KNOW HOW
  • FINANCIAL

ภาษีมรดกคืออะไร? ทรัพย์สินไหนต้องเสีย พร้อมวิธีคำนวณ

รู้จักกับ ภาษีมรดก เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งช่วยในการจัดการและวางแผนทรัพย์สินมรดกได้อย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนที่เรารัก

AP THAILAND

AP THAILAND

ภาษีมรดกคืออะไร

MAIN POINT

 

  • ภาษีมรดก คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากผู้รับมรดก ทั้งผู้ที่เป็นทายาททางสายเลือดและผู้ที่ไม่ได้เป็นทายาททางสายเลือด โดยการคำนวณภาษีมรดกว่าเสียเท่าไร ต้องคำนวณจากมูลค่ามรดกที่เกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป และอัตราภาษีตามความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของและผู้รับ
  • ผู้รับมรดกที่มีสถานะเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน ต้องเสียภาษีมรดก 5% ส่วนบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องทางสายเลือด ต้องเสียภาษีมรดก 10% โดยทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดก คือ อสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ตามกฎหมาย เงินฝาก ยานพาหนะ และทรัพย์สินทางการเงิน

 

 

ภาษีมรดกคืออะไร?

 

 

ภาษี ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรศึกษาและทำความรู้จักเอาไว้ ซึ่งนอกเหนือจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีโรงเรือน และภาษีเงินได้ จะเป็นภาษีที่ทุกคนรู้จักกันดีแล้ว ก็ยังมี ภาษีมรดก ซึ่งเป็นภาษีที่สำคัญแต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก AP Thai เลยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ภาษีมรดกคืออะไร ประเภททรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดก วิธีคำนวณภาษีมรดกต้องเสียเท่าไร รวมถึงวิธียื่นภาษีมรดก มาฝากทุกคนกัน ซึ่งจะมีรายละเอียดยังไงบ้างนั้น ตามไปดูกันเลย!

 

ภาษีมรดก คืออะไร?

ภาษีมรดก

 

ภาษีมรดก คือ ภาษีส่วนบุคคลที่จะถูกเรียกเก็บเมื่อมรดกจากผู้ตายถูกส่งต่อให้แก่บุพการี ทายาท หรือแม้กระทั่งผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทางสายเลือดแต่ได้รับมรดกส่วนนั้น ตามพระราชบัญญัติภาษีมรดก พ.ศ. 2558 ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ที่ได้รับทรัพย์มรดกจากผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน หรือมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดาน ต้องเสียภาษีมรดก

โดยภาษีมรดกจะคำนวณจากมูลค่าทรัพย์มรดกในส่วนที่เกินจาก 100 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งอัตราการเสียภาษีมรดกจะแตกต่างกันตามความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของมรดกกับผู้รับมรดก

 

ตารางอัตราภาษีมรดก

มูลค่าทรัพย์สินมรดก อัตราภาษีมรดก
ไม่เกิน 100 ล้านบาท ไม่เสีย
ส่วนเกิน 100 ล้านบาท
  • 5% กรณีผู้รับเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน
  • 10% กรณีผู้รับเป็นบุคคลอื่น

 

ประเภททรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดก มีอะไรบ้าง?

บ้าน

 

  1. อสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน คอนโดมิเนียม อาคาร ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
  2. หลักทรัพย์ตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น หุ้น หุ้นกู้ กองทุนรวม หน่วยลงทุน ตราสารหนี้ หรือตราสารอนุพันธ์ต่าง ๆ ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนทั้งในไทยและต่างประเทศ
  3. เงินฝาก หรือเงินที่อยู่ในลักษณะเดียวกัน ที่เจ้าของมรดกมีสิทธิถอนคืนจากสถาบันการเงินในประเทศไทยหรือมีสิทธิเรียกร้องจากบุคคลใดที่รับเงินนั้นไว้ ไม่ว่าจะเป็น เงินฝากสหกรณ์หรือเงินฝากในบัญชีธนาคาร
  4. ยานพาหนะ ที่มีหลักฐานการจดทะเบียน ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ เรือ รวมถึงยานพาหนะอื่น ๆ ที่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นชื่อบุคคลได้
  5. ทรัพย์สินทางการเงิน ที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา

