MAIN POINT
- ค่าโอนที่ดิน โอนบ้าน โอนคอนโด และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในกรณีการโอนกรรมสิทธิ์ จะแตกต่างกันตามบุคคลที่ได้รับโอน ไม่ว่าจะเป็น ลูกที่ชอบด้วยกฎหมาย, ลูกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย, สามี-ภรรยา, ญาติพี่น้อง รวมถึงการโอนมรดก
- ส่วนค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน โอนบ้าน โอนคอนโด ในกรณีการซื้อ-ขาย จะมีการคิดคำนวณค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน หลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียมการโอน, ค่าจดจำนอง, ค่าอากรแสตมป์, ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ และค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าในการโอนที่ดิน โอนบ้าน โอนคอนโด แต่ละครั้ง จะต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ วันนี้ AP Thai เลยรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ทั้งเอกสารที่ต้องใช้ ค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน โอนบ้าน โอนคอนโดแต่ละกรณี รวมถึงขั้นตอนและวิธีการโอนที่ดิน เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกคนเตรียมตัวก่อนไปทำเรื่องโอนที่ดิน ซึ่งจะมีรายละเอียดอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลย!
เอกสารที่ต้องใช้ในการโอนที่ดิน โอนบ้าน โอนคอนโด มีอะไรบ้าง?
1. กรณีโอนที่ดิน โอนบ้าน โอนคอนโด ในนามบุคคลธรรมดา
เอกสารของฝั่งผู้ซื้อ
- บัตรประชาชนและสำเนาบัตรประชาชน
- เอกสารการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลและสำเนา (ถ้ามี)
- ทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน
กรณีให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน
- ใบมอบอำนาจที่ดิน หรือ ทด.21
- สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
- สำเนาทะเบียนบ้านผู้รับมอบอำนาจ
เอกสารของฝั่งผู้ขาย
- โฉนดที่ดินที่ต้องการขาย
- บัตรประชาชนและสำเนาบัตรประชาชน
- เอกสารการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลและสำเนา (ถ้ามี)
- ทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน
- หนังสือยินยอมของคู่สมรส (กรณีที่มีคู่สมรส)
- ใบทะเบียนสมรสและสำเนาใบทะเบียนสมรส (กรณีที่มีคู่สมรส)
- ใบสำคัญการหย่าและสำเนาใบสำคัญการหย่า (กรณีที่หย่า)
กรณีให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน
- ใบมอบอำนาจที่ดิน หรือ ทด.21
- สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
- สำเนาทะเบียนบ้านผู้รับมอบอำนาจ
2. กรณีโอนที่ดิน โอนบ้าน โอนคอนโด ในนามนิติบุคคล
- หนังสือรับรองนิติบุคคล (อายุไม่เกิน 1 เดือน)
- บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือ บอจ.5 (อายุไม่เกิน 1 เดือน) พร้อมรายละเอียดนิติบุคคลที่สามารถซื้อที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้ โดยไม่จำเป็นต้องขอรับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือหากผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลต่างด้าว จะต้องมีหุ้นไม่ถึง 40% ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด
- รายงานการประชุมของคณะกรรมการบริษัท พร้อมระบุรายละเอียดวัตถุประสงค์การซื้อ รวมถึงที่มาของเงินที่ซื้อ
- สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของกรรมการที่มีอำนาจลงนาม
- หนังสือแสดงตัวอย่างลายมือชื่อกรรมการ
กรณีให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน
- ใบมอบอำนาจ
- สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
- สำเนาทะเบียนบ้านผู้รับมอบอำนาจ
ค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน โอนบ้าน โอนคอนโด มีอะไรบ้าง?
