ปริมาณขยะเศษอาหารเหลือทิ้งทั่วโลกในแต่ละปี มีจำนวนถึง 1,300 ล้านตัน หรือเทียบได้เป็น 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตได้ทั่วโลก และสำหรับในประเทศไทย คนไทย 1 คน จะสร้างขยะอาหารมากถึง 254 กิโลกรัมต่อปี นับว่าเยอะมากเลยทีเดียว ขยะอาหารเหล่านี้ถูกผลิตมาโดยไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ใดๆ ทั้งที่อุตสาหกรรมอาหารมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 25% ของโลก ส่งผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและปล่อยมลพิษจำนวนมาก ส่วนสาเหตุนั้นเกิดมาจากการทานอาหารไม่หมด อาหารหมดอายุก่อนรับประทาน อาหารถูกคัดทิ้งในกระบวนการผลิต ฯลฯ และในฐานะผู้บริโภคมีวิธีกำจัดเศษอาหารอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้โลกของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น ไปดูกันเลย
1. แยกขยะอินทรีย์ใส่ถุง ส่งเทศบาลกำจัดต่อ
การแยกขยะเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม มักเคยชินกับการทิ้งขยะทุกอย่างลงในถุงเดียวกัน แต่รู้หรือไม่ว่าการแยกขยะนั้นถือว่ามีประโยชน์กับโลกของเรามาก ทั้งลดปริมาณขยะ ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยให้เจ้าหน้าที่กำจัดขยะสามารถทำงานได้สะดวกและปลอดภัยขึ้นอีกด้วย โดยหลักๆ แล้วควรแยกขยะออกเป็น 4 แบบด้วยกัน ได้แก่
- ขยะทั่วไป มักเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ไม่คุ้มค่าถ้าจะนำไปรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ก็ไม่เป็นพิษ ไม่เป็นสารอันตราย เช่น ห่อขนม ถุงพลาสติก ถุงบรรจุผงซักฟอก โฟมเปื้อนเศษอาหาร ฟอยล์เปื้อนเศษอาหาร ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น
- ขยะรีไซเคิล เป็นขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องเครื่องดื่ม เศษโลหะ อะลูมิเนียม ยางรถยนต์ กล่องนมแบบ UHT กระดาษ และกล่องลังกระดาษ
- ขยะอันตราย ยิ่งมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องแยกออกจากขยะอื่น เพราะเป็นขยะที่มีองค์ประกอบหรือสารปนเปื้อนอันตรายชนิดต่างๆ เช่น สารพิษ วัตถุระเบิด วัตถุติดเชื้อ วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุไวไฟ กระป๋องสเปรย์ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยาที่หมดอายุแล้ว
- ขยะอินทรีย์ คือ ขยะที่เกิดการเน่าเสียได้เร็ว และย่อยสลายใช้เวลาไม่นาน สามารถนำมาทำปุ๋ยหมักได้ ขยะชนิดนี้พบได้มากที่สุดถึง 64% ของปริมาณขยะทั้งหมด ตัวอย่างขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหารต่างๆ เศษผัก เศษเนื้อสัตว์ เศษใบไม้ และเปลือกผลไม้ แต่จะไม่รวมถึงเศษผักผลไม้ เศษเนื้อสัตว์ ที่เกิดจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ
การทิ้งขยะโดยการแยกขยะแบบนี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นร้านอาหาร ร้านค้า หรือโรงงานต่างๆ เท่านั้น แต่ยังเหมาะกับนำมาใช้ในครัวเรือนทุกบ้าน ในบทความนี้จะมาแชร์ทริคการแยกขยะในบ้านแบบง่ายๆ กันสักเล็กน้อย เช่น วิธีกำจัดเศษอาหาร ทำได้โดยการแยกเศษอาหารออกจากขยะอื่นๆ และใส่ลงถุงขยะ จากนั้นเทศบาลจะนำไปฝังกลบหรือทำปุ๋ยหมักต่อไป หรือทำปุ๋ยด้วยตัวเองง่ายๆ โดยใช้เครื่องย่อยเศษอาหารเป็นตัวช่วยก็ได้เช่นกัน
2. เปลี่ยนเศษอาหาร ไปเป็นอาหาร
