เวลาส่วนใหญ่ของหลายๆ คนมักจะหมดไปกับการทำงานที่ยาวนานกว่า 8 ชั่วโมง และบางคนก็ยอมทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานที่มากกว่านั้นด้วยซ้ำ อาจจะเป็นเพราะงานที่ถาโถมเข้ามา หรือการจัดสรรเวลาที่ไม่เหมาะสม และเป็นที่ทราบกันดีว่าการใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน อาจจะทำให้พลาดสิ่งดีๆ หลายอย่างในชีวิต เช่น ความสุข การพักผ่อน หรือการใช้เวลาอยู่ร่วมกันกับครอบครัว
ดังนั้น หากรู้สึกว่าชีวิตดูยุ่งเหยิงจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน การรู้วิธีจัดระเบียบชีวิต สร้าง Work Life Balance ที่เหมาะสม จะช่วยให้สามารถจัดการกับสิ่งที่เข้ามาในชีวิตได้ง่ายขึ้น และนอกเหนือไปจากเวลาที่ทุ่มเทให้กับการทำงาน คุณยังมีเวลาเหลือเพื่ออยู่กับครอบครัว และคนที่คุณรัก
เริ่มจัดระเบียบชีวิตที่ตัวเรา
ขั้นตอนแรกในการเริ่มจัดระเบียบชีวิตจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดของตัวเอง โดยไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต้องพยายามสร้างชุดความคิดว่าจะต้องลงมือเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตให้มีระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น โดยมีหลักการง่ายๆ ที่สามารถทำตามได้เพียงไม่กี่ขั้นตอน
1. ตั้งเป้าหมายของตัวเอง
การตั้งเป้าหมายหรือการกำหนดสิ่งที่ต้องการจะทำในอนาคต เป็นส่วนช่วยในการนำทางให้สามารถเดินไปยังเส้นทางที่กำหนดไว้ได้อย่างถูกต้อง และเป็นการจัดระเบียบชีวิตให้ดำเนินต่อไปง่ายขึ้น ซึ่งการตั้งเป้าหมายอาจจะเริ่มจากเป้าหมายเล็กๆ ก่อน และควรตั้งตามความเป็นจริง หรือสามารถทำได้จริง แต่ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายนั้นจะมีความหลายหลายแตกต่างกันไป เช่น
- การตั้งเป้าหมายเพื่อพัฒนาตัวเอง
- การตั้งเป้าหมายด้านการเงิน
- การตั้งเป้าหมายด้านสุขภาพ
- การตั้งเป้าหมายด้านความสัมพันธ์
- การตั้งเป้าหมายด้านการเรียน
ดังนั้น การตั้งเป้าหมายที่ดีคือ การตั้งคำถามกับตัวเองว่าต้องการอะไร เมื่อได้คำตอบแล้วให้นำสิ่งนั้นมาตั้งเป็นเป้าหมาย และควรลงมือปฏิบัติ มุ่งมั่นทำเป้าหมายน้้นให้เป็นจริง
2. จดบันทึกในแต่ละวัน
การจดบันทึกประจำวัน หรือ ไดอารี่ เป็นการจดบันทึกเหตุการณ์ย้อนหลังที่เจอในแต่ละวันพร้อมระบุช่วงเวลาที่เกิดขึ้นจริง จะทำให้รู้ว่าในแต่ละวันได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำอะไรบ้าง ซึ่งหากจดบันทึกไปในระยะเวลาหนึ่ง ควรกลับมานั่งอ่านบันทึกย้อนหลัง เพื่อเป็นการตรวจสอบดูว่าในระยะเวลาที่ผ่านมา มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้าง เรื่องไหนที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญก็ควรตัดออก เพื่อจะได้แบ่งสรรเวลาให้เหมาะสม
นอกจากการจดบันทึกประจำวันจะทำให้สามารถจัดระเบียบชีวิตได้ดีขึ้น ยังสามารถช่วยให้คุณได้เรียบเรียงความคิดอย่างเป็นระบบ และสามารถช่วยฝึกสมาธิได้ เพราะในการจดบันทึกทุกครั้งจะต้องทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาในแต่ละวัน ทำให้ต้องจดจ่อกับตัวเองและเหตุการณ์ที่ผ่านมา
3. จัดการกับอารมณ์
