KNOW HOW
  • FINANCIAL

5 สเต็ป วางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน

บทความที่จะพาทุกคนไปวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน เพื่อรับความเสี่ยงได้ทันท่วงที ยิ้มได้แม้ในชีวิตบั้นปลาย

AP THAILAND

AP THAILAND

ประเทศไทยได้กำหนดอายุเกษียณการทำงานไว้ที่ 60 ปี ซึ่งหลายคนอาจกำลังนั่งนับวันรอให้ถึงวันนั้น โดยเฉพาะคนที่ทำงานมาหลายสิบปีจนอายุใกล้ถึงวัยเกษียณ เพราะนอกจากจะได้พักจากการทำงานหนักมาตลอดหลายปีแล้ว บางคนยังเตรียมแผนหาความสุขด้วยการท่องเที่ยวอย่างที่ต้องการ 

 

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาเกษียณจริงหลายคนกลับทำไม่ได้ หรือบางคนอาจต้องกลับไปทำงานอีกครั้ง ด้วยขาดปัจจัยสำคัญอย่าง “เงิน” ซึ่งปัญหาเหล่านี้ อาจเกิดจากการขาดการวางแผนเกษียณอายุอย่างเหมาะสมตั้งแต่ตอนที่ยังทำงานอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญกับการวางแผนการ ออมเพื่อเกษียณอายุกันตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ต้นๆ กันเลยทีเดียว  แต่การวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน จะมีต้องทำอย่างไรบ้างนั้น เรามี 5 สเต็ปง่ายๆ มาฝาก 

 

กำหนดอายุที่จะเกษียณ และระยะเวลาหลังเกษียณ

1. กำหนดอายุที่จะเกษียณ และระยะเวลาหลังเกษียณ

จากข้อมูลการศึกษาจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยในปี 2021 ได้มีการประเมินว่า เพศชายมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 73.5 ปี ในขณะที่เพศหญิงอยู่ที่ 80.5 ปี เมื่อหักลบกับอายุเกษียณแล้วเท่ากับคนไทยจะมีเวลาหลังเกษียณที่ 13 – 20 ปี แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแพทย์ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีคนอายุ 100+ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคน Gen Alpha หรือคนที่เกิดในปี 2553 – 2567 อาจมีอายุเฉลี่ยถึง 110 ปี ซึ่งสิ่งที่ตามมานอกจากเวลาที่มากขึ้นแล้ว ยังหมายถึงต้องใช้เงินการดูแลตัวเองมากขึ้นด้วย 

 

เพราะฉะนั้น ถ้าอยากเริ่มวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ วิเคราะห์อายุขัยและเวลาหลังเกษียณของตัวเอง โดยอาศัยข้อมูลอายุและสุขภาพของคนในครอบครัว จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการ วางแผนการออมเพื่อเกษียณอายุในขั้นตอนต่อไป 

2. คำนวณรายจ่ายหลังเกษียณ

ทุกคนย่อมมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวไม่เว้นแม้แต่ตอนเกษียณอายุ ดังนั้น ถ้าอยากให้การวางแผนเกษียณอายุมีประสิทธิภาพ และมีเงินใช้จ่ายแบบสบายๆ หลังเกษียณ หลังจากประเมินเวลาหลังเกษียณแล้ว ขั้นตอนต่อมาต้องคำนวณว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะน้อยกว่าค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณประมาณ 30% เนื่องจากมีการตัดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องการทำงาน การเดินทาง และค่าเข้าสังคมออกไป 

 

แต่ถ้าอยากได้รายได้แบบชัดเจนแนะนำว่าให้ลองลิสต์รายละเอียดค่าใช้จ่ายต่อเดือนออกมาและคูณจำนวนเดือนหลังเกษียณ เช่น ถ้าคิดว่าจะใช้เงินทั้งสิ้น 10,000 บาทต่อเดือน คาดว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณ 20 ปี จะใช้เงินอย่างน้อย 2,400,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในระบบการเงินค่าเงินจะลดลงตามอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีละ 3% ซึ่งสามารถคำนวณ ได้ดังนี้ 

