MAIN POINT
- รีไฟแนนซ์บ้าน คือ การยื่นขอสินเชื่อเงินกู้จากธนาคารใหม่ ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารเดิม ซึ่งสามารถช่วยในการลดอัตราดอกเบี้ยบ้าน ลดระยะเวลาการผ่อน พร้อมช่วยลดรายจ่ายภายในบ้านได้อีกด้วย
- อัตราดอกเบี้ยในการ Refinance บ้าน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น โปรโมชันของธนาคารใหม่ เงื่อนไขของธนาคารนั้น ๆ ระยะเวลาการกู้ยืม รวมถึงสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น จึงจำเป็นต้องเช็กและสอบถามรายละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจกู้ยืม
รีไฟแนนซ์บ้าน เป็นคำที่เจอบ่อยมาก ๆ โดยเฉพาะคนที่เคยกู้ซื้อบ้านไปแล้ว รวมถึงคนที่กำลังอยากซื้อบ้านหลังแรกเป็นของตัวเอง แต่บางคนอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจว่าการรีไฟแนนซ์บ้านคืออะไรและจำเป็นมากแค่ไหน วันนี้ AP Thai เลยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการ Refinance บ้านมาฝากทุกคนกัน ซึ่งจะมีรายละเอียดสำคัญ ๆ อะไรบ้างนั้น ตามไปดูกันเลย!
ไขข้อสงสัย รีไฟแนนซ์บ้าน คืออะไร?
คำว่า รีไฟแนนซ์บ้าน เป็นสิ่งที่คนซื้อบ้านทุกคนควรทำความเข้าใจเอาไว้ เพราะการรีไฟแนนซ์บ้าน คือ การเข้าไปยื่นขอสินเชื่อเงินกู้จากธนาคารใหม่ ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารเดิมที่เรากู้ยืมไว้ โดยมีบ้านและที่ดินเป็นหลักประกัน ซึ่งการ Refinance บ้านหลัก ๆ ก็เพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลง และสามารถเพิ่มลดระยะเวลาการผ่อนได้ อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้อีกด้วย ซึ่งแนวทางการคิดดอกเบี้ยของธนาคารโดยทั่วไปแล้วจะมีด้วยกัน 2 แบบ ดังนี้
- การคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ นั่นคือ การที่ธนาคารจะระบุอัตราดอกเบี้ยออกมาเป็นตัวเลขแบบชัดเจน เช่น ในช่วง 3 ปีแรก จะได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี เท่ากับว่าตลอดทั้ง 3 ปี อัตราดอกเบี้ยจะเท่ากันทุกปี
- การคิดดอกเบี้ยแบบลอยตัว นั่นคือ การที่ธนาคารจะระบุอัตราดอกเบี้ย โดยอ้างอิงจากค่า MLR, MOR หรือ MRR ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดออกมาในระยะเวลานั้น ๆ จึงอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยบ้านเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ในช่วง 3 ปีแรก จะได้รับอัตราดอกเบี้ย MRR-2.50% ต่อปี ซึ่งหากในปีที่ 2 ค่า MRR ปรับตัวสูงขึ้น เท่ากับว่าดอกเบี้ยในปีที่ 2 จะสูงกว่าปีแรกนั่นเอง
อัปเดตอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้าน ล่าสุด ปี 2567
ธนาคาร | ดอกเบี้ยขั้นต่ำเฉลี่ย 3 ปีแรก | MRR | วงเงินกู้สูงสุด |
อาคารสงเคราะห์ | 2.98% | 6.545% |
ตามธนาคารอนุมัติ |
ธนาคารออมสิน | 4.79-5.29% | 6.595% |
110 % |
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา | 3.40-3.85% | 7.40% |
100 % |
ธนาคารทหารไทยธนชาต | 3.19-4.33% | 7.83% |
100 % |
ธนาคารกรุงไทย | 3.30-4.04% | MLR 7.05% |
100 % |
ธนาคารไทยพาณิชย์ | 3.42-4.43% | 7.30% |
100 % |
ธนาคารกสิกรไทย | 3.42-4.37% | 7.30% |
100 % |
ธนาคารกรุงเทพ | 3.55-3.90% | 7.05% |
100 % |
อัปเดตอัตราดอกเบี้ยล่าสุด: 4 ตุลาคม 2567
หมายเหตุ: อัตราดอกเบี้ยบ้านอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามเศรษฐกิจและเงื่อนไขของธนาคารนั้น ๆ รวมถึงระยะเวลากู้ยืม คุณสมบัติผู้ยื่นกู้ และประเภทสินเชื่อ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น จึงควรตรวจสอบข้อมูลจากธนาคารเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจกู้ยืม
เลือกรีไฟแนนซ์บ้านธนาคารไหนดี
1. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
- โปรโมชัน: สินเชื่อบ้าน Happy Life ปี 2567 เป็นสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ปีแรก 1.95% ต่อปี และ 3.50% ในปีที่ 2-3 จากนั้นดอกเบี้ยจะเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัวขึ้นลงตาม MRR ซึ่งมีทั้ง MRR-1.00% ต่อปี สำหรับลูกค้าสวัสดิการ, MRR-0.50% ต่อปี สำหรับลูกค้ารายย่อย และ MRR ต่อปี สำหรับกู้ชำระหนี้ พร้อมระยะเวลาการกู้ยืมไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่เกิน 40 ปี โดยสามารถยื่นกู้และทำนิติกรรมได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567
- วงเงินกู้สูงสุด: เป็นไปตามหลักประกัน ตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป หรือเกณฑ์รายได้ตามระเบียบปฏิบัติงานสินเชื่อ
ที่มา: สินเชื่อบ้าน Happy Life ปี 2567 ธนาคารอาคารสงเคราะห์
2. ธนาคารออมสิน
- โปรโมชัน: สินเชื่อเคหะรีไฟแนนซ์และกู้เพิ่มเติม เป็นสินเชื่อ Refinance บ้านที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวขึ้นลงตาม MRR สำหรับผู้กู้ที่ประสงค์ทำประกันชีวิต ใน 1-3 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ MRR-1.800% และ MRR-0.750% ในปีที่ 4 เป็นต้นไป ส่วนผู้กู้ที่ไม่ประสงค์ทำประกันชีวิต ใน 1-3 ปีแรก จะอยู่ที่ MRR-1.300% และ MRR-0.250% ในปีที่ 4 เป็นต้นไป พร้อมระยะเวลากู้ยืมนานสูงสุด 40 ปี
- วงเงินกู้สูงสุด: ไม่เกิน 110% ของราคาประเมินหลักทรัพย์
ที่มา: สินเชื่อเคหะรีไฟแนนซ์ และกู้เพิ่มเติม ธนาคารออมสิน
3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- โปรโมชัน: สินเชื่อกรุงศรีรีไฟแนนซ์บ้าน เป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสำหรับวงเงินกู้ 1-1.5 ล้านบาท คงที่ 2 ปีแรก 3.50% และ MRR-3.90% ในปีที่ 3 จากนั้นจะเปลี่ยนเป็น MRR-1.30% ในปีถัด ๆ ไป ส่วนวงเงินกู้ตั้งแต่ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป จะมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.99% ในปีแรก และ 3.60% ในปีที่ 2 จากนั้นจะเปลี่ยนเป็น MRR-2.80% ในปีที่ 3 และ MRR-1.50% ในปีถัด ๆ ไป โดยสามารถยื่นกู้และทำนิติกรรมได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
- วงเงินกู้สูงสุด: ไม่เกิน 95% ของราคาประเมินหลักทรัพย์
ที่มา: สินเชื่อกรุงศรี รีไฟแนนซ์บ้าน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
4. ธนาคารทหารไทยธนชาต
- โปรโมชัน: สินเชื่อบ้าน รีไฟแนนซ์ เป็นสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านสำหรับลูกค้าที่มีบัญชีเงินเดือนกับทางธนาคาร จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 1-3 ปีแรก 3.29% ต่อปี จากนั้นดอกเบี้ยจะเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัวขึ้นลงตาม MRR ซึ่งอยู่ที่ MRR-1.88% ต่อปี อีกทั้งยังรับฟรีค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยและค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ พร้อมระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 35 ปี
- วงเงินกู้สูงสุด: ไม่เกิน 50,000,000 บาท หรือ 100% ของราคาประเมินหลักทรัพย์
ที่มา: สินเชื่อบ้าน รีไฟแนนซ์ ธนาคารทหารไทยธนชาต
5. ธนาคารกรุงไทย