1. กรณีโอนเพื่อการซื้อ-ขาย
สำหรับการโอนที่ดิน โอนบ้าน โอนคอนโด เพื่อการซื้อ-ขาย ทั้งระหว่างญาติพี่น้อง รวมถึงบุคคลทั่วไป จะมีการคิดคำนวณค่าธรรมเนียมการโอน ดังนี้
1.1. ค่าธรรมเนียมการโอน
ตามปกติจะถูกคิดเป็น 2% ของราคาประเมิน แต่ในปี 2567 รัฐบาลมีนโยบายปรับลดค่าธรรมเนียมเหลือเพียง 0.01% เพื่อกระตุ้นการซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
- เฉพาะการซื้อ-ขายที่อยู่อาศัย ทั้งมือหนึ่งและมือสอง ไม่ว่าจะเป็น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม อาคารพาณิชย์ และคอนโด
- ราคาซื้อ-ขาย ราคาประเมิน และวงเงินจำนอง จะต้องไม่เกิน 7 ล้านบาท ต่อสัญญา (ไม่รวมกรณีการซื้อ-ขายเฉพาะส่วน)
- ผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ จะต้องเป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย
- จะต้องโอนและจดจำนองในครั้งเดียวกัน เพื่อให้ได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมการจดจำนอง
- จะต้องโอนและจดจำนอง ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เท่านั้น
แต่หากราคาซื้อ-ขายมีมูลค่ามากกว่า 7 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมในการโอนจะถูกคิดเป็น 2% ของราคาประเมินเช่นเดิม
1.2. ค่าจดจำนอง
สำหรับการซื้อ-ขายแบบจดจำนอง ตามปกติจะถูกคิดค่าจดจำนอง 1% ของมูลค่า แต่ในปี 2567 ค่าจดจำนองถูกปรับลดลงเหลือเพียง 0.01% โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
- เฉพาะการซื้อ-ขายที่อยู่อาศัย ทั้งมือหนึ่งและมือสอง ไม่ว่าจะเป็น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม อาคารพาณิชย์ และคอนโด
- ราคาซื้อ-ขาย ราคาประเมิน และวงเงินจำนอง จะต้องไม่เกิน 7 ล้านบาท ต่อสัญญา (ไม่รวมกรณีการซื้อ-ขายเฉพาะส่วน)
- ผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ จะต้องเป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย
- จะต้องโอนและจดจำนองในครั้งเดียวกัน เพื่อให้ได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมการโอน
- จะต้องโอนและจดจำนอง ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เท่านั้น
แต่หากราคาซื้อ-ขายมีมูลค่ามากกว่า 7 ล้านบาท ค่าจดจำนองจะถูกคิดเป็น 1% ของราคาประเมินเช่นเดิม
ตัวอย่างการคำนวณค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองปี 2567
หากซื้อที่ดิน บ้าน หรือคอนโด มูลค่า 2,500,000 บาท แล้วทำการโอนพร้อมจดจำนองภายในครั้งเดียวกัน ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2567 จะมีค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน ดังนี้
อัตราใหม่ประจำปี 2567
- ค่าธรรมเนียมการโอน: (2,500,000 x 0.01) ÷ 100 = 250 บาท
- ค่าจดจำนอง: (2,500,000 x 0.01) ÷ 100 = 250 บาท
- รวมทั้งสิ้น 250 + 250 = 500 บาท
อัตราปกติ
- ค่าธรรมเนียมการโอน: (2,500,000 x 2) ÷ 100 = 50,000 บาท
- ค่าจดจำนอง: (2,500,000 x 1) ÷ 100 = 25,000 บาท
- รวมทั้งสิ้น 50,000 + 25,000 = 75,000 บาท
ซึ่งช่วยประหยัดค่าโอนที่ดิน บ้าน หรือคอนโด ได้ทั้งหมด 75,000 - 500 = 74,500 บาท
2.3. ค่าอากรแสตมป์