 

กรณีใดบ้างที่ได้รับการยกเว้นการเสียภาษีมรดก

ทองคำ

 

การส่งมอบมรดกให้ บุพการี ผู้สืบสันดาน และบุคคลธรรมดาอื่น ๆ ล้วนจะต้องชำระภาษีมรดกด้วยกันทั้งสิ้น แต่มีอีกหลายกรณีที่ผู้รับมรดกได้รับการยกเว้นการเสียภาษี แม้มูลค่ามรดกจะมากกว่า 100 ล้านบาทก็ตาม โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ผู้เสียชีวิตส่งมอบมรดกให้ผู้รับ ก่อนที่พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 จะถูกบังคับใช้ ซึ่งคือก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559
  2. ผู้เสียชีวิตส่งมอบมรดกให้ผู้รับ เพื่อใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น วัด มูลนิธิ และสถาบันการศึกษา
  3. ผู้เสียชีวิตส่งมอบมรดกให้ผู้รับ ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐเพื่อทำประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ส่วนงานราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบริหารราชการแผ่นดิน องค์การมหาชนหรือรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย
  4. ผู้เสียชีวิตส่งมอบมรดกให้ผู้รับ ที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีข้อผูกพันกับประเทศไทย หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น องค์กรสหประชาชาติหรือสถานทูต
  5. ผู้เสียชีวิตส่งมอบมรดกให้ผู้รับ ที่เป็นคู่สมรสตามกฏหมาย (มีการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย)

 

นอกจากนี้ยังมีประเภททรัพย์สินในกองมรดกที่ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีมรดกอีกด้วย โดยกองมรดกหมายถึงทรัพย์สินทุกอย่างของผู้เสียชีวิต รวมทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่าง ๆ ซึ่ง ประเภททรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษีมรดก มีดังนี้

  1. สิ่งของที่ไม่ระบุชื่อ หมายถึง ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ไม่มีการขึ้นทะเบียนเพื่อระบุชื่อเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็น เงินสด ทองคำ เครื่องประดับ เพชรพลอย ของสะสม ภาพวาด วัตถุโบราณ ประติมากรรม รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา
  2. เงินค่าสินไหมจากประกันชีวิต เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังผู้เอาประกันเสียชีวิตแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินมรดก

 

จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่เป็นตัวตัดสินว่าต้องเสียภาษีมรดกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ มูลค่าของทรัพย์สิน ประเภทของทรัพย์สิน และประเภทของผู้รับมรดก

 

ตารางสรุปรายละเอียด การเสียภาษีมรดก

กรณีที่ต้องเสียภาษีมรดก กรณีที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก
ส่งมอบมรดกให้บุพการีและผู้สืบสันดาน ส่งมอบมรดกก่อน 1 กุมภาพันธ์ 2559
ส่งมอบมรดกให้บุคคลอื่น ส่งมอบมรดกเพื่อใช้เป็นสาธารณะประโยชน์
ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ส่งมอบมรดกให้หน่วยงานภาครัฐ
ทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมาย ส่งมอบมรดกให้องค์กรระหว่างประเทศ
ทรัพย์สินที่เป็นเงินฝาก ส่งมอบมรดกให้คู่สมรสตามกฏหมาย
ทรัพย์สินที่เป็นยานพาหนะ ทรัพย์สินที่เป็นสิ่งของที่ไม่ระบุชื่อ
ทรัพย์สินทางการเงิน เงินค่าสินไหมจากประกันชีวิต

 

ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก

การคำนวณภาษีมรดก

 