 

ค่าเงินในอนาคต = เงินต้น x ( 1+ อัตราเงินเฟ้อต่อปี ) ^ จำนวนปี

 

สูตรคำนวณปริมาณเงินที่ต้องใช้ในอนาคตหลังเกษียณ

 

ดังนั้น เงิน 10,000 บาท ผ่านไป 20 ปี จะเท่ากับต้องใช้เงิน 18,000 บาทต่อเดือน ทำให้ความเป็นจริงแล้วต้องมีเงินอย่างน้อย 4,320,000 บาท ถึงจะเพียงพอในการใช้จ่ายในช่วงเวลาหลังเกษียณ 20 ปี โดยไม่ต้องทำงานหาเงินเพิ่ม

 

พิจารณาช่องทางรายได้ให้หลากหลายและคำนวณรายได้หลังเกษียณ

3. พิจารณาช่องทางรายได้ให้หลากหลายและคำนวณรายได้หลังเกษียณ

แค่เห็นตัวเลขเงินออมหลังเกษียณ หลายคนอาจนึกท้อแท้ เพราะไม่รู้ว่าจะหาเงินหลักล้านได้อย่างไร แต่ในความจริงแล้ว การวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือนสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ช่วงที่ยังทำงานอยู่ ซึ่งการเก็บออมจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว รวมกับเงินชดเชยการทำงาน หรือเงินรายได้ที่เกิดขึ้นหลังเกษียณแล้ว สำหรับบางคนอาจยังไม่ถึงยอดเงินที่ตั้งเป้าหมายไว้ แนะนำให้ลองมองหารายได้เพิ่มจากสิ่งที่ตัวเองถนัด หรือนำเงินไปลงทุนในช่องทางต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งประเภทการลงทุนเรียงตามผลตอบแทนและความเสี่ยงมีดังนี้

 

  • ฝากเงินสดกับธนาคาร เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เพราะเงินต้นไม่หาย แต่ก็มาพร้อมดอกเบี้ยต่ำ สามารถเลือกได้ว่าจะฝากในบัญชีทั่วไปที่มีข้อดีตรงสามารถถอนได้ทุกเมื่อที่ต้องการ และบัญชีเงินฝากประจำที่ได้ดอกเบี้ยสูงกว่า แต่สามารถถอนได้เมื่อฝากครบตามที่ธนาคารกำหนด
  • พันธบัตรรัฐบาล เป็นการลงทุนกับนโยบายของรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีความเสี่ยงต่ำเพราะจะอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของรัฐบาล แต่ก็จะได้ผลตอบแทนน้อยเช่นเดียวกับการฝากเงินกับธนาคาร
  • หุ้นกู้ เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน มีผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล แต่จะมีเสี่ยงสูง เพราะมีโอกาสที่เอกชนจะผิดนัดจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุน
  • กองทุนรวม เป็นการลงทุนในกองทุนต่างๆ กับสถาบันการเงิน ซึ่งจะนำเงินของนักลงทุนไปลงทุนทรัพย์สินต่างๆ ตามนโยบายของกองทุน ทำให้กองทุนรวมมีความเสี่ยงตั้งแต่ต่ำสุดไปถึงสูงสุด แต่ข้อดี คือ ไม่ต้องติดตามราคาของทรัพย์สินที่ลงทุนด้วยตัวเอง
  • หุ้น เป็นการลงทุนในหุ้นของบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน ข้อดี คือ ตัดสินใจซื้อขายได้ด้วยตัวเอง ส่วนข้อเสียต้องศึกษาข้อมูลของหุ้นที่ต้องการให้ละเอียดก่อนลงทุนไม่เช่นนั้นอาจมีโอกาสขาดทุนสูง
  • อนุพันธ์ เป็นการลงทุนในสัญญาทางการเงิน เพื่อซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตผ่านตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยทรัพย์สินอ้างอิงที่ใช้ในการซื้อขายมีทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ หุ้น พันธบัตร ข้อดี คือ ใช้เงินลงทุนน้อย ได้ผลตอบแทนสูง แต่เสี่ยงต่อการขาดทุนสูงมาก จึงไม่เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ที่ขาดประสบการณ์