กรณีซื้อ-ขายบ้านพร้อมที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม ทาวน์โฮม หากผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดา แล้วมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี หรือถือครองมาครบ 5 ปี จะต้องเสียค่าอากรแสตมป์ โดยมีอัตราคิดเป็น 0.5% ของราคาซื้อ-ขายหรือราคาประเมิน โดยยึดจากราคาที่สูงกว่า
ตัวอย่างเช่น
- ราคาประเมินบ้านอยู่ที่ 2 ล้านบาท แต่ราคาซื้อ-ขายอยู่ที่ 2.2 ล้านบาท จะคำนวณค่าอากรแสตมป์จากราคาซื้อ-ขาย ซึ่งคิดเป็น (2,200,000 x 0.5) ÷ 100 = 11,000 บาท
ซึ่งถ้าใครเสียค่าอากรแสตมป์เรียบร้อยแล้ว จะไม่ต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่ม แต่ในกรณีการซื้อ-ขายเฉพาะที่ดินอย่างเดียว จะต้องถือครองที่ดินครบ 5 ปีแล้วเท่านั้น จึงจะเสียแค่ค่าอากรแสตมป์ และไม่ต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มเติม
2.4. ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
กรณีที่ต้องการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้จากการซื้อ-ขาย จากมรดก หรือถูกเวนคืนตามกฎหมาย จะต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาขายหรือราคาประเมิน โดยยึดจากราคาที่สูงกว่า
ตัวอย่างเช่น
- ราคาประเมินที่ดิน บ้าน และคอนโด อยู่ที่ 2 ล้านบาท แต่ราคาขายอยู่ที่ 2.2 ล้านบาท จะคำนวณค่าภาษีธุรกิจเฉพาะจากราคาขาย ซึ่งคิดเป็น (2,200,000 x 3.3) ÷ 100 = 72,600 บาท
แต่ถ้าใครมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี หรือถือครองอสังหาริมทรัพย์ครบ 5 ปีแล้ว จะไม่ต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยจะเสียแค่ค่าอากรแสตมป์เท่านั้น
2.5. ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หากนิติบุคคลขายอสังหาริมทรัพย์ได้ จะต้องเสียภาษีเงินได้ 1% ของราคาซื้อ-ขายหรือราคาประเมิน โดยยึดจากราคาที่สูงกว่า แต่หากบุคคลธรรมดาขายอสังหาริมทรัพย์ได้ จะต้องเสียภาษีเงินได้ โดยนำราคาประเมินมาคำนวณตามอัตราภาษีเงินได้ พร้อมหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามจำนวนปีที่ถือครอง ตามตารางด้านล่างนี้
อัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (กรณีซื้อ-ขาย บ้าน/ที่ดิน/คอนโด)
เงินได้สุทธิ (บาท) | จำนวนเงินได้ (บาท) | อัตราภาษี |
0 - 300,000 | 300,000 | 5% |
300,001 - 500,000 | 200,000 | 10% |
500,001 - 750,000 | 250,000 | 15% |
750,001 - 1,000,000 | 250,000 | 20% |
1,000,001 - 2,000,000 | 1,000,000 | 25% |
2,000,001 - 5,000,000 | 3,000,000 | 30% |
ตั้งแต่ 5,000,001 ขึ้นไป | - | 35% |
โดยการคำนวณค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการขายอสังหาริมทรัพย์ จะไม่ได้รับการยกเว้นเงินได้สุทธิ 0 - 150,000 บาทแรก เหมือนกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบปกติ
การหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามจำนวนปีที่ถือครอง
จำนวนปี (ปี) | ร้อยละของเงินได้ (จากราคาประเมิน) |
1 | 92% |
2 | 84% |
3 | 77% |
4 | 71% |
5 | 65% |
6 | 60% |
7 | 55% |
8 ปีขึ้นไป | 50% |
โดยจำนวนปีจะนับตามปีบัญชี นั่นคือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม ของปีเดียวกัน ดังนั้น หากถือครองตั้งแต่ สิงหาคม 2563 และขายออกเมื่อ มีนาคม 2566 จะเท่ากับถือครองมาทั้งสิ้น 4 ปี แต่ในกรณีที่ได้รับอสังหาริมทรัพย์จากมรดกหรือให้โดยเสน่หา จะหักค่าใช้จ่ายได้แค่ 50% ไม่ว่าจะถือครองมากี่ปีก็ตาม
