การเลือกหลอดไฟที่มีความเหมาะสมกับที่อยู่อาศัย จะช่วยให้บ้านมีแสงสว่างที่พอเหมาะ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเพิ่มความสะดวกสบาย และปลอดภัยในการใช้งานเท่านั้น ยังช่วยทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย แต่เมื่อมีการใช้งานนานวันเข้า ก็ย่อมเสียและเสื่อมสภาพลง การเรียนรู้วิธีเปลี่ยนหลอดไฟด้วยตัวเอง เมื่อหลอดไฟในบ้านมีปัญหา ช่วยให้เปลี่ยนได้ในทันที โดยไม่ต้องรอช่างให้เสียเวลา ที่สำคัญสามารถทำได้ด้วยเทคนิคง่ายๆ 3 ขั้นตอนเท่านั้น
ชนิดของหลอดไฟ
ปัจจุบันมีการพัฒนาและออกแบบหลอดไฟไว้หลากหลายชนิด เพื่อให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมและความคุ้มค่าตามระยะเวลาการใช้งาน ซึ่งแต่ละชนิดก็มีรูปแบบและวิธีการใช้ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งประเภท ขนาดและสี ซึ่งอาจจะทำให้หลายๆ คนเกิดความสับสน เมื่อต้องเลือกซื้อหลอดไฟมาใช้งาน ดังนั้น ไปทำความรู้จักกับชนิดของหลอดไฟกันว่ามีอะไรบ้าง
● หลอดกลม
หลอดไฟกลม หรือหลอดไส้ (Incandescent Lamp) เป็นหลอดไฟที่มีการใช้งานตั้งแต่ยุคแรกๆ ซึ่งหลอดไฟกลมจะมีขดลวดโลหะอยู่ภายใน เมื่อไฟฟ้าส่งผ่านไปยังไส้จนเกิดความร้อน ก็จะเปล่งแสงสว่างออกมา หลอดกลมเป็นหลอดไฟที่ใช้งานง่าย สะดวก แต่ให้ความสว่างที่น้อยเมื่อเทียบกับหลอดไฟประเภทอื่นๆ ที่สำคัญให้ความร้อนที่สูง ซึ่งจะทำห้องที่ใช้หลอดไฟชนิดนี้อากาศร้อนขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีอายุการใช้งานที่สั้น อาจจะทำให้ต้องเปลี่ยนบ่อยขึ้น
● หลอดฟลูออเรสเซนต์
หลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent Lamp) หรือบางคนอาจเรียกว่า หลอดนีออน หรือหลอดเรืองแสง เป็นหลอดไฟติดเพดานที่ให้ความสว่างมากกว่าหลอดไส้ถึง 5 เท่า ซึ่งหลักการทำงานของหลอดฟลูออเรสเซนต์จะเกิดขึ้นเมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านปรอท และจะคลายพลังงานในรูปแบบของรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ออกมา เมื่อกระทบกับสารเรืองแสงที่เคลือบหลอดไฟด้านใน ก็จะทำให้เกิดแสงสว่าง หลอดฟลูออเรสเซนต์ เป็นหลอดไฟที่ให้แสงสว่างสีขาวนวลตา มีอายุการใช้งานที่มากกว่าหลอดกลม ที่สำคัญไม่ทำให้ห้องร้อนขึ้น แม้ว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์อาจจะราคาสูงกว่าหลอดกลม แต่ก็ช่วยประหยัดไฟได้มากกว่า
● หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์
หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (CFL: Compact Fluorescent Lamp) หรือหลอดตะเกียบ เป็นหลอดไฟที่มีหลักการทำงานคล้ายคลึงกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ แต่มีขนาดที่เล็กกระทัดรัดคล้ายหลอดกลม หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์นั้นมี 2 ชนิด คือแบบที่มีบัลลาสต์ภายในและแบบที่มีบัลลาสต์ภายนอก ข้อดีของหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ คือ สามารถใช้งานแทนหลอดกลมได้เลย แม้ว่าจะมีราคาที่แพงกว่า แต่ก็ประหยัดไฟกว่าด้วย แต่หากเลือกใช้หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ชนิดที่บัลลาสต์และสตาร์ทเตอร์ติดผนึกเดียวกัน เมื่อเกิดการชำรุดจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนหลอดไฟใหม่ทั้งหมด
● หลอดฮาโลเจน
หลอดฮาโลเจน (Halogen Lamp) เป็นหลอดไฟที่มีหลักการทำงานคล้ายกับหลอดกลม แต่จะแตกต่างกันตรงแก๊สที่บรรจุภายในหลอด ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้หลอดฮาโลเจนมีความทนทานและประหยัดไฟมากกว่า ที่สำคัญตัวหลอดฮาโลเจนนั้นจะมีขนาดที่เล็กกว่าหลอดกลมแต่ให้ความสว่างเท่ากัน โดยส่วนใหญ่แล้วหลอดฮาโลเจนมักจะติดตั้งเฉพาะจุด หรือพื้นที่ที่ต้องการความสว่างเป็นพิเศษ เช่น ตู้เสื้อผ้า ตู้โชว์ รูปภาพ งานศิลปะ หรือตู้เครื่องประดับ
● หลอด LED
หลอด LED (LED: Light Emitting Diodes) เป็นหลอดไฟที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาชนิดหลอดไฟทั้งหมด แม้จะมีขนาดเล็กแต่ให้แสงสว่างมาก ทั้งนี้ หลักการทำงานของหลอด LED นั้นจะต่างจากการทำงานของหลอดชนิดอื่น การให้แสงสว่างของหลอด LED นั้นเกิดขึ้นจากการเคลื่อนตัวของอิเล็กตรอนภายในสารกึ่งตัวนำ ทำให้เป็นหลอดไฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นหลอดที่ไม่มีไส้ ทำให้ไม่เกิดการเผาไส้หลอด ช่วยลดภาวะโลกร้อน แถมยังไม่ปล่อยรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ด้วย นอกจากนี้ หลอด LED ยังช่วยถนอมสายตา จึงนิยมใช้ตกแต่งห้อง หรือติดด้านบนเพดานห้องที่ต้องใช้สายตา อย่างห้องทำงาน หรือห้องสำหรับการพักผ่อนอย่างห้องนอน เป็นต้น ที่สำคัญหลอด LED มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่หลอด LED จะมีราคาที่แพงกว่าหลอดชนิดอื่นๆ เล็กน้อย
อาการของหลอดไฟที่ควรเปลี่ยน
หลอดไฟมีส่วนประกอบหลักๆ ทั้งหมด 3 ส่วน คือ ตัวหลอดไฟ บัลลาสต์ และสตาร์ทเตอร์ โดยเมื่อใช้ไปนานๆ อาจส่งผลให้หลอดไฟเกิดการเสื่อมสภาพ และต้องมีการเปลี่ยนหลอดไฟใหม่ แต่บางครั้งปัญหาก็ไม่ได้เกิดจากการเสื่อมสภาพเสมอไป ดังนั้น ก่อนจะเปลี่ยนหลอดไฟ ต้องตรวจสอบก่อนว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร และอาการไหนถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าสมควรที่จะต้องเปลี่ยนหลอดไฟได้แล้ว ซึ่งมีดังนี้