 

จากข้อมูลด้านการลงทุนจะเห็นว่าแต่ละประเภทให้ผลตอบแทนการลงทุนและระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงไม่ควรนำเงินไปลงในการลงทุนเพียงประเภทเดียว เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

 

วางแผนออมเงินในปัจจุบัน และคำนวณเงินออมที่ต้องมีเมื่อเกษียณ

วางแผนออมเงินในปัจจุบัน และคำนวณเงินออมที่ต้องมีเมื่อเกษียณ

เมื่อรู้แล้วว่าต้องเตรียมเงินเท่าไหร่และวิธีการไหนบ้างที่จะหาเงินเพิ่มได้ ขั้นตอนต่อมาคือ การวางแผนการออมเพื่อเกษียณอายุ ซึ่งจะทำให้สามารถมองภาพรวมในการวางแผนเกษียณอายุของตัวเอง และเริ่มออมเงินทันที เพราะยิ่งออมเร็วก็ยิ่งเก็บเงินต่อเดือนน้อยลง เช่น ต้องการมีเงินใช้ในช่วงเกษียณ 4,320,000 บาท ถ้าเริ่มเก็บเงินตอนอายุ 30 ปี จะเหลือเวลาเก็บเงิน 30 ปี (360 เดือน) ทำให้ต้องเก็บเงินเดือนละ 12,000 บาท แต่ถ้าออมตั้งแต่เริ่มทำงานหรืออายุ 22 ปี จะมีเวลาออมเงิน 38 ปี (456 เดือน) จะเก็บเงินเดือนละ 9,475 บาทเท่านั้น 

 

แต่หากมองกันตามความจริงการออมเงินอาจทำได้ค่อนข้างยากในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ต่อให้ออมเงินสูงสุดที่ 50% ของเงินที่ได้มาตามวิธีการออมของ Rockefeller ซึ่งมหาเศรษฐีชื่อดังก็ยังยากที่จะถึงเป้าหมาย ดังนั้น แนะนำว่าให้เลือกออมเงินที่มีผลตอบแทนเพิ่มจะทำให้มีเงินออมต่อปีสูงขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างออมเงินที่ให้ผลตอบแทน มีดังนี้

 

  • กองทุนที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเอกชน ซึ่งทางหน่วยงานจะเก็บทุกเดือนอัตโนมัติ เพื่อรับเงินต้นพร้อมผลตอบแทนเวลาเกษียณอายุการทำงาน       
  • ประกันชีวิต เป็นการซื้อประกันกับบริษัทเพื่อรับผลตอบแทนเมื่อครบสัญญา อีกทั้งยังเป็นการประกันความเสี่ยงให้กับคนในครอบครัวด้วย เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นทางครอบครัวจะได้รับเงินชดเชยตามสัญญาของกรมธรรม์
  • ออมเงินในการลงทุนประเภทต่างๆ ซึ่งมีให้เลือกมากมายหลายประเภท แต่ถ้าอยากได้ผลตอบแทนสูงแนะนำว่าให้ลงทุนในกองทุนและหุ้นที่สามารถเลือกลงทุนระยะยาวและได้รับผลตอบแทนต่อเนื่องหลายสิบปี ตราบใดที่ยังไม่ถอนการลงทุน

 