วิธีกำจัดเศษอาหารไม่จำเป็นจะต้องนำไปทำเป็นปุ๋ยได้เท่านั้น จะทิ้งเศษอาหารไปทั้งหมดก็น่าเสียดาย จริงๆ แล้วเศษอาหารบางอย่างยังมีคุณค่าสามารถนำไปทำประโยชน์อื่นได้ อย่างการนำมาใช้ใหม่ หรือเปลี่ยนเป็นอาหาร เห็นแบบนี้แล้วไปดูกันเลยดีกว่าว่าเศษอาหารแบบไหนบ้างที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
นำไปปลูกใหม่
เศษผักมากมายอย่าเพิ่งเททิ้ง ผักบางชนิดอาจนำไปปลูกใหม่เพื่อให้เราได้กินกันต่อไป ทำการปลูกใหม่ได้โดยใช้ส่วนที่เหลือจากการรับประทาน เช่น ต้น ใบ หรือกิ่ง ตามแต่ชนิดพืชนั้นๆ พืชที่สามารถนำมาปลูกต่อได้ ตัวอย่างเช่น โหระพา สะระแหน่ แมงลัก ผักกาดหอม ตะไคร้ มันฝรั่ง กระเทียม ขิง บีทรูท และอื่นๆ อีกหลากหลายชนิด วิธีนี้นอกจากจะเป็นการประหยัดแล้ว ยังได้ผักที่สดใหม่ สะอาด และปราศจากสารพิษตกค้าง
นำไปเลี้ยงสัตว์
วิธีกำจัดเศษอาหารและการแยกขยะนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้าหากเราแยกขยะได้อย่างเหมาะสม ก็สามารถนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ได้ อย่างเช่นการนำเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์ โดยต้องเลือกประเภทให้เหมาะสมกับสัตว์แต่ละชนิด เช่น เศษผักและผลไม้สามารถนำไปเลี้ยงเป็ดและไก่ได้ เศษเนื้อสัตว์ไม่ติดกระดูกนำไปเลี้ยงสุนัข หรือเศษอาหารเล็กๆ ก็นำไปให้ปลาตอดกิน
นำไปใช้ประโยชน์ต่อ
นอกจากจะเอาเศษอาหารไปปลูกใหม่หรือเลี้ยงสัตว์แล้ว เศษอาหารบางชนิดสามารถเปลี่ยนจากขยะไร้ค่า ไปเป็นสิ่งของมีประโยชน์ได้ด้วย เช่น กากกาแฟ สามารถนำมาเช็ดทำความสะอาดคราบมันบนกระทะหรือภาชนะต่างๆ หรือน้ำมันใช้แล้วจากการปรุงอาหาร เทรวมกันแยกออกจากขยะชนิดอื่นแล้วส่งต่อเพื่อทำไบโอดีเซล หรือเปลือกไข่ล้างสะอาดนำไปบดละเอียดผสมดินปลูกต้นไม้ได้
3. นำเศษอาหารเหลือทิ้ง ไปเป็นปุ๋ย
ขยะอินทรีย์หรือเศษอาหารเหลือทิ้ง ควรแยกอาหารที่มีความชื้นสูงออกไปก่อน เช่น น้ำซุป น้ำแกง น้ำจากผักผลไม้ และถ้าหากต้องการให้ย่อยสลายได้เร็วขึ้นก็ควรหั่นเศษอาหารให้เป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำไปผสมกับดิน ปุ๋ยคอกแห้ง กากกาแฟ เศษใบไม้กิ่งไม้ เพื่อช่วยดูดความชื้น และผสมอาหารจุลินทรีย์อย่างน้ำตาลหรือกากน้ำตาลที่เป็นตัวเร่งอัตราการย่อยสลาย คลุกให้เข้ากันจนแห้งแล้วหมักทิ้งไว้ในถังหรือกล่อง ทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ เราก็จะได้ปุ๋ยแห้งเอาไว้ผสมกับดินสำหรับปลูกต้นไม้ต่อไปแล้ว หรือว่าจะใช้เศษผักหรือเปลือกผลไม้ผสมกากน้ำตาลและน้ำ หมักทิ้งเอาไว้เพื่อเป็นน้ำหมักชีวภาพ และนำไปผสมน้ำใช้รดน้ำบำรุงต้นไม้ก็ได้เช่นกัน
4. กำจัดเศษอาหารด้วยการฝังกลบให้มิด
วิธีกำจัดเศษอาหารแบบฝังกลบ เป็นวิธีที่ช่วยลดภาระการกำจัดขยะของเทศบาลได้มากเลยทีเดียว และเศษอาหารที่นำไปฝังกลบยังกลายเป็นปุ๋ยชั้นดีสำหรับบำรุงต้นไม้ในบ้านของเราอีกด้วย แต่ว่าวิธีนี้จะเหมาะกับบ้านที่มีบริเวณพื้นที่กว้างมากพอสำหรับปลูกต้นไม้ และควรขุดหลุมให้ลึกพอสมควร เพื่อเลี่ยงปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ และป้องกันสัตว์ต่างๆ มาคุ้ยดิน อีกหนึ่งข้อควรระวังก็คือไม่ควรฝังเศษอาหารที่มีปริมาณไขมันมากจนเกินไป เพราะถ้ามีมากเกินไปอาจทำให้น้ำและอากาศซึมผ่านดินได้ยากจนพืชขาดน้ำได้
5. ใช้เครื่องย่อยเศษอาหาร เปลี่ยนเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้