อารมณ์หงุดหงิด เศร้า ทุกข์ วิตกกังวล เครียด ล้วนแต่ส่งผลด้านลบทางจิตใจและการแสดงออก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงาน ความสัมพันธ์ได้ ดังนั้น หากอยากเริ่มจัดระเบียบชีวิต การรู้วิธีจัดการกับอารมณ์ก็เป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไป เพราะหากปล่อยให้อารมณ์มาควบคุมจิตใจ หรือแสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมออกมา จะทำให้คนรอบข้างและตัวคุณเองรู้สึกแย่ได้ในภายหลัง
โดยทริคง่ายๆ ที่จะช่วยให้สามารถจัดการกับอารมณ์ได้นั้น มีแนะนำด้วยกันดังนี้
- เลิกคิดเชิงลบ การคิดเชิงลบมีแต่ทำให้รู้สึกเครียด รู้สึกกดดัน และยังส่งผลร้ายต่อสุขภาพอีกด้วย เมื่อเกิดเหตุการณ์แย่ๆ ควรเลิกคิดเชิงลบในทันที และพยายามสร้างชุดความคิดในเชิงบวกของตัวเองเข้ามาใส่แทน
- ฝึกสติโดยการนั่งสมาธิ ในบางครั้งการแสดงออกทางอารมณ์ของหลายๆ คนนั้นจะแตกต่างกันออกไป บางคนเมื่อมีอารมณ์โกรธ สีหน้า ท่าทางจะแสดงออกมาโดยที่ไม่รู้ตัว หรือในขณะที่บางคนจะเก็บตัว รู้สึกหดหู่ และนี่คือเหตุผลที่การฝึกสติจะสามารถช่วยให้ควบคุมอารมณ์ได้ และยังสามารถช่วยไม่ให้กระทบต่อการทำงาน การใช้ชีวิตอีกด้วย
- การควบคุมลมหายใจ เมื่อรู้สึกโกรธ เศร้า เครียด ให้พยายามฝึกควบคุมการหายใจเข้าออกที่ช้าลง ทำต่อเนื่องประมาณ 5-10 นาที พร้อมกับใส่ความคิดเชิงบวกเข้าไป จะทำให้อารมณ์ที่โกรธนั้นค่อยๆ ผ่อนคลายลง
4. นอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่
การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็เป็นหนึ่งในการจัดระเบียบชีวิตที่สำคัญไม่แพ้กัน หลังจากที่ร่างกายทำงานติดต่อกันมาเป็นเวลานาน สมองที่ทำงานตลอดทั้งวัน คอยรับเรื่องเครียดต่างๆ และหากอดนอนเป็นเวลานาน หรือนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งร่างกายและสมอง
ดังนั้น การนอนหลับให้เต็มที่จะช่วยให้สมองได้ผ่อนคลาย มีความจำที่ดีขึ้น และยังสามารถช่วยให้ร่างกายได้ฟื้นฟู เตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ในวันถัดไป
โดยจำนวนชั่วโมงการนอนที่เหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงอายุนั้น มีด้วยกันดังนี้
- อายุ 14-17 ปี ควรนอน 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 18-25 ปี ควรนอน 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 26-64 ปี ควรนอน 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
5. จัดโต๊ะทำงานให้มีระเบียบมากขึ้น
ลงมือจัดระเบียบโต๊ะทำงานให้ดูสะอาด น่ามอง สามารถส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังเป็นการแสดงออกว่าสามารถจัดระเบียบชีวิตได้ดี อาจจะเริ่มจัดโต๊ะทำงานโดยการแยกแยะว่าสิ่งไหนควรกำจัดออกไป หรือสิ่งไหนควรเก็บอย่างไร เช่น เอกสารเก่าๆ ที่ไม่ใช้แล้ว ก็สามารถนำไปทำลายได้ หรือหากเป็นเอกสารที่สำคัญก็ควรจัดเก็บใส่กล่อง พร้อมเขียนระบุหน้ากล่องว่าเป็นเอกสารอะไร การเริ่มจัดระเบียบโต๊ะทำงานด้วยวิธีง่ายๆ แบบนี้จะทำให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีระเบียบมากขึ้น
6. ใส่ใจกับสุขภาพ