ตรวจสอบสถานการณ์เศรษฐกิจและแผนเกษียณอยู่เสมอ

ตรวจสอบสถานการณ์เศรษฐกิจและแผนเกษียณอยู่เสมอ

สำหรับขั้นตอนสุดท้ายของการวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน คือ หมั่นตรวจสอบสถานการณ์เศรษฐกิจ และแผนเกษียณของตัวเองอยู่เสมอ เนื่องจากหากสถานการณ์โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ภาวะสงคราม มีโรคระบาด หรือปัญหาทางการเมือง สามารถผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ราคาข้าวของปรับตัวสูงขึ้น  หรือภาคธุรกิจปรับลดกำลังงานลง 

เพราะฉะนั้น จึงควรหมั่นติดตามสถานการณ์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจ รวมถึง ตรวจสอบการผลตอบแทนการออมเงินหรือการลงทุน และปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ ถ้ามองแล้วว่าเสี่ยงขาดทุนจะได้รีบถอนตัวออกมา เพื่อรักษาเงินต้นไว้

 

ข้อดีของการวางแผนเกษียณอายุ

ข้อดีของการวางแผนเกษียณอายุ

จากขั้นตอนการวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือนที่นำมาฝาก เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการวางแผนการออมเพื่อเกษียณอายุเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะมีเวลาในการออมเงินนานกว่า มีเงินเก็บเยอะกว่าการเริ่มต้นตอนอายุมาก แต่นอกจากเรื่องเงินแล้ว การวางแผนเกษียณอายุจะมีข้อดีในเรื่องไหนอีกบ้างนั้น มาดูกันเลยดีกว่า

  • ไม่มีหนี้กวนใจ

อย่างที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่าช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว อีกทั้งสมัยนี้ยังนิยมซื้อก่อนจ่ายทีหลังด้วยบัตรเครดิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนวัยนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ผ่อนบ้าน รถยนต์ และบัตรเครดิต แต่ถ้ารู้จักการวางแผนเกษียณอายุต่อให้เป็นหนี้จากการซื้อทรัพย์สินก็สามารถจัดการได้ตามแผนการใช้จ่ายที่ตั้งไว้ เมื่อถึงวันที่เกษียณก็ไม่มีปัญหาหนี้มาตามกวนใจ

  • ดูแลตัวเองได้ หายห่วง

ในช่วงที่ยังทำงานอยู่หลายคนอาจไม่ห่วงเรื่องค่ารักษาพยาบาล เพราะทั้งประกันสังคม สวัสดิการจากหน่วยงาน และประกันสุขภาพจากบริษัทที่มีให้เลือกมากมาย แต่สำหรับเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณนอกจากไม่มีสวัสดิการส่วนนี้แล้ว ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและค่าจ้างคนดูแลเพิ่มขึ้นด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองได้ 

แต่ถ้าเริ่มการวางแผนการออมเพื่อเกษียณอายุไว้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ก็จะมีทั้งเงินในการดูแลสุขภาพและหาความสุขให้กับตัวเองโดยไม่ต้องเดือดร้อนลูกหลาน

  • ยังรับความเสี่ยงได้ แก้สถานการณ์การเงินได้ทันท่วงที

เหตุผลที่แนะนำให้เริ่มการวางแผนเกษียณอายุตั้งแต่เริ่มทำงาน เนื่องจากเป็นวัยที่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายน้อยกว่าคนที่เริ่มอายุมาก รวมถึง หากเกิดความผิดพลาดทางการเงิน ยังมีเวลาในการตั้งต้นใหม่ได้ง่ายกว่าด้วย

 

สิ่งที่ควรระวังในการวางแผนเกษียณอายุ

สิ่งที่ควรระวังในการวางแผนเกษียณอายุ

ถึงแม้ว่าขั้นตอนการวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือนจะดูไม่ยาก ขอแค่คำนวณค่าใช้จ่าย วางแผนการออม ตรวจสอบการวางแผนการออมเพื่อเกษียณอายุอย่างน้อยปีละครั้ง และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น แต่สุดท้ายอาจมีบางคนที่ทำไม่ได้ หรือวางแผนการออมมาอย่างรัดกุมไม่เพียงพอ เนื่องจากลืมระวังเรื่องดังต่อไปนี้