ตารางสรุปค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน โอนบ้าน และโอนคอนโด
ค่าใช้จ่ายในการโอนอสังหาริมทรัพย์ (กรณีการซื้อ-ขาย) |
||
ค่าใช้จ่าย | จำนวนเงิน | ผู้รับผิดชอบ |
ค่าธรรมเนียมการโอน | 2% จากราคาประเมิน (ในกรณีปกติ) | คนละครึ่งหรือตามตกลง |
0.01% จากราคาประเมิน (ในกรณีซื้อ-ขายอสังหาฯ ราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ภายใน 31 ธ.ค. 67) |
||
ค่าจดจำนอง | 1% จากมูลค่าจำนอง (ในกรณีปกติ) | ผู้ซื้อหรือตามตกลง |
0.01% จากราคาประเมิน (ในกรณีซื้อ-ขายอสังหาฯ ราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ภายใน 31 ธ.ค. 67 และต้องโอนพร้อมจดจำนองในครั้งเดียวกัน)
|
||
ค่าอากรแสตมป์ |
0.5% จากราคาซื้อ-ขาย หรือ ราคาประเมิน (โดยอิงจากราคาที่สูงกว่า) * ถ้าเสียค่าอากรแสตมป์แล้ว จะไม่ต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ |
ผู้ขาย |
ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ |
3.3% จากราคาซื้อ-ขาย หรือ ราคาประเมิน (โดยอิงจากราคาที่สูงกว่า) * จะเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ต่อเมื่อถือครองอสังหาฯ น้อยกว่า 5 ปี |
ผู้ขาย |
ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย |
ผู้ขายคือบุคคลธรรมดา ค่าภาษีคำนวณจากราคาประเมินและจำนวนปีในการถือครอง |
ผู้ขาย |
ผู้ขายคือนิติบุคคล เสียภาษี 1% จากราคาซื้อ-ขาย หรือ ราคาประเมิน (โดยอิงจากราคาที่สูงกว่า) |
หมายเหตุ: ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2567
ซึ่งโดยทั่วไปจริง ๆ แล้วค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดิน โอนบ้าน โอนคอนโด ไม่ได้ถูกกำหนดแบบตายตัวว่าใครต้องรับผิดชอบ แต่มักจะขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อนั่นเอง และหากใครอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับค่าโอนบ้านเพิ่มเติม สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ “ค่าโอนบ้าน” จ่ายเท่าไร ใครต้องจ่าย พร้อมวิธีคำนวณง่ายๆ
2. กรณีโอนกรรมสิทธิ์
1.1. โอนให้ลูกที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อพ่อแม่ต้องการโอนที่ดิน โอนบ้าน หรือโอนคอนโดให้ลูกที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหมายถึง บุตรที่เกิดจากพ่อแม่ที่จดทะเบียนสมรสกัน จะมีค่าธรรมเนียมโอน ดังนี้
- ค่าธรรมเนียมการโอน 0.5% ของราคาประเมิน
- ค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของราคาประเมิน
- ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5% เฉพาะในกรณีที่มูลค่าที่ดินหรือบ้านมากกว่า 20 ล้านบาท
ตัวอย่างเช่น ที่ดินมูลค่า 30 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษีในส่วน 20 ล้านบาท แต่จะต้องเสียภาษี 5% ในส่วนของ 10 ล้านบาทที่เกินมา - ค่าพยาน 20 บาท
- ค่าอากรคู่ฉบับ 5 บาท
- ค่าคำขอแปลงละ 5 บาท
1.2. โอนให้ลูกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อพ่อแม่ต้องการโอนที่ดิน โอนบ้าน หรือโอนคอนโดให้ลูกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหมายถึง บุตรที่ไม่ได้เกิดจากพ่อแม่ที่จดทะเบียนสมรสกัน รวมถึงกรณีที่พ่อไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร จะมีค่าธรรมเนียมโอน ดังนี้
- ค่าธรรมเนียมการโอน 0.5% ของราคาประเมิน
- ค่าอากรแสตมป์ 0.5% หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาประเมิน
- ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามขั้นบันไดของราคาประเมิน โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50%
- ค่าพยาน 20 บาท
- ค่าอากรคู่ฉบับ 5 บาท
- ค่าคำขอแปลงละ 5 บาท
1.3. โอนให้สามี-ภรรยา
เมื่อสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว ต้องการโอนที่ดิน โอนบ้าน หรือโอนคอนโดให้แก่กัน โดยไม่ได้อยู่ในรูปแบบมรดก จะมีค่าธรรมเนียมโอน ดังนี้
- ค่าธรรมเนียมการโอน 0.5% ของราคาประเมิน
- ค่าอากรแสตมป์ 0.5% หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาประเมิน
- ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามขั้นบันไดของราคาประเมิน โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50%
- ค่าพยาน 20 บาท
- ค่าอากรคู่ฉบับ 5 บาท
- ค่าคำขอแปลงละ 5 บาท
1.4. โอนให้ญาติพี่น้อง
เมื่อญาติพี่น้อง ที่ไม่ว่าจะเป็น พี่น้อง ป้าลุง น้าอา หรือลูกสะใภ้ ลูกเขย และลูกบุญธรรม ต้องการโอนที่ดิน โอนบ้าน หรือโอนคอนโด โดยไม่ได้อยู่ในรูปแบบมรดก จะมีค่าธรรมเนียมโอน ดังนี้
- ค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมิน แต่ในกรณี ปู่ย่าหรือตายาย ต้องการโอนที่ดินให้หลานผู้สืบสันดาน จะมีค่าธรรมเนียมการโอน 0.5% ของราคาประเมิน
- ค่าอากรแสตมป์ 0.5% หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาประเมิน
- ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามขั้นบันไดของราคาประเมิน โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50%
- ค่าพยาน 20 บาท
- ค่าอากรคู่ฉบับ 5 บาท
- ค่าคำขอแปลงละ 5 บาท
1.5. โอนมรดก
หากใครต้องการโอนที่ดิน โอนบ้าน หรือโอนคอนโดในรูปแบบมรดก จะมีค่าธรรมเนียมโอน ดังนี้
- ค่าธรรมเนียมการโอน 0.5% ของราคาประเมิน (กรณีผู้รับมรดกเป็นผู้สืบสันดานหรือคู่สมรส)
- ค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมิน (กรณีผู้รับมรดกเป็นญาติพี่น้องหรือลูกบุญธรรม)
- ค่าจดทะเบียนผู้จัดการมรดกแปลงละ 50 บาท
- ค่าประกาศมรดกแปลงละ 10 บาท
- ค่าคำขอแปลงละ 5 บาท
ซึ่งในกรณีการโอนมรดกที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ผู้ที่ได้รับจะต้องเสียภาษีมรดก ดังนี้
- ถ้าผู้รับมรดก คือ ญาติพี่น้องหรือลูกบุญธรรม ต้องเสียภาษี 10% ในส่วนของมูลค่าที่เกินมา
ตัวอย่างเช่น มูลค่าบ้านหรือที่ดิน 120 ล้านบาท ต้องเสียภาษี 10% ในส่วนของ 20 ล้านบาทที่เกินมา นั่นหมายถึง (20,000,000 x 10) ÷ 100 = 2,000,000 บาท
- ถ้าผู้รับมรดก คือ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือผู้สืบสันดาน อย่างลูกหลาน ต้องเสียภาษี 5% ในส่วนของมูลค่าที่เกินมา
ตัวอย่างเช่น มูลค่าบ้านหรือที่ดิน 110 ล้านบาท ต้องเสียภาษี 5% ในส่วนของ 10 ล้านบาทที่เกินมา นั่นหมายถึง (10,000,000 x 5) ÷ 100 = 500,000 บาท
- ถ้าผู้รับมรดก คือ สามีหรือภรรยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ผู้รับมรดกจะได้รับการยกเว้นและไม่ต้องเสียภาษี
หลังจากที่ทุกคนรู้แล้วว่าต้องคำนวณค่าโอนที่ดิน โอนบ้าน โอนคอนโดยังไง ก็ตามมาดูขั้นตอนและวิธีการโอน เพื่อช่วยให้ทุกคนเตรียมความพร้อมได้เป๊ะมากยิ่งขึ้น