- โปรโมชัน: สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ เป็นสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทยที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ปีแรก 1.99% ต่อปี และ 4.39% ในปีที่ 2-3 จากนั้นดอกเบี้ยจะเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว MLR-1.00% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับวงเงินกู้ที่น้อยกว่า 2 ล้านบาทและเป็นลูกค้าที่ทำประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ ส่วนวงเงินกู้ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป จะได้อัตราดอกเบี้ยคงที่ปีแรก 1.99% ต่อปี และ 3.50% ในปี 2 และ 4.42% ในปีที่ 3 จากนั้นดอกเบี้ยจะเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว MLR-1.00% ต่อปี พร้อมระยะเวลากู้ยืมสูงสุด 40 ปี โดยสามารถยื่นกู้และทำนิติกรรมได้ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567
- วงเงินกู้สูงสุด: ไม่เกิน 100% ของราคาประเมินหลักทรัพย์ สำหรับมูลค่าหลักประกันที่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และไม่เกิน 90% ของราคาประเมินหลักทรัพย์ สำหรับมูลค่าหลักประกันที่มากกว่า 10 ล้านบาท
ที่มา: สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ ธนาคารกรุงไทย
6. ธนาคารไทยพาณิชย์
- โปรโมชัน: สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ เป็นสินเชื่อ Refinance บ้านที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ปีแรก 1.99% ต่อปี จากนั้นดอกเบี้ยจะเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว MRR-3.45% ในปีที่ 2 และ MRR-2.87% ในปีที่ 3 ส่วนในปีที่ 4 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ MRR-1.55% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับผู้ที่ทำประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ พร้อมระยะเวลาการผ่อนนานสูงสุด 30 ปี โดยสามารถยื่นกู้และทำนิติกรรมได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
- วงเงินกู้สูงสุด: ไม่เกิน 100% ของราคาประเมินหลักทรัพย์ สำหรับบ้านหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท
ที่มา: สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ ธนาคารไทยพาณิชย์
7. ธนาคารกสิกรไทย
- โปรโมชัน: สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ จากธนาคารกสิกรไทย เป็นสินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์บ้านสำหรับวงเงินกู้ตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ปีแรก 1.99% ต่อปี 3.78% ในปีที่ 2 และ 4.50% ในปีที่ 3 จากนั้นดอกเบี้ยจะเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว MRR-1.75% ในปีที่ 4 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับผู้ที่ทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อบ้าน พร้อมระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 30 ปี โดยสามารถยื่นกู้และทำนิติกรรมได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
- วงเงินกู้สูงสุด: ไม่เกิน 100% ของราคาประเมินหลักทรัพย์
ที่มา: สินเชื่อบ้าน รีไฟแนนซ์ ธนาคารกสิกรไทย
8. ธนาคารกรุงเทพ
- โปรโมชัน: สินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์ เป็นสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านจากธนาคารกรุงเทพ ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ปีแรก 2.75% ต่อปี จากนั้นดอกเบี้ยจะเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว MRR-3.10% ในปีที่ 2-3 และ MRR-1.50% ในปีที่ 4 เป็นต้นไป รับฟรีค่าประเมินราคาหลักประกัน ขั้นต่ำ 3,000 บาท (ไม่รวม VAT) พร้อมระยะเวลาการผ่อนชำระนานสูงสุด 30 ปี โดยสามารถยื่นกู้และทำนิติกรรมได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
- วงเงินกู้สูงสุด: ไม่เกิน 100% ของภาระหนี้คงเหลือ
ที่มา: สินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์ ธนาคารกรุงเทพ
คำถามที่พบบ่อยสำหรับการรีไฟแนนซ์บ้าน
1. ผ่อนบ้านมาแค่ 2 ปี สามารถรีไฟแนนซ์บ้านได้ไหม?