หันมาใส่ใจกับสุขภาพให้มากขึ้น โดยการออกกำลังกายหรือเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ยิ่งหากเป็นคนอารมณ์ร้อน หรือโกรธง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่เก่ง แน่นอนว่าจะส่งผลเสียต่อการทำงานและทำให้การจัดระเบียบชีวิตที่วางไว้นั้นดูยุ่งเหยิง
ดังนั้น การออกกำลังกายสามารถช่วยได้ เพราะหลังจากออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นโดรฟิน จะทำให้รู้สึกอารมณ์ดี และช่วยให้ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้สามารถนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน เพียงแค่เริ่มต้นออกกำลังกายทุกวัน วันละ 30 นาที เท่านี้ก็จะทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ร่างกายสดชื่นแจ่มใส สมองปลอดโปร่ง
7. อย่าผัดวันประกันพรุ่ง
การผัดวันประกันพรุ่งบ่อยครั้ง จะส่งผลเสียต่อเวลา และการจัดระเบียบชีวิตในระยะยาว เพราะเมื่อคุณปฏิเสธสิ่งที่ควรทำออกไปเรื่อยๆ จะทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือจัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีระเบียบ
ดังนั้น เมื่อรู้ว่าสิ่งที่ต้องทำคืออะไร ให้ลงมือทำ ณ ตอนนั้นเลย หรือจดบันทึกพร้อมระบุเวลา และวันที่ควรทำ เพื่อเป็นการตระหนักรู้ว่าควรลงมือทำเมื่อไร และหากไม่ลงมือทำจะเกิดผลเสียอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้จะสามารถกระตุ้นให้คุณเลิกเป็นคนผัดวันประกันพรุ่งได้
จัดระเบียบชีวิตด้วยการแบ่งเวลา
สิ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับการจัดระเบียบชีวิตคือ การรู้จักแบ่งเวลาหรือการบริหารเวลาให้เหมาะสม เพราะจะสามารถช่วยให้การดำเนินชีวิตในแต่ละวันมีระบบแบบแผนมากยิ่งขึ้น และสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายของตัวเองได้ ทั้งนี้ ควรพึงตระหนักไว้ว่าเวลานั้นเป็นทรัพยากรที่จำกัดและมีค่า เพราะไม่สามารถย้อนเวลาไปจัดการสิ่งต่างๆ ได้ ดังนั้น การรู้วิธีบริหารเวลาจะทำให้ใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า และไม่รู้สึกเสียดายเวลาเมื่อมองย้อนกลับมา
1. วางแผนในแต่ละวัน
ลงมือวางแผนก่อนเริ่มต้นวันใหม่ทุกๆ วัน ซึ่งการวางแผนสามารถสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรืออ้างอิงจากสิ่งที่จะต้องทำในแต่ละวันว่ามีอะไรบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณมีเป้าหมายที่อยากจะมีสุขภาพดีโดยการตั้งใจออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ ก็ควรที่จะวางแผนและเขียนออกมาว่าช่วงเวลาไหนที่จะเริ่มออกกำลังกาย การกินอาหารต้องกินอย่างไร และเมื่อจบวันนั้นๆ ควรเอาแผนที่วางไว้มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงว่าทำตามแผนได้ทุกอย่างหรือไม่ และมีอะไรที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และจัดระเบียบชีวิตได้ดีขึ้นนั้นเอง
2. ลองตื่นเช้าเพื่อมีเวลาที่มากขึ้น
ประโยชน์ของการตื่นเช้าสามารถช่วยให้มีสมาธิที่ดีและยังช่วยให้มีเวลามากยิ่งขึ้น เพื่อจัดการกับสิ่งต่างๆ หรือสิ่งที่อยากทำ เช่น การตื่นเช้าทำให้มีเวลาทำอาหารเช้าที่มีประโยชน์ได้จากที่บ้าน และช่วยให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพ หรือหากตื่นเช้าก่อนออกไปทำงานประมาณ 1-2 ชั่วโมง จะทำให้มีเวลาออกกำลังกายตอนเช้า เพื่อให้ร่างกายได้เตรียมพร้อมในการทำงาน และยังทำให้อารมณ์แจ่มใส สดชื่น