1. บุคคลธรรมดา

  • บุคคลที่มีสัญชาติไทย
  • บุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย แต่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตามกฎหมาย 
  • บุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย 

บุคคลที่มีสัญชาติไทยและบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยแต่อาศัยอยู่ในไทย จะต้องเสียภาษีมรดกจากทรัพย์สินทั้งในไทยและต่างประเทศ ส่วนบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยแต่ได้รับมรดกเป็นทรัพย์สินในไทย จะเสียภาษีมรดกเฉพาะทรัพย์สินที่อยู่ในไทย

2. นิติบุคคลสัญชาติไทย

  • นิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทย
  • นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
  • นิติบุคคลที่มีคนไทยถือหุ้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของทุนจดทะเบียน
  • นิติบุคคลที่มีคนไทยเป็นผู้บริหารมากกว่าครึ่งหนึ่งของคณะบุคคล

นิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทยและนิติบุคคลที่มีคนไทยบริหารมากกว่าครึ่งหนึ่ง จะต้องเสียภาษีมรดกจากทรัพย์สินทั้งในไทยและต่างประเทศ

3. นิติบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย

นิติบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยแต่ได้รับมรดกจากทรัพย์สินที่อยู่ในไทย จะเสียภาษีมรดกเฉพาะทรัพย์สินที่อยู่ในไทย

 

ผู้รับมรดกต้องเสียภาษีกี่เปอร์เซ็นต์?

การชำระภาษีมรดก

 

สำหรับผู้รับมรดกที่ได้รับทรัพย์สินมรดกมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีในส่วนที่เกินจาก 100 ล้านบาท โดยอัตราการเสียภาษีมรดกจะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของมรดกและผู้รับมรดก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

  • บุพการีหรือผู้สืบสันดาน ของเจ้าของมรดก ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย บุตรหลาน จะต้องเสียอัตราภาษีมรดกอยู่ที่ 5%
  • บุคคลธรรมดา ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับเจ้าของมรดก ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง จะต้องเสียอัตราภาษีมรดกอยู่ที่ 10%

 

และนอกจากจะมีภาษีมรดกที่ถูกเรียกเก็บเมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินหลังการเสียชีวิตของเจ้าของมรดกแล้ว ยังมีภาษีการให้ที่ถูกเรียกเก็บเมื่อเจ้าของมรดกส่งมอบทรัพย์สินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

ทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์

 

  • มอบให้ทายาทตามกฎหมาย จะต้องเสียภาษี 5% จากส่วนเกินของทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านบาท
  • มอบให้บุคคลธรรมดา จะต้องเสียภาษี 5% จากส่วนเกินของทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท

 

การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดก

การประเมินราคารถยนต์

 

1. อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในไทย 

ให้ยึดตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายที่ดิน และหักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิ

2. อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในต่างประเทศ

  • หากอสังหาริมทรัพย์อยู่ในประเทศที่มีราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ให้ยึดตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายประเทศนั้น ๆ
  • หากอสังหาริมทรัพย์อยู่ในประเทศที่ไม่มีราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ให้ยึดตามราคาที่รับรองโดยหน่วยงานที่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นผู้มีสิทธิประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศนั้น ๆ
  • สำหรับกรณีอื่น ๆ ให้ยึดตามราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก

3. หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย

ให้ยึดตามราคาหลักทรัพย์นั้นในขณะที่เวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์สิ้นสุดลง ณ วันที่ได้รับมรดก 

4. หลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย

  • หุ้นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยึดตามมูลค่าหุ้นทางบัญชีในรอบบัญชีก่อนรอบบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น 
  • ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้ ให้ยึดตามราคาที่จำหน่ายครั้งแรก หากราคาจำหน่ายครั้งแรกต่ำกว่าราคาไถ่ถอน และหากราคาจำหน่ายครั้งแรกสูงกว่าราคาไถ่ถอน ให้ยึดตามราคาไถ่ถอน
  • หลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ให้ยึดตามราคาหลักทรัพย์นั้นในขณะที่เวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์สิ้นสุดลง ณ วันที่ได้รับมรดก 
  • หลักทรัพย์อื่น ๆ ให้ยึดตามราคาหรือมูลค่า ณ วันที่ได้รับมรดก