สามารถทำได้ แต่หากรีบตัดสินใจรีไฟแนนซ์ก่อนครบ 3 ปี หรือก่อนกำหนดที่ระบุในสัญญา จะถูกปรับเงินประมาณ 0-3% ของวงเงินกู้ทั้งหมด ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของธนาคารนั้น ๆ ดังนั้นแนะนำว่าไม่ควรรีบรีไฟแนนซ์บ้านก่อนครบกำหนด
2. เมื่อไหร่ที่ควรรีไฟแนนซ์บ้าน?
ควรรีไฟแนนซ์เมื่อพบว่าอัตราดอกเบี้ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือในกรณีที่มีภาระหนี้หลายก้อนและต้องการรวมหนี้ไว้ด้วยกัน รวมถึงเมื่อต้องการใช้เงินก้อนใหญ่สำหรับปรับปรุงบ้านหรือลงทุนในด้านอื่น ๆ และเมื่อมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น
3. ติดบูโรหรือว่างงานสามารถรีไฟแนนซ์บ้านได้หรือไม่?
ยังไม่สามารถรีไฟแนนซ์บ้านได้ แต่หากต้องการรีไฟแนนซ์จริง ๆ สามารถทำเรื่องกู้ร่วมกับคนในครอบครัวที่มีเครดิตบูโรและประวัติการชำระหนี้ดีได้ ไม่ว่าจะเป็น พี่น้องหรือคู่สมรส แต่หากไม่มีคนกู้ร่วมด้วย แนะนำให้วางแผนการเงินของตัวเอง เพื่อชำระหนี้และทำให้สถานะกลับมาสู่ภาวะปกติ แล้วจึงค่อย ๆ สร้างเครดิตที่ดีใหม่อีกครั้ง โดยให้เว้นระยะสัก 6-12 เดือน แล้วค่อยไปยื่นเรื่องเพื่อขอรีไฟแนนซ์อีกครั้ง
3 ข้อดีของการรีไฟแนนซ์บ้าน
1. ช่วยลดอัตราดอกเบี้ย
แน่นอนว่าเวลากู้เงินเพื่อซื้อบ้านสักหลัง ปัจจัยหลักที่มีความสำคัญคงหนีไม่พ้น อัตราดอกเบี้ย ซึ่งสินเชื่อบ้านหลาย ๆ ตัว มักจะมีอัตราดอกเบี้ยดีเฉพาะในช่วง 3 ปีแรก และเมื่อพ้นปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น การรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่ จึงสามารถช่วยลดอัตราดอกเบี้ยบ้านได้จริง ซึ่งจะมากหรือน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับโปรโมชันและเงื่อนไขของธนาคารนั้น ๆ
2. ช่วยลดระยะเวลาการผ่อน
ยิ่งผ่อนบ้านหมดไวเท่าไรก็ยิ่งส่งผลดีกับชีวิตมากเท่านั้น ซึ่งการรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อลดระยะเวลาการผ่อน เป็นอีกหนทางที่ช่วยให้เราปลดหนี้บ้านได้ไวขึ้น เพราะเมื่อรีไฟแนนซ์อัตราดอกเบี้ยในการผ่อนบ้านจะน้อยลงทำให้ตัดเงินต้นได้ไวขึ้น
3. ช่วยลดรายจ่ายภายในบ้าน
ค่างวดบ้านในแต่ละเดือน ถือเป็นค่าใช้จ่ายชิ้นใหญ่ที่จะต้องดูแลรับผิดชอบให้ดี ซึ่งในบ้างครั้งที่เราต้องการสภาพคล่องทางการเงิน การเลือกรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี ที่สามารถช่วยให้เราดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างสบายใจมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ค่างวดปกติในแต่ละเดือนอยู่ที่ 20,000 บาท แต่เมื่อได้ยื่นขอทำเรื่องรีไฟแนนซ์ อาจช่วยลดค่างวดลงมาอยู่ที่ 16,000 บาทต่อเดือน โดยค่างวดใหม่จะขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้กู้สินเชื่อและธนาคารนั้น ๆ
สิ่งที่ควรรู้ก่อนรีไฟแนนซ์บ้าน
สำหรับคนที่กำลังอยากรีไฟแนนซ์บ้าน นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อธนาคารที่เราต้องการ Refinance จะสำคัญแล้ว ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องชำระระหว่างกระบวนการยื่นเอกสารเพื่อรีไฟแนนซ์กับทางธนาคารใหม่ ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่ ให้ตรวจสอบโปรโมชันหรืออัตราดอกเบี้ยบ้านสำหรับผู้กู้ปัจจุบันกับธนาคารเดิมก่อน