3. ใส่ใจกับเรื่องที่สำคัญก่อนเสมอ
ในทุกๆ วัน มักจะมีเรื่องราวต่างๆ มากมายเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี หรือเรื่องที่ทำให้คุณไม่สบายใจ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ ควรทำการแยกแยะว่าเรื่องไหนคือเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพราะภายในหนึ่งวันคุณจะมีเวลาที่จำกัด และไม่ควรเสียเวลาเหล่านั้นไปกับเรื่องที่ไม่สำคัญ หรือเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องนั้นเอง หากสามารถตัดเรื่องที่ไม่จำเป็นออกไปได้ จะทำให้สามารถจัดระเบียบชีวิตได้ดีขึ้น
4. จัดตารางสิ่งที่ต้องทำและกำหนดระยะเวลา
เริ่มต้นจัดตารางสิ่งที่ควรทำ พร้อมกำหนดระยะเวลาเสร็จสิ้นของงานล่วงหน้า สามารถช่วยให้จัดการเวลาได้เป็นอย่างดี ซึ่งอาจจะเริ่มได้ตั้งแต่หลังตื่นนอน โดยอาจจะระบุในตารางว่าหลังตื่นนอนสิ่งที่ต้องทำมีอะไรบ้าง และใช้ระยะเวลาเท่าไร เช่น งานเริ่ม 9.00 น. และจะต้องทำเอกสารเสนอขายให้เสร็จภายใน 30 นาที เป็นต้น การระบุสิ่งที่ต้องทำพร้อมกำหนดระยะเวลา เสมือนเป็นการวางแผนและเตือนความจำ จะสามารถช่วยให้จัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีระบบ
5. หาเวลาพักบ้าง
ถึงแม้ว่าจะทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย ก็อย่าลืมว่าร่างกายและจิตใจของคุณนั้นต้องการการพักผ่อน เพราะนี่คือสิ่งที่เยียวยาจิตใจและร่างกายได้ดีที่สุด ลองหาวันหยุดอย่างวันเสาร์-อาทิตย์ พาตัวเองออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านหรือพักผ่อนใกล้ๆ กรุงเทพฯ อย่างการไปล่องเรือ เดินเล่นในสวน เที่ยววัด ชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ แต่หากมีเวลาหรือมีโอกาส การได้ไปนอนค้างคืนที่เที่ยวแนวธรรมชาติอย่าง ทะเล ภูเขา ก็ดีไม่น้อย เป็นการฟื้นฟูจิตใจและร่างกาย ลดความตึงเครียด ทั้งยังทำให้กลับมามีพลังสดใสกว่าที่เคยอีกด้วย
6. ยอมรับได้หากไม่เป็นไปตามแผน
ถึงแม้ว่าจะสามารถจัดระเบียบชีวิตได้เป็นอย่างดี แต่โลกนี้ก็ไม่มีอะไรแน่นอน หมายความว่าในบางครั้งสิ่งที่วางแผนไว้อาจจะไม่ได้เป็นไปตามแผนนั้น หรือที่เรียกว่าผิดแผนนั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น หากนัดทานข้าวกับเพื่อนตอน 17.00 น. แต่เพื่อนคุณเกิดยกเลิกนัดขึ้นมากระทันหัน ทำให้ส่งผลกระทบกับคุณ เพราะต้องเสียเวลาในการเดินทางและกระทบกับแผนอื่นๆ ที่วางไว้
เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้การทำใจยอมรับ และพยายามปรับความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะทำให้สามารถปรับตัวได้ไวและจัดระเบียบวางแผนสิ่งที่ควรทำต่อไปได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น การยอมรับกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน หรือเหตุการณ์ที่ไม่ได้อยู่ในแผนเป็นการปรับตัวที่ดี และยังช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข