MAIN POINT
- การย้ายทะเบียนบ้านมีด้วยกันหลายแบบ อย่างการย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง สามารถดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์ได้ในครั้งเดียว แต่หากใครทำเรื่องย้ายเข้าทะเบียนบ้านในเขตพื้นที่ที่อยู่ใหม่ จะต้องไปทำเรื่องย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิมในเขตพื้นที่ที่อยู่เดิมด้วย
- การย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง ถือเป็นวิธีที่สะดวกสบายและใช้เวลาไม่นาน อีกทั้งยังไม่ต้องดำเนินการหลายขั้นตอนอีกด้วย เพียงแค่ต้องไปดำเนินเรื่องด้วยตัวเอง พร้อมกับเจ้าบ้านของทะเบียนบ้านปลายทาง ณ สำนักงานทะเบียนในเขตพื้นที่นั้น ๆ
สำหรับใครที่เพิ่งซื้อบ้านหลังใหม่แล้วกำลังเตรียมตัวย้ายเข้าไปอยู่ น่าจะต้องการรู้ข้อมูลเรื่องการย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง วันนี้ AP Thai เลยรวบรวมขั้นตอนการย้ายทะเบียนบ้านทั้งเข้าและออก รวมถึงการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทางว่าต้องทำยังไงบ้าง และเอกสารที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง ซึ่งการย้ายทะเบียนบ้านแต่ละแบบจะมีขั้นตอนยังไงบ้างนั้น ตามไปดูกันเลย!
ย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง มีขั้นตอนยังไง
- ทะเบียนบ้าน คืออะไร?
- ความสำคัญของการย้ายทะเบียนบ้าน
- ขั้นตอนการย้ายเข้าทะเบียนบ้าน
- ขั้นตอนการย้ายออกทะเบียนบ้าน
- ขั้นตอนการย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการย้ายทะเบียนบ้าน
ทะเบียนบ้าน คืออะไร?
ทะเบียนบ้าน คือ เอกสารสำคัญที่เอาไว้ใช้แสดงเลขที่และข้อมูลที่ตั้งของบ้านแต่ละหลัง รวมถึงรายชื่อเจ้าบ้านและผู้อยู่อาศัยในบ้านนั้น ๆ โดยจำนวนผู้อยู่อาศัยสูงสุดจะขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่บ้าน ซึ่งตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 กำหนดให้มีผู้อยู่อาศัย 1 คน ต่อพื้นที่ 3 ตารางเมตร ส่วนชื่อเจ้าบ้านจะมีได้เพียง 1 คนเท่านั้น
ความสำคัญของการย้ายทะเบียนบ้าน
ทะเบียนบ้านถือเป็นเอกสารสำคัญทางราชการ ที่เอาไว้ใช้แสดงตัวตนว่าเรามีที่อยู่อาศัยที่ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นเอกสารที่ใช้ในการยืนยันสิทธิ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิ์เข้าถึงการศึกษา สิทธิ์รักษาพยาบาล สิทธิ์เลือกตั้ง และสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐบาล
การใช้ทะเบียนบ้านตัวจริงยังใช้เป็นเอกสารเพื่อยื่นขอเปลี่ยนชื่อนามสกุล รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงินอื่น ๆ โดยการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านปลายทาง จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงสิทธิ์ต่าง ๆ ตามพื้นที่เขตของทะเบียนบ้านนั้น ๆ
อีกทั้งทะเบียนบ้านยังมีประโยชน์ในการทำธุรกิจอสังหาฯ เนื่องจากหากเจ้าบ้านต้องการซื้อขายบ้าน และได้ทำเรื่องย้ายทะเบียนบ้านไปยังบ้านหลังใหม่ครบ 1 ปีแล้ว จะทำให้เจ้าบ้านได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน 3.3% ของราคาขายหรือราคาประเมินอีกด้วย
ใครอยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลในทะเบียนบ้านและขั้นตอนการขอทะเบียนบ้าน สามารถเข้าไปอ่านได้ที่บทความ ทะเบียนบ้านสำคัญอย่างไร มีอะไรบ้างที่ควรรู้
การย้ายเข้าทะเบียนบ้าน มีขั้นตอนอะไรบ้าง?
