MAIN POINT
- กระจกนิรภัยมีข้อดีกว่ากระจกทั่วไป ตอบโจทย์อย่างยิ่งในเรื่องของความปลอดภัย สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ กระจกเทมเปอร์ กระจกลามิเนต และกระจกเสริมลวด โดยมีความแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์การใช้งาน
- ก่อนติดตั้งกระจกนิภัย ควรคำนึงถึงความหนาของกระจกที่มีผลต่อการใช้งาน เช่น ความหนากระจกสำหรับงานหลังคา ความหนากระจกสำหรับงานประตู-หน้าต่าง ความหนากระจกสำหรับท็อปโต๊ะ ความหนากระจกสำหรับชั้นวางของ
ทำความรู้จักกระจกนิรภัย
การเลือกติดตั้งกระจกนิรภัยสำหรับที่อยู่อาศัยไม่เพียงตอบโจทย์เรื่องความสวยงาม แต่ยังมีประสิทธิภาพในเรื่องการเพิ่มความปลอดภัยอีกด้วย แต่จะเลือกใช้กระจกนิรภัยบ้านแบบไหนมาตกแต่งถึงจะดี? หรือปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและคุ้มค่ามากที่สุด? AP Thai ได้รวมเทคนิควิธีการเลือกใช้กระจกนิรภัย พร้อมเคล็ดลับในการเลือกความหนากระจกให้เหมาะสมกับความต้องการ มาฝากกัน
กระจกนิรภัย คืออะไร? แตกต่างจากกระจกทั่วไปอย่างไร
กระจกนิรภัยนั้นเป็นกระจกที่ผ่านกระบวนการผลิตให้มีความแข็งแรง คงทน เพื่อวัตถุประสงค์ในด้านความปลอดภัยเป็นหลัก ส่วนมากกระจกนิรภัยสามารถติดตั้งได้ทั้งหน้าต่าง ประตู รวมไปถึงผนังกั้นแบบต่าง ๆ หรือชั้นวางของ ก็ได้เช่นกัน
ความแตกต่าง | กระจกนิรภัย | กระจกทั่วไป |
ความแข็งแรงทนนาน | แข็งแรงกว่า 4-5 เท่า | เปราะบางมากกว่า |
ลักษณะการแตก | แตกเป็นเม็ดเล็ก ๆ หรือบางประเภทไม่มีกระจกหล่นร่วงลงมา | แตกเป็นเศษคม อาจบาดผิวได้ |
การป้องกัน UV | มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV | ป้องกันรังสี UV ได้น้อยกว่า |
การเก็บเสียง | เก็บเสียงรบกวนได้ดี | เก็บเสียงได้น้อยกว่า |
ความทนทานต่ออุณหภูมิ | ทนต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ดี | ทนต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงเร็วไม่ได้ |
กระจกนิรภัย มีกี่ประเภท?