● หลอดไฟกระพริบ
เมื่อหลอดไฟกระพริบ ติดๆ ดับๆ เหมือนอยู่ในหนังสยองขวัญ นอกจากจะสร้างความรำคาญในการใช้งานแล้ว ยังทำให้บ้านไม่น่าอยู่อีกด้วย ซึ่งปัญหาหลอดไฟกระพริบนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากบัสลาสต์เสีย ไฟไม่พอ แรงดันไฟต่ำ หลอดไฟใกล้หมดอายุ หรือขั้วหลอดไฟหลวม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็จะมีวิธีการแก้ไขที่แตกต่างกันออกไป
● หลอดไฟเสื่อมสภาพ
หลอดไฟเมื่อใช้มานานมักจะเจอปัญหาขั้วหลอดดำ ซึ่งเป็นปัญหาที่บ่งบอกว่าหลอดไฟเสื่อม ใกล้หมดอายุในการใช้งาน โดยที่ปลายขั้วหลอดไฟทั้งด้านเดียว และทั้งสองด้านจะเริ่มดำมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ การใช้บัลลาสต์ผิดขนาด ไม่เหมาะสมกับหลอดไฟ ยังทำให้กระแสไฟที่ไหลผ่านในปริมาณที่ไม่เหมาะสม และทำให้หลอดไฟเสื่อมได้เร็วขึ้นอีกด้วย
● หลอดไฟมีเสียงขณะเปิด - ปิด
ปัญหาหลอดไฟมีเสียงขณะเปิด - ปิด เป็นปัญหาที่ไม่ได้พบบ่อยนัก โดยส่วนใหญ่แล้วปัญหานี้เกิดขึ้นจากหลอดไฟไม่ได้เปิดใช้งานเป็นเวลานาน ซึ่งเสียงดังที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากบัลลาสต์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าควบคุมปริมาณไฟฟ้าที่ผ่านไปยังขั้วหลอดไฟ เมื่อบัลลาสต์เสื่อม ทำให้แกนเหล็กด้านในหลวมจนทำให้แผ่นเหล็กด้านในกระทบกัน จนเกิดเสียงดังขณะเปิด - ปิด หรืออีกกรณีหนึ่งคือการติดตั้งบัลลาสต์ไม่แน่น เมื่อเปิด - ปิดไฟทำให้บัลลาสต์สั่นจนทำให้เกิดเสียงดังได้
วิธีตรวจสอบหลอดไฟแบบง่ายๆ
ปัญหาการทำงานของหลอดไฟเป็นปัญหาที่เกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเสื่อมสภาพของหลอดไฟ เกิดจากบัลลาสต์ หรือว่าเกิดจากสตาร์ทเตอร์ ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็มีวิธีตรวจสอบหลอดไฟที่แตกต่างกันออกไป ปัญหาบางอย่างอาจจะสามารถสังเกตได้จากตาเปล่า บางปัญหาอาจจะต้องใช้อุปกรณ์ หรือตัวช่วยเพื่อตรวสอบ ซึ่งวิธีการตรวจสอบหลอดไฟเบื้องต้นจะช่วยให้ทราบได้ว่าควรใช้วิธีเปลี่ยนหลอดไฟแบบใด หรือเปลี่ยนที่ส่วนประกอบใด
1.เตรียมอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบ
งานไฟฟ้าเป็นงานที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง เมื่อต้องตรวจสอบหรือต้องเปลี่ยนหลอดไฟในบ้านด้วยตัวเอง จำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์สำหรับการตรวจสอบ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น โดยอุปกรณ์พื้นฐานที่ช่วยในการตรวจสอบมี ดังนี้
