตกร้าว หรือจุดเสียหายที่ต้องซ่อมแซมหรือไม่ โดยเฉพาะส่วนรับน้ำหนักอย่างเสาและคาน
ทั้งนี้การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ เช่น ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางของ ตู้หนังสือ ควรยึดติดกับผนังอย่างแน่นหนา ไม่วางสิ่งของที่มีน้ำหนักหรือแตกหักง่ายบนที่สูง เพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งของที่ตกลงมาขณะเกิดแผ่นดินไหว
3. จัดเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินไว้ในจุดที่หยิบง่าย
ในกรณีที่ต้องอพยพเร่งด่วน กระเป๋าฉุกเฉินเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ควรเก็บไว้ในจุดที่หยิบง่าย และมีสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ช่วยดำรงชีวิตครบครัน เช่น น้ำดื่ม อาหารแห้ง ชุดปฐมพยาบาล ยาสามัญประจำบ้าน ยาประจำตัว ไฟฉาย ถ่านสำรอง และเงินสด กรณีที่ระบบธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึงเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน พาสปอร์ต เอกสารประกันภัย
4. กำหนดจุดรวมพลและวางแผนในการอพยพ
การกำหนดจุดรวมพลและวางแผนการอพยพ เป็นสิ่งสำคัญที่ควรฝึกซ้อมเป็นประจำ โดยควรเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ปลอดภัยจากสิ่งอันตรายที่อาจล้มทับ ทั้งนี้ควรมีจุดรวมพลสำรอง เพื่อรองรับกรณีที่ในสถานการณ์จริง เส้นทางหลักอาจถูกปิดกั้นด้วยสิ่งกีดขวางต่าง ๆ
วิธีการรับมือขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว
สิ่งสำคัญที่สุดในการรับมือขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว คือ อย่าตื่นตกใจ พยายามควบคุมสติ เพื่อให้สามารถตัดสินใจและปฏิบัติตัวได้อย่างปลอดภัย
1. กรณีอยู่ในอาคาร
- เปิดประตูหรือหน้าต่างไว้: เพื่อให้มีทางหนีออกมาเมื่อต้องอพยพ
- ปิดแก๊สและระบบไฟฟ้า: หากเป็นไปได้ให้ปิดวาล์วแก๊สและสวิตช์ไฟฟ้าทันที
- หาที่กำบัง: มุดใต้โต๊ะหรือเฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรงแล้วเกาะยึดไว้ให้มั่น เพื่อป้องกันศีรษะ
- หลีกเลี่ยงพื้นที่อันตราย: อยู่ให้ห่างจากหน้าต่าง กระจก และวัตถุที่อาจตกหล่น
- อย่าวิ่งออกจากอาคารทันที: เพราะอาจเกิดอันตรายจากวัสดุที่หล่นกระแทก ให้อยู่ในจุดปลอดภัยจนกว่าจะหยุดสั่นสะเทือน
- งดใช้ลิฟต์: ให้ใช้บันไดหนีไฟหากจำเป็นต้องอพยพจากอาคาร
2. กรณีอยู่นอกอาคาร
- หาพื้นที่โล่ง: อยู่ห่างจากอาคาร เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา ต้นไม้ และสิ่งที่อาจล้มทับ
- หากอยู่ในรถ: ให้จอดรถในที่ปลอดภัย โดยอยู่ห่างจากอาคาร เสาไฟฟ้า สะพานลอย ทางด่วน
- อยู่ห่างจากชายหาด: หากอยู่บริเวณชายฝั่ง ให้รีบอพยพขึ้นที่สูงโดยเร็ว เพราะมีความเสี่ยงที่อาจเกิดสึนามิตามมา
- หากติดอยู่ใต้ซากอาคาร: ให้ใช้ผ้าปิดจมูก และขอความช่วยเหลือด้วยการเคาะวัตถุแข็ง
สิ่งที่ควรทำหลังเกิดแผ่นดินไหว
หลังจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวสงบลงแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการตรวจสอบความปลอดภัยของตัวเองและคนรอบข้าง รวมถึงประเมินสภาพอาคารอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นตามมา
1. ตรวจสอบอาการบาดเจ็บ
สำรวจตนเองและคนรอบข้างว่ามีใครบาดเจ็บหรือไม่ เพื่อเตรียมปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ทันทีหากพบผู้บาดเจ็บสาหัสหรือมีอาการรุนแรง
2. สำรวจความเสียหายของอาคาร
หากยังอยู่ภายในอาคารที่พักอาศัย ควรสวมรองเท้าหุ้มส้นก่อนเดินสำรวจ เพื่อป้องกันอันตรายจากเศษแก้ว วัสดุแหลมคม หรือสิ่งของที่ตกกระจายจากแรงสั่นสะเทือน
3. อพยพออกจากพื้นที่เสียหาย
หากพบว่าอาคารที่พักอาศัยได้รับความเสียหาย เช่น มีรอยร้าวที่ผนัง เสาหลัก หรือโครงสร้างดูไม่มั่นคง โดยเฉพาะหากมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้น ควรรีบอพยพออกจากอาคารนั้นและเคลื่อนย้ายไปยังจุดปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายหลังเกิดเหตุ
4. ตรวจสอบก่อนกลับเข้าใช้อาคาร
ก่อนกลับเข้าใช้อาคารตามปกติ ควรตรวจสอบระบบต่าง ๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ท่อน้ำ แก๊ส รวมถึงสภาพโครงสร้างโดยรอบว่ามีความเสียหายหรือไม่ รวมถึงสภาพของอาคารว่ามีความเสียหายระดับไหน หากพบสิ่งผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานและติดต่อช่างผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบก่อนเพื่อความปลอดภัย
5. ติดตามข่าวสาร
ควรติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หรือกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งจะมีการรายงานสถานการณ์พร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังควรเฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อกที่อาจเกิดขึ้นซ้ำ
6. ไม่เผยแพร่ข่าวลือ
หลีกเลี่ยงการแชร์ข่าวหรือข้อความที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน เช่น ข้อมูลจากโซเชียลมีเดียที่ไม่มีแหล่งข่าวชัดเจน เพราะอาจทำให้ผู้อื่นแตกตื่นและทำให้สถานการณ์แย่ลง
เตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างถูกต้องและปลอดภัย
แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่มาพร้อมความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตามควรเตรียมพร้อมรับมือ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผ่นดินไหว ทั้งสาเหตุ ผลกระทบ และวิธีป้องกันพร้อมวิธีรับมือ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัย ตรวจสอบความปลอดภัยภายในบ้าน จัดเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินไว้ในจุดที่หยิบง่าย และกำหนดจุดรวมพลสำหรับการอพยพที่ชัดเจน เพราะการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้อย่างปลอดภัย
เอพีไทยแลนด์ ให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยของลูกบ้าน
บริษัท เอพี ไทยแลนด์ โดยการจัดตั้งทีมชำนาญการพิเศษ ประกอบด้วยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน วิศวกรผู้ออกแบบ และทีมตรวจสอบคุณภาพ (3rd Party) เพื่อลงพื้นที่สำรวจและตรวจสอบสภาพอาคารในเชิงลึกอย่างเร่งด่วนหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เพื่อสร้างความมั่นใจสูงสุดให้กับลูกบ้านในการอยู่อาศัย หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อสำนักงานนิติบุคคลของโครงการ หรือ Call Center โทร. 1623 ตลอด 24 ชั่วโมง
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