ก่อนเริ่มติดตั้งกระจกนิรภัย ควรทำความเข้าใจก่อนว่า กระจกนิรภัยมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ผลิตและกระบวนการสร้าง โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ที่แตกต่างกันออกไปตามการใช้งาน
1.กระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass)
กระจกเทมเปอร์ สามารถเรียกอีกอย่างได้ว่า กระจกอบ ซึ่งเป็นกระจกที่ความแข็งแรงสูง ผลิตได้จากกระบวนการหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเพลท (Plate Process), กระบวนชีท (Sheet Process) หรือกระบวนการโฟลท (Float Process) โดยเป็นประเภทที่ได้รับความนิยมแพร่หลายและรู้จักกันมากที่สุด
- กระบวนการผลิต: ผ่านกระบวนการโดยใช้อุณหภูมิประมาณ 650 องศาเซลเซียส และทำให้ตัวกระจกเย็นลงทันที ทำให้ด้านนอกแข็งตัวกว่าด้านใน จนเกิดเส้นแรงรอบกระจก และเส้นแรงในเนื้อกระจก ทำให้มีความแข็งแรงสูง
- คุณสมบัติ: มีความแข็งแรงทนทานสูง เมื่อเทียบกับกระจกธรรมดา เมื่อกระจกแตก เนื้อกระจกจะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ คล้ายกับเม็ดข้าวโพด จะไม่ได้แตกออกมาแล้วเป็นเศษแหลมคมแบบกระจกทั่วไป
- ข้อดี: มีความปลอดภัยหากเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งมีความทนทาน และสามารถใช้งานได้หลากหลาย ทนทานต่ออุณหภูมิสูงได้ดี สามารถตัดเป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามความต้องการได้หลายรูปแบบ
- ข้อเสีย: เมื่อกระจกแตกแล้วจะไม่สามารถใช้งานต่อได้
- การใช้งาน: เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการความแข็งแรงเป็นพิเศษ เช่น ใช้ทำประตูบานเปลือย, ฉากกั้นอาบน้ำ, ผนังบ้าน, ตู้โชว์อัญมณี, ชั้นวางสินค้า เป็นต้น
2. กระจกลามิเนต (Laminated Glass)
กระจกลามิเนต หรือ กระจกนิรภัย 2 ชั้น เป็นอีกหนึ่งประเภทของกระจกนิรภัยที่นำมาใช้งานได้หลากหลาย ความพิเศษของกระจกแบบลามิเนต คือ เวลาที่กระจกแตก จะไม่ร่วงเป็นเศษออกมา มีความคล้ายกับแบบเทมเปอร์ แต่ก็มีความแตกต่างกัน ดังนี้
- กระบวนการผลิต: กระจกลามิเนต คือ กระจกเทมเปอร์ที่นำมาประกบกัน 2 แผ่น โดยมีแผ่นคล้ายแผ่นพลาสติกใสชนิดโพลีไวนิลบิวทิรัล (Polyvinyl Butyral) คั่นอยู่ตรงกลาง เรียกกระบวนการนี้ว่า การลามิเนต เพื่อให้กระจกมีความแข็งแรงมากขึ้น
- คุณสมบัติ: มีความเหนียวและมีประสิทธิภาพการยึดเกาะสูง เวลาที่กระจกลามิเนตแตกมักจะเห็นเป็นรอยแตกยาว ๆ แต่ตัวกระจกมักจะติดอยู่ที่เดิม ไม่หลุดออกมาเป็นชิ้น ๆ และที่สำคัญคือมีความปลอดภัยสูง
- ข้อดี: ช่วยกันและเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกแบบธรรมดาทั่วไป และช่วยกันความร้อนและกันรังสียูวีจากแสงแดดได้มากกว่า 90% นอกจากนี้ยังสามารถนำมาเคลือบสีเพื่อการตกแต่งบ้านและอาคารได้ตามต้องการ
- ข้อเสีย: อาจมีความยุ่งยากในการตัดกระจกเพื่อใช้งานตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ
- การใช้งาน: ใช้สำหรับตกแต่งบานประตู, ฝ้า, พื้น, ผนังห้องเพื่อกันเสียงรบกวน ตกแต่งภายใน และยังสามารถใช้เพื่อป้องกันการโจรกรรมได้ด้วยเช่นกัน
3.กระจกเสริมลวด (Wire-Reinforced Glass)
กระจกเสริมลวด เป็นกระจกที่มีคุณสมบัติพิเศษเรื่องความปลอดภัยได้ดีมาก ด้วยการนำเส้นลวดฝังไว้ในเนื้อกระจกเป็นลักษณะแผงตาข่าย โดยเมื่อกระจกแตก เส้นลวดดังกล่าวจะยึดเศษกระจกไว้
- กระบวนการผลิต: กระจกประเภทนี้มีเส้นลวดโลหะฝังเป็นแผงตาข่ายอยู่ภายในกระจก
- คุณสมบัติ: เมื่อกระจกแตกออก เส้นลวดที่อยู่ภายในกระจกจะช่วยยึดเศษกระจกไม่ให้หลุดออกมา
- ข้อดี: สามารถใช้ได้ในงานที่หลากหลาย ป้องกันการเกิดอัคคีภัย มีความแข็งแรงและมีคุณสมบัติในการป้องกันการร่วงหล่นของกระจกเมื่อแตก มีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน
- ข้อเสีย: มีน้ำหนักมากกว่า ตัดแต่งเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้ยากเพราะด้านในมีเส้นลวด และเสี่ยงต่อการเกิดสนิมได้ง่ายกว่า
- การใช้งาน: ใช้กระจกเสริมลวดบริเวณทางเดินหนีไฟ หรือบริเวณเพดาน, ผนังบ้าน แต่ไม่ควรใช้กระจกในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดสนิม และบริเวณที่ใกล้กับอุปกรณ์ทำความร้อน เช่น บริเวณใกล้กับสระว่ายน้ำ เครื่องทำน้ำอุ่น หรือบริเวณที่ใกล้กับเตาหุงต้ม เพราะอาจทำให้กระจกเสริมลวดแตกออกมาก็เป็นได้
นอกจากประเภทของกระจกที่สามารถนำมาใช้ได้หลากหลายตามการใช้งานแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ควรพิจารณา คือ การเลือกความหนาของกระจกเพื่อให้การใช้งานที่เหมาะสม เพราะความหนากระจกที่แตกต่างกัน ก็มีผลต่อการใช้งานเช่นเดียวกัน
วิธีการเลือกความหนากระจกให้เหมาะกับการใช้งาน
1.ความหนากระจกสำหรับงานหลังคา
หากเจ้าของบ้านที่มีแพลนอยากทำหลังคากระจกและกำลังเลือกกระจกนิรภัย ควรคำนึกถึงความหนาเมื่อนำมาใช้งานด้วยเช่นกัน และจำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องความแข็งแรงทนทานเป็นหลัก เพราะต้องรองรับน้ำหนักของโครงสร้างและป้องกันอุบัติเหตุในอาคารได้
ขนาดที่แนะนำ: แนะนำความหนากระจกที่ค่อนข้างสูง ประมาณ 10 - 20 มิลลิเมตรขึ้นไป เพื่อความแข็งแรง รองรับน้ำหนัก ทนทานของโครงสร้าง
2.ความหนากระจกสำหรับงานประตู-หน้าต่าง
สำหรับบ้านไหนที่ต้องการติดตั้งกระจกนิรภัยที่บริเวณประตูหรือหน้าต่าง ซึ่งเป็นจุดที่ใช้งานบ่อย เพราะมีการเข้า-ออกไปมาเป็นประจำทุกวัน ควรเลือกความหนาของกระจกขนาดปานกลางไปถึงสูง
ขนาดที่แนะนำ: ควรเลือกความหนากระจกที่ 5-6 มิลลิเมตร และสำหรับประตูหน้าต่างรวมถึงฉากกั้นอาบน้ำที่ไม่มีกรอบ และควรเลือกกระจกที่มีความหนาสูง ประมาณ 10 มิลลิเมตรขึ้นไป
3.ความหนากระจกสำหรับท็อปโต๊ะ
สำหรับใครที่อยากเปลี่ยนโต๊ะในบ้านด้วยการใช้กระจก ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ได้ทั้งความสวยงามและความปลอดภัยในการรองรับน้ำหนักด้วยเช่นกัน เพียงนำกระจกที่มีลวดลาย สีสันตามชอบมาวางทับบนโต๊ะเดิมได้เลย อย่างไรก็ตาม ก็ยังควรพิจารณาเรื่องความหนาที่เหมาะสม