เนื่องจากอาจจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่คุ้มค่ากว่า อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการยื่นเอกสารรีไฟแนนซ์ด้วย และสุดท้ายจะต้องไม่ลืมศึกษาโปรโมชันของแต่ละธนาคารให้ดีก่อนตัดสินใจเลือก เพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่ตอบโจทย์และคุ้มค่ามากที่สุด
5 ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้าน มีอะไรบ้าง?
1. ตรวจสอบสัญญากู้เดิม
ก่อนจะเริ่มยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์บ้าน ต้องติดต่อขอเอกสารสรุปยอดหนี้ทั้งหมดจากธนาคารเดิม เพื่อสรุปรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น จำนวนเงินกู้ ระยะเวลาที่ชำระไปแล้ว และเหลือระยะเวลาที่ต้องผ่อนชำระอีกกี่ปี จากนั้นให้เอาเอกสารที่ได้ไปยื่นกับธนาคารใหม่ที่เลือกไว้
2. เลือกธนาคารใหม่ที่ใช่
การเลือกรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่ จะทำให้ได้อัตราดอกเบี้ยบ้านที่ต่ำลง โดยสามารถหาข้อมูลจากหลาย ๆ ธนาคาร เพื่อเอามาเปรียบเทียบและประกอบการตัดสินใจ โดยธนาคารหลาย ๆ แห่งมักจะมีโปรโมชันสินเชื่อให้เลือกหลากหลาย แต่ยังไงก็ตามจะต้องไม่ลืมอ่านรายละเอียด ข้อกำหนด และเงื่อนไขของสินเชื่อนั้น ๆ ให้ดีก่อนตัดสินใจ เพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่คุ้มค่าที่สุด
3. เตรียมเอกสารให้พร้อม
เพื่อให้กระบวนการยื่นเรื่องขอ Refinance บ้าน เป็นไปอย่างรวดเร็วและราบรื่น จึงควรจัดเตรียมเอกสารให้พร้อม ซึ่งเอกสารที่ใช้ในการรีไฟแนนซ์บ้าน มีดังนี้
เอกสารส่วนตัว
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล
- ทะเบียนสมรส (กรณีกู้ร่วม)
เอกสารแสดงหลักฐานทางการเงิน (สำหรับผู้ที่เป็นพนักงานบริษัท)
- สลิปเงินเดือนล่าสุด
- หนังสือรับรองเงินเดือนไม่เกิน 3 เดือน
- รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน
เอกสารแสดงหลักฐานทางการเงิน (สำหรับเจ้าของกิจการส่วนตัว)
- เอกสารทะเบียนการค้า/ทะเบียนบริษัท
- หลักฐานการเสียภาษีเงินได้จากกรมสรรพากร
เอกสารหลักประกันการรีไฟแนนซ์บ้าน
- สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หลักประกัน (เช่น โฉนดที่ดิน หรือ หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด อช.2)
- สำเนาหนังสือสัญญาการซื้อขายหรือให้ที่ดิน ทด.13 หรือ 14 หรือสัญญาซื้อขายห้องชุด
- สำเนาสัญญากู้จากธนาคารเก่า
- สำเนาสัญญาจำนองที่ดิน หรือ สำเนาสัญญาจำนองห้องชุด
- สำเนาใบเสร็จแสดงธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับบ้านหรือสำเนาใบเสร็จผ่อนชำระค่างวดบ้าน
- แผนที่ตั้งของหลักประกันโดยสังเขป
4. ยื่นเอกสารขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารที่เลือก
หลังจากที่จัดเตรียมเอกสารทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นตอนนำเอกสารไปยื่นที่ธนาคารใหม่ โดยการพิจารณาของทางธนาคารอาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งหากเอกสารทั้งหมดผ่านการรีไฟแนนซ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางธนาคารจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาประเมินสินทรัพย์ เพื่อคำนวณยอดสินเชื่อที่กู้ได้ โดยขั้นตอนการยื่นเอกสารจะแตกต่างกันไปตามนโยบายของแต่ละธนาคาร
5. ทำสัญญาใหม่
เมื่อทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลานัดวันทำสัญญาใหม่ พร้อมจดจำนองที่ดินและชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยจะต้องนัดหมายกับนายธนาคารใหม่และนายธนาคารเดิม ภายในวันเดียวกัน ที่สำนักงานที่ดินของเขตที่ตั้งสินทรัพย์นั้น ๆ เพื่อโอนกรรมสิทธิ์และมอบโฉนดที่ดินให้กับนายธนาคารใหม่ เพียงเท่านี้ก็จบขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้านเรียบร้อย
ค่าใช้จ่ายสำหรับการรีไฟแนนซ์
สำหรับใครที่กำลังจะรีไฟแนนซ์บ้าน จะต้องเตรียมเงินเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์บ้าน ซึ่งจะอยู่ที่ราว ๆ 2-4% ของวงเงินกู้ โดยสามารถแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายได้ดังนี้
ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระกับทางธนาคาร
- ค่าประเมินราคาบ้าน อยู่ที่ 2,000-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับธนาคารและพื้นที่ให้บริการ
- ค่าประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน หรือ MRTA เป็นประกันชีวิตที่สามารถช่วยคุ้มครองความเสี่ยงให้กับผู้ที่กำลังผ่อนบ้านเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
- ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ
ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระตามกฏหมาย
- ค่าจดจำนอง คิดเป็น 1% ของวงเงินกู้ ซึ่งเป็นการชำระให้กับกรมที่ดิน
- ค่าอากรแสตมป์ คิดเป็น 0.05% ของวงเงินกู้ ซึ่งเป็นการชำระให้กับกรมสรรมพากร
- ค่าประกันภัยอัคคีภัย อยู่ที่หลักพันบาทต่อปี
รีไฟแนนซ์บ้าน ช่วยปลดหนี้บ้านได้ไวกว่าเดิม
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับการรีไฟแนนซ์บ้าน ที่สามารถช่วยลดอัตราดอกเบี้ย ลดระยะเวลาการผ่อน และลดค่าใช้จ่ายภายในบ้านได้ พร้อมรวบรวมอัตราดอกเบี้ยล่าสุดในการรีไฟแนนซ์บ้านของแต่ละธนาคาร ที่น่าจะพอเป็นแนวทางให้ทุกคนตัดสินใจเลือกธนาคารใหม่ที่คุ้มค่ามากที่สุด หรือถ้าใครกำลังมองหาโครงการบ้านที่ใช่ ที่ตอบโจทย์ทั้งไลฟ์สไตล์และการเงินของตัวเอง สามารถใช้โปรแกรมคำนวณผ่อนบ้านจากเอพี เพื่อเช็กยอดสินเชื่อและค่างวดในแต่ละเดือนแบบคร่าว ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจและวางแผนการเงินในอนาคต
รวมโปรโมชันบ้านและคอนโดจาก AP ขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ AP
เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต
เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมหรือบ้านแฝดดีไซน์สวย คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