5. ยานพาหนะ

  • รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ที่จดทะเบียนในไทย ให้ยึดตามราคาประเมินสำหรับปิดอากรแสตมป์ในการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายรถ โดยให้คำนวณตามราคาเฉลี่ยระหว่างราคาประเมินสูงสุดกับราคาประเมินต่ำสุด หรือให้ยึดตามราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคลหรือหน่วยงานที่อยู่ในองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้น
  • รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ให้ยึดตามราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคลหรือหน่วยงานที่อยู่ในองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้นในประเทศนั้น ๆ 
  • เรือ เครื่องบิน ให้ยึดตามราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคลหรือหน่วยงานที่อยู่ในองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้นในประเทศนั้น ๆ 
  • ยานพาหนะอื่น ๆ ให้ยึดตามราคาตลาด ณ วันที่ได้รับมรดก

6. เงินฝาก

หรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ที่เจ้าของมรดกมีสิทธิถอนคืนหรือเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่รับเงินนั้นไว้ โดยให้ยึดตามมูลค่าของเงินฝากรวมถึงดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ที่จะได้รับจากเงินฝากนั้น ๆ ณ วันที่ได้รับมรดก

 

วิธีการคำนวณภาษีมรดก

การคำนวณภาษีมรดกเสียเท่าไหร่

 

การคำนวณภาษีมรดกว่าเสียเท่าไร ถือเป็นการวางแผนการส่งมอบมรดกที่ดี เพื่อช่วยให้ บุพการี ผู้สืบสันดาน และบุคคลอื่น ได้รับผลประโยชน์สูงสุด โดยก่อนการคำนวณจะต้องทราบมูลค่าทรัพย์สินมรดกหลังหักหนี้สินทั้งหมดแล้วเกิน 100 ล้านบาทหรือไม่ หากเกินผู้รับมรดกจะต้องเสียภาษีตามรายละเอียดด้านล่างนี้

 

ตารางการคำนวณภาษีมรดก

มูลค่าทรัพย์สินมรดก อัตราภาษีมรดก
ไม่เกิน 100 ล้านบาท ไม่เสีย
ส่วนเกิน 100 ล้านบาท
  • 5% กรณีผู้รับมรดกมีสิทธิตามกฎหมาย
  • 10% กรณีผู้รับมรดกไม่ได้ผูกพันทางสายเลือด

 

1. กรณีผู้รับมรดกมีสิทธิตามกฎหมาย

ผู้รับมรดกที่มีสิทธิตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น บุพการีหรือผู้สืบสันดาน จะต้องเสียภาษีมรดกอยู่ที่ 5% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนเกิน

 

ตัวอย่างเช่น

มรดกมูลค่า 150 ล้านบาท ถูกส่งมอบไปยัง บุตร ซึ่งเป็นทายาททางสายเลือด จะสามารถคำนวณภาษีมรดกได้ดังนี้

 

สูตรคำนวณภาษีมรดกที่ต้องจ่าย = ( มูลค่ามรดกสุทธิที่ได้รับ - 100,000,000 ) x 5%

ภาษีมรดกที่ต้องจ่าย = ( 150,000,000 - 100,000,000 ) x 5%

ภาษีมรดกที่ต้องจ่าย = 50,000,000 x 5%

ภาษีมรดกที่ต้องจ่าย = 2,500,000 บาท

 