การย้ายเข้าทะเบียนบ้าน คือ การที่มีคนย้ายที่อยู่เข้ามาอยู่ในบ้าน ซึ่งเจ้าบ้านหลังนั้น ๆ จะต้องไปทำเรื่องที่สำนักงานทะเบียน ณ เขตพื้นที่นั้น ๆ เพื่อแจ้งการย้ายเข้าภายในระยะเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่แจ้งย้ายออก ซึ่งหากเลยวันที่กำหนดแล้ว จะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
เอกสารสำหรับการย้ายเข้าทะเบียนบ้าน
1. กรณีผู้แจ้งย้ายเป็นเจ้าบ้าน
-
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
- ทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
- ใบแจ้งย้ายที่อยู่ (ท.ร. 6) ตอนที่ 1 และ 2
2. กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน
-
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน / สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าบ้านพร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบหมาย
- ทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
- ใบแจ้งย้ายที่อยู่ (ท.ร. 6) ตอนที่ 1 และ 2 พร้อมลายเซ็นเจ้าบ้านในช่อง “เจ้าบ้านผู้ยินยอมให้ย้ายเข้า”
- หนังสือมอบหมายให้ดำเนินการแจ้งย้ายเข้าจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้แจ้งย้ายไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน)
ขั้นตอนการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้าน
- ยื่นเอกสารทั้งหมดที่เตรียมมาให้นายทะเบียนตามเขตพื้นที่ของทะเบียนบ้านนั้น ๆ
- นายทะเบียนตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทั้งหมด รวมถึงใบแจ้งย้ายที่อยู่
- นายทะเบียนเพิ่มชื่อลงในระบบทะเบียนบ้านใหม่และทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
- เมื่อตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว นายทะเบียนจะส่งคืนทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) และหลักฐานต่าง ๆ ให้ผู้ที่มายื่นเรื่อง ก็เป็นอันเสร็จ
การย้ายออกทะเบียนบ้าน มีขั้นตอนอะไรบ้าง?
การย้ายออกทะเบียนบ้าน คือ การที่มีคนในบ้านย้ายที่อยู่ออกจากบ้าน ซึ่งเจ้าบ้านจะต้องไปดำเนินเรื่องที่สำนักงานทะเบียน ณ เขตพื้นที่นั้น ๆ เพื่อแจ้งย้ายออกภายในระยะเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ย้ายออกไปยังทะเบียนบ้านอื่น ซึ่งหากเลยวันที่กำหนด จะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
1. กรณีผู้แจ้งย้ายเป็นเจ้าบ้าน
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
- ทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
2. กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน / สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าบ้านพร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบหมาย
- ทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
- หนังสือมอบหมายให้ดำเนินการแจ้งย้ายออกจากเจ้าบ้าน
ขั้นตอนการย้ายชื่อออกทะเบียนบ้าน
- ยื่นเอกสารทั้งหมดที่เตรียมมาให้นายทะเบียนตามเขตพื้นที่ของทะเบียนบ้านนั้น ๆ
- นายทะเบียนตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทั้งหมด พร้อมลิสต์รายชื่อบุคคลที่ต้องการย้ายออกลงในใบแจ้งย้ายที่อยู่
- นายทะเบียนลบชื่อออกจากระบบทะเบียนบ้านเดิมและทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) โดยการประทับคำว่า "ย้าย" ในหน้ารายการบุคคล พร้อมระบุรายละเอียดที่อยู่ที่จะย้ายไป
- เมื่อตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว นายทะเบียนจะส่งคืนทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) และหลักฐานต่าง ๆ ให้ผู้ที่มายื่นเรื่อง พร้อมใบแจ้งย้ายที่อยู่ ตอนที่ 1 และ 2 สำหรับนำไปทำเรื่องแจ้งย้ายเข้าต่อไป
การย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง มีขั้นตอนอะไรบ้าง?
การย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง คือ การที่คนย้ายสามารถดำเนินเรื่องแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิม พร้อมแจ้งย้ายเข้าทะเบียนบ้านใหม่ด้วยตัวเอง ณ สำนักงานทะเบียนปลายทางหรือในเขตพื้นที่ของที่อยู่ใหม่ โดยไม่ต้องเดินทางไปทำเรื่องที่สำนักงานทะเบียนในเขตพื้นที่ที่อยู่เดิม ซึ่งการย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง สามารถทำพร้อมกันได้ไม่เกิน 3 คนในครั้งเดียว
เอกสารสำหรับการย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง
1. กรณีเจ้าบ้านมาด้วย
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งย้าย
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
- ทะเบียนบ้านปลายทาง (ฉบับเจ้าบ้าน)
2. กรณีเจ้าบ้านไม่ได้มาด้วย
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งย้าย
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน / สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าบ้านพร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง
- ทะเบียนบ้านปลายทาง (ฉบับเจ้าบ้าน)
- หนังสือยินยอมให้ดำเนินการย้ายเข้าจากเจ้าบ้าน
ขั้นตอนการย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง
- ยื่นเอกสารทั้งหมดให้นายทะเบียนตามเขตพื้นที่ของทะเบียนบ้านปลายทาง
- นายทะเบียนตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทั้งหมด และลิสต์รายชื่อลงในใบแจ้งย้ายที่อยู่ พร้อมลบชื่อออกจากระบบทะเบียนบ้านเดิม
- นายทะเบียนเพิ่มชื่อลงในระบบทะเบียนบ้านใหม่และทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) พร้อมระบุรายละเอียดของที่อยู่ที่ย้ายมา
- เจ้าบ้านหรือผู้แจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทางชำระค่าธรรมเนียมการย้าย 20 บาท
- เมื่อตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว นายทะเบียนจะส่งทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) รวมถึงหลักฐานต่าง ๆ คืนให้ พร้อมออกเอกสารการย้ายทะเบียนบ้านเพื่อส่งให้เจ้าบ้านทะเบียนบ้านเดิมต่อไป
จะเห็นได้ว่าการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทางถือเป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็ว เนื่องจากใช้เวลาดำเนินการประมาณ 10 นาที ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง
1. การย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง เสียเงินเท่าไร?