ขั้นตอนและวิธีการโอนที่ดิน โอนบ้าน และโอนคอนโด
- กรอกแบบฟอร์มใบคำขอและแนบเอกสารทั้งหมดที่เตรียมมา
- ยื่นแบบฟอร์มพร้อมเอกสารให้เจ้าหน้าที่ และรอรับบัตรคิวจากเจ้าหน้าที่
- เมื่อถึงคิว ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องลงลายมือชื่อในเอกสารต่อหน้าเจ้าหน้าที่
- จากนั้นเจ้าหน้าที่จะประเมินราคาที่ดิน เพื่อเอาไปคำนวณหาค่าโอนที่ดิน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อออกใบคำนวณค่าใช้จ่าย
- ยื่นใบคำนวณค่าใช้จ่ายที่ฝ่ายการเงินเพื่อชำระเงิน และรอรับใบเสร็จสีฟ้าและสีเหลือง
- มอบใบเสร็จสีเหลืองให้เจ้าหน้าที่ ใบเสร็จสีฟ้าให้ผู้ซื้อ ส่วนผู้ขายเก็บใบเสร็จตัวจริงเอาไว้
- เจ้าหน้าที่จะพิมพ์สลักหลังโฉนด และให้ผู้ซื้อผู้ขายตรวจสอบความถูกต้อง
- จากนั้นผู้ซื้อจะได้รับโฉนดพร้อมสัญญาซื้อขาย (ทด.13) เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
ข้อควรรู้ก่อนดำเนินการโอนที่ดิน โอนบ้าน และโอนคอนโด
1. ถ้าต้องการโอนที่ดิน โอนบ้าน โอนคอนโด ต้องใช้เวลาทั้งหมดกี่วัน?
สำหรับระยะเวลาในการโอนที่ดิน มักจะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้มาใช้บริการที่สำนักงานที่ดินในขณะนั้น รวมถึงจำนวนเอกสารทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบ ซึ่งถ้าเอกสารที่เราเตรียมไปครบถ้วนดี จะใช้เวลาราว ๆ 1-2 ชั่วโมง แต่ถ้าเอกสารที่เตรียมมาไม่ครบหรือมีเหตุการณ์ขัดข้องเกิดขึ้น ก็จะทำให้ใช้เวลานานกว่านั้น
2. สามารถดำเนินการโอนที่ดิน โอนบ้าน โอนคอนโดที่ไหนได้บ้าง?
ทุกคนสามารถเดินทางไปโอนที่ดินได้ที่สำนักงานที่ดินตามจังหวัดนั้น ๆ หรือสำนักงานสาขาที่อยู่ในความรับผิดชอบของที่ดินผืนนั้นโดยตรง โดยในวันดำเนินการผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องยื่นเอกสารทั้งหมดให้ครบถ้วน พร้อมชำระเงินค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้
แต่ถ้าใครมีเวลาว่างน้อยและต้องการความมั่นใจว่าจะได้คิวในวันนั้นแน่นอน สามารถเข้าไปจองคิวทำเรื่องโอนที่ดิน ผ่านทางแอปพลิเคชัน e-QLands ของกรมที่ดิน https://eqlands.dol.go.th/ เพื่อทำการนัดวันและเวลาที่สะดวก ก่อนเข้าไปดำเนินการโอนที่ดิน
โอนที่ดิน โอนบ้าน และโอนคอนโดได้อย่างราบรื่น ด้วยการคำนวณค่าโอนที่ดินล่วงหน้า
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลค่าธรรมเนียมโอนที่ดินล่าสุดประจำปี 2567 พร้อมวิธีคำนวณ เอกสารที่ต้องใช้ และขั้นตอนการโอนที่ดิน ที่น่าจะพอเป็นประโยชน์ให้กับคนที่กำลังอยากโอนที่ดินไม่มากก็น้อย เพื่อช่วยให้การทำเรื่องโอนที่ดินของทุกคนเป็นไปอย่างราบรื่น หรือถ้าใครกำลังมองหาโครงการบ้านที่ใช่ ที่ตอบโจทย์ทั้งไลฟ์สไตล์และการเงินของตัวเอง สามารถใช้โปรแกรมคำนวณผ่อนบ้านจากเอพี เพื่อเช็กยอดสินเชื่อและค่างวดในแต่ละเดือนแบบคร่าว ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจและวางแผนการเงินในอนาคต
รวมโปรโมชันบ้านและคอนโดจาก AP ขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ AP
เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต
เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมหรือบ้านแฝดดีไซน์สวย คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