ขนาดที่แนะนำ: ควรเลือกความหนาของกระจกอยู่ที่ 6-12 มิลลิเมตร ไม่ได้หนาจนเกินไป
4.ความหนากระจกสำหรับชั้นวางของ
หลายบ้านมักจะนำกระจกมาทำเป็นชั้นวางของ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการในเรื่องของดีไซน์ สามารถตกแต่งบ้านได้อย่างสวยงาม รวมไปถึงการใช้งานที่มีความทนทานสูง รองรับน้ำหนักได้ดี เช่น กรอบรูป รูปปั้นตกแต่ง แจกัน หรือถ้วยรางวัล และปลอดภัยหากเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในการทำชั้นวางของ ควรเลือกกระจกนิรภัยประเภทเทมเปอร์ จะเหมาะสมที่สุด
ขนาดที่แนะนำ: เลือกกระจกเทมเปอร์ที่มีความหนากระจก 5 มิลลิเมตร หรือสามารถเพิ่มความหนากระจกได้ตามความต้องการใช้งาน จาก 5 มิลลิเมตรเป็น 6 มิลลิเมตร
เลือกใช้กระจกนิรภัยภายในบ้านมีข้อดีอย่างไร
การเลือกใช้กระจกนิรภัยบ้านนั้นตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยสูง ทั้งในแง่การเกิดโจรกรรม รวมไปถึงความปลอดภัยและการบาดเจ็บของผู้ใช้งาน อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของบ้าน
- เพิ่มความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินภายในบ้าน: เพราะกระจกนิรภัยแข็งแรงและหนากว่า ทำให้ยากต่อการเกิดโจรกรรม
- ช่วยป้องกันการบาดเจ็บของคนในบ้าน: เพราะเวลาที่กระจกนิรภัยแตก บางชนิดจะแตกออกมาเป็นลักษณะเม็ดเล็ก ๆ คล้ายเม็ดข้าวโพด หรือบางชนิดจะเป็นรอยแตก ซึ่งไม่มีเศษกระจกคม ๆ หลุดออกมา ทำให้ไม่เกิดการบาด ข่วน หรืออุบัติเหตุร้ายแรงกับคนในบ้าน
- ป้องกันรังสี UV ได้ดี: ช่วยลดความร้อนที่แผ่เข้ามาในบ้านได้ ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ทำงานหนักจนเกินไป ส่งผลดีในการช่วยประหยัดค่าไฟในบ้านได้
- ช่วยเก็บเสียง: กระจกนิรภัยมีคุณสมบัติช่วยเก็บเสียงรบกวน จึงทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านรู้สึกผ่อนคลาย ได้พักผ่อนเต็มที่ ไม่ถูกรบกวนจากเสียงดัง
- ตกแต่งบ้านให้สวยงาม กระจกบ้านนิรภัยบ้านเป็นทางเลือกของเจ้าของบ้านยุคใหม่ ทำให้บ้านสวยงาม สว่าง สบายตาและน่าอยู่
กระจกนิรภัย ทางเลือกของคนยุคใหม่ ที่ปลอดภัยกว่าเดิม
กระจกนิรภัยทางเลือกที่ตอบโจทย์เจ้าของบ้านยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะมีให้เลือกหลายประเภทตามการใช้งานแล้ว ยังมีความปลอดภัยสูง สามารถปกป้องบ้านและคนที่คุณรักได้เป็นอย่างดี
เพิ่มความรู้ในการดูแลกระจกบ้านแบบมืออาชีพ ได้ที่นี่!
- วิธีเช็ดกระจกให้ใสกิ๊ง ไม่ทิ้งคราบน้ำ ได้ฟีลเหมือนมืออาชีพ
- วิธีทำความสะอาดคราบหินปูนเปลี่ยนกระจกให้กลับมาใสปิ๊ง
- วิธีลอกสติกเกอร์ออกจากกระจกแบบไม่ทิ้งคราบกาว
เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต
เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมดีไซน์สวยหรือบ้านแฝดฟังชันใหญ่ คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