สำหรับใครที่ต้องการย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง จะมีค่าธรรมเนียมการย้ายเพียง 20 บาทเท่านั้น ซึ่งต่างจากการย้ายเข้าและออกทะเบียนบ้านแบบทั่วไป ที่หากไปดำเนินเรื่องช้ากว่าที่กำหนด 15 วันหลังการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านล่าสุด จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท
2. อยากย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง ต้องดำเนินการด้วยตัวเองไหม?
การย้ายทะเบียนบ้านปลายทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด ผู้ดำเนินการควรจะเป็นผู้ที่ต้องการย้ายทะเบียนบ้านและเจ้าบ้านปลายทาง แต่หากในกรณีที่ไม่สะดวกจริง ๆ สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาแทนได้ แต่จะต้องเตรียมเอกสารการมอบอำนาจ สำเนาบัตรประชาชน และหนังสือยินยอมให้ดำเนินการย้ายเข้าจากเจ้าบ้าน จึงจะสามารถดำเนินการได้
3. ผู้เยาว์สามารถไปย้ายทะเบียนบ้านปลายทางเองได้ไหม?
การทำเรื่องย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง ผู้แจ้งย้ายจะต้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์เท่านั้น หากอายุต่ำกว่านี้จะต้องมีผู้ปกครองมาดำเนินการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านปลายทางให้ พร้อมจัดเตรียมเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
- ใบสูติบัตรของผู้เยาว์ฉบับจริงและสำเนา
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครอง
- ทะเบียนสมรส
- ใบรับรองบุตร
เติมเต็มความรู้เรื่องอสังหาฯ กับเอพีไทย ช่วยเพิ่มความเข้าใจได้มากขึ้น
- ค่าโอนบ้าน ใครจ่าย จ่ายเท่าไร พร้อมวิธีคำนวณง่ายๆ
- โอนบ้าน-โอนที่ดินให้ลูก ใช้เอกสาร มีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
- ไถ่ถอนจำนองคืออะไร มีขั้นตอนและใช้เอกสารอะไรบ้าง
- เคล็ดลับโปะบ้านให้หมดเร็ว ใครผ่อนบ้านอยู่ต้องอ่าน!
ย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง ง่าย สะดวก และรวดเร็ว
ทั้งหมดนี้คือข้อมูล ขั้นตอน และเอกสารที่ต้องใช้ในการย้ายทะเบียนบ้านปลายทางที่ทั้งสะดวกและรวดเร็ว แถมยังช่วยประหยัดค่าเดินทางและเวลาในการดำเนินการลงไปได้อีกด้วย ซึ่งน่าจะพอเป็นประโยชน์สำหรับคนที่เพิ่งซื้อบ้านหลังใหม่หรือกำลังต้องการย้ายทะเบียนบ้านอยู่พอดี
นอกจากการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง ณ สำนักงานทะเบียนปลายทางหรือในเขตพื้นที่ของที่อยู่ใหม่เล้ว ยังมีอีกวิธีการที่สะดวกและเหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลานั่นก็คือ การย้ายทะเบียนบ้านเข้า-ออกแบบออนไลน์ ซึ่งตอบโจทย์สำหรับคนที่ไม่สะดวกเดินทางไปยังสำนักงานทะเบียน สามารถทำเรื่องผ่านแอปพลิเคชัน ThaID บนสมาร์ทโฟนได้เลย ตามไปอ่านขั้นตอนและรายละเอียดต่าง ๆ ได้ที่ อัปเดต! ย้ายทะเบียนบ้านออนไลน์ได้แล้ว แค่ทำตามนี้
เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต
เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมดีไซน์สวยหรือบ้านแฝดฟังก์ชันใหญ่ คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