● ไขควงวัดไฟ: เป็นอุปกรณ์ตรวจสอบบัลลาสต์ว่าทำงานปกติ มีไฟเข้า - ออกหรือไม่
● ไขควง: ใช้สำหรับขันเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์หรือซ่อมแซมให้อุปกรณ์แน่นหนามากขึ้น
● บันได: เมื่อต้องเปลี่ยนหลอดไฟด้วยตัวเองหรือตรวจสอบหลอดไฟบริเวณที่อยู่สูง เช่น หลอดไฟ LED บนเพดานห้อง เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้บันไดเป็นตัวช่วย เพื่อให้เปลี่ยนได้ง่ายขึ้น
2.ปิดเบรกเกอร์ไฟบ้าน
เบรกเกอร์ (Circuit Breaker) เป็นอุปกรณ์ตัดวงจรไฟฟ้า ดังนั้น ก่อนที่จะตรวจสอบหรือเปลี่ยนหลอดไฟ การกดปิดสวิตช์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพื่อความปลอดภัย ควรปิดเบรกเกอร์ไฟบ้าน เพื่อป้องกันไฟรั่ว ไฟดูด และไฟฟ้าเกินขนาด
3.ตรวจหลอดไฟ
ขั้นตอนการตรวจหลอดไฟ สามารถทำได้ด้วยการสังเกต หากขั้วหลอดไฟทั้งสองข้าง หรือว่าข้างใดข้างหนึ่งดำ แสดงว่าหลอดไฟเสื่อมสภาพ ใกล้หมดอายุ ถึงเวลาที่ควรเปลี่ยนหลอดไฟได้แล้ว
4.ตรวจสตาร์ทเตอร์
สตาร์ทเตอร์ (Starter) เปรียบเสมือนตัวกระตุ้นทำให้หลอดไฟเกิดการทำงาน โดยสตาร์ทเตอร์จะทำให้เกิดประจุในหลอดไฟ เมื่อไฟฟ้าไหลผ่านสตาร์ทเตอร์ก็จะไปกระตุ้นให้ไฟติด แต่หากบริเวณสตาร์ทเตอร์ไม่มีแสงไฟกระพริบ หรือแสงไฟติดแค่ตรงส่วนปลายแสดงว่าสตาร์ทเตอร์พัง
5.ตรวจบัลลาสต์
บัลลาสต์ (Ballast) เป็นส่วนที่แข็งแรงและมีความทนทานมากที่สุด โดยทำหน้าที่ในการควบคุมกระแสไฟฟ้า และจ่ายไฟให้มีความเหมาะสม หากไฟไม่ติดอาจเกิดจากการทำงานของบัลลาสต์ ซึ่งสามารถตรวจสอบการทำงานได้โดยใช้ไขควงวัดไฟวัดว่าภายในบัลลาสต์มีไฟฟ้าหรือไม่ หรือจะลองนำบัลลาสต์จากหลอดไฟตัวอื่นมาเปลี่ยนว่าใช้งานได้หรือไม่
วิธีเปลี่ยนหลอดไฟด้วยตัวเอง
วิธีเปลี่ยนหลอดไฟในบ้านด้วยตัวเองนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินความสามารถ เมื่อตรวจสอบจนพบสาเหตุแล้วว่า ปัญหาหลอดไฟนัั้นเกิดจากตัวการได้ เพียงทำตามขั้นตอนง่ายๆ 3 ขั้นตอนดังนี้ คุณก็สามารถเปลี่ยนหลอดไฟในบ้านได้ด้วยตัวเองแล้ว
1.เตรียมอุปกรณ์สำหรับเปลี่ยนหลอดไฟ
อุปกรณ์สำหรับการเปลี่ยนหลอดไฟในบ้านก็ไม่มีอะไรมาก บันไดพับสำหรับใช้เปลี่ยนในบริเวณที่สูงหรือเปลี่ยนไม่ถึง เช่น บนเพดานห้อง หรือหากบ้านไหนที่สามารถใช้ไม้เปลี่ยนหลอดไฟได้ก็สะดวกไปอีกแบบ นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมไขควงเพื่อขันเพิ่มความแน่นหนา ที่สำคัญควรสวมใส่ถุงมือยางเพื่อป้องกันไฟฟ้าขณะเปลี่ยนหลอดไฟในบ้านเพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่ว