ตารางภาษีมรดกสำหรับผู้รับมรดกที่มีสิทธิตามกฎหมาย

มูลค่ามรดกสุทธิที่ได้รับ (บาท) ภาษีมรดกที่ต้องจ่าย (บาท)
200,000,000 5,000,000
350,000,000 12,500,000
600,000,000 25,000,000
750,000,000 32,500,000

 

2. กรณีผู้รับมรดกไม่ได้มีความผูกพันทางสายเลือด

ผู้รับมรดกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับเจ้าของมรดก ไม่ว่าจะเป็น ญาติ เพื่อนหรือคนรู้จัก จะต้องเสียภาษีมรดกอยู่ที่ 10% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนเกิน

 

ตัวอย่างเช่น

มรดกมูลค่า 150 ล้านบาท ถูกส่งมอบไปยัง เพื่อนสนิท ซึ่งไม่ได้เป็นทายาททางสายเลือด จะสามารถคำนวณภาษีมรดกได้ดังนี้

 

สูตรคำนวณภาษีมรดกที่ต้องจ่าย = ( มูลค่ามรดกสุทธิที่ได้รับ - 100,000,000 ) x 10%

ภาษีมรดกที่ต้องจ่าย = ( 150,000,000 - 100,000,000 ) x 10%

ภาษีมรดกที่ต้องจ่าย = 50,000,000 x 10%

ภาษีมรดกที่ต้องจ่าย = 5,000,000 บาท

 

ตารางภาษีมรดกสำหรับผู้รับมรดกที่มีสิทธิตามพินัยกรรม

มูลค่ามรดกสุทธิที่ได้รับ (บาท) ภาษีมรดกที่ต้องจ่าย (บาท)
200,000,000 10,000,000
350,000,000 25,000,000
600,000,000 50,000,000
750,000,000 65,000,000

 

สรุปได้ว่า ผู้รับมรดกที่ไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดาน จะต้องเสียภาษีมรดกมากกว่าหนึ่งเท่าของผู้รับมรดกที่เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานของเจ้าของมรดกนั่นเอง

 

วิธีการยื่นภาษีมรดก

การยื่นภาษีมรดก

 

โดยปกติแล้วผู้รับมรดกจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60) และชำระภาษีที่กรมสรรพากรภายใน 120 วันหลังได้รับมรดก แต่หากผู้รับมรดกยื่นแบบและชำระภาษีล่าช้า จะต้องชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนหรือต่อเศษเดือน ของเงินภาษีที่ต้องชำระ พร้อมเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีมรดกที่ต้องชำระ

แต่หากผู้รับมรดกเสียชีวิต จะต้องแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อทำเรื่องยื่นแบบ ภ.ม.60 และชำระภาษีแทนภายใน 180 วัน โดยจะต้องชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนหรือต่อเศษเดือน ของเงินภาษีที่ต้องชำระภายใน 150 วัน

 

  • หากผู้รับมรดกเสียชีวิตก่อนครบกำหนดเวลายื่นแบบ ให้ผู้จัดการมรดกชำระภาษีแทนได้โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ
  • หากผู้รับมรดกเสียชีวิตหลังครบกำหนดเวลายื่นแบบ และยังไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ให้ผู้จัดการมรดกชำระภาษีแทน พร้อมเสียเบี้ยปรับ 1 เท่าของภาษีมรดกที่ต้องชำระ

 

แต่หากไม่มีผู้จัดการมรดกมาชำระภาษีแทนภายใน 180 วัน จะต้องให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกมาจัดการแทนภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด 180 วัน ซึ่งหากมีทายาทหลายคนให้มอบอำนาจคนใดคนหนึ่งมา แต่ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ให้ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อไป

 

บทลงโทษกรณีหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีมรดก

บทลงโทษการเลี่ยงจ่ายภาษี

 

เนื่องจากการชำระภาษีถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองตามกฎหมาย ดังนั้น หากใครหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีมรดกหรือยื่นแบบและชำระภาษีล่าช้ากว่ากำหนด จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย ดังนี้

 