  • ประเมินค่าใช้จ่ายไม่สอดคล้องกับการใช้จ่ายจริงๆ

ในการประเมินค่าใช้จ่ายในช่วงแรกของการวางแผนการออมเพื่อเกษียณอายุ หลายคนอาจใช้ค่าใช้จ่ายในปัจจุบันเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ ซึ่งอาจทำให้ลืมค่าใช้จ่ายบางส่วนไป เช่น ค่าซ่อมบำรุงที่พักอาศัย ค่าอาหารและค่าข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากไม่ได้ออกทำงาน 

เพราะฉะนั้น เวลาตรวจสอบการวางแผนเกษียณอายุทุกครั้ง ควรตรวจสอบในส่วนของค่าใช้จ่ายหลังเกษียณด้วย หากคิดว่าไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริงก็ควรปรับแผนการออมใหม่

  • ประเมินอายุหลังเกษียณน้อยเกินไป

ปกติคนส่วนใหญ่มักจะประเมินอายุหลังเกษียณไว้ที่ 20 ปี ตามค่าเฉลี่ยอายุขัยที่ประเมินไว้ที่ 80 ปี แต่อย่างที่มีการคาดการณ์ไว้ว่ามนุษย์จะมีอายุยืนยาวขึ้น ดังนั้น แนะนำว่าควรบวกอายุเกษียณเพิ่มอีก 5 – 10 ปี จากที่ตั้งใจไว้เพื่อความปลอดภัยด้านการเงิน  

  • หวังเงินบำนาญอย่างเดียว

เงินบำนาญที่จะได้รับตอนเกษียณเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้หลายคนตัดสินใจรับราชการ แต่เงินบำนาญเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตช่วงเกษียณได้ทั้งหมด เพราะถึงจะได้ทุกเดือน แต่ก็ได้เท่ากันทุกเดือน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปค่าเงินลดลงตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี อาจทำให้เงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเหมือนช่วงแรก

  • ไม่ได้คิดถึงปัญหาเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างมากในการวางแผนการออมเพื่อเกษียณอายุ ซึ่งจากการคำนวณเงินออมหากไม่นำอัตราเงินเฟ้อมาคำนวณร่วมด้วย จะได้ผลลัพธ์ที่ต่างจากการคำนวณโดยอิงอัตราเงินเฟ้อเกือบครึ่ง สุดท้ายกลายเป็นเงินที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในช่วงเกษียณ เพราะข้าวของขยับราคาสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

  • ปัญหาสุขภาพที่ไม่คาดคิด

การเกษียณอายุก็เหมือนกับการเข้าสู่วัยชราอย่างเต็มตัว ซึ่งปัญหาที่หลีกเลี่ยงได้ยากมากที่สุดนั้น ก็คือ ปัญหาด้านสุขภาพ แถมยังเสี่ยงกับการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าช่วงวัยอื่นอีกด้วย ในการวางแผนเกษียณอายุจึงต้องเตรียมเงินสำรองส่วนหนึ่งไว้ สำหรับใช้เป็นค่าพยาบาลโรคที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากที่คาดการณ์ไว้และภาวะติดเตียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลาน


โดยสรุปแล้วการวางแผนการออมเพื่อเกษียณอายุควรเริ่มวางแผนตั้งแต่อายุน้อย เพื่อให้มีเวลาในการออมเงินและลงทุนได้นานกว่าการเริ่มต้นตอนที่อายุมากแล้ว แต่หากอยากให้การวางแผนเกษียณอายุสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ควรทำตามและให้ความสำคัญกับ 5 สเต็ปการวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือนที่นำมาฝากในทุกขั้นตอน เพราะรับประกันเลยว่าคุณจะได้ใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างสบายใจอย่างแน่นอน

RELATED ARTICLES