2.วิธีเปลี่ยนหลอดไฟตามอาการของแต่ละรูปแบบ
วิธีเปลี่ยนหลอดไฟแต่ละแบบนั้นจะมีความแตกต่างกันออกไป โดยจะขึ้นอยู่กับอาการที่เสียและรูปแบบของหลอดไฟที่ใช้ ซึ่งวิธีเปลี่ยนหลอดไฟหลักๆ มีดังนี้
● เปลี่ยนหลอดไฟแบบขาทั่วไป
วิธีเปลี่ยนหลอดไฟแบบขาทั่วไปสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องจ้างช่างก็ยังได้ ซึ่งวิธีเปลี่ยนหลอดไฟแบบขาทั่วไปจะต้องเริ่มด้วยการหมุนเกลียวออกจากล็อก หลอดไฟจึงจะหลุดลงมา ตามด้วยการนำหลอดไฟดวงใหม่ขึ้นไปใส่ โดยวิธีการก็เหมือนเดิม คือ การหมุนเกลียวให้ลงล็อก เพียงเท่านี้ก็สามารถเปลี่ยนหลอดไฟในบ้านได้ด้วยตัวเองแล้ว
● เปลี่ยนหลอดไฟแบบขาสปริง
วิธีเปลี่ยนหลอดไฟแบบขาสปริงจะมีความแตกต่างจากวิธีเปลี่ยนหลอดไฟจากขาแบบปกติเล็กน้อย การเปลี่ยนหลอดไฟแบบขาสปริงนั้น จะต้องทำการหมุนเพื่อปลดล็อกก่อน แล้วดึงขาข้างหนึ่งออกจากล็อก และนำลงมาได้เลย เมื่อใส่หลอดไฟอันใหม่เข้าไป โดยให้ใส่ทีละข้าง เมื่อใส่ครบทั้งสองข้างแล้วให้หมุนเพื่อล็อก
● เปลี่ยนสตาร์ทเตอร์
การถอดสตาร์ทเตอร์เดิมออกทำได้โดยการหมุนสตาร์ทเตอร์ออกจากล็อก แล้วปลดลงมา เมื่อใส่อันใหม่ให้นำด้านที่มีขั้วเสียบเข้าไปในช่องเดิมแล้วหมุนให้แน่น
● เปลี่ยนบัลลาสต์
การเปลี่ยนบัลลาสต์สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือต้องปิดสวิตช์ไฟก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัย เมื่อปิดสวิตช์ไฟเรียบร้อยแล้ว เริ่มจากการถอดฝาครอบออก หลังจากนั้น ใช้ไขควงขันเพื่อถอดขั้วต่อบัลลาสต์ แล้วนำตัวบัสลาสต์ซึ่งจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยนผืนผ้าออกมา นำบัลลาสต์ตัวใหม่ใส่เข้าไป ต่อขั้วสายไฟกลับเข้าไปเหมือนเดิมให้เรียบร้อย แล้วขันให้แน่น ใส่ฝาครอบลงไป จึงถือว่าเปลี่ยนบัลลาสต์เสร็จแล้ว
3.ตรวจสอบความเรียบร้อยก่อนเปิดไฟ
หลังจากที่เปลี่ยนหลอดไฟเรียบร้อยบนเพดานเสร็จแล้ว ควรตรวจสอบความเรียบร้อยต่างๆ อีกครั้งว่าหมุนหลอดไฟ สตาร์ทเตอร์แน่นแล้วหรือยัง บัลลาสต์ที่เปลี่ยนใส่ขันเรียบร้อยดีหรือไม่ หากเรียบร้อยแล้วก็ทดสอบเปิดสวิตช์ว่าหลังจากเปลี่ยนแล้วใช้งานได้ปกติดีหรือเปล่า
การเปลี่ยนหลอดไฟในบ้านไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป สามารถเปลี่ยนได้ง่ายๆ เพียงแค่ทำตาม 3 วิธีที่ได้รวบรวมมาในบทความนี้ ซึ่งก่อนทำการเปลี่ยนควรตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้หลอดไฟเสีย เพื่อจะได้เปลี่ยนได้ตรงจุด และเมื่อเปลี่ยนเสร็จแล้วก็ควรตรวจสอบว่าเรียบร้อยหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตนเองและคนในบ้าน