  • หากยื่นแบบ ภ.ม.60 หลังเวลาที่กำหนด จะต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของเงินภาษีมรดกที่ต้องจ่าย พร้อมจ่ายเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด
  • หากยื่นแบบ ภ.ม.60 ไม่ครบหรือไม่ตรงความเป็นจริง ซึ่งทำให้เงินภาษีมรดกที่ต้องชำระขาดไป จะต้องเสียเบี้ยปรับ 0.5 เท่าของเงินภาษีที่ต้องจ่าย
  • หากไม่ยื่นแบบ ภ.ม.60 โดยไม่มีเหตุอันสมควร จะมีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท
  • หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน รวมถึงไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมิน จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • หากทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดให้แก่บุคคลอื่น จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท
  • หากจงใจยื่นข้อความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ นำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือให้ความเท็จโดยเจตนาละเลย ฉ้อโกง หรือใช้อุบายหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือแนะนำสนับสนุนให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

เทคนิคการวางแผนภาษีมรดก มีอะไรบ้าง?

เครื่องเพชร

 

สำหรับใครที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก การวางแผนภาษีมรดกถือเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย เพราะช่วยให้ผู้รับมรดกได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งเทคนิคการวางแผนภาษีมรดกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้

 

  • เปลี่ยนการถือครองทรัพย์สินให้เป็นประเภททรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษีมรดก เช่น เงินสด ทองคำ เครื่องเพชร เครื่องประดับ หรือวัตถุโบราณ เป็นต้น
  • ทยอยส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้รับมรดกในขณะที่ยังมีชีวิต โดยการส่งมอบทรัพย์สินปีละไม่เกิน 20 ล้านบาท ให้แก่ทายาททางสายเลือด หรือส่งมอบทรัพย์สินปีละไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้แก่บุคคลที่ไม่ใช่ทายาททางสายเลือด
  • ซื้อประกันชีวิต เนื่องจากมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะยิ่งจ่ายเบี้ยประกันเยอะเท่าไร ก็ยิ่งได้ผลตอบแทนมากเท่านั้น
  • ก่อตั้งมูลนิธิ สมาคม หรือวิสาหกิจเพื่อชุมชน เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งยังสามารถจดทะเบียนกับกรมสรรพากร เพื่อขอยกเว้นภาษีได้อีกด้วย

 

กรณีที่ไม่สามารถจ่ายภาษีเต็มจำนวนได้ สามารถผ่อนจ่ายได้ไหม

การผ่อนจ่ายภาษี

 

เนื่องจากจำนวนเงินภาษีมรดกที่ต้องชำระอยู่ในเรทที่ค่อนข้างสูง ทำให้ผู้รับมรดกหลานท่านไม่สามารถชำระภาษีมรดกเต็มจำนวนได้ในครั้งเดียว กฎหมายจึงอนุญาตให้ผู้รับมรดกสามารถยื่นขอผ่อนชำระได้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี และหากสามารถชำระภาษีหมดภายใน 2 ปี จะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยอีกด้วย

 

เพิ่มพูนความรู้เรื่องภาษีให้มากขึ้น ด้วยบทความน่ารู้จากเอพีไทย

 

ภาษีมรดก เรื่องสำคัญที่ควรรู้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนที่เรารัก

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลสำคัญ ๆ ของภาษีมรดกที่ทุกคนควรรู้ ทั้งภาษีมรดกคืออะไร ประเภททรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดก วิธีคำนวณภาษีมรดกว่าเสียเท่าไร รวมถึงเทคนิคการวางแผนเรื่องภาษีมรดก ที่น่าจะพอเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมของทั้งเจ้าของมรดกและผู้รับมรดก เพื่อวางแผนและจัดการมรดกให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนที่เรารัก

 

เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต

เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมดีไซน์สวยหรือบ้านแฝดฟังก์ชันใหญ่ คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย

 

EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ

RELATED ARTICLES