LIVING SERIES
  • Witty Living

ติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้านยังไงดี

กระแสรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง หลายคนสนใจอยากเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะมีที่ชาร์จไฟหรือเปล่า ถ้าติดตั้งเครื่องชาร์จที่บ้านจะยุ่งยากไหม พบกับคำตอบได้ในบทความนี้

AP THAILAND

AP THAILAND

เช็คลิสต์ก่อนการติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน

ปัจจุบันนี้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หลายคนจึงกำลังคิดตัดสินใจที่จะซื้อรถไฟฟ้ามาใช้ และแน่นอนว่าเรื่องที่ตามมาหลังจากการซื้อรถไฟฟ้า ก็คือการติดตั้งเครื่องชาร์จรถ EV ที่บ้าน จึงควรวางแผนเตรียมไว้ก่อน เพราะนอกจาก Wall Charge ที่ส่วนมากจะมีมาให้พร้อมกับรถอยู่แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ทางเจ้าของรถต้องดำเนินการเอง ซึ่งในบทความนี้เราจะมาไล่เรียงกันว่าถ้าหากถอยรถไฟฟ้าป้ายแดงมาขับ มีอะไรบ้างที่เราต้องเตรียมความพร้อมก่อนจะติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน

ตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้า

ตรวจสอบว่ามิเตอร์ไฟที่บ้านมีขนาดกี่แอมป์ ซึ่งในการติดตั้งเครื่องชาร์จรถ EV ตามบ้านทั่วไป ต้องใช้มิเตอร์ไฟขนาด 30 แอมป์ขึ้นไปสำหรับไฟฟ้า 1 เฟส แต่หากใช้ไฟฟ้า 3 เฟสควรใช้ขนาด 15/45 ปกติทั่วไปไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านแบบ 1 เฟส แค่เปลี่ยนขนาดมิเตอร์เป็น 30 แอมป์ก็เพียงพอแล้ว สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์แบบ Plug-In Hybrid สามารถติดต่อการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใกล้บ้านเพื่อเปลี่ยนมิเตอร์ได้เลย

สายไฟเมนเข้าบ้านต้องใหญ่พอ

สายเมนที่ต่อจากสายไฟหลักเพื่อเข้ามายังบ้านก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน โดยมาตรฐานขนาดของสายไฟเมนสำหรับบ้านที่ต้องการติดตั้ง EV Charger ต้องเป็นขนาด 25 ตร.มม. ขึ้นไป ซึ่งขนาด 25 ตร.มม. คือขนาดของทองแดงภายใน รวมไปถึงตรวจสอบว่า Main Circuit Breaker (MCB) ที่ใช้งานอยู่รองรับได้ถึง 100 แอมป์หรือไม่เพราะปกติบ้านทั่วไปจะรองรับได้เพียง 45 แอมป์เท่านั้น

ตู้ควบคุมไฟฟ้า Miniature Circuit Breaker (MCB)

อุปกรณ์ตัวนี้เป็นเบรกเกอร์เพื่อใช้สำหรับอุปกรณ์ EV Charger เพื่อชาร์จรถไฟฟ้าโดยเฉพาะแยกจากเบรกเกอร์อื่นๆ ซึ่งถ้าช่องในตู้ควบคุมไฟฟ้ามีที่เหลือก็ไม่เป็นไร แต่หากไม่มีช่องว่างเหลือแล้ว สามารถแยกตู้ออกมาต่างหากสำหรับใช้ควบคุมเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าเลยก็ได้

ป้องกันไว้ก่อนกับเครื่องตัดไฟรั่ว Residual Current Device (RCD)

ไฟฟ้าเป็นสิ่งอันตรายหากเราไม่ระมัดระวังให้ดี อุปกรณ์ตัวนี้จะทำหน้าที่ตรวจจับและตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลเข้า-ออกไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นสาเหตุของไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เกิดไฟไหม้ได้ ดังนั้นแล้วการลงทุนจ่ายเงินกับอุปกรณ์ชิ้นนี้ดีกว่า เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคุณ

หัวชาร์จไฟฟ้าเลือกให้ตรงกับที่รถต้องใช้

หัวชาร์จสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบหลักๆ ตามรูปแบบ

  1. Quick Charger หรือที่รู้จักในชื่อ DC คือการชาร์จแบบเร็วใช้เวลาไม่นานเพียงแค่ 40-60 นาทีสามารถชาร์จได้ 0-80% พบเห็นได้ทั่วไปตามสถานีชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้า ไม่นิยมติดตั้งเพื่อใช้ในบ้าน

  2. Double Speed Charge (เครื่องชาร์จ Wall Box / EV Charger) เป็นการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charging)  นิยมใช้กับไฟบ้านทั่วไป ใช้เวลาในการชาร์จแต่ละครั้งอยู่ที่ 4-5 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับขนาดความจุของแบตเตอรี่

  3. การชาร์จไฟฟ้าแบบธรรมดาด้วยชุดอุปกรณ์ที่ติดตั้งมากับรถ วิธีนี้ไม่ต้องติดตั้งอะไรเพิ่ม แต่ใช้เวลานานกว่าจะเต็ม 100% อาจจะมากถึง 7 ชั่วโมงเลยทีเดียว

เลือกตำแหน่งในการติดตั้งเครื่องชาร์จ

การเลือกจุดติดตั้งเครื่องชาร์จรถ EV มีส่วนสำคัญเช่นกัน ควรคำนึงถึงเรื่องต่างๆ ดังนี้

  • กำหนดระยะห่างจากจุดติดเครื่องชาร์จ จนถึงจุดที่เสียบเข้าตัวรถที่จอดไม่ควรเกิน 5 เมตร เนื่องจากข้อจำกัดของสาย EV Charger

  • เลือกจุดติดตั้งที่ใกล้กับตู้เมนไฟฟ้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟ

  • ระวังน้ำกับไฟฟ้าให้ดี ถึงแม้ว่าอุปกรณ์จะมีมาตรฐานการกันน้ำอยู่แต่ไม่ใช่ว่าติดตั้งกลางแจ้ง โดนฝน โดนแดด คงไม่ปลอดภัยต่อการใช้งานนัก

เลือกบริษัทติดตั้งที่เชื่อถือได้

หากเป็นรถใหม่ป้ายแดงส่วนมากแล้วทางบริษัทที่ขายรถจะมีทีมติดตั้งให้บริการ เพียงแค่ว่าเราต้องทำการเตรียมความพร้อมไว้ให้เขาตามรายการข้างต้น แต่หากว่าเป็นการติดตั้งที่ไม่ใช่ช่างจากบริษัทรถยนต์โดยตรง อาจจะต้องขอดูใบอนุญาตเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้ามาตรวจสอบด้วยว่าการติดตั้งผ่านมาตรฐานหรือไม่

 

สำหรับใครที่กำลังแพลนจะซื้อรถไฟฟ้าก่อนซื้อ อย่าลืมตรวจเช็กระบบไฟในบ้านกันก่อนติดตั้ง EV Charger กับ 7 ข้อสำคัญที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนและทรัพย์สินในบ้าน 

RELATED ARTICLES