เครื่องย่อยเศษอาหาร เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำการเปลี่ยนขยะเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยใช้เวลาเพียงประมาณ 8 - 48 ชั่วโมง ขึ้นกับแต่ละรุ่นและยี่ห้อ สำหรับใครที่พื้นที่บ้านไม่กว้างนักก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะมีขนาดประมาณถังขยะขนาดกลางๆ เท่านั้นเอง เครื่องย่อยเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยนี้มีประโยชน์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ช่วยกำจัดเศษอาหารเปียกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดกลิ่นเหม็นและแมลงต่างๆ ลดการใช้ถุงพลาสติกใส่เศษอาหาร และได้ปุ๋ยออร์แกนิกธรรมชาติคุณภาพดี เอาไว้เป็นสารอาหารเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดินและช่วยบำรุงแร่ธาตุแก่ต้นไม้ที่คุณรัก
6. เลือกใช้เครื่องย่อยเศษอาหารที่ติดกับอ่างล้างจาน
เครื่องย่อยเศษอาหารแบบติดกับอ่างล้างจาน เป็นเครื่องกำจัดและย่อยสลายเศษอาหารที่ถูกติดตั้งไว้กับสะดืออ่างล้างจาน เมื่อติดตั้งแล้วสามารถเทเศษอาหาร เปลือกไข่ ก้างปลา และน้ำแกงต่างๆ ลงอ่างได้เลย เครื่องจะทำการปั่นและบดเศษอาหารให้ละเอียดจนสามารถไหลลงท่อได้ แต่ระหว่างเปิดเครื่องต้องอย่าลืมที่จะเปิดน้ำไหลเอาไว้ตลอดเวลา และคอนโด บ้าน หมู่บ้าน ที่อยู่อาศัยต้องมีถังดักไขมัน สำหรับที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ไม่มาก การใช้เครื่องย่อยเศษอาหารแบบนี้ก็ไม่มีปัญหา เพราะเครื่องมีขนาดเล็กและมักราคาถูกกว่าแบบเปลี่ยนเป็นปุ๋ย
7. แก้ปัญหาจากต้นตอ ลดขยะเศษอาหารอย่างไรไม่ให้เหลือทิ้ง
การกำจัดขยะเศษอาหารด้วยวิธีต่างๆ นั้น ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ จะดีกว่าไหมถ้าเราทุกคนสามารถช่วยกันลดปัญหาขยะได้ตั้งแต่ต้น ขยะเศษอาหารไม่ใช่แค่เพียงของเหลือทิ้งเท่านั้น แต่คือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในขั้นตอนการจัดการขยะ ทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ถ้าหากอยากช่วยลดการเกิดปัญหาดังกล่าว สามารถใช้วิธีกำจัดเศษอาหารต่างๆ ด้วยวิธีเหล่านี้
- วางแผนการจ่ายตลาด แนะนำให้เช็กปริมาณวัตถุดิบอาหารที่มีอยู่แล้ว และวางแผนเมนูอาหารในแต่ละสัปดาห์ เพื่อป้องกันการซื้อของเกินความจำเป็น
- ตรวจสอบวันหมดอายุ ควรดูวันหมดอายุบนฉลากอยู่เสมอ เพื่อรับประทานให้หมดก่อนอาหารจะเน่าเสียและต้องทิ้งไป
- ยืดอายุอาหาร วัตถุดิบแต่ละประเภทมีวิธีจัดเก็บที่เหมาะสมแตกต่างกัน ถ้าหากเก็บรักษาอาหารให้ถูกต้องจะช่วยให้เก็บไว้รับประทานได้นานขึ้น
- เตรียมอาหารให้พอดี ควรควบคุมปริมาณวัตถุดิบในการทำอาหารให้พอดีกับสมาชิกในครอบครัว
- ตักหรือสั่งอาหารให้พอดีกับที่ตัวเองทานหมด การตักอาหารใส่จานข้าวจำนวนมาก หรือสั่งอาหารมามากเกินกว่าที่ตัวเองจะทานหมด จะทำให้เหลือขยะเศษอาหารจำนวนไม่น้อยเลย
ปัญหาเศษขยะอาหารนั้นเกิดจากอาหารที่หลงเหลือจากการรับประทานอาหารไม่หมด หรืออาหารหมดอายุไปเสียก่อน รวมถึงเกิดจากการถูกคัดทิ้งในกระบวนการผลิต ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อโลกของเรามากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ภาวะโลกร้อน มลพิษในสิ่งแวดล้อม พลังงานและค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะที่มากเกินกว่าที่ควรจะเป็น วิธีกำจัดเศษอาหารที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ก็คือการแยกขยะอาหารออกจากขยะชนิดอื่นๆ และนำเศษอาหารไปใช้ประโยชน์ต่อตามความเหมาะสมของแต่ละคน หรือส่งต่อให้เทศบาลเป็นคนกำจัดต่อไป แต่ทางที่ดีที่สุดคือควรตระหนักถึงการไม่กินเหลือ ทำอาหารหรือสั่งอาหารให้พอดีกับปริมาณที่กินไหว เพื่อลดการเกิดปัญหาเศษอาหาร ถ้าทุกคนร่วมมือกันโลกของเราต้องน่าอยู่ขึ้นได้แน่